เรารู้จักวิทย์ สิทธิเวคิน ในฐานะผู้ประกาศข่าวที่ทีวีช่องหนึ่ง
ก่อนกะพริบตาอีกทีแล้วพบเขาบนหน้าจอออนไลน์ที่คอยเล่าเรื่องความมั่งคั่งยามเช้าให้เราฟัง
หรือถ้าไถแอปพอดแคสต์เร็วๆ เราก็จะได้ฟังเขาสรุปประวัติศาสตร์ที่ว่าหนัก ว่าแน่น ให้เข้าใจได้ง่ายมากๆ ด้วยวิธีการเล่าเรื่องและการสรุปที่เฉพาะตัวสุดๆ ในชื่อ 8-Minute History หรือประวัติศาสตร์ 8 นาที
ซึ่งเขาออกตัวชัดเจนว่า เขาไม่ใช่คนเก่ง
แต่เรากำลังอยากรู้ว่าคนที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ได้ดีและเนี๊ยบขนาดนี้ ต้องเป็นคนแบบไหน
ตลอดบทสนทนาที่เรานั่งคุยกับ “เฮียวิทย์” ในออฟฟิศ The Standard ทำให้เรารู้ว่าเขาผ่านประสบการณ์การเป็นนักเรียนนอก การทำงานในบริษัทรถยนต์ระดับโลกอย่าง BMW มาก่อน การทำงานร่วมกับชาวต่างชาติที่มีวิธีคิดแตกต่าง ประกอบสร้างเฮียวิทย์ให้กลายเป็นคนอยากรู้ อยากเห็น ช่างสังเกต ช่างถาม และมีแพสชั่นในการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้น
ซึ่งเหล่านั้นประกอบสร้างให้เขา “อิน” กับการศึกษาประวัติศาสตร์ได้อย่างลุ่มลึกขนาดนี้
เรื่องระหว่างบรรทัดนี้จึงนำไปสู่การคุยกันถึงความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่รู้ไว้ใช่ว่าตามสำนวนไทย แต่เพราะโลกเราพลวัตไปตลอดเวลา การเรียนรู้รากเหง้าและสืบเสาะหาความเป็นมาของโลก เพื่อต่อยอดสู่ความเป็นไปในอนาคต เลยกลายเป็นแกนสำคัญตลอดบทสนทนานี้
เราเชื่อว่าบทความนี้ใช้เวลาอ่านเกิน 8 นาที แต่สาระและความรู้จากเฮียวิทย์อัดแน่นเต็มบรรทัดด้านล่างแน่นอน

ขอเริ่มด้วยคำถามที่สามัญมากๆ ทำไมคนเราต้องสนใจประวัติศาสตร์ หรืออะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณอยากศึกษาประวัติศาสตร์
คือเฮียเคยทำบริษัทต่างประเทศมาก่อน ที่ BMW มันเป็นบริษัทเยอรมัน เฮียได้เรียนรู้วิธีการคิดของคนพวกนี้ ความอยากรู้อยากเห็นค่อนข้างเยอะ แล้วเรารู้สึกว่า เฮียตั้งคำถามมาตลอดกับคำที่คนพูดมาคือ คนไทยมันน่าจะต้องอินเตอร์เหมือนชาติอื่นสิวะ อย่างบางทีเวลาเราเจอคนสิงคโปร์เนี่ย ทำไมแม่งอินเตอร์วะ เราไปเจอคนไต้หวัน แม่งดูอินเตอร์ แต่คนไทยมันดู ต้องยอมรับว่านอกจากการแต่งกายซึ่งเป็นเปลือก เราไม่ค่อยอินเตอร์ เราพูดภาษาอังกฤษได้ แต่นั่นไม่ใช่ ความเป็นอินเตอร์คือ มีเรื่องของระบบคิด ความอยากรู้อยากเห็น การช่างรู้ ช่างเรียนรู้แม่งไปซะทุกเรื่อง
อย่างเวลาอยู่กับคนเยอรมัน อย่างที่เคยเล่าในพอดแคสต์เนอะ ขับรถพาคนเยอรมันไปเยี่ยมดีลเลอร์จากสาทรแล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไป คำถามของเขาคือ ฝั่งธนฯ อยู่ทิศตะวันตกของกรุงเทพเหรอ คือมึงเพิ่งลงเครื่องมาแป๊บเดียวเองนะเว้ย แล้วมึงรู้ได้ไง ถ้าตอนนี้สี่โมง แล้วเราขับรถพระอาทิตย์ส่องหน้าเนี่ย แสดงว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เราคนกรุงเทพฯ เราไม่รู้นะครับ แล้วก็อีกหลาย ๆ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เขามีความตั้งใจอยากเรียนรู้ สะพานพระรามแปดที่เคยเล่าไป เราเห็นสะพานพระรามแปดมาก็ สะพานแขวนเนาะ ฝรั่งมา โห สะพานนี้อะ โคตรเจ๋งเลยว่ะ สองข้างขึงเชือกสลิง ด้วยจำนวนเส้นที่ไม่เท่ากันและมุมที่ไม่เท่ากัน
ดูความช่างสังเกตเขาครับ คือเรายังมีความรู้สึกว่ามันน่าสนใจ เวลาเราเจอเพื่อน คนนี้จบโรงเรียนนั้น คนนี้จบโรงเรียนนี้ เฮ้ย โรงเรียนมีกี่แห่งวะในกรุงเทพอะ แล้วโรงเรียนนี้มาจากไหน ช่างถาม เขาไม่ต้องรู้หรอกครับว่าโรงเรียนเซนต์เซเวียร์คือโรงเรียนอะไร แต่การที่เขาอยากรู้ แล้วเขาก็จะคุยอะไรกับเราเนี่ย ในสิ่งที่เรารู้สึกว่าการเป็นคนของประเทศที่พัฒนาแล้ว เขามีคลื่นความถี่ประเภทหนึ่งเว้ย ซึ่งมันน่าสนใจแล้วทำให้เฮียไปต่อจิ๊กซอว์กับหลายสิ่งหลายอย่างในอดีตก่อนหน้านั้น


แล้วก็ในโลกยุคอินเทอร์เน็ตครับ ทุกอย่างมันค้นหาได้ฟรี โลกอินเทอร์เน็ตที่สังเกตมันคือประชาธิปไตยของการเรียนรู้นะ ระบบการศึกษาจะดีไม่ดียังไงไม่รู้ แต่โลกอินเทอร์เน็ตให้ข้อมูลเสมอ ถูกไหมฮะ แต่ก่อนที่เราเคยอยากรู้ว่า สมมตินะ บุคคลในประวัติศาสตร์ที่เราเคยได้ยินหน้าตาเขาเป็นยังไง แต่ก่อนเราจะไม่เคยรู้เลยนะครับ สมมติอยากจะเขียนหน้าคนสักคน นายพลตาเดียวของอิสราเอล โมเช ดายัน สมัยก่อนเคยได้ยินนะครับ แต่ไม่เห็นหน้าเลย จนกระทั่งเราไปดู โอ้โห้ แม่ง ความอยากรู้อยากเห็นที่มี ไปต่อจิ๊กซอว์กับโลกปัจจุบันซึ่งมันเป็นโลกของ Open Source การศึกษาแบบมีประชาธิปไตย ยิ่งกว่าเทอร์โบอีกนะ
มันเป็นความน่าสนใจมากว่า สิ่งที่เราอยากรู้ในตอนเด็ก เราหาไม่ได้ยกเว้นเข้าห้องสมุด อยู่ที่ปลายนิ้วมือละ เพราะฉะนั้นพอมาเจอสิ่งเหล่านี้ แล้วเราเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ครับ อะไรที่นั่งๆ อยู่ อยากรู้เรื่องนี้ กดปั๊บ เจอ นั่นคือแหล่งที่หนึ่งนะ เราต้องไปหาข้อมูลหลายๆ อันมา แต่อย่างน้อยที่สุดทุกอย่างที่เราเคยสงสัย มันต่อจิ๊กซอว์กันได้หมด มันง่ายกว่ายุคเดิมไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ในเมื่อเรามีแบบนี้บวกกับแพสชั่นที่เรามี บวก การเห็นความสำคัญของมันของที่นี่ มันทำให้เกิดผลสิ่งนี้ครับ มันเป็นการรวมกัน มันไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งที่บอกว่า Curiosity หรือความอยากรู้อยากเห็น มันเป็นอุปนิสัยที่ประเทศที่เจริญแล้วเขามีกัน
แสดงว่าอุปนิสัยของคนในประเทศที่เจริญแล้ว กับประเทศที่กำลังพัฒนา มันไม่ได้เกี่ยวกับแค่รูปแบบระบบการศึกษาอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับพื้นเพด้วย
อุปนิสัยของมนุษย์เนี่ย มันคงได้มาจากทั้งธรรมชาติเดิมกับการเลี้ยงดู คำว่าการเลี้ยงดูกับคำว่าการศึกษาคงไม่เหมือนกันทีเดียวนะ อย่างชาติเขาก็จะมีความที่ว่าสนใจอะไรไปซะทั้งหมด ต้องยอมรับว่าก็คงเป็นนิสัยเขาด้วย แต่สองคือระบบการศึกษาเขาคงกระตุ้น ถามบ่อยๆ ว่าทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นแบบนั้น เช่น ฝรั่งเขาถามทำไมเวลาคนไทยนั่ง ไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่ได้ตัดสินว่าอะไรดีไม่ดีนะ แต่เขาถาม ในขณะที่เราจะไม่เจอคนไทยแล้วถามเขาว่า ทำไมพวกมึงชอบนั่งไขว่ห้าง ดูความช่างสังเกตเขาดิ เขามาแป๊บเดียวสังเกตว่าคนไทยนี่ไม่ชอบที่จะนั่งไขว่ห้างสักเท่าไหร่ เขาเป็นคนแบบนั้น แต่นั้นคือมันจะถูกมันจะผิดไม่รู้ แต่ชาติที่เป็นคนกำหนดวิทยาการโลก