สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อมานานแรมปี และไม่มีใครปฏิเสธว่าเมื่อเกิดสงครามขึ้น ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อนหรือฝ่ายใดจะถูกจะผิด ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเสมอก็คือประชาชนผู้บริสุทธิ์
ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งยังคงคุกรุ่นและไม่คลี่คลาย ผมอยากจะชวนให้ท่านผู้อ่านตั้งความหวังไปข้างหน้าร่วมกันว่า สันติภาพจะคืนสู่ภูมิภาคยุโรป (และทุกภูมิภาคของโลก) ในไม่ช้า และในวันที่ฟ้าเปิดและสันติสุขหวนคืนมาถึง เราอาจจะได้บรรจุ “ยูเครน” ไว้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวของเรา และยังจะได้ถือโอกาสนี้เดินทางไปหยิบยื่นกำลังใจให้กับชาวยูเครนถึงถิ่น การที่ผมเชิญชวนเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผมกำลังบอกให้ทุกท่านเข้าข้างยูเครน แต่ผมกำลังมองไปข้างหน้าว่าเราสามารถส่งต่อกำลังใจและความรู้สึกดี ๆ ให้กับเพื่อนร่วมโลกที่ผ่านเรื่องราวทุกข์ร้อนอย่างภัยสงครามได้
และเหตุที่ผมเลือกที่จะเขียนถึงยูเครนแทนที่จะเป็นรัสเซียนั่นก็เป็นเพราะว่า ในช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด – 19 รัสเซียเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่แล้ว เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวรัสเซียมากมาย แต่สำหรับยูเครนนั้นอาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยในหมู่นักเดินทาง และผมสารภาพตามตรงว่าผมเองก็ยังไม่เคยไปยูเครนเช่นกัน และยูเครนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผมตั้งใจเอาไว้ว่าผมอยากจะเดินทางไปเยือนสักครั้งหนึ่ง ผมก็เลยอยากจะเขียนถึงจุดหมายในฝันของผมเอาไว้เป็นแรงบันดาลใจสักหน่อยครับ
ผมจึงถือโอกาสนี้ทดลองทำการบ้านเสมือนหนึ่งว่าผมกำลังจะเดินทางไปเที่ยวยูเครนอย่างง่าย ๆ ด้วยวิธีที่ผมมักจะใช้เป็น “ทางลัด” เสมอเวลาวางแผนการเดินทางไปต่างประเทศด้วยตนเอง นั่นก็คือการเปิดโปรแกรมทัวร์ที่เดินทางไปประเทศนั้น ๆ หลาย ๆ บริษัทประกอบกัน เพื่อดูเป็นเบื้องต้นว่าสถานที่ใดเป็นสถานที่ยอดนิยม และผมควรจะใช้เวลาอย่างน้อยเท่าใดกับเมืองต่าง ๆ เพื่อที่จะได้นำไปเป็นโปรแกรมพื้นฐานของโปรแกรมการเดินทางส่วนตัวตามอัธยาศัยของผม ในวันที่เรากลับมาเดินทางกันได้เต็มที่อีกครั้ง ใครจะใช้วิธีแบบผมบ้างก็ไม่ว่ากัน และผมจะสนับสนุนด้วย เพราะรู้สึกว่าชีวิตวางแผนอะไรได้ง่ายขึ้นมากจริง ๆ
บทความนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อสนองความตั้งใจของผมเอง โดยอาศัยโปรแกรมทัวร์ยูเครนของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักเป็นแหล่งอ้างอิง อย่างน้อยที่สุดถ้าในวันที่ผมเดินทางไปยูเครนได้ ผมเชื่อว่าบทความที่ผมเขียนขึ้นเองนี้จะต้องช่วยผมได้อย่างแน่นอน
ประวัติศาสตร์ยูเครนสำหรับนักเดินทาง
ยูเครนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในทวีปยุโรปรองจากรัสเซีย โดยมีเนื้อที่ประมาณ 600,000 ตารางกิโลเมตร และมีประวัติความเป็นมาย้อนกลับไปได้ถึงประมาณ 30,000 ปีก่อนที่มีเริ่มปรากฏร่องรอยของผู้คนอยู่อาศัย จากนั้นดินแดนแห่งนี้ก็ได้มีพัฒนาเคียงคู่มากับอาณาจักรต่าง ๆ ในทวีปยุโรปรวมถึงรัสเซียมาโดยตลอด เพื่อให้การเดินทางไปยูเครนของเราได้อรรถรสมากขึ้น ผมจะขอเรียบเรียงประวัติศาสตร์อันน่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวยูเครนภายในสามย่อหน้า เพราะผมมั่นใจว่าถ้าเราทราบประวัติความเป็นมาของสถานที่ที่เราจะไปสักหน่อย เราจะเดินทางไปเยือนสถานที่แห่งนั้นได้สนุกสนานขึ้นแน่นอน
เมื่อช่วงสมัยกลาง ราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 – 13 พื้นที่ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรุสเคียฟ (Kievan Rus) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางทิศตะวันตกของรัสเซีย ประเทศยูเครน และประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศของยูเครนในปัจจุบัน จักรวรรดิรุสเคียฟเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของวัฒนธรรมสลาฟตะวันออก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น ชาวรัสเซีย ชาวเบลารุส ชาวรูซึน (ชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง ปัจจุบันกระจายตัวอยู่ในเขตรัสเซียตะวันตก) และชาวยูเครน
ภาพ: Wikipedia
อย่างไรก็ตาม หลังคริสต์ศตวรรษที่ 13 ก็กลับเป็นช่วงเวลาที่มืดมนของแผ่นดินยูเครน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิมองโกล (เจงกิสข่าน – กุบไลข่าน) เรืองอำนาจ กองทัพมองโกลซึ่งขยายเขตอำนาจของตนไปจรดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกได้ขยายขอบเขตของตนข้ามมาถึงฟากยุโรปด้วย จักรวรรดิรุสเคียฟที่เคยเป็นปึกแผ่นจึงต้องล่มสลายลง และแม้ว่าในอีกประมาณร้อยกว่าปีเศษต่อมาจักรวรรดิมองโกลอันยิ่งใหญ่จะถึงแก่กาลอวสาน แต่พื้นที่ยูเครนก็ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นได้อีก และเนื่องจากบริเวณนี้เป็นดินแดนที่แวดล้อมไปด้วยรัฐขนาดใหญ่มากมาย จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวถูกแย่งชิง แบ่งแยก และปกครองโดยรัฐที่ยิ่งใหญ่กว่ารัฐต่าง ๆ เช่น เครือจักรภพโปแลนด์ – ลิทัวเนีย จักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน (กล่าวโดยอนุโลมว่าคือตุรกีในปัจจุบัน) และจักรวรรดิแห่งซาร์ของรัสเซีย
สำหรับประเทศคู่ขัดแย้งที่มักจะแผ่อิทธิพลมาอยู่เหนือดินแดนยูเครนอยู่เสมอนั่นก็คือจักรวรรดิรัสเซียและเครือจักรภพโปแลนด์ – ลิทัวเนีย ก่อนที่จะมีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนยูเครนใน ค.ศ.1917 หลังจากการปฏิวัติล้มราชวงศ์โรมานอฟอันเป็นการสิ้นสุดของการปกครองโดยพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย แม้ว่าสาธารณรัฐแห่งนี้จะได้รับการรับรองจากนานาชาติ แต่ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นผู้นำของโลกคอมมิวนิสต์ก็ได้แผ่อิทธิพลมาครอบงำเหนือยูเครน และผนวกเอายูเครนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตตลอดยุคสงครามเย็น
ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการสิ้นสุดสงครามเย็นในปี ค.ศ.1991 ยูเครนกลายเป็นประเทศเอกราช แต่ด้วยความที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจขั้วหนึ่ง จึงทำให้ยูเครนก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการแผ่อิทธิพลของรัสเซียอยู่เสมอ ยิ่งยูเครนมีความพยายามจะสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือกลุ่มองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) มากเท่าใด ก็ดูเหมือนกับจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้รัสเซียมากเท่านั้น เนื่องจากรัสเซียมองว่ากลุ่มประเทศหรือความร่วมมือที่ยูเครนพยายามจะสานสัมพันธ์ด้วยเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย และยูเครนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับรัสเซีย
ภาพ: World Atlas
หากยูเครนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มประเทศขั้วตรงข้ามกับรัสเซียเมื่อใดก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสันติภาพของรัสเซียมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นรัสเซียและยูเครนจึงเป็นประเทศที่กระทบกระทั่งกันอยู่เนือง ๆ ตั้งแต่วิกฤตการณ์คาบสมุทรไครเมียที่รัสเซียพยายามจะผนวกเอาไครเมียเข้าไปส่วนหนึ่งของตนเมื่อ ค.ศ.2014 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ค.ศ.2022) ที่รัสเซียประกาศรับรองความเป็นอิสระของดอแนตส์และลูฮันสก์ ซึ่งเป็นแคว้นของยูเครนที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย และลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามอย่างที่เราเห็นกัน
ยูเครนเป็นประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ไม่สูงนัก ยังมีความผันผวนทางการเมืองและปัญหาภายในอย่างการทุจริตคอร์รัปชันที่รุมเร้ายูเครนในทุกวงการ แต่เนื่องจากยูเครนเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จึงทำให้ยูเครนเป็นผู้ผลิตธัญพืช เช่น หัวบุก และเมล็ดทานตะวันรายใหญ่ของยุโรป
