เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

ถึงเราจะผ่านวัยเด็กมานานมากแล้ว แต่ภาพยนตร์คือสิ่งเหนือกาลเวลาที่บางเรื่อง อย่างหนังเรื่องโปรดบางเรื่อง ที่แม้เราจะเคยดูสมัยยังตีนเท่าฝาหอย แต่กลับไปดูอีกครั้งในตอนที่โตก็ยังรู้สึกสนุกอยู่ดี วันนี้เรากำลังมาทบทวนความทรงจำในวัยเด็กของเราอีกครั้งกับการมาดูภาพยนตร์เรื่อง The Little Mermaid 2023 หรือเงือกน้อยผจญภัย ในเวอร์ชัน Live Action อีกหนึ่งการ์ตูนในดวงใจวัยเด็กของใครหลายๆ คนจากดิสนีย์

ผู้คนต่างคาดหวังเมื่อดิสนีย์ประกาศว่าจะให้แฟนดิสนีย์ได้เป็นเงือกน้อยผมแดงฉบับคนเป็นๆ ให้ได้ชมกัน และด้วยความคาดหวังเหล่านั้นก็ทำให้มีประเด็นถกเถียงตามมามากมาย ตั้งแต่ที่ดิสนีย์ประกาศว่า ฮัลลี เบลีย์ (Halle Bailey) นักแสดงสาวอเมริกัน ได้รับบทนำเป็นเงือกน้อยแอเรียล 

หลายคนคงได้ติดตามประเด็นถกเถียงของแอเรียลเวอร์ชันคนกันอยู่แล้ว ตั้งแต่เรื่องของภาพลักษณ์แอเรียลที่หลายคนมองว่าไม่ตรงกับภาพจำในวัยเด็ก เรื่องของการแสดงออกทางสีหน้าของผองเพื่อนแอเรียล ที่หลายคนมองว่าเซบาสเตียน ฟลาวเดอร์และสกัตเทิลเหมือนสัตว์จริงๆ มาเกินไปเสียจนเหมือนดูสารคดีสัตว์โลก (ชาวเน็ตเขาว่ามาแบบนี้จริงๆ ค่ะ)  หรือการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องชุดของแอเรียลที่ดูไม่เข้ากับฮัลลี และไม่ได้ส่งให้ฮัลลีโดดเด่นที่สุดในเรื่อง จนไปถึงเรื่องของแอเรียลเวอร์ชันบทพากย์ไทย ที่มีการถกเถียงกันเป็นวงกว้างถึงความเหมาะสมกับการนำนักร้องมาเป็นผู้พากย์แทนนักพากย์มืออาชีพ

ประเด็นที่เกิดขึ้นจนแทบนับไม่ถ้วน ทำให้เราดูแอเรียลเวอร์ชันคนแสดงในครั้งนี้อย่างตั้งใจกว่าปกติ ริทึ่มเทียเตอร์ในวันนี้ จึงอยากมาแชร์มุมมองจากทุกประเด็นร้อนที่ทุกคนถกเถียงกัน ให้ทุกคนได้มาลองมองหลายๆ มุมไปด้วยกัน และได้มามองแอเรียลอีกครั้งในวันที่เราเติบโตกันมากขึ้นกว่าสมัยเด็กแล้ว