มันคือโลกตะวันตก แล้วก็เกิดมาจากความสงสัยใคร่รู้ แล้วก็ไปหามา ไปเทียบคนไทย สมมติคือ ถ้าแย่ที่สุด คนไทยคือไม่อยากรู้อะไรเลย ช่างมัน มันไม่เกี่ยวกับเรา ต่อมาคือ ก็อยากรู้แหละ แต่เราไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่พอไปดูประเทศอื่น มันก็ไม่ใช่ บางคนก็จะบอกว่า คงไม่จำเป็นมั้ง มันไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ว่ามันโคตรเกี่ยว ความช่างสังเกตของมนุษย์มันนำมาซึ่งความเจริญของโลก เยอะแยะไปหมดเลย แต่สิ่งเหล่านี้มันต้องถูกดึงออกมาเป็นบทเรียนให้คนได้เห็น

นั่นก็ยิ่งตอกย้ำถึงการจัดการศึกษาแก่ผู้เรียนด้วย ว่าควรให้ความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์
ข้อแรกก่อนบอกว่า เฮียไม่ใช่คนเก่งนะครับ ปักหมุดไว้เลยว่าเฮียไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ เพราะนักประวัติศาสตร์ควรจะต้องอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่เฮียเป็นคนที่ชอบมัน จริงๆ เฮียมีแพสชั่นมากว่า เวลาดูเด็กอังกฤษ เวลาเขาสอบ A-Level (สอบเตรียมความพร้อมก่อนเข้ามหาวิทยาลัย) ซึ่งต้องเลือกสามวิชา จะพบว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่เขาเลือกที่จะเรียนเยอะมาก ทั้งๆ ที่มันไม่มีความจำเป็นที่เขาจะต้องเรียนประวัติศาสตร์ถูกไหม เพราะอย่างบ้านเราส่วนใหญ่ก็เหมือนมีการทำโพลออกมาว่าแบบอยากให้ตัดวิชาประวัติศาสตร์ออกทิ้งไปด้วยซ้ำ เราถูกสอนแบบนี้ครับว่าเราต้องมองไปข้างหน้า เราต้องเรียนวิชา Coding เราต้องเรียนวิทยาศาสตร์ เราต้องเรียนดิจิทัล ก็เลยน่าสงสัยนะครับว่าทำไมฝรั่งเขาเรียนเช่น Classic Studies กรีก ละติน เฮียไม่เข้าใจเรียนไปทำห่าอะไร แต่ก็มีคนตอบคำถามแบบเป็นเหตุเป็นผลมากๆ ว่าเพราะเด็กที่จะเรียนหมออะครับ ศัพท์แพทย์ทั้งหมด ไม่ว่าความคิดจะสร้างสรรค์แค่ไหน ท่องศัพท์แพทย์ไม่ได้เนี่ย จบ เพราะฉะนั้นการเรียนกรีก ละตินเบื้องต้นเนี่ย มันคือภาษาที่คล้ายคลึงกัน แล้วถามว่าความจำสำคัญไหม ถ้ามีหมอคนนึงรักษาแล้วบอกไม่รู้เส้นเลือดไหนเป็นเส้นเลือดไหน กล้าไปรักษาไหม ไม่กล้าครับ เพราะฉะนั้นกรีก ละติน เขาคือ Classic Studies มันดูเฉยฉิบหายเลยนะครับ แต่คนเรียนไหม เรียนเยอะด้วย
อีกอย่างที่คนชอบเรียนมากคือ ประวัติศาสตร์ ก็เลยงงว่าโลกนี้มันศตวรรษที่ 21 แล้วจะไปย่ำเท้าอยู่ข้างหลังทำไมวะ ไม่ใช่ครับ เขาไม่ได้มองประวัติศาสตร์แบบนั้นเลย เขาก็มองประวัติศาสตร์ก็คือกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในอดีต แล้วก็มาศึกษาว่าอดีตมันเกิดเรื่องอะไร เปลี่ยนตัวละคร จากหนังยุคปัจจุบันไปเป็นหนังยุคโชซอน ดูไหม ดู ได้ข้อคิดไหม ได้ ก็แค่เปลี่ยนฉากครับ จากปัจจุบันเป็นที่โน่น ก็เลยพบว่าในเมื่อเขาเรียนกันแล้วเขาสนใจ แสดงว่ามันไม่ใช่วิชาที่เชย แต่เฮียยังไม่ได้คิดหลักการมาก่อนนะว่าถ้าเราชอบ ถ้าเราชอบเราก็เรียนไป
เฮียเป็นคนชอบโพสต์เรื่องประวัติศาสตร์ลงเฟซบุ๊ก และแพสชั่นคือเฮียติดคำว่า Simplification ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แล้วเวลาเฮียเจอเรื่องอะไรก็ตามแต่ ความเป็นมาความเป็นไป เฮียจะรู้สึกว่าทำไมเราไม่มี Background วะ แล้วก็รู้สึกว่า ถ้าเรารู้ Background ก็เขียนให้มันง่ายๆ มันสนุกนะ นี่ก็เลยติดมาเป็นอุปนิสัยมายาวนานมากว่าเป็นแบบนี้
แล้วทำไมถึงอยากทำรายการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์
พอเข้ามาที่ The Standard เขาก็บอกว่า เฮีย มาทำพอดแคสต์กันไหม เรื่องประวัติศาสตร์ ข้อแรกคือ เฮียเชยฉิบหายเลย พอดแคสต์แม่งคืออะไรวะ โอเคเขาก็อธิบายให้ฟัง เราก็ไปเรียนจากน้องๆ เขา ข้อที่น่าสนใจมากแต่ไม่รู้จะใส่ไว้ตอนไหนก็คือ มีคนเคยคุยบอกว่าอยากให้ทำรายการแบบนี้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ หลายๆ ที่คงยุ่ง เขาก็ไม่ได้มีเวลา แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นในเวลาแค่ 3 วัน คุยเสร็จปั๊บ ว่างเมื่อไหร่ มาเลย ถ้าจำไม่ผิดวันนั้นคุยประมาณวันศุกร์ จากนั้นวันอังคารเรานัดกัน แล้วเริ่มต้นคิดคอนเซปต์ แต่จากเริ่มต้นที่เราคิดมานานแล้วว่า ถ้าเราเล่าเรื่อง ไม่ต้องเรื่องประวัติศาสตร์ก็ได้ มีแค่สองข้อคือ ต้องประหยัดเวลาและรู้เรื่อง อย่างอื่นไม่คิด แค่เล่าให้มัน สิ่งที่เราเคยไม่รู้ สมมติ สงครามโลกครั้งที่ 1 คืออะไร แม่งโคตรง่ายเลยนะ เพราะเราเคยได้ยินแต่เราไม่รู้ หรือแม้กระทั่งว่าเรื่องสามก๊กจบยังไง นี่คือความลับของโลกเลยนะ แล้วแม่งคืออะไรไม่เคยรู้ เอาเรื่องที่ง่ายที่สุดนี่แหละครับเอามาก่อน ก็เลยเริ่มต้นจากการทำประวัติศาสตร์ง่ายๆ เอาแค่คนพอรู้เรื่องว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่ว่าตอนหลังพอเราทำปั๊บ เรารู้สึกว่าคนน่าจะเข้าใจนะ ตอบโจทย์แล้วนะ คนที่ผ่านมาฟังประวัติศาสตร์ไม่รู้เรื่องเพราะว่าชื่อคนแม่งเยอะ และบางทีไม่สื่อด้วย ด้วยรายละเอียด จนกระทั่งลืมว่าแล้วภาพหลักๆ เลยอะ คือการโยงใยอะไรของแม่งวะ ถูกปะ พอมึงไม่รู้ความโยงใยปั๊ป ทุกอย่างแม่งพังหมดเลย
เราก็เลยแก้ Pain Point รายการนี้ว่า เอาให้คนรู้เรื่องและใช้เวลาสั้นที่สุด เพราะตัวเฮียเองเป็นคนใจร้อนมาก ถ้าสมมติว่าเราอยากจะฟังใครสักคนสักสองนาทีแล้วไม่เข้าปั๊บ กูไม่ฟังแล้ว เพราะฉะนั้น คนปัจจุบัน ทุกอย่างมันเร็วขึ้น ก็เลยตั้งว่า ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่จำกัด น้องๆ ก็บอก 8 นาทีก็แล้วกัน เพราะตอนแรกเรามีหลักการแบบนี้ เล่าให้ฟัง พบว่าคนที่เขาฟัง เขารู้สึกว่าสนุกมากใน 10 นาทีแรก พอเกินไปเขารู้สึกว่าข้อมูลเกินความสามารถในการย่อย เราก็เลยบอกงั้นเราจำกัดเวลา 8 นาที หลักๆ คือ เอาให้รู้เรื่อง แล้วจบ ไม่ต้องคิดเยอะครับ ทำทุกอย่างให้ง่าย แล้วก็เริ่มต้นหลักการคือ ถ้าฟังแม่งไม่รู้เรื่อง มึงเล่นรายละเอียดเยอะแล้วคนไม่รู้เรื่อง พัก เพราะความน่าเบื่อของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือ โฟกัสในจุดที่ไม่น่าดึงดูด รายละเอียดเยอะ แต่โยงเรื่องไม่ได้ พอโยงเรื่องไม่ได้เรารู้สึกว่ามันไม่ใกล้ตัว อยากเรียนไหมล่ะครับ พอแล้วเราไม่เอา ก็เลยเริ่มต้นคิดแค่นี้ ไม่ได้คิดอะไรมากหรอกครับ

จากนั้นคุณพัฒนางานต่อยังไงบ้าง เพราะประวัติศาสตร์มีเรื่องราวที่ลึกซึ้งมากกว่าเรื่องตามเส้นเรื่องอีกนะ
