ซาน-พีรดนย์ อริยานุกุลธร อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูสำหรับคนนอกวงการสถาปัตยกรรมเท่าไหร่นัก ยิ่งถ้าคุณไม่ใช่คนถ่ายภาพ หรือชอบดูภาพถ่าย คุณอาจไม่เคยเห็นชื่อ Zanyama ผ่านตาเลยสักครั้ง
‘ไม่รู้จักตัว แต่เราเชื่อว่าคุณหลายๆ คน อาจเคยเห็นงานของเขาผ่านตามาบ้าง
‘ตั้งแต่ภาพคอนโดหรือโครงการบ้านสวยๆ ที่เห็นตามนิตยสารและโฆษณา เซ็ทภาพถ่าย New York City First Time ที่มียอดแชร์ถึง 8,400 ครั้งในเฟสบุ๊ค ไปจนถึงผลงานล่าสุดที่รวบรวมเอาภาพการเดินทางท่องเที่ยวตลอด 10 ปีของเขาไว้เป็นโพสต์เดียว ก็มียอดวิวไม่ต่ำกว่า 1.6 ล้านครั้งในทวิตเตอร์เช่นกัน
‘ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากฝีมือการกดชัตเตอร์ของซานที่เคยมีดีกรีเป็นถึง Brand Ambassador ของ Nikon Thailand ทั้งสิ้น
‘แม้ขณะนี้ซานกับกล้องคู่ใจอวัยวะชิ้นที่ 33 เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากไทยไปศึกษาการถ่ายภาพยนตร์แบบ Cinematography ต่อที่นครแสงสีอย่างลอสแองเจลลิสอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่มุมมองด้าน perspective และความชอบในงานสถาปัตยกรรมของเขา ยังอัดแน่นและสดใหม่ ไม่ต่างจากวันแรกที่ตัดสินใจยึดโยงให้ความชอบนี้กลายเป็นอาชีพหลัก และพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด จนมีผลงานมากมายอย่างในปัจจุบัน

Architectural Photographer
พูดถึงซานนึกถึงอะไร
‘นึกถึงภาพตึกตรง (หัวเราะ) คือเรารู้สึกว่าเราเป็นคน perfectionist เพราะงั้นการถ่ายทุกอย่างจะค่อนข้าง in detail ทุกอย่างมันต้องเนี้ยบ ซึ่งบางทีมันก็จะเนี้ยบไป จนคนที่เขาเป็น artist จัดๆ เขาก็จะมองว่าเราไม่มีความศิลป์ ซึ่งเรามองว่านี่เป็นข้อดีของเรานะที่ถ่ายออกมาแบบนี้แล้วภาพดูกลมกล่อม
วันแรกที่ถ่ายภาพ
‘เอาจริงๆ ก็คือพี่เริ่มถ่ายภาพตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยช่วงปี 1 เลย พี่เรียนสถาปัตย์จุฬาฯ ภาคสถาปัตยกรรมภายใน (Interior) มา แล้วดูสิมาทำอาชีพแบบนี้ (หัวเราะ) ก็คือช่วงที่เรียนตอนนั้นมหาวิทยาลัยน้ำท่วมจนต้องปิด พี่เลยไปเที่ยวกับเพื่อน ยืมกล้องเพื่อนไปกด เป็น DSLR นี่แหละ ปรากฎว่าจอย แล้วก็เหลิงด้วยเพราะเพื่อนชมเยอะ (หัวเราะ) คือพอเราเรียนสถาปัตย์มา เราจะมีตีฟมีมุมในใจที่เราอยากได้ นั่นแหละก็เริ่มถ่ายมาเรื่อยๆ โดนชมโดนเชียร์มากๆ เข้าก็ไปเลย วิชาดิจิทัลโฟโต้ เป็นวิชาเลือกของคณะอื่น พอเรียนๆ ไป ก็ดันเจอคนในชมรม CU Photo ก็โดนลากเข้าชมรมไปอีก พอเริ่มเข้าชมรมก็เริ่มมีคอนเนคชั่น เริ่มถูกชวนไปนู่นชวนไปนี่ ได้รู้จักกับองค์กรต่างๆ แล้วก็เริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามา ทำให้เราได้เจอคนใหญ่คนโต มันเลยเป็นช่วงที่เราค่อยๆ ไต่เต้าแบบก้าวไปทีละขั้น
ทิ้งเต็กมาเป็นช่างภาพ ตัดสินใจนานมั้ย
‘คือเอางี้ดีกว่า ตั้งแต่ตอนม.ปลายเราก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าเราจะเป็นเต็ก (หัวเราะ) คือเราแค่มองว่า เราชอบศิลป์ แต่เรายังชอบวิทยาศาสตร์อยู่ เห็นมั้ย ทุกคนมันมาหยุดที่คณะนี้เพราะข้อจำกัดนี่แหละ มันคือ Combination ระหว่างวิทย์กับศิลป์ แต่ไม่เคยมั่นใจเลยนะว่าเราอยากเป็นสถาปนิกรึเปล่า
‘ทีนี้พอเข้ามาเรียน เรารู้สึกว่าสกิลการดีไซน์หรือสกิลอื่นๆ ของเรามันธรรมดามาก มันทั่วไปจนเราไม่มีตัวตน กลับกันการถ่ายภาพเป็นตัวตนของเราที่เด่นกว่ามาก แต่เราก็ไม่อยากหยุดแค่การเป็นช่างภาพงานรับปริญญา เราก็เลยเอาสกิลออกแบบของเรามาผสม จนมันทำให้เรากลายเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม ซึ่งเรารู้จักวงการ Architectural Photographer ตอนปี 4 ได้รู้จักพี่คนนึงที่ถ่ายแนวนั้น เราเลยขอไปออกกองกับเขา ไปลองทำงานกับเขาดูจนเราเริ่มเชี่ยวชาญนั่นแหละเลยออกมาทำเอง เพราะฉะนั้นพี่เลยเริ่มรับงานตั้งแต่สมัยปี 5 เลย แบบแอบอาจารย์ธีสิสไปรับ (หัวเราะ) ก็จะเป็นงานถ่ายอสังหาริมทรัพย์ ถ่ายงานออกแบบ ถ่ายมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และใช่จากตอนนั้นมาจนถึงตอนนี้ก็ไม่ได้ทำงานสถาปัตย์เลย (หัวเราะ)

สถาปัตย์กับการถ่ายภาพ
‘Perspective เลย มุมตีฟในเต็กสำคัญมาก พอเรารู้ว่าในงานออกแบบมุมแบบนี้มันดีมันสวย ยิ่งเวลาทำ Presentation น่ะ เราจะมีมุมในใจ ซึ่งมุมพวกนั้นก็คือมุมที่สถาปนิกอยากพรีเซนต์นั่นแหละ ดังนั้นเวลาเราออกไปถ่ายงานที่ไหน เราก็จะรู้ทันทีว่าเขาอยากขายอะไร ทำให้เราเหมือนถ่ายออกมาได้ตรงจุดที่นักออกแบบต้องการมากขึ้นโดยที่เขาไม่ต้องบรีฟ เพราะเราเข้าใจคาแรคเตอร์ที่คนทั่วไปไม่เข้าใจว่า เฮ้ย มุมกว้างหรือมุมแบบนี้ควรนำเสนอแบบไหน การเรียนสถาปัตย์มานั่นแหละทำให้เราเข้าใจจุดนี้
