เมื่อเราพูดถึงย่านเก่าในกรุงเทพ ฯ เรามักนึกถึงเหล่าร้านค้าคลาสสิก ตั้งแต่ร้านขายยา ร้านซ่อมนาฬิกา ร้านซ่อมรถ ร้านอาหารเช้าหรือร้านอาหารที่เจ้าของร้านดูเป็นคนเก่าคนแก่ ขณะเดียวกันที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป วัฒนธรรมคาเฟ่และร้านอาหารต่างประเทศสไตล์โมเดิร์น ก็เริ่มเข้ามาอยู่ร่วมกับร้านเก่าในย่านคลาสสิก ๆ เหล่านี้ได้อย่างไม่ขัดตา
ร้านอาหารต่างประเทศสไตล์โมเดิร์นที่ว่าคือหนึ่งในนั้นมีร้านที่เราอยากยกมาเล่าให้ฟัง
เยี่ยหนาน (Yuenan หรือ 越南) คือ ร้านอาหารน้องใหม่ในย่านหลานหลวงที่ถ้าหากมองเผิน ๆ ใคร ๆ ก็คงคิดว่าเป็นร้านอาหารจีนสไตล์โมเดิร์นแน่ ๆ ตั้งแต่การตกแต่งร้านด้วยโทนสีแดงดำจนทำให้ร้านเด่นออกมาจากตึกแถวเก่า ๆ ตรงข้ามวัดโสมนัสราชวรวิหาร พร้อมกับติดเลขมงคลเลข 9 ไว้ด้านบนสุดของหน้าร้านด้วย
แต่หากเข้าไปในร้านแล้วเปิดเมนูดูจะพบว่า เยี่ยหนานเป็นร้านอาหารเวียดนามที่เสิร์ฟเมนูสไตล์เวียดนามกันแบบจริงจัง ตั้งแต่การสอนกินแหนมเนืองให้ได้อรรถรส ไปถึงการปรับรสชาติอาหารเวียดนามให้รสชาติไม่โดด แต่มีความกลมกล่อมถูกปากคนไทย
หากถามว่าร้านเยี่ยหนานเสิร์ฟอาหารเวียดนามเหนือ เวียดนามกลางหรือเวียดนามใต้ ตอบกันตรงนี้เลยว่า อยากเสิร์ฟภาคไหนก็ได้ เพราะเยี่ยหนานใส่ใจเสิร์ฟเฉพาะอาหารที่อร่อย รสชาติกลมกล่อมลงตัวถูกปากลูกค้าเท่านั้น
เราเลยอยากพามาเปิดประสบการณ์อาหารเวียดนามที่มีเจ้าของคือสองพี่น้องคนไทยอย่าง แนน-ปิยมน บันทัดทอง และแนท-ดลฤดี บันทัดทอง ที่ทั้งคู่ไม่ได้เป็นลูกหลานหรือมีเชื้อสายเป็นคนเวียดนาม และไม่ได้ชอบกินอาหารเวียดนามกันมาตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ
แล้วอะไรที่ทำให้พวกอยากมาเปิดร้านอาหารเวียดนามโฮมเมด ที่พร้อมเสิร์ฟรสชาติกลมกล่อมเฉพาะตัวแต่ก็ไม่ทิ้งกลิ่นอายอาหารเวียดนามแท้ๆ วันนี้เราจะพาไปเปิดวงสนทนาอาหารกับพวกเขากัน
1
เยี่ยหนานคือร้านอาหารเวียดนามที่ใช้ชื่อร้านเป็นภาษาจีน
“เยี่ยหนานเป็นภาษาจีนแปลว่า ประเทศเวียดนาม ซึ่งมันตรงตัวแล้วมันก็เป็นคำง่ายๆ เป็นคำสองพยางค์ที่ติดหู แต่เราจะมีความเป็นสายมูเข้ามานิดนึง เพราะเราเอาชื่อมาดูเรื่องตัวเลขด้วย”