ทำไปทำมาประวัติศาสตร์แม่งยิ่งกว่าละครอีกนะ แม่งโคตรสนุกเลยเว้ยเฮ้ย แล้วตัวละครที่เรารู้จักในประวัติศาสตร์มันมีมิติมากกว่าหนึ่งเรื่อง แต่ละคนก็จะมีความโยงใยกับสิ่งต่างๆ จนกระทั่งเรารู้สึกว่ามันน่าค้นหาชิบหายเลยอะ อย่างเช่น คนที่เป็นคนวางรากฐานของบริษัทพลังงานของอังกฤษที่มีชื่อว่า British Petroleum หรือ BP แม่งมีความเป็นมา คนคนนั้นคือ Winston Churchill มันเกิดมาจากความรู้สึกของ Winston Churchill ว่า เยอรมันมีอาวุธสำคัญมากนั่นคือ เรือดำน้ำ แต่ถ้าเชื้อเพลงมันหมด มันก็จะต้องลอยขึ้นมาเหนือน้ำ แล้วมันก็จะถูกเรายิง เหมือนนินจา ถ้าเปิดไฟนินจาก็ไม่มีค่า นินจาต้องอยู่ในที่มืด เพราะฉะนั้นเราต้องหาแหล่งพลังงานให้มันคงเพียงพอแก่กองทัพ ทั้งทัพเรือและทัพอากาศของเรา ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่บอกให้รัฐบาลอังกฤษไปซื้อหุ้นของบริษัทที่มีชื่อว่า Burmah Oil Company แต่จริงๆ ไปขุดน้ำมันที่เปอร์เซีย ไปซื้อมา 50 เปอร์เซ็นต์แล้วไปเอามาเป็นรัฐวิสาหกิจ กองทัพเราจะได้มีพลังงานเพียงพอในการสู้รบ ดูสิ Churchill ซึ่งเราเคยได้ยินว่าเป็นวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเขาเป็นคนคิดถึงเรื่องความมั่นคงทางพลังงานให้กองทัพ และยิ่งไปกว่านั้นครับ เขาบอกว่าจริงๆ ตอนนั้นกองทัพมีน้ำมันใช้จากบริษัทที่มีชื่อว่า Shell แต่มันเป็นลูกครึ่งดัตช์ ถ้าวันหนึ่งดัตช์เขาไม่ไว้ใจเรา เขาไม่ส่งน้ำมันให้เรา กองทัพเรารบไม่ได้ เราต้องพึ่งพา ยืมขาตัวเอง ดูดิ Winston Churchill นะเว้ย มันเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก
หรือแม้กระทั่งบางอันที่เราโยงแล้วเรารู้สึกสนุก ตอนที่เล่าเรื่องของบุพเพสันนิวาส (2561) เขาพูดถึงคอนสแตนติน ฟัลคอน (Constantine Phaulkon) แล้วก็จะมีตอนที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เอาเพื่อนจากเรืออังกฤษสองลำเข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาด้วย ไอ้สองคนนี้เกเรมาก เราเรือไปปล้นเรือรบอังกฤษของ British East India Company คนที่ส่งเรือรบอังกฤษแล้วมาปราบสองคนนี้คือ คนก่อตั้งมหาวิทยาลัย Yale โลกมันกลมไหม เฮียรู้สึกว่าโลกนี้มันอะเมซิ่งมาก ทำไมมันถึงได้โยงใยจากหนึ่งไปสอง มันน่าจะเจอข้อมูลที่เซอร์ไพรส์หลายอย่าง จนกลายเป็นจาก Simplicity การพูดรู้เรื่องในเวลาที่จำกัด ไปสู่การที่ว่า จะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่มีสนุกด้วย มันก็เลยกลายเป็น Evolution หรือวิวัฒนาการ
ซึ่งการทำรีเสิร์ชหรือศึกษาอย่างเข้มข้นขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่คนที่เนิร์ดจริงๆ จะไม่มีทางสนใจเลย แล้วคุณคิดว่าตัวเองเนิร์ดในเรื่องประวัติศาสตร์มั้ย
ไม่หรอก คนทุกคนมีแพสชั่นครับ อย่างสมมติว่า วัยรุ่นเขาจะรู้จักเรื่องของเพลงมากกว่าที่เฮียรู้ แล้วเขามีแพสชั่นกับมันมาก เขาพูดมาแต่ละอย่าง เฮียไม่รู้เรื่องสักอย่าง ในขณะเดียวกันเฮียก็มีแพสชั่นครับแต่คนละเรื่องกับเขา แพสชั่นหนึ่งของเฮียก็คือ ฟุตบอล เฮียก็บอกทุกคน เขาถามว่า ทำไมเฮียจำชื่อได้หมดเลย เฮียก็บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเลยนะครับ น้องๆ ทุกวันนี้จำชื่อนักเตะในทีมที่ตัวเองชอบได้ทุกคน สมมติแมนยูมี 27 คน ลิเวอร์พูลมี 27 คน ถ้าในสมัยก่อนชื่อเป็น Anglo-Saxon จำได้หมด ปัจจุบันไม่ใช่นะครับ นักเตะมาจาก 5 ทวีป ชื่อแปลกๆ หมดเลย จำได้ทุกคน เฮียบอกว่าทักษะเดียวเลยครับ แค่เราจำกันคนละแพสชั่น เฮียไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น เฮียปรับทักษะที่มีเนี่ยมาใช้กับสิ่งที่มันดูเนิร์ด บางทีบอกว่าคุณจำชื่อนักร้องได้เป็นพันๆ คน คุณก็จำชื่อประวัติศาสตร์ได้ เพียงแต่คุณมีความมุ่งมันและตั้งใจที่จะจำเขาไหม แต่เราไม่ต้องจำนะ เก่งฟุตบอลก็เก่งไป เก่งเพลงคุณก็ชอบไป แต่ละคนมีแพสชั่นไม่เหมือนกัน เฮียอยากจะบอกเฮียไม่ใช่มนุษย์วิเศษ เพียงแต่เฮียชอบมัน เหมือนเฮียกำลังติดหนังเรื่องหนึ่ง เพียงแต่เธียเตอร์นั้นเป็นเธียเตอร์ที่มีจำนวนคนเยอะ มีตัวละครเยอะ เรายิ่งดูเรายิ่งติดครับ แล้วมันสนุกมากเลยว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกับตรรกะความคิดที่น่าสนใจ

มีแรงบันดาลใจในการทำประวัติศาสตร์ 8 นาที จากงานของใครมั้ย
จริงๆ เฮียก็จะมีตัวอย่างของภาพยนตร์และสารคดีหลายเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจนะ ซึ่งมีไม่กี่เรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือสารคดีของบีบีซี ทำกับศาสตราจารย์ที่ชื่อว่า Ian Kershaw ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ชื่อว่า Nazis: a Warning from History เสียงเรียกเตือนจากประวัติศาสตร์ เสียงคนพากย์เนี่ยเพราะมาก เนื้อหาดี แล้วก็เป็นต้นแบบว่า ทำไมมันสนุก แล้วต้องดูทุกอาทิตย์เลย แล้วก็อีกส่วนที่เฮียคิดว่ามีเสน่ห์มาก เวลาที่เขาอ่านชื่อภาษาเยอรมันทุกอัน เขาเป็นคนอังกฤษเขาไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาเยอรมันครับ เขาอธิบายมาแต่ละคำ โอ้โหมัน มันเพราะมาก เช่น ก่อนที่จะมีหน่วย ก็คือกองกำลังติดอาวุธ SS เขามีหน่วยที่ชื่อว่า SA “The Sturmabteilung” ฟังแล้วรู้สึกถึงความน่าเชื่อถือที่มากขึ้น เราเห็นมิติของความลึกมากขึ้น คำนี้ SS หรือ “Schutzstaffel” to replace SA Sturmabteilung เราฟังแล้วเรารู้สึกว่านี่คือของจริง คนทำเนี่ยเขาตั้งใจทำการบ้านมาดี
ถามนอกเรื่องหน่อย ด้วยความที่คุณพูดภาษาต่างประเทศออกสื่อบ่อยครั้ง คุณพูดได้กี่ภาษา
เอาคล่องเลยเหรอ ขอแบ่งเกรดเป็นแบบนี้แล้วกันนะครับ พูดได้ดีที่สุดภาษาไทยแน่ๆ ภาษาอังกฤษอันนี้ก็ดีอยู่แล้ว แล้วก็มีอีกสองภาษาที่คิดว่าดีใช้ได้เลยก็คือ อิตาเลียนกับเยอรมัน และอีกหนึ่งภาษาที่เฮียคิดว่าไม่เลว แต่ไม่มีความมั่นใจพอที่จะพูดได้ว่ามาสเตอร์ได้นั่นก็คือ ภาษาจีน
การที่คุณรู้ภาษาเยอะขนาดนี้ ภาษาเปิดโลกของคุณขนาดไหน
ภาษานี่เป็นดวงตาดวงที่สามครับ คนคนเดียวกันครับ สมมติว่าเราพูดภาษาเยอรมันได้ เราไปที่เยอรมัน เราจะเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น ตาเนื้อเราเห็นเหมือนกันหมดถูกไหม แต่ว่าตาที่เชื่อมโยงกับจิต กับระบบคิด นี่เขาบอกเราว่าอะไร เรารู้เลยว่าทำไมเขาเป็นแบบนั้น เราได้ยินภาษาปั๊บ เราเขาใจความรู้สึกนึกคิดของเขา เช่นกัน ไปอิตาลี ลักษณะเดียวกันเลยครับ เราจะรู้สึกว่าเรามองเห็นโลกใบที่แตกต่าง