แฟนตาซีที่เรียล (เกินไป) มาก

แน่นอนว่าเกินครึ่งของเรื่องย่อมเป็นฉากโลกใต้น้ำ และท้องทะเลของเหล่าเงือกฉบับการ์ตูนได้ฉายภาพความสดใสใต้ท้องทะเลจนใครๆ ก็อยากจะเป็นนางเงือกสักครั้งดูบ้าง แต่โลกใต้ผืนทะเลเวอร์ชันคนแสดง ได้รับเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ที่กล่าวว่าโลกใต้น้ำส่วนใหญ่มืดไป ไม่ได้มีซีนที่สดใสอย่างที่คิด แต่หากให้พูดกันตรงๆ เราต้องยอมรับเลยว่า The Little Mermaid 2023 เป็นการปรับความแฟนตาซีของการ์ตูนให้เป็นความสมจริงได้ธรรมชาติและไม่ฝืนเลย ที่เรากล่าวแบบนั้นเพราะแอเรียลในเวอร์ชันนี้เล่นกับแสงและมุมของแต่ละซีนได้ดี หลายฉากที่คนส่วนใหญ่มองว่าฉากเหล่านั้นมืดไป แต่ความมืดนั้นเป็นเพราะเหล่าเงือกย่อมมีที่อยู่ในถ้ำหรือที่กำบังใต้น้ำอยู่แล้ว หากจะให้พื้นที่ในถ้ำสว่างจนเกินไป อาจจะผิดหลักธรรมชาติไปเสียหน่อย เพราะแม้ว่าเงือกน้อยผจญภัยจะเป็นเรื่องราวที่เหนือธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ในเมื่อใช้คนจริงมาแสดง ฉากทุกอย่างจึงต้องเหมือนธรรมชาติจริงของโลกให้มากที่สุดนั่นเอง ซึ่งการที่โลกใต้น้ำแอบมืดกว่าปกติ เราจึงมองว่าค่อนข้างสมเหตุสมผลเพราะใต้ทะเลลึก แสงคงไม่สามารถส่องถึงใต้น้ำได้มากมายนัก 

เมื่อพูดถึงแสงและมุมของเรื่องนี้ เราต้องบอกเลยว่าเราค่อนข้างประทับใจกับฉากการเคลื่อนไหวของหางนางเงือกที่ดูสมจริง ดูมีความฉับสมกับเป็นการว่ายน้ำของนางเงือก (แถวหางของนางเงือกทุกตัวยังสวยมากด้วย) รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของหนวดปลาหมึกแม่มดอย่างเออร์ซูลา (รับบทโดย เมลิสซา แม็กคาร์ธี) ที่ขยับได้อย่างทรงพลัง ดูน่ากลัวและดูเป็นหนึ่งเดียวเออร์ซูลามากจริงๆ แม้ในบางซีนใบหน้าของนักแสดงจะดูลอยและดูไม่เนียนไปกับหางในบางฉากบ้าง แต่ต้องยอมรับว่าดิสนีย์สามารถปั้นนางเงือก Live-Action ได้ประหนึ่งว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีอยู่จริงได้ ทำให้เราเห็นว่าดิสนีย์ใส่ใจเรื่องความสมจริงของธรรมชาติในเรื่องนี้มากทีเดียว

ความใส่ใจในเรื่องความเป็นธรรมชาติของดิสนีย์เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าใส่ใจมากจนเกินไปก็อาจจะสร้างความอึดอัดได้เช่นกัน เพราะทั้งเซบาสเตียน ฟลาวเดอร์และสกัตเทิล สามสหายเพื่อนรักของแอเรียลที่มาในรูปลักษณ์ของปูแท้ๆ ปลาแท้ๆ และนกแท้ๆ จนเราเองยังต้องยอมรับว่า คาดไม่ถึงกับรูปลักษณ์ที่ดูเรียลมากของสามตัวละครนี้เช่นกัน ในส่วนของการทำอนิเมชันให้ดูสมจริงของปูเซบาสเตียนและนกสกัตเทิล เรามองว่ายังอยู่ในระดับที่รับได้ และเชื่อว่าคนรับรู้ถึงอารมณ์ต่างๆ ของอนิเมชันสองตัวละครนี้ แต่ฟลาวเดอร์ เพื่อนปลาน้อยแอเรียลที่การแสดง (?) อาจจะดูฝืนไปเสียหน่อย เพราะเราไม่สามารถเห็นอารมร์ทางสีหน้าของปลาได้เลย หนึ่งในเรื่องสุดท้าทายเมื่อดิสนีย์ต้องทำภาพยนตร์ Live-Action จากการ์ตูนนั่นคือ การทำให้สิ่งที่พูดไม่ได้ สามารถพูดได้ในแบบที่ดูไม่ฝืน ในยุคของ Live-Action เรื่อง Lion King ดิสนีย์ก็ได้รับเสียงตอบรับในแบบเดียวกัน นั่นคือการท้วงติงถือการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางของสัตว์ ที่ยังไม่สมจริงและดูแข็งจนเกินไป ซึ่งในเรื่องเงือกน้อยผจญภัยทำให้เห็นว่าดิสนีย์พัฒนาขึ้นมาก แต่ก็ยังคงต้องการชั่วโมงบินให้มากขึ้น ในเรื่องของการทำอนิเมชันสัตว์พูดได้อยู่ดีค่ะ