กว่าจะได้ชื่อนี้มา แนทเล่าให้ฟังว่าทั้งคู่คิดหนักกันอยู่หลายเดือนเลย เพราะต้องดูเรื่องตัวเลขหรือโหงวเฮ้งให้ดี
สองพี่น้องแนน-แนทที่พูดได้ทั้งภาษาเวียดนาม ฝรั่งเศสและไทย สุดท้ายมาบรรจบลงด้วยชื่อจีนที่มีเลขโหงวเฮ้งดีๆ เพื่อสร้างนิมิตรหมายที่ดีให้กับร้าน
“ชื่อนี้มันมีตัวเลขของเราสองคนด้วยค่ะ แนทเอาวันเกิดของตัวเองและเลขวันเกิดของพี่ แนนมาตั้งชื่อขึ้นมา แล้วเราก็มาดูวันว่า ผลรวมของตัวเลขจะสื่อถึงการประสบความสำเร็จไหม หรือว่าจะมีอุปสรรคและความขัดแย้งอะไรไหม ซึ่งตัวเลขของพี่แนนกับแนทมันออกมาโอเคค่ะ อีกอย่าง เยี่ยหนานเป็นชื่อที่ติดหูและเรียกง่ายด้วย”
ก่อนที่เยี่ยหนานจะเริ่มเปิดรับลูกค้าครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ปี 2565 ร้านนี้ยังเป็นตึกเก่าที่กลมกลืนไปกับย่านหลานหลวงอยู่เลย
“จริง ๆ แล้วตึกแถวตรงนี้เป็นตึกแถวของที่บ้าน ก่อนหน้านี้เราทำเป็นตึกแถวให้เช่าทำร้านอะไหล่ แล้วพอผู้เช่าเก่าเขาเลิกทำร้านอะไหล่ไป เราเลยไม่ได้ให้ใครมาเช่าห้องต่อแล้ว”
เดิมทีแนนได้เปิดคาเฟ่ชื่อ THE oqposite ที่อยู่บริเวณด้านหลังของตึกเก่านี้อยู่ก่อนแล้ว เป็นคาเฟ่ที่มีทั้งเครื่องดื่มและอาหารสไตล์ยุโรป นี่จึงเป็นอีกโจทย์ของพวกเธอว่าจะเอาตึกเก่าหลังนี้มาทำอะไรต่อดี
“เราเลยคุยกันว่า แถวนี้ยังไม่มีร้านอาหารเวียดนาม บวกกับพี่แนนถนัดเรื่องการทำอาหาร และได้ไปเที่ยวประเทศเวียดนามมาพอดีด้วย อาหารเวียดนามมีเสน่ห์และมีความหลากหลายอยู่ในตัวทั้งเรื่องการใช้สี วิธีการกิน พวกเราก็เลยคิดว่าอาหารเวียดนามน่าจะตอบโจทย์”
“แต่ถามว่าเขาได้เรียนมาไหม พี่แนนไม่ได้เรียนอาหารเวียดนามมาเลย เขาแค่มีความรู้ด้านการทำอาหารและถนัดเรื่องการทำอาหารอยู่แล้ว แต่พอไปประเทศเวียดนามมา เราได้ไปชิมหลาย ๆ ร้าน ได้จ้างไกด์ท้องถิ่นหลาย ๆ ที่แล้วก็แบบ เออเมนูนี้น่าจะนำมาทำเป็นอาหารเวียดนามได้นะ เอามาผสมผสานและปรับรสชาติให้เข้ากับคนไทย”
ระหว่างที่คุยกันเราคาดการณ์ไว้ว่า การไปเที่ยวที่เวียดนามของแนนจะต้องเป็นทริปที่ยาวนานและได้คลุกคลีอยู่กับเชฟที่ไหนสักที
“ตอนนั้นพี่แนนไปไม่นานนะคะ ไป 5 วัน ไปฮานอยแค่ที่เดียวด้วย แต่วันหนึ่งไปกินหลายร้าน พี่เขาจ้างไกด์ให้พาไปกินที่โน่นโดยเฉพาะค่ะ เน้นกินไม่เน้นเที่ยว เพราะพี่แนนชอบกินอยู่แล้วค่ะ”
เราคุยกับแนทมาสักพัก แนนก็เดินเข้ามาเสริมในวงสนทนาพอดี
“ตั้งแต่วันแรกที่กลับมาแล้วเราบอกที่บ้านว่า ฉันจะเปิดร้านอาหารเวียดนาม แนทก็มีคำถามเลยว่า ทำเป็นเหรอ ชอบกินเหรอ คำตอบของเราคือ ไม่ชอบกินแล้วก็ทำไม่เป็นด้วย แต่เราพูดไปแล้วว่าอยากทำ เราก็ต้องทำให้ได้” แนนเสริม
แน่นอนว่าการทำร้านครั้งนี้ย่อมไม่ง่าย เพราะทั้งคู่ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการทำอาหารเวียดนาม แถมไม่ได้มีญาติที่ทำธุรกิจอาหารเวียดนามด้วย เรียกได้ว่าพวกเธอคือสองพี่น้องผู้กล้าริเริ่มธุรกิจใหม่ของครอบครัวได้เลย แนนเล่าให้เราฟังต่อว่า
“อุปสรรคตอนทำร้านคือการที่ทำเมนู เพราะบางเมนูเราทำแบบไม่ได้มีความรู้เลย ลองผิดลองถูกไป อย่างตัวน้ำจิ้มแหนมเนืองแต่ละร้านรสชาติไม่เหมือนกัน บางร้านมีหวาน บางร้านมีเปรี้ยว บางร้านก็มีกลิ่นที่มันเป็นเอกลักษณ์ของเขา ตอนแรกเราไปเรียนทำน้ำจิ้มมา แต่พอเรียนแล้วทำออกมามันไม่อร่อย
“เราเลยลองทำดูเป็นสูตรของเราเอง ตอนแรกก็ไม่อร่อยเหมือนกัน ลองผิดลองถูก จนเอาทั้งสูตรของตัวเองและสูตรที่เรียนมา มาผสมผสานกัน จนมันบังเอิญอร่อยได้เป็นสูตรนี้”
แน่นอนว่าทุกอุปสรรคย่อมมีความสนุกอยู่ในนั้น
“ความสนุกคือมันได้ท้าทายในความสามารถด้วย ทั้งแต่เรื่องการคิดเมนูต่างๆ ขึ้นมา วิธีการนำเสนอ วิธีการจัดจาน ว่าจะจัดจานยังไง นำเสนออาหารแบบไหนให้ลูกค้าถ่ายรูปออกมาแล้วสวย และต้องทำยังไงให้เขาจำว่า นี่คือร้านเยี่ยหนาน ซึ่งเราใช้สีของอาหารเข้ามาพรีเซนต์ เราดีไซน์เมนูให้มีสีเหลืองในจาน มีสีเขียว มีสีแดง เพราะพอถ่ายรูปออกมาแล้วจะดูสมัยใหม่ มีความเป็นแฟชั่น ไม่เหมือนกับร้านอาหารเวียดนามทั่ว ๆ ไป”
ความสนุกเหล่าจากการลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเองของทั้งคู่ ทำให้เยี่ยหนานกลายเป็นร้านอาหารเวียดนามสไตล์โฮมเมด ที่ต่างจากร้านอาหารเวียดนามแบบเดิมๆ ที่หลายคนเคยได้ลอง
“เราอยากให้ลูกค้าจำภาพใหม่หลังจากที่ได้มาลองชิมที่ร้านของเรา จำภาพใหม่คือเรื่องของรสชาติและการนำเสนออาหารด้วยค่ะ” แนทเสริม
2
รสชาติอาหารที่ไม่เหมือนใครของเยี่ยหนานคือ ทุกเมนูถูกคิดมาอย่างดีว่า ต้องผสมผสานรสชาติความกลมกล่อมแบบไทยๆ เอาไว้ด้วย
“เราทำรสชาติที่ไม่เหมือนใคร เพราะเราทำรสชาติค่อนข้างถูกปากคนไทย จริง ๆ อาหารเวียดนามแท้อร่อยอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีมิติเท่ากับอาหารไทย
“รสชาติอาหารไทยมีความกลมกล่อม ไม่ได้เค็มโดด แต่อาหารเวียดนามมีบางอย่างที่เค็ม มีบางอย่างที่จืด บางอย่างก็เข้มเกินเพราะใส่ผงชูรสอย่างเดียวก็มี ยกตัวอย่างน้ำจิ้มเวียดนามแท้ เขาทำน้ำจิ้มด้วยผงชูรส เกลือ พริกไทยและส้มจี๊ด นั่นคือน้ำจิ้มซีฟู๊ดของเขาแล้ว”
เรียกได้ว่าเมนูของทางร้านรับประกันความกลมกล่อมแต่จัดจ้านในแบบที่คนไทยคุ้นเคย
นอกจากรสชาติของอาหารที่ไม่ซ้ำใคร เยี่ยหนานยังมีวิธีนำเสนออาหารที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะกับเมนูซิกเนเจอร์ของร้านอย่างเมนูแหนมเนือง หรือที่ทางร้านเรียกเป็นเสียงภาษาเวียดนามว่า แนมเนื้อง
“ร้านอาหารเวียดนามร้านอื่น ๆ เขาอาจจะใช้แป้งทั่วไป ซึ่งเป็นแป้งที่แช่น้ำ และหั่นแหนมเนืองไว้อยู่แล้ว แต่เราก็มาคิดเรื่องโควิดด้วยว่า ถ้าเรายังใช้แป้งแบบแช่น้ำ ทุกคนต่างก็เอามือไปจุ่มน้ำที่แช่ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันสกปรก
“แล้วอีกอย่างการที่เราใช้แป้งแบบไม่แช่น้ำ เป็นวิธีกินแหนมเนืองแบบต้นตำรับเวียดนามเลย เพราะที่เวียดนามเขาทานกันแบบนี้ มันเลยตอบโจทย์ทั้งเรื่องสถานการณ์โควิดด้วย เพราะลูกค้าแค่ล้างมือ ทำการม้วนห่อแหนมเนืองแล้วทานได้เลย”
ความแปลกใหม่ของวิธีการลิ้มรสแหนมเนืองที่ไม่เหมือนใคร ทำให้แนนและแนทต้องอธิบายวิธีการกินเมนูแนมเนื้องให้ได้อรรถรส
“แนทดูแลลูกค้าด้วยตัวเองเลยค่ะ เราคุยกับลูกค้าตั้งแต่คนแก่ เพราะคนสูงอายุเขาจะต้องการความใส่ใจ ยิ่งเรามีการนำเสนอที่แปลกใหม่แบบที่เขาไม่เคยทาน เรายิ่งต้องใส่ใจกับการอธิบายเมนู
“อย่างการห่อเมนูแนมเนื้อง ถ้าบางคนห่อไม่เป็นก็จะทำแป้งแตก เราเลยต้องบอกว่าลูกค้าต้องวางแป้งแบบไหน ลูกค้าบางคนที่ไม่ชำนาญ ก็ให้เขาวางแป้งที่จานดีกว่าวางแป้งบนมือแล้วม้วนห่อค่ะ”
ร้านอาหารที่ต้องสอนวิธีรับประทานอาหารและอธิบายคอนเซปต์เมนู ส่วนใหญ่เรามักพบได้ในร้านประเภท Fine Dining แล้วทำไมเยี่ยหนานที่ไม่ใช่ร้านอาหารประเภท Fine Dining กลับต้องมานั่งอธิบายเมนูกันถึงขนาดนี้
“เราจะถามเวลาเราไปเสิร์ฟ ว่าลูกค้าเคยทานแหนมเนืองไหม ถ้าลูกค้าบอกไม่เคย เราจะอธิบายทุกคน เพราะเราอยากให้ลูกค้าได้ทานด้วยวิธีที่ถูกต้อง ให้เขามีอรรถรสในการกิน เพราะพอทานอย่างถูกต้องอาหารก็จะมีความอร่อยค่ะ”
แนนและแนทตอบเสริมกันอย่างสนุกสนาน เห็นได้ชัดเลยว่าพวกเธอมีแพสชันในการรองรับคนกว่า 40 ที่นั่ง ไปพร้อมๆ กับกับการอธิบายวิธีการห่อแนมเนื้อง
“จริงๆ ลูกค้าถามเยอะอยู่นะคะเรื่องเมนู เขาสงสัยว่าร้านเราเป็นอาหารเวียดนามเหนือหรือเวียดนามไหน ซึ่งร้านเราไม่ได้เจาะจงค่ะ เราแค่อยากรวบรวมหลายเมนูของเวียดนามเอามาไว้ในนี้ มีทั้งสตรีทฟู๊ด มีทั้งเมนูขึ้นชื่อของเวียดนาม ทุกอย่างมารวมกันในร้านเดียวแล้วปรับรสชาติให้เข้ากับคนไทย ทำให้มันดูทันสมัย มีความเป็นแฟชั่น”
ความเป็นแฟชั่นที่ทั้งคู่ว่า ไม่ได้มีความทันสมัยแค่เมนูอาหารเพียงเท่านั้น แต่การตกแต่งร้านเยี่ยหนานยังแปลกใหม่ไม่เหมือนกับร้านเวียดนามทั่วไป เพราะที่นี่ไม่ได้ตกแต่งร้านด้วยหมวกหนอนหลาและชุดอ๋าวหญ่าย
“เราอยากได้ร้านอาหารเวียดนามที่ไม่ต้องมีพร็อพเยอะ เรามันไม่จำเป็นต้องมีโคมไฟ หรือมีหมวกแบบเวียดนาม อยากให้ที่นี่มีความสมัยใหม่แต่โดดเด่น ทางอินทีเรียเขาเลยให้ธีมของร้านเป็นคอนเซปต์ยุคหลังสงครามเวียดนาม
“ซึ่งความเป็นยุคหลังสงครามเวียดนาม ศิลปะจะเริ่มรับอารยธรรมฝรั่งเศสเข้ามา ในร้านจึงมีความเป็นโครงเหล็ก มีความโค้งแบบสมัยฝรั่งเศส ผสมผสานการรับวัฒนธรรมจีนเข้ามานิดหน่อยด้วยอย่างเสาหินขัดในร้าน และการตกแต่งห้องน้ำของเราก็จะมีลวดลายความเป็นจีน-ฝรั่งเศสผสมกันด้วย”
ร้านเวียดนามแฟชั่นแนวใหม่ คือคำนิยามสั้นๆ ของที่แนทอยากให้ลูกค้าได้ภาพจำนี้กลับไปจากร้านเยี่ยหนาน
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาเยือนเยี่ยหนานมีหลายกลุ่ม ตั้งแต่เหล่าวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเพื่อนฝูงจนไปถึงร้านประจำครอบครัวของหลายบ้าน ล่าสุดช่วงนี้มีลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติเยอะขึ้นแล้ว เพราะใกล้กันนี้มีสนามมวย ที่ไหนมีเวทีมวยย่อมมีช่างต่างชาติมาเยี่ยมเยือน
“เราเปิดมาปีหนึ่งแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัวที่เคยมาแล้วก็กลับมาอีก อาทิตย์หนึ่งสองหนหรือมากันทุกอาทิตย์ก็มีค่ะ ลูกค้าประจำก็จะเป็นคนกลุ่มนี้ทั้งนั้นเลย สิ่งที่ลูกค้ามักบอกเราเสมอคืออาหารที่นี่อร่อยไม่เหมือนที่อื่น ราคาสมเหตุสมผลด้วย”
เยี่ยหนานจึงไม่ใช่แค่ร้านอาหารเวียดนามแฟชั่นแนวใหม่ แต่เป็นร้านอาหารครอบครัว ที่พร้อมเสิร์ฟความสุขผ่านอาหารเวียดนามโฮมเมดกลิ่นอายไทยๆ
3
เสียงตอบรับดีๆ ที่มีทั้งลูกค้าเดินเข้ามาบอกด้วยตัวเองและทั้งแบบที่แนน-แนทได้ยินผ่านๆ ขณะเดินเสิร์ฟลูกค้า แต่มีครั้งหนึ่งที่ฟีดแบกจากลูกค้าทำให้แนน-แนท มีกำลังใจในการทำร้านมากกว่าครั้งไหนๆ
“ตอนนั้นมีร้านหนึ่งที่กำลังจะเปิด ซึ่งพี่แนนค่อนข้างเครียดแล้วก็กลัวด้วย เพราะร้านนั้นเป็นร้านดัง กลุ่มลูกค้าของเขากับของเราก็คล้ายกัน เราเลยเกิดความกลัวว่าลูกค้าจะยังอยู่กับเราไหม”
แนทพูดจบแนนก็ขยายความกังวลตรงนั้นให้เราฟังต่อ
“ความแตกต่างของร้านเรากับเขาคือ เราเหมือนโชว์ห่วยแต่เขาเป็นห้าง สุดท้ายก็มีลูกค้ากลับมากินที่ร้านเราแล้วเขาก็บอกเราว่าไม่ต้องเครียดเลย เพราะเขาไปลองกินร้านใหม่ตรงนั้นมาแล้ว ไม่ใช่ว่าร้านนั้นไม่ดีหรือไม่อร่อย อร่อยทั้งคู่แต่เขาแค่ชอบแบบร้านเรามากกว่า ความเครียดตรงนั้นของเรามันหายไปปลิดทิ้งเลย”
ทั้งคู่พบกับความท้าทายกันมามากมายไม่เพียงแค่เรื่องร้านอาหารเจ้าดังมาเปิดใหม่ใกล้ๆ แต่ยังต้องก้าวผ่านวิกตโควิดที่ทำเอาเยี่ยหนานต้องขาดทุนในช่วง 3 เดือนแรก แล้วจึงค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
เมื่อทั้งคู่ไม่มีเชื้อสายเวียดนาม แนน-แนทจึงกลายผู้ริเริ่มธุรกิจอาหารเวียดนามของครอบครัว และเป็นเจ้าของสูตรอาหารสไตล์ต้นตำรับแม้ไม่ได้มีญาติสนิทชิดเชื้อเป็นชาวเวียดนามเลยด้วยซ้ำ แน่นอนว่าการเริ่มต้นสิ่งใหม่ขนาดนี้ต้องไม่ง่าย แล้วถ้าชาติหน้ามีอยู่จริง ทั้งคู่จะยังอยากสร้างร้านเยี่ยหนานอยู่เหมือนเดิมไหม
“ถ้าชาติหน้ามีจริงเหรอ ก็คงอยากจะทำอีก เพราะการทำอาหารทำให้เรามีความสุขที่สุดแล้ว ชาติหน้าก็อยากจะมีความสุขแบบนี้อีกนะ”
ความสุขนั้นทำให้แนน-แนทยังคงสนุกกับการทำร้านเยี่ยหนานอยู่นี่ และยังไม่มีแผนที่จะขยายสาขาไปที่ไหน แม้ว่าพวกเธอจะเนื้อหอมจนถูกทาบทามให้ไปเปิดสาขาลูกอยู่หลายแห่ง
“มีลูกค้ามาชวนเราไปหุ้นหลายคนเลยค่ะ ชวนไปเปิดที่ห้างก็มี ต่างจังหวัดก็มี อย่างลูกค้าเคยชวนไปเปิดร้านที่กาญจน์ฯ เขาบอกว่าที่นั่นกำลังซื้อเยอะ แล้วตรงนั้นยังไม่มีร้านอาหารเวียดนามด้วย เราไม่อยากตัดโอกาสตัวเองนะคะแต่ตอนนั้นเรายังไม่พร้อมเท่าที่ควร อยากให้ตรงนี้มั่นคงร้อยเปอร์เซ็นก่อน”
เรียกได้ว่าแนน-แนทตั้งใจอยากให้เยี่ยหนานแห่งย่านหลานหลวง เป็นตำนานที่ทั้งคู่สร้างขึ้นมากับมือ และตั้งใจที่จะส่งต่อร้านนี้จากรุ่นสู่รุ่น และเราเชื่อว่าตั้งแต่การล้มลุกคลุกคลานของสองพี่น้องตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ในระยะเวลา 1 ปี คงสอนอะไรพวกเธอหลายอย่าง
“ร้านนี้ความรู้ของเรามันติดลบเลย มันเริ่มจากการที่เรานั่งปั้นแหนมเนืองเอง น้ำจิ้มก็ลองผิดลองถูก ไม่อร่อยก็เททิ้งทั้งหม้อ กลายเป็นว่าร้านนี้มันสอนให้เรากล้าก้าวข้ามความกลัว มันคือความภูมิใจที่ไม่ใช่แค่การได้รับคำชมว่าอาหารอร่อย แต่ภูมิใจที่เราทำรสชาติออกมาได้ในแบบที่เราชอบและคนอื่นก็ชอบเหมือนกันด้วย”
คำตอบที่แนนทำให้เราอดถามต่อไม่ได้ว่า หากให้สองพี่น้องสรุปชีวิตการทำร้านอาหารเวียดนามมาคนละ 1 บทเรียน ทั้งคู่ได้เรียนรู้ว่า…
“สอนให้เราอดทนนะ” แนทเห็นด้วยกับสิ่งที่พี่สาวพูดก่อนจะขยายความต่อ
“เพราะก่อนหน้านี้เราเครียดกันมาก ช่วงใกล้เปิดร้านเมนูของเรายังไม่ได้พร้อมขายร้อยเปอร์เซ็นเลย อย่างรูปเมนูในเล่ม เราถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม (2021) แต่ร้านจะเปิดจริงๆ ก็เดือนมกราคม (2022) แล้ว”
“บางเมนูที่ถ่ายไปแล้ว เราทำได้แค่ครั้งแรกนะคะ ครั้งต่อมาคือทำไม่ได้จริงๆ อย่างบางเมนูที่ Sold Out อยู่ในเล่มเมนูคือเราทำอีกครั้งไม่ได้แล้วค่ะ” ว่าจบแนนก็หัวเราะยกใหญ่
“อีกอย่างมันทำให้เรากล้าออกจาก Comfort Zone กล้าทำในสิ่งที่อยากลองทำด้วยค่ะ”
แนทขมวดจบ ก่อนที่พวกเราจะโยกตัวไปนั่งประจำโต๊ะที่เต็มไปด้วยอาหารเวียดนาม แล้วเริ่มทดลองห่อเมนูแนมเนื้องแบบแป้งไม่แช่น้ำ พร้อมจิ้มน้ำจิ้มรสเด็ดสูตรลับเฉพาะของเยี่ยหนานกันอย่างหนำใจ