‘แต่เอาจริงๆ ไม่ใ่ช่แค่ตีฟ มันเยอะมาก เพราะปีแรกมันมีวิชาแบบ Basic Design พวกพื้นฐาน Positive, Negative Space, ทฤษฎีสี, Rhythm อะไรพวกนี้เอามาใช้ในการถ่ายภาพหมดเลย คือตอนเราปีหนึ่งเราจะงงมากๆ ว่าเราเรียนเรื่องพวกนี้ไปทำไม แต่พอเราปีโตขึ้นเราจะตกตะกอนว่าสิ่งที่เขาสอนมาน่ะ มันเอามาปรับใช้ได้กับทุกอย่างในงานศิลปะทุกแบบเท่าที่เราจะสามารถสัมผัสได้ เลยกล้าพูดเต็มปากว่า ‘ดีใจนะที่เข้าสถาปัตย์’ ตอนนั้นอีกทางที่เราเลือกคืออยากเข้านิเทศฯ ด้วย แต่เราเรียนวิทย์มา เราเสียดาย ก็เลยเลือกเข้าสถาปัตย์ แต่ตอนนี้ถ้ามองย้อนกลับไป เรารู้สึกว่าโชคดีมากนะที่เลือกเรียนสิ่งนี้ เพราะสกิลที่เราได้จากการเรียนตรงนี้ มันทำให้งานของเราแตกต่างกว่าคนทั่วไป มันกลายเป็นสไตล์ของเรา เป็นจุดเด่นของเรา


ช่างภาพในนิยามของซาน
‘ถ้าช่างภาพหมายถึงการไปถ่ายอะไรก็ได้ เราไม่ใช่ แต่ถ้าเราจะมองว่าตัวเองเป็นศิลปิน คำนี้ก็เกินขอบเขตความเป็นช่างภาพไปไกลมาก คำว่าศิลปินมันไม่จำกัดว่างานที่ออกมาจะต้องออกมาเหมือนกับสิ่งที่เราเห็น ณ ตรงนั้น แต่ช่างภาพยังคงมีสิ่งนั้นอยู่ ดังนั้นเราเลยเหมือนอยู่ตรงกลางมากกว่า เราเป็นช่างภาพที่เลือกจะถ่าย เช่น ถ้าให้เราไปถ่ายงานแบบประธานบริษัทตัดริบบิ้นหน้าเวทีเงี้ย เราไม่ถ่าย เพราะมันไม่ใช่ทางของเรา เราอยากเลือกไปถ่ายงานที่มันสวย งานที่เราถ่ายแล้วเราชอบ ดังนั้นจะบอกว่าเราเป็นช่างภาพเฉยๆ ก็คงไม่ใช่ คือมันไม่ถึงขั้นเป็นช่างภาพสารคดีหรอก แต่ก็เป็นช่างภาพที่เลือกถ่าย เพราะเราต้องมองเรื่องของ Art Appreciation (การเข้าใจและเห็นคุณค่าในงานศิลปะ) ด้วย ดังนั้นเลยสรุปว่าทิศทางของเราค่อนข้างไฮบริดคือ ยังถ่ายงานบนความเป็นจริง แต่แค่เลือกงานที่ถ่ายแล้วสวยด้วยตัวมันเอง คือมันก็มีช่างภาพบางกลุ่มที่เอาภาพพระปรางค์วัดอรุณไปรวมกับภูเขาไฟฟูจิแบบนี้มันก็มี (หัวเราะ)
ภาพที่ชอบ อาคารที่ใช่
‘เราชอบความทันสมัยเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เรามีรุ่นพี่ที่รู้จักกันในวงการชื่อพี่เบียร์ (วีระพล สิงห์น้อย) ซึ่งงานของเขาสวยมาก แต่งานสไตล์ที่เราถ่ายจะมีความแตกต่างจากเขา เพราะพี่เขาจะชอบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่อยู่ในนิยามของยุคโมเดิร์นจริงๆ แต่สำหรับเรายิ่งใหม่ยิ่งชอบ ความชอบนี้มันสะท้อนในทุกอย่างเลยนะ ตั้งแต่มือถือ คอม กล้อง เราใช้ของใหม่ตลอด เราเป็นคนดิจิทัลจ๋ามาก ไม่ไปเล่นฟิล์มเลย ความวินเทจไม่ใช่ทางของเราเท่าไหร่ เราชอบทุกอย่างที่ทันสมัย การก้าวไปข้างหน้าเป็นทางของเรามาก ดังนั้นถ้าอาคารไหนมันใหม่มากๆ แบบกระจกตั้งแต่พื้นยันฝ้านี่เราโคตรชอบเลย
‘ถ้านึกภาพไม่ออก นี่เลยอาคารที่ชอบล่าสุดคือ Walt Disney Concert Hall – Los Angeles, California ที่นี่ออกแบบโดย Frank Gehry (หัวเราะ) เป็นอาคารที่เราจะไปถ่ายรีวิวไอโฟน 14 เพราะงั้นมันไม่ใช่งานที่เราใช้อุปกรณ์จัดเต็ม แต่มันดีมากๆ เลยนะ เพราะตัวอาคารถูกออกแบบมาสวยมากตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบที่เราชอบ มีองค์ประกอบที่ดู Freeform ดูโมเดิร์นจ๋าๆ ไม่ได้ดูเก่า เพราะฉะนั้นตอนไปถ่ายเรารู้สึกอิ่มเอมใจสุดๆ เลย ไม่ใช่เพราะตัวเองถ่ายดี แต่เพราะอาคารมันสวยมากอยู่แล้ว อันนี้คือตัวงานที่ชอบที่นึกออกขึ้นมาตอนนี้
‘ภาพตัดมางานที่ไทย งานที่นึกออกว่าสวยแล้วชอบเลยมีอยู่สองที่ เป็นของ Developer ทั้ง 2 ที่เลย คือ Life Ladprao Valley ของ AP แล้วก็งานของ Land & Houses ชื่อ VIVE สองที่นี้เป็นงานออกแบบของ Developer ที่เรามองว่ามันสวยมาก เพราะบางทีเวลาไปถ่ายงานให้ Developer มันจะมีความคล้ายคลึงกันของงานออกแบบแต่ละที่อยู่ เรารู้หมดว่าเราต้องถ่ายแบบไหนมุมไหน แต่สองที่นี้เป็นงานที่เราไปถ่ายแล้วตื่นเต้น


Tilt Shift
สิ่งประกอบสร้างของซาน พีรดนย์
คนแรกที่รู้สึกว่าทำให้เราเป็นเราเลยคือช่างภาพสถาปัตยกรรมที่เราเชื่อว่าเขาคืออันดับต้นๆ ในประเทศ ชื่อพี่แป๊ะ (วิสันต์ ตั้งธัญญา) จากบริษัท W Workspace คือครบทุกอย่าง ตีฟเป๊ะ สีเนี้ยบ แสงสวย เป๊ะหมดเลย เราชอบเขามาก เทิดทูนเขามาก เราเข้าไปดูไปศึกษางานเขาตลอดเลย แล้วมันก็มีหลายครั้งที่ Developer ชอบจ้างเราไปชนกับพี่แป๊ะ ทำให้เรามีโอกาสได้ทำโปรเจกต์เดียวกันกับเขาบ่อย ทุกครั้งที่ได้ทำมันคือความตื่นเต้นน่ะ เขาถ่ายมุมนี้มาได้ยังไง เขามองเห็นมุมนี้ตอนกำลังคิดอะไรอยู่ ความเนี้ยบในงานของพี่เขาต่างกับเราในจุดไหนบ้าง มันเป็นเครื่องย้ำเตือนตัวเองว่าเราต้องพัฒนาไปไหนทิศทางไหนต่อ คือเล่าย้อนไปนิดนึงว่าเรารู้จักอาชีพนี้จริงๆ ตอนที่องค์กรการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมมาจัด Workshop นะ ได้รู้จักพี่แป๊ะครั้งแรกก็งานนั้นแหละ รวมถึงเจอพี่เด๋ย (ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน) จากบริษัท SpaceShift Studio ด้วย เราเลยจะบอกว่าเราตามพี่เขามาตั้งแต่ตอนก้าวเท้าเข้าวงการจริงๆ เป็นไอดอลคนนึงสำหรับเราเลย