นอกจากเรื่ององค์ประกอบของฉากต่างๆ ในเรื่องแล้ว อีกประเด็นที่ชาวโชเซียลโอดครวญกันตั้งแต่ก่อนวันที่ภาพยนตร์ฉายคือ ชุดของแอเรียลที่ไม่สวยเอาเสียเลย ครั้งแรกที่เห็นภาพชุดสีฟ้ากับผ้าคาดหัวสีชมพู เราก็แอบรู้สึกเหมือนกันว่าชุดนั้นช่างไม่สวยสำหรับฮัลลี เพราะโดยความจริงแล้วฮัลลีเป็นนักแสดงที่สวยอยู่แล้ว 

แต่พอได้มาดูจริงๆ เรากลับมองว่าชุดสีฟ้าเป็นชุดที่สวยที่สุดในเรื่องแล้ว เพราะบริบทของเรื่อง ณ เวลานั้น เป็นชุดที่เราคาดการณ์ว่าน่าจะมาจากยุควิกตอเรียที่ยังมีการใส่คอร์เซ็ตอยู่ และชุดก็เป็นผ้าพริ้วๆ พองๆ ตามสไตล์ชุดผู้หญิงในยุควิกตอเรีย ในยุคนั้นสีชุดของผู้หญิงนิยมเป็นสีอ่อนๆ สีครีม สีน้ำตาลหรือ สีออกธรรมชาติ ซึ่งการเลือกให้ชุดแอเรียลสวมชุดสีฟ้าทับคอร์เซ็ต ทำให้แอเรียลดูโดดเด่นกว่าตัวละครประกอบฉากอยู่มาก ผ้าคาดหัวสีชมพูก็เข้ากับผมสีส้มของฮัลลีได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นคือชุดสีฟ้าของแอเรียล ยังได้เข้าฉากเดียวกันกับเออร์ซูล่าร่างแปลงกายเป็นสาวงาม (รับบทโดย เจสสิก้า อเล็กซานเดอร์) ในชุดสีม่วงอีกด้วย ซึ่งการประกบคู่กันของสีฟ้าและสีม่วง ไม่ได้ทำให้ฮัลลีดูดรอปกว่าเจสสิก้าแม้แต่น้อย กลับกันคือความสวยของพวกเธอยังกินกันไม่ลงอีกต่างหาก ด้วยเหตุนั้นในเรื่องชุดของแอเรียล เราจึงมองว่าเธอค่อนข้างโดดเด่นและเข้ากับธีมยุคในเรื่องอยู่

ดิสนีย์ – การ์ตูนเด็กที่เนื้อหาไม่เด็ก

“แอเรียลใน Live-action ไม่ตรงกับภาพจำแอเรียลในวัยเด็ก” เป็นประโยคที่เหล่าแฟนคลับดิสนีย์บางส่วนสะท้อนกลับมาหลังดิสนีย์ประกาศว่า ฮัลลีได้รับบทแอเรียล ซึ่งนั่นเป็นอีกชนวนที่จุดประเด็นเรื่องการเหยียดสีผิว การเหยียดชาติพันธุ์และลุกลามไปถึงการถกเถียงกันเรื่อง Beauty Standard อีกด้วย ซึ่งการโจมตีกันไปมาระหว่างกลุ่มแฟนคลับ จนเกิดประเด็นเรื่องที่กลุ่มแฟนคลับวิจารณ์ถึงการ Woke หรือการเรียกร้องเรื่องสีผิวมากจนเกินไปของดิสนีย์จนดูยัดเยียด

ต้องเล่ากันก่อนว่าเดิมทีดิสนีย์เคยถูกตักเตือนในเรื่องการผลิตเนื้อหาที่แฝงการเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดรูปลักษณ์ เช่น ปีเตอร์แพน, ดัมโบ, Lady and the tramp ในเรื่องนี้มีการร้องเพลงเหยียดคนไทยอย่างชัดเจน หรือจะเรื่อง Fantasia ที่ดิสนีย์ให้ทาสรับใช้ที่ชื่อว่า Sunflower เป็นคนแอฟริกันผิวดำ และมีกระแสวิจารณ์จนต้องถอดตัวละครนี้ออกไป ซึ่งแน่นอนว่าการืตุนเหล่านี้เป็นการ์ตูนที่เกิดขึ้นในยุคก่อนที่สังคมทั่วโลกยังไม่ได้มีความตระหนักรู้ในเรื่องของการเหยียดชาติพันธุ์ ไม่ได้มีความตื่นรู้ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันมากนัก การนำเสนอของดิสนีย์ในยุค 40-50 ปีที่แล้วจึงถูกเผยแพร่มาในรูปแบบดังกล่าว