เราจะรู้สึกเอ็นจอยแล้วเราจะมีความรู้สึกว่า อยากคุยกับเขา สิ่งเหล่านี้มันก็ทำให้ความอยากรู้อยากเห็นเราเติมเต็ม ขณะเดียวกันความรู้ที่เราได้มามันก็จะเยอะ มันเหมือนอะไรรู้ไหมครับ มันเหมือนกุญแจที่เราใช้ในการเปิดประตู เราอยู่ในห้องไทย เราเปิดเชื่อมโยงไปอีก เราก็จะมีพื้นที่สองพื้นที่ แต่ถ้าเราคิดแบบนี้ ภาษาอังกฤษอย่างเดียวก็ครองโลกละ ก็ไม่ใช่นะครับ โลกนี้ภาษาอังกฤษใหญ่สุดจริงครับ แต่มิได้หมายความว่าภาษาอื่นไม่สำคัญ ถ้าเรารู้เราก็จะมีความหลากหลาย


ซึ่งความรู้ด้านภาษาและอีกหลายๆ อย่างที่เราเรียนหรือรับรู้ผ่านเข้าหัว หลายคนกลับตั้งคำถามว่าเราจะเรียนมันไปทำไม คุณคิดว่าทำไมเราถึงไม่ควรละเลยที่จะรับความรู้เข้ามาในชีวิต
อันนี้เป็นคำพูดที่เฮียไม่รู้จริงๆ ว่ามันถูกมั้ย แต่เขาบอกว่ามนุษย์เราเนี่ย ใช้ศักยภาพของสมองเราเนี่ยไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าเรามีของดีอยู่ในหัวกบาลเรา แต่เราใช้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะฉะนั้นก็จำไปสิ มันจะเป็นอะไรกับการที่เราใส่เข้าไป แสดงว่าด้วยกายภาพ ศักยภาพมนุษย์มี แต่เราตั้งใจหรือเปล่า ถูกไหม เราเรียนรู้ได้หมดเลย เราเจอคนไทยจะได้ยินคำนี้บ่อย กูจะต้องรู้อะไรเยอะแยะ กูจะต้องรู้มันไหมเรื่องนี้ แต่พอไปเจอคนต่างชาติ ไม่ใช่ครับ ทำไมกูจะต้องไม่รู้ล่ะ คือทัศนคติก็ต่างกันแล้ว เวลาเจอต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือฝรั่ง ทำไมเขาอยากรู้แม่งทุอย่างเลย เขาจะต้องรู้ให้หมด แต่ส่วนใหญ่เราจะเรียนรู้จากเขา เขาจะไม่ค่อยเรียนรู้จากเรา เขาจะเรียนรู้จากเราก็แค่ประวัติศาสตร์ไทย หรือว่าความเป็นอยู่ของคนไทย แต่เขาก็มีความช่างสังเกต เช่น ทำไมคนไทยกินเบียร์ต้องใส่น้ำแข็ง หรือทำไมบ้านเรากินชา เขาก็จะแลกเปลี่ยนกัน เห็นไหมฮะ ไม่ได้มีใครผิดใครถูก แต่ความตั้งใจใฝ่รู้สำคัญ
แล้วก็เฮียรู้สึกไอ้เรื่องสมอง ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เนี่ย แล้วทำไมเราไม่ใช่อะ สมองเราปะ มันสมองเราเลยนะ เรียนรู้ไปก่อนแล้วก็จากประสบการณ์ของคนอายุ 52 เฮียบอกเลยว่า เรียนรู้ไปเถอะครับ วันนึงความรู้ที่เราเรียนมามันจะต่อจิ๊กซอว์แล้วกลับมาหาเราในวัยที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม มันจะกลับมา
แล้วถ้ามองง่ายๆ การศึกษาสำคัญแค่ไหน
ถ้าเฮียเป็นคนประเภทหนึ่ง เฮียก็จะพูดว่า ตอนเด็กๆ ครูแม่งสอนไม่รู้เรื่อง อันนั้นคือครูเขาให้ข้อมูลเรามาละ หน้าที่เจเนอเรชันเราละ คิดสิ ทำยังไง ให้เราคุยเรื่องประวัติศาสตร์ได้ดีขึ้น เฮียจะไม่เคยพูดว่าการศึกษาไทยไม่ดี อาจจะไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่การศึกษาไทยเป็นสารตั้งต้น อย่างเฮียจำได้เลยว่า ครูคนหนึ่งเป็นครูสอนสังคมศาสตร์ แกชอบมีชื่อภูมิศาสตร์ซับซ้อนๆ เยอะแยะเลย แกเป็นครูที่น่ารักมากเลย แล้วแกก็สอนรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง จำแม่นเลยว่า ช่องแคบบอสฟอรัสเป็นช่องแคบที่สำคัญมาก ก็หัวเราะ ช่องแคบฟอสฟอรัส ตลกเว้ยเฮ้ย อีกอันหนึ่งเทือกเขาพีเรนีส เฮ้ย ตลก เทือกเขาพีนิ— โตขึ้นมา ตอนไปตุรกี โอ้เดี๋ยวเรากำลังจะข้ามช่องแคบบอสฟอรัส ถ้าได้ยินเป็นครั้งแรกจะผ่าน ถ้าได้ยินเป็นครั้งที่สอง เฮ้ย คุ้นๆ เหมือนครูเคยบอกนี่หว่า ช่องแคบบอสฟอรัสจากไหนไปไหน โอ้ จากตุรกีซีกตะวันตกคือยุโรป ข้ามไปซีกตะวันออก หน้าครูคนนี้ชื่อ มาสเตอร์สมควร เป้าน้อย เข้ามาในหัวเลยว่า ขอบคุณมากมาสเตอร์ เทือกเขาพีเรนีส
แล้วเฮียเจอเพื่อนคนนึงที่เขามาจากแคว้นบาสก์ของสเปน เขาเล่าว่า I live close to the Pyrenees. (ผมอยู่ใกล้เทือกเขาพีเรนิส) ก็อ๋อ ก็จากการที่เราอยู่พีเรนีส ภาษาเราก็จะเป็นส่วนผสมระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน คุณจะทิ้งมันไปก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่ทิ้ง คุณเก็บไว้ มันเป็นประโยชน์กับคุณ
และคำว่าช่องแคบบอสฟอรัส ในบรรดาประมาณเกือบ ๆ จะ 150 ตอนของประวัติศาสตร์ 8 นาที พูดคำว่าช่องแคบบอสฟอรัสไปไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง เพราะมันสำคัญ แต่จำได้ทุกครั้งที่คิด นึกถึงครูนะครับ มาสเตอร์สมควร เป้าน้อย เขาทิ้งให้เราเว้ย เพราะฉะนั้นหน้าที่เฮียคือ คนรุ่นเก่า มีวัตถุดิบมาให้เราละ เรามาเชื่อมต่อไหม แล้วก็ทำให้เด็กหรือว่าคนที่อยู่ในสังคมสนใจมัน รุ่นต่อไปปั๊ป เขาต้องทำได้ดีกว่าเฮีย 20 เท่า เราส่งต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้ดีไหม แค่นี้เอง

การทำงานในวงการสื่อหล่อหลอมทัศนคติของคุณอย่างไรบ้าง
แม่งโคตรให้ความสุขเลยว่ะ เพราะว่าเฮียเป็นคนชอบการอ่านข้อมูล ย่อยข้อมูล ทำความเข้าใจ และสื่อสารให้ผู้อื่นได้เข้าใจ แต่สื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจกับโน้มน้าว ไม่เหมือนกันนะ เฮียไม่ได้โน้มน้าว แต่เฮียบอกว่าพอเรารู้ปั๊บ เหมือนกับคนรู้เรื่องแล้วอยากเล่าให้คนฟังอะ การเล่าเรื่องแม่งโคตรสนุก แล้วบางที บางอย่างที่เราเอะใจ เรื่องนี้อะมันมีเรื่องที่มาเนาะ ก็ปูพื้นซะหน่อย มันสนุก และอีกอย่างนึงคือพื้นฐานมันเป็นอาชีพ เพราะฉะนั้นเราก็อยู่กับมัน แล้วก็เฮียก็มองวิวัฒนาการของมันแล้วเฮียก็รู้สึกว่ามันสนุกมากเลย จากวันหนึ่งที่เรามีทีวีอยู่ไม่กี่ช่อง แล้วก็ขยายมากขึ้น แล้วก็มาสู่โลกของประชาธิปไตยของการบรอดแคสต์ครับ คนทุกคนสามารถออกอากาศได้ เนื้อหาซึ่งครั้งหนึ่งไม่มีโอกาสได้เกิดเลยในฟรีทีวี แม่งเกิดได้ครับ โคตรฟินเลยอะ
สมัยก่อน เราก็จะมีเวลาออนแอร์วันละ 18 ชั่วโมง เราก็จะมีสิ่งที่ขายได้ ยังไม่ได้บอกว่าผิดครับ แต่ความหลากหลายมันน้อย คนที่ทำรายการที่มีสาระก็อาจจะถูกจำกัดรูปแบบที่จำกัดมาก ทดลองไม่ได้บ่อย ปัจจุบันนี้โลกก็เปลี่ยน อยากทำบ้าๆ บอๆ ไม่ชอบมึงก็ลบคลิปทิ้ง มึงทำไม่ดีมึงก็ทำซ้ำ สนุกไหมล่ะ เฮียมองแบบนี้มากกว่า โอเคว่ามันก็เป็นความท้าทายเพราะการทำคอนเทนต์มันต้องละเมียดละไมที่สุด เพราะว่าไม่งั้นก็จะมีคนอื่นที่เขาทำได้ดีกว่า แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะทุกคนฟีดคอนเทนต์ที่ดีๆ เข้าไป สังคมเราปัจจุบันก็สามารถเดินหน้าได้โดยที่เราไม่ต้องพึ่งระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว เรามีทั้งระบบการศึกษาในโรงเรียน ระบบการศึกษาหน้าจอเพิ่มเติมที่เรียนรู้อย่างสนุก ต่อจิ๊กซอว์ได้ดีขึ้นเยอะ