‘คนที่สองคนนี้เป็นช่างภาพ Landscape แต่บทบาทของเขาไม่ได้เป็นแค่ไอดอลสำหรับเรานะ พี่เขาเป็นโค้ชที่สอนอะไรหลายอย่างให้เราด้วย เพราะสมัยที่เราทำงานอยู่ไทย เราทำงานให้กับ Nikon Thailand เป็น Brand Ambassador ให้เขา แล้วพี่แอ่ว (วราณ สุวรรโณ) ก็เป็น Brand Ambassador ของ Nikon เหมือนกัน ดังนั้นเวลาเขามีอะไร เขาก็จะถ่ายทอดให้เราฟัง บอกเราว่าเราควรทำแบบไหน เรียกว่าแนะแนวเส้นทางอาชีพเราเลย เพราะฉะนั้นด้วยฝืมือเขาอะ เขาเป็นช่างภาพที่มีมุมมอง มีเทคนิค มีประสบการณ์ที่เยอะมากอยู่แล้ว แต่เรายิ่งเทิดทูนเขามากกว่าเดิมเพราะเขาเหมือนเป็นโค้ชให้เรา ก็เลยมีพี่เขาเป็นแรงบันดาลใจอีกคนนึงด้วย


‘คนที่สามเป็นรุ่นพี่ที่คณะ ชื่อเบียร์เหมือนกันแต่ไม่ใช่เบียร์สิงห์น้อยนะ (หัวเราะ) เป็นเบียร์ วรฤทธิ์ (อนันต์สรรักษ์) คนนี้เป็น Landscape Architect อยู่ฮ่องกง แต่ว่าเขาชอบถ่ายภาพด้วย เราติดตามผลงานพี่เบียร์มาตั้งแต่สมัยเริ่มเล่นกล้อง ดูเยอะขนาดที่มั่นใจว่าได้อิทธิพลมาจากงานของเขาพอสมควร อาจจะด้วยเพราะเราเรียนคณะสถาปัตย์มาเหมือนกัน บางครั้งเราก็จะอินอะไรคล้ายๆ กัน
‘คิดไปคิดมาเป็นคำถามที่ยากเหมือนกันนะเนี่ย (หัวเราะ) แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่เราพูดมานะ สิ่งที่เป็นรากฐานทุกอย่างของเราเลย คงต้องบอกว่าเป็นหนังเรื่อง ไททานิก (1997) ครับ ฉีกมากใช่มั้ย เรากล้าพูดเลยว่าไททานิกเป็นตัวปูชีวิตเราทั้งหมด หนังมันเข้ามาครั้งแรกตอนนั้นเรา 5 ขวบ แล้วสิ่งที่ประทับใจอย่างแรกๆ เลยของหนังเรื่องนี้คือ ‘เรือมันสวยมาก’ จุดประกายทันทีเลยอยากเป็นคนออกแบบเรือ แล้วต้องเป็นเรือที่ไม่ชนภูเขาน้ำแข็งแล้วจมด้วยนะ (หัวเราะ) ก็ถามแม่เลยว่าทำไมยังไงถึงจะออกแบบเรือได้ แม่บอกว่าต้องเป็นสถาปนิก เพราะงั้นความคิดว่าสถาปนิกเป็นอาชีพที่น่าสนใจเลยมีมาตั้งแต่สมัยเด็ก
‘แล้วความคิดนั้นก็ทำให้เราหยิบกระดาษ A3 มากาง ไม่ใช้ A4 นะเราบอกว่าแม่ว่ามันเล็กไป แล้ววาด Elevation (รูปด้าน) ของเรือไททานิกลงไปตั้งแต่อนุบาล 3 สิ่งที่ได้จากความพยายามนั้นคือเราได้สกิลวาดรูปจากการนั่งวาดรายละเอียดต่างๆ จาก Side View ของเรือ พอโตขึ้นเข้าคณะมาหัดปั้น 3D เราก็เอาไททานิกนี่แหละมาปั้น ก็คือพยายามปั้นเรือทั้งลำ (หัวเราะ) หรือตอนนี้เราเป็นช่างภาพแล้วและขยับไปเรียน Cinematography ต่อที่แอลเอ มันคือความรู้สึกว่าเราอยากจะทำหนัง ก็เป็นความอยากสร้างงานที่เป็น Masterpiece สูงๆ เหมือนที่ไททานิกเคยสร้างไว้