และแน่นอนว่าเมื่อถึงในยุคแห่งการตื่นรู้ ดิสนีย์จึงเลือกที่จะรับผิดชอบการกระทำในอดีตเสมอมา ตั้งแต่การเปลี่ยนเนื้อเพลง Lady and the tramp ที่เคยมีการเหยียดคนไทย การให้นักแสดงชาวอาหรับมารับบทอาลาดินจริงๆ เพื่อให้เกียรติการยืมอัตลักษณ์ของชาวอาหรับ จนไปถึงมู่หลานภาคคนแสดงที่ให้นักแสดงสัญชาติจีนมารับบทนำด้วย 

เงือกน้อยในเวอร์ชันคนแสดงจึงเป็นที่จับตามองว่า ดิสนีย์จะนำเสนอฮัลลีในบทของแอเรียลแบบไหน จะยัดเยียดการเคารพในเรื่องสีผิวมากจนเกินหรือไม่ เราอยากแชร์ความเห็นกันตรงนี้ว่า แอเรียลในเวอร์ชันของฮัลลี ยังคงเป็นแอเรียลที่เรารู้สึกว่านี่คือแอเรียล ภาพลักษณ์ของเธอไม่ได้เปลี่ยนตัวตนหรือภาพจำแอเรียลในวัยเด็กของเรานัก ฮัลลียังคงความไร้เดียงสาความดื้อรั้นและแววตาที่ต้องการความอิสระตามสไตล์แอเรียลเอาไว้ได้เป็นอย่างดี และไม่ได้ยัยดเยียดบทของความแตกต่างทางเชื้อชาติมาด้วย เพราะสิ่งที่ดิสนีย์แสดงให้เราเห็นคือการที่นางเงือกหลากหลายสายพันธุ์ หลายสีผิว และหลายสีผม มาอยู่ร่วมกันได้โดยไม่รู้สึกถึงความขัดแย้ง และไม่รู้สึกว่ามีเงือกตัวไหนในเรื่องแปลกแยกจากคนอื่น (เว้นเสียแต่แอเรียลที่อาจจะแปลกจากคนอื่นเพราะอยากมีขานี่แหละค่ะ)

อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าดิสนีย์รอบในความหลากหลายมากขึ้นคือ ฉากสุดท้ายที่แอเรียลจะออกเดินไปกับเจ้าชายเอริค เหล่าพี่น้องเงือกก็รวมตัวกันมาส่งแอเรียลให้เดินทางไปถึงฝั่งฝัน ภาพที่ฉายในฉากนั้นคือการให้เราได้เห็นว่านางเงือกมีทั้งชายหญิงที่รูปลักษณ์ต่างกันไป พี่น้องของแอเรียลทั้ง 7 คนก็มีสีผิวและผมที่แตกต่างกัน เพราะเชื่อว่าพี่น้องทั้ง 7 ของราชาไตรตันเป็นเงือกต่างกันตามเอกลักษณ์ของผู้บนน่านน้ำทั่วโลก นอกจากนี้ดิสนีย์ยังซ่อนความหลากหลายเอาไว้ในเรื่องมากมาย เช่น ฉากการละเล่นที่ตลาดใกล้ปราสาทที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมจากทั่วทุกสารทิศ ผลไม้นำเข้าที่หลากหลาย จนไปถึงพืชพันธุ์นานาชนิดที่แสดงให้เห็นว่าทุกคนในเรื่องยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่เหยียดเชื้อชาติอีกด้วย