จากการส่องดูโปรแกรมการท่องเที่ยวยูเครนของบริษัททัวร์ต่าง ๆ ผมพบว่ามีเมืองหลายเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ และการท่องเที่ยวยูเครนสามารถทำได้หลายระยะ โดยอาจใช้เวลาเพียง 3 – 4 วันโดยผนวกยูเครนเข้ากับโปรแกรมท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันออก เช่น เบลารุส หรืออาจจะเป็นการท่องเที่ยวระยะยาวที่ใช้เวลาประมาณ 7 – 10 วันก็สามารถทำได้เช่นกัน ผมจึงเลือกเมืองสำคัญ ๆ ที่น่าไปมารวมกันไว้ประมาณ 3 เมือง โดยจะอธิบายเหตุผลที่เลือก และสถานที่ท่องเที่ยวคร่าว ๆ เอาไว้ประกอบกันด้วยครับ
กรุงเคียฟ (Kyiv / Kiev)
เคียฟ เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการท่องเที่ยวของยูเครนที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ย้อนกลับไปได้ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 เคียฟถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับแรกที่เราควรจะไปเยือน ในบางประเทศ เมืองหลวงอาจไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว และการไปเยือนเมืองหลวงอาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นของการไปประเทศนั้น แต่สำหรับยูเครนแล้วเคียฟถือเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย (ทำนองเดียวกันกับกรุงเทพมหานครของประเทศไทย) เพราะฉะนั้นหากใครไปเที่ยวยูเครนแล้วไม่ได้ไปเคียฟ จะกลับมาคุยว่าตัวเองเคยไปเที่ยวยูเครนมาแล้วก็เห็นทีว่าจะไม่มีน้ำหนักนัก
เคียฟเป็นเมืองที่สามารถเดินเท้าท่องเที่ยวได้เช่นเดียวกับเมืองใหญ่หลายเมืองในยุโรป โดยเราอาจเริ่มต้นจาก Khreshchatyk Street ซึ่งเป็นถนนท่องเที่ยวสายหลักของเคียฟที่เต็มไปด้วยอาคารราชการที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่หลังจากถูกทำลายไปช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากพอตั้งหลักได้แล้ว สถานที่ที่น่าชมทั่วกรุงเคียฟก็คงจะหนีไม่พ้นโบสถ์วิหารต่าง ๆ ที่ได้รับการรังสรรค์อย่างงดงามอย่างมหาวิหารเซนต์โซเฟีย (St.Sophia’s Cathedral) ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยกลางที่จักรวรรดิรุสเคียฟยังรุ่งเรือง ภายในประดับประดาไปด้วยโมเสกสีทองนับล้านชิ้น และมหาวิหารเซนต์ไมเคิล (St.Micheal’s Cathedral) ที่สร้างขึ้นในสมัยกลางเช่นเดียวกันเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 12
ภาพ: Discogs
แต่มหาวิหารเซนต์ไมเคิลที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้จะเป็นมหาวิหารที่สร้างขึ้นใหม่เนื่องจากมหาวิหารเดิมถูกทำลายไปในช่วงการยึดครองของสหภาพโซเวียต และแม้ว่าในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 13 ยูเครนจะต้องพบกับความระส่ำระสาย แต่ก็ยังปรากฏสถาปัตยกรรมของโบสถ์อันน่าชมอีกแห่งหนึ่งคือมหาวิหารเซนต์แอนดรูว์ (St.Andrew’s Church) ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ Bartolomeo Rastrelli ก่อสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1747 – 1757 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Elizabethan Baroque ที่หาชมได้ยากยิ่งในยุโรปตะวันออก
นอกจากโบสถ์และวิหารแล้ว เคียฟยังเต็มไปด้วยแลนด์มาร์กน่าชมอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์โกลเดนเกต (Golden Gate Monument) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของปราการเมืองเคียฟสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึง Maidan Square จัตุรัสกลางเมืองที่เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่สัญลักษณ์ทางการเมือง จากการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาที่การเมืองภายในของยูเครนเต็มไปด้วยความผันผวนและไม่แน่นอน
ภาพ: Pravmir
ลวีฟ (Lviv)
ลวีฟเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในช่วงปลายของอิทธิพลจักรวรรดิรุสเคียฟ และในช่วงต้นของความแตกแยกเหนือแผ่นดินยูเครน ถึงแม้ว่ายูเครนจะต้องเผชิญกับการยึดครองและการแผ่อิทธิพลของกลุ่มชนต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาหลังจากนั้น แต่การเดินทางของกองคาราวานสินค้าไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ กลับยิ่งทวีปริมาณเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้เมืองลวีฟจึงมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การค้าบริเวณเทือกเขาคาร์เพเธียน เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมสำหรับการเป็นจุดซื้อขายสินค้าจากดินแดนที่เป็นประเทศตุรกี รัสเซีย กรีก และยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ในปัจจุบัน
ลวีฟเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงอุปรากร (Opera House) มหาวิหารนักบุญยูรา (St.Yura’s Cathedral) อาคารมหาวิทยาลัยลวีฟ (Lviv University) จัตุรัสไรน็อก (Rynok Square) และจัตุรัสมาร์เก็ต (Market’s Sqaure)
ภาพ: Roughguides
เชอร์นิฟต์ซี (Chernivtsi)
เมืองที่ต้องห้ามพลาดอีกแห่งหนึ่งที่มักจะได้รับการบรรจุอยู่ในทุกโปรแกรมการเดินทางคือเมืองเชอร์นิฟต์ซี เมืองแห่งศิลปินและกวีที่มีอายุเก่าแก่กว่า 600 ปี เนื่องจากประวัติของเมืองกล่าวว่าในช่วงที่ยูเครนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียต มีศิลปินดาราชาวยูเครนหลายคนที่มีภูมิลำเนามาจากเมืองแห่งนี้ นอกจากนี้เมืองเชอร์นิฟต์ซียังเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวอาร์เมเนียนเก่าแก่ด้วย
การเดินทางไปยังสถานที่สำคัญ ๆ ของเมืองเชอร์นิฟต์ซีต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 2 วันกว่าจะครบ โดยอาจเริ่มต้นที่ศูนย์กลางของเมืองที่มีศาลากลางสไตล์ Neo – Classic ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 สถานที่ที่ควรไปชมคือหมู่อาคารต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเชอร์นิฟต์ซีที่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นสถานที่เรียนวิชาการปกครองชั้นสูงของพระราชวงศ์ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป โดยเฉพาะจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี และพร้อมกันนี้เชอร์นิฟต์ซียังมีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปได้ถึงปลายสมัยกลาง หรือต้นสมัยความแตกแยกหลังจากการรุกรานของกองทัพมองโกลเหนือแผ่นดินยูเครน โดยมีประจักษ์พยานที่สำคัญคือป้อมปราการสองแห่งในคริสต์ศตวรรษที่ 14 คือป้อมปราการโคทิน (Khotyn Fortress) และป้อมปราการคาเมียเนตส์ (Kamenets Fortress)
ภาพ: Wikipedia
นับวันรอ
เมื่อหลายท่านได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้ (รวมถึงตัวผมเองที่นั่งเขียนบทความนี้อยู่ด้วย) ก็คงจะต้องถอนหายใจด้วยความรู้สึกที่ว่า ยูเครนก็เป็นประเทศแห่งหนึ่งที่มีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามและมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ และถ้ามีโอกาส หลายท่านก็คงอยากจะหาโอกาสไปเยือนได้สักครั้ง เพียงแต่เราก็ยังไม่รู้เลยว่าโอกาสที่ว่านั้นจะมาถึงเมื่อไหร่
ผมไม่ได้คิดว่าเราจะไปเยือนยูเครนได้ในเร็ววันนี้ และยิ่งไม่มั่นใจว่าสงครามความขัดแย้งครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นนี้จะพรากความสวยงามไปจากประเทศนี้มากมายเพียงใด จะเหมือนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและชีวิตของผู้คนอันประเมินค่าไม่ได้เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศหรือไม่ เป็นคำถามที่ยากจะยืนยันคำตอบได้ แต่อย่างไรก็ตามผมเชื่อมั่นว่าสันติสุขจะคืนกลับมาสู่ยูเครนได้ในไม่ช้า ถ้าการตัดสินใจของผู้มีอำนาจทั้งหลายทุกฝ่ายยืนอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชนที่แท้คือการเอาสวัสดิภาพและสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของประชาชนเป็นที่ตั้งได้อย่างแท้จริง
และเมื่อถึงวันนั้น นักเดินทางทั่วโลกก็คงได้มีโอกาสไปหยิบยื่นกำลังใจก้อนโต ๆ ให้กับชาวยูเครนอย่างแน่นอน
Contributors
ครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาที่รักการเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกกว้างเป็นชีวิตจิตใจ เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มนุษยสัมพันธ์ และการเดินทางจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเติบโตไปพร้อมกันเสมอ