‘เห็นได้เลยว่าไททานิกมันแตกแขนงออกมาเป็นทุกๆ ความสนใจของเรา เป็นรากของเราเลย เป็นความสนใจที่เรามีมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วพอมามองย้อนดีๆ ทุกความสนใจของเรามันเกี่ยวโยงกับหนังเรื่องนี้หมดเลย น่าตกใจเหมือนกัน
ตัดสินใจไปเรียนต่อ
‘ตรงนี้เรียกว่าเป็นจุดหักเหของชีวิตเลย เราต้องยอมรับว่าปัจจัยนึงที่ทำให้เราตัดสินใจไปเรียนต่อคือโควิด ใช่ครับ โควิดเป็นจุดที่ทำให้การงานซึ่งถือว่าเป็นขาขึ้นของเรามากๆ มันหงุดชะงัก ซึ่งมันทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า ‘ในอนาคตเราจะทำยังไงต่อ’ เพราะถ้ามาวิเคราะห์จริงๆ เราคิดว่าเราค่อนข้างไปสุดทางแล้วล่ะกับสายอาชีพนี้ แล้วการที่คนเราจะก้าวไปข้างหน้าในหน้าที่การงานมันมีปัจจัยที่สามารถวิเคราะห์ได้อยู่ คือประสบการณ์ คอนเนคชั่น และอายุ เพราะฉะนั้นเราต้องเติบโตไปตามอายุแล้ว มันไม่มีอะไรจะก้าวกระโดดมากกว่านี้ ดังนั้นถ้าอยากไปให้ไวต้องหาสกิลมาเพิ่มให้ตัวเอง
‘อีกอย่างคือความจิตตก พอเรามองเห็น Maximum Capacity ที่เราทำได้ ว่าในหนึ่งเดือนเราทำได้เท่านี้ มันสุดกำลังเราแล้ว แต่มันยังไม่สามารถเป็นหมุดหมายที่มั่นคงในชีวิตเรา คืออยากทำอะไรที่มันเพิ่มคุณค่าให้กับเราได้มากกว่านี้ เราเลยมองว่าการไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาเป็นทางออก เอาจริงๆ ก่อนหน้านั้นมีญี่ปุ่นด้วย ส่วนตัวเป็นคนชอบวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาก ชอบไปเที่ยว ภาษาก็พูดได้ เพราะฉะนั้นญี่ปุ่นคือที่ที่เหมาะกับเรา แต่พอชอบมากก็รู้มากว่าบ้านเมืองเขาเป็นยังไง ระบบ Seniority ควบกับการให้ Priority คนในประเทศก่อนทำให้เราแทบจะเจาะเขาไม่ได้เลย แถมภาษาญี่ปุ่นของเราไม่ได้แข็งแรงเท่าภาษาอังกฤษ พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราจะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เราต้องใช้ทั้งความพยายาม ความใส่ใจ และการเตรียมตัวมากกว่าการไปอเมริกาเยอะเลย สุดท้ายพอมานั่งคิดด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง รวมกับอเมริกามันเป็นดินแดงแห่ง Hollywood อะครับ ยังไงมันเฉพาะทางกว่าญี่ปุ่นอยู่แล้ว เราก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่นี่แทน


ทิ้งทุกอย่างไปนับหนึ่งใหม่
‘ถ้าให้พูดตามตรง ไม่มีอะไรเหมือนที่คิดไว้เลย เราเคยวาดภาพว่า Los Angeles จะเป็นนครแสงสี แต่พอเราไปจริงๆ มันเป็นเมืองที่เศร้ามากนะ ส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่านี่คือผลกระทบจากโควิด แต่ท้ายที่สุดแล้วมันไม่ใช่เมืองแบบที่เราคิดเอาไว้อยู่ดี แต่เราไปแล้ว เราตัดสินใจแล้ว เราก็ต้องลุยกับมัน ซึ่งพอได้ไปจริงๆ เรามองเห็นหลายอย่างมาก เห็นโอกาส เห็นความเป็นไปได้ เราเลยคิดกับตัวเองว่าเราจะต้องพยายาม ซึ่งตอนนี้เราผ่านมันมาแค่ 9 เดือนเอง เพราะฉะนั้นการที่เราจะบอกว่าเราตัดสินใจถูกหรือผิดมันยังเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าถามว่าลำบากมั้ย ‘ลำบากมาก’ มันซัฟเฟอร์มากนะที่รับรู้ว่าเงินที่เราหามาตลอดชีวิต ถูกเอามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายของปีนี้ปีเดียว ต้องยอมรับว่าอยู่อเมริกาค่าครองชีพมันแพงมาก ตอนนี้เราเลยอยู่ด้วยการกล่อมตัวเองว่า ‘มาลำบากตอนนี้ เพื่อที่อนาคตเราจะได้โตแบบก้าวกระโดดต่อไป’
‘แต่เราก็พยายามหาความสุขให้ตัวเองนะ สมัยตอนอยู่ไทยเราชอบไปถ่ายรูปมากๆ มาอยู่ที่นี่เราก็นั่งรถไปซานฟราน ไปนิวยอร์ก เพื่อไปนั่งถ่ายรูป ไปเสพบรรยากาศ ไปทำสิ่งเดิมๆ ที่เราเคยทำในประเทศไทย ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ไปเที่ยวในที่ต่างๆ
‘แต่เอาจริงๆ ทุกคนช็อกที่เราทิ้งทุกอย่างเพื่อไปเรียนต่อ เพราะทุกคนมองว่าเราคือคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว คนอื่นอาจจะมองว่าเราประสบความสำเร็จ แต่เรามองว่าไม่ เรายังหยุดแค่นี้ไม่ได้ เราต้องไปให้มากกว่านี้ เราเลยพยายามผลักดันตัวเองเพื่อไปอยู่ในจุดที่สูงกว่านี้ให้ได้

Full-frame
มาตรวัดความสำเร็จของซาน-พีรดนย์
เรามองเป็นเม็ดเงิน เรามองว่าเราต้องมีเงินเพียงพอเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเรา เราต้องการบ้าน บ้านที่ไม่ใช่แค่การเช่าคอนโดอยู่ไปวันๆ เราต้องการรถ เราต้องการชีวิตที่อยากกินอะไรก็ได้กิน อยากซื้ออะไรก็ได้ซื้อ ซึ่งรายได้ในไทยมันไม่ได้ตอบสนองตรงนั้น เราเลยพยายามที่จะก้าวกระโดดไปยังจุดๆ หนึ่ง ไปถึงจุดที่มันจะตอบสนองความต้องการของเราได้ เราพูดได้เต็มปากว่าชีวิตเราขับเคลื่อนด้วยเงิน เราไม่ได้ขับเคลื่อนตัวเองด้วยแพสชั่นแบบ ‘ฉันจะต้องเป็นช่างภาพที่มีผลงานโดดเด่นอย่างเดียว’ เงินมันมาก่อน
มันจะมีคำพูดนึงที่เรายึดถือมาตลอดตั้งแต่สมัยที่เราจบสถาปัตย์แล้วตัดสินใจมาเป็นช่างภาพ เราคุยกับพี่ช่างภาพคนนึง ถามเขาเลยว่า ‘ถ้าผมอยากเป็นช่างภาพ พี่ว่าผมคิดถูกหรือคิดผิด’ เขาก็พูดมาว่า
‘ถ้าแกอยากเป็นช่างภาพ แล้วแกไม่ใช่หนึ่งใน 200 คอมเมนต์ที่ไปตามหาบัณฑิตวันรับปริญญากับคนอื่นเขาอะ แกรอด’ คือสังเวียนราคาในประเทศนี้มันค่อนข้างหนักน่ะ พอราคามันต่ำลงลูกค้าก็จะชิน แต่พอเราตั้งราคาไว้สูง เราจะเจอลูกค้าที่ให้คุณค่าในงานของเราจริงๆ เนี่ยแหละผมอยากขับเคลื่อนทุกคนเหมือนกันนะ ถ้าเกิดได้เข้ามาอ่าน อย่ากดคุณค่าตัวเองนะครับ พยายามมองหาคุณค่าของตัวเอง เพราะเอาจริงๆ ผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำผลงานที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเราเองได้


ช่างภาพสถาปัตยกรรม จากตอนนั้นถึงตอนนี้
‘เรามองว่ามันเป็นเพราะเทคโนโลยีด้วยที่ทำให้มันบูมมากขนาดนี้ เพราะถ้าเราพูดถึงช่างภาพสถาปัตยกรรมเมื่อสักประมาณ 10 ปีก่อน มันต้องมี Tilt-shift lens มันต้องมีอุปกรณ์เฉพาะทางซึ่งแพงมาก แต่ทุกวันนี้ (Adobe) Lightroom ลากเส้นสี่เส้นทุกอย่างตรงหมด มันจัดการง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย เพราะฉะนั้นการเข้าถึงสายอาชีพพวกนี้มันเลยสะดวกขึ้น แล้วเดี๋ยวนี้มันมีสื่อแบบยูทูบเฟสบุ๊คทุกอย่าง คนไทยใจกว้างครับ โพสต์แปปเดียวบอกเทคนิคหมดเลย การเรียนรู้เดี๋ยวนี้เลยยิ่งเกิดขึ้นเร็วมาก
‘อย่างช่วงที่ผ่านมาเราก็มี Workshop สอนถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ของพวกนี้แหละครับที่ทำให้วงการมันเติบโตและเปิดกว้างมากขึ้น เราต้อนรับทุกคนเข้ามาในวงการ ถ้าคุณรู้สึกว่าการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมทำให้คุณมีความสุขได้ เราขอต้อนรับครับ อย่ามาลดคุณค่าตัวงานด้วยการพูดว่าเราไปถ่ายด้วยราคาเท่านี้พอ พยายามทำให้ตัวงานมันมีคุณค่า แล้วสร้างบรรทัดฐานให้กับอาชีพนี้กันดีกว่า เพราะช่างภาพไม่ได้พิสูจน์คุณค่ากันด้วยราคา เราควรจะวัดกันด้วยฝีมือ ช่วงแรกมันอาจจะเหนื่อยหน่อย ผมเอาใจช่วย แล้วหันมาสร้างคุณค่าให้ตัวเองครับ
เรื่องที่สองคือ ทุกวันนี้เรามีตัวอย่างเยอะมาก ทั้งยูทูบและเฟสบุ๊ค เรามีผลงานไอดอลเป็นตัวชี้นำแต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำตามทั้งหมด การถ่ายภาพคือการทำงานอาร์ตประเภทหนึ่ง มันมีการ Inspire และ Develop เราเป็นช่างภาพ เราเป็นศิลปิน ไม่ใช่เครื่องถ่ายเอกสาร เพราะงั้นพยายามสร้างงานที่เป็นตัวเราเอง เอาให้ทุกคนจำได้ว่านี่คืองานของเรา สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเติบโตในวงการนี้