แอเรียล : เส้นกั้นบางๆ ของเด็กกล้าหาญ-เด็กใจแตก

ประเด็นสุดท้ายคงหนีไม่พ้นเรื่องของมุมมองที่มีต่อทัศนะตัวละคร ประเด็นนี้ดิสนีย์ไม่ได้โดนวิจารณ์ยับเท่าประเด็นก่อนๆ ที่เราว่ามา แต่เป็นข้อถกเถียงในเชิงมุมมองของคนแต่ละช่วงวัยมากกว่า เราเชื่อว่าในวัยเด็ก หลายคนมักรู้สึกสงสารแอเรียลและรู้สึกโกรธพ่อแอเรียล ตั้งคำถามถึงพ่อว่า ทำไมต้องบังคับและจำกัดอิสระแอเรียลได้ขนาดนี้ ช่างเป็นพ่อที่ใจร้ายเสียจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนที่ดูแอเรียลในวัยที่โตขึ้นแล้วกลับพูดกันว่า แอเรียลเรียกได้หรือเปล่าว่าเป็นเด็กใจแตก เพราะหนีตามผู้ชายตั้งแต่เด็ก อยากได้อิสระมากเกินไปจนไม่เห็นใจและไม่สนใจพ่อ อู้งาน โดดประชุม ช่างเป็นลูกสาวคนสุดท้องที่เกเรเสียจริง คำพูดเหล่านี้ก็มีทั้งส่วนที่ถูกต้อง และบางส่วนที่เราอยากแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้อ่านทุกท่านด้วย 

แอเรียลเป็นเด็กใจแตกจริงๆ เหรอ?

เราคิดว่าไม่เรียกแบบนั้นจะดีกว่าค่ะ อย่างที่เรากล่าวถึงเรื่องชุดไป ชุดในเรื่องแอเรียลดูท่าทางแล้วดิสนีย์ตั้งให้บริบทยุคแอเรียลอยู่ในสมัยยุควิคตอเรีย พูดกันตามตรงว่าในยุคนั้นหญิงสาวอายุ 14-18 ปีก็มีสามีกันถ้วนหน้าแล้วค่ะ เพราะอาชีพหลักในสมัยนั้นไม่ใช่การเป็นนักเรียน แต่เป็นการค้าขายเสียส่วนใหญ่เลย ดังนั้นเรามองว่าบริบทของยุคนั้นก็ไม่แปลกอะไรที่แอเรียลอยากมีแฟนตั้งแต่อายุหลักสิบ ยิ่งไปกว่านั้นคือความรู้สึกอยากมีความรักของแอเรียล จะเรียกว่าบ้าผู้ชายก็อาจจะไม่ถูกเสียทั้งหมดนัก ในความเห็นเรามองว่า แอเรียลกำลังแสวงหาใครสักคนที่ยอมรับในตัวเธอ และมีความคิดที่อยากค้นหาสิ่งใหม่ๆ ทั่วโลกไปพร้อมกันเหมือนๆ เธอ เพราะเงือกรอบตัวแอเรียลต่างหวาดกลัวแม้กระทั่งการโผล่ขึ้นผิวน้ำเสียด้วยซ้ำ ความเชื่อที่แอเรียลมองว่าเหรียญมักมีสองด้านเสมอ ทำให้เธอพยายามจะสื่อสารกับพ่อของเธอให้มากขึ้น แต่เมื่อพ่อของเธอไม่ใช่ผู้รับฟังที่ดีมากมายนัก แอเรียลจึงประท้วงเพื่อเสียงของตัวเองด้วยการกระทำแทนนั่นเอง

เข้าอกเข้าใจแอเรียลขนาดนี้ เราเองก็เข้าใจคุณพ่อเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าพ่อลูกคู่นี้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกันอย่างมาก พ่อก็พูดน้อย คอยแต่สั่งห้ามโดยไม่รั้งรอ ลูกก็ใจร้อนรนอยากได้ในสิ่งที่ใจต้องการทันที แต่เช่นนั้นก็ไม่ได้ลบความจริงที่ว่าราชาไตรตันเป็นพ่อที่รักลูกมาก รักเสียจนเผลอเลี้ยงลูกแบบไข่ในหินโดยไม่รู้ตัว ความเผลอเป็นผลมาจากการที่ต้องแบกภาระเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวของลูกสาวทั้ง 7 คน และยังต้องทำหน้าที่ราชาท้องสมุทรที่ดีให้เพื่อดูพสกนิกรเงือกด้วย เมื่อโตขึ้นเราจึงเข้าใจภาระและหน้าที่ที่หนักอึ้งในใจของราชาไตรตันมากขึ้น และก็โกรธในฉากที่พ่อแอเรียลตัดสินใจพังข้าวของของแอเรียลได้น้อยลงไปเยอะ แม้ฉากนั้นจะดูเป็นฉากที่ใจร้าย แต่เรามองว่าฉากนั้นคือ ฉากที่พ่อแอเรียลพยายามแสดงความต้องการของตัวเอง ให้ลูกได้เห็นเพื่อร้องขอความเข้าใจจากลูกเช่นเดียวกัน 

ก่อนจะทิ้งทวนกันไป มาพูดถึงฉากและตัวละคร MVP กันหน่อยดีกว่า ฉากที่ตราตรึงใจของแอเรียลฉบับการ์ตูนคงเป็นฉากสุดท้าย ที่ในที่สุดแอเรียลก็ได้เป็นอิสระและได้ครองรักกับเจ้าชายนานแสนนาน แต่นั่นเป็นภาพความประทับใจในวัยเด็ก เพราะในวัยที่เราโตขึ้น ฉากที่ประทับใจคือฉากที่ดึงอารมณ์ของเราขณะที่รับชมได้มากที่สุด เราจึงยกให้ฉากแม่มดเออร์ซูลา ล่อลวงและร่ายคาถาทำสัญญาแลกเสียงกับหางให้กับแอเรียล บอกเลยว่าฉากนี้ในภาพยนตร์ช่างลงตัวตั้งแต่เรื่องภาพการเคลื่อนไหวที่ลื่นไหลของหนวดเออร์ซูลา เอฟเฟคเวทมนต์ที่เหมือนจริงเสียจนอินไปด้วยว่าคาถาเหล่านั้นมีอยู่จริง จนไปถึงความน่ากลัวของนักแสดงเออร์ซูลาที่ทำให้เรารู้สึกว่า นี่คือฉากที่พาคนดูไต่ไปถึงจุดไคล์แม็กซ์ได้ดีที่สุดของเรื่องนี้เลย รับรองได้เลยว่าใครที่ไปดูแล้วได้รับชมฉากนี้จะต้องรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้เห็นฉากนี้แน่นอน

มีฉาก MVP แล้วก็ย่อมมีตัวละคร MVP กันบ้าง สำหรับตัวละครเราขอยกให้สองตัวเด่นที่ดึงคาแรกเตอร์ของตัวละครออกมาได้ดีจนขนลุกคือ เออร์ซูลาและราชาไตรตัน อย่างที่เรากล่าวไปแล้วถึงเรื่อง มุมมองความสัมพันธ์ของพ่อและลูกที่เปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัยของคนดู ทำให้เราในวันนี้กลับชอบพ่อของแอเรียลมากสุดใจ ความรักและความห่วงใยที่มอบให้ลูกเอ่อล้นไปถึงแววตาของฮาเวียร์ บาร์เด็ม (ผู้รับบทราชาไตรตัน) ในต้นเรื่องมีคำที่กล่าวประมาณว่า เพราะเป็นนางเงือกที่อยู่ในน้ำ นางเงือกจึงไม่สามารถมีน้ำตาได้ แต่แท้ที่จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น

แม้ท้ายที่สุดแล้วตอนจบจะมีฉากที่ราชาไตรตันต้องหลั่งน้ำตา แต่การแสดง ณ เมืองบาดาลของฮาเวียร์ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความห่วงใย ความเศร้าใจและความรักที่มีต่อลูกอย่างชัดเจน แม้ว่าราชาไตรตันไม่ใช่คุณพ่อที่พูดเก่งก็ตามที ส่วนอีกตัวที่เรายกให้เป็น MVP คือเออร์ซูลา นั่นเป็นเพราะการแสดงสุดจัดหนัดจัดเต็มของเมลิสซา แม็กคาร์ธี ที่เข้าถึงความเป็นตัวร้ายได้อย่างจัดจ้าน ไม่ว่าจะจริต ท่าทาง การแสดงสีหน้า รวมไปถึงวิธีการพูด ช่างเป็นการถอดแบบราวกับว่า เธอหลุดออกมาจากการ์ตูนต้นฉบับเสียอย่างไรอย่างนั้น ความร้ายของเธอช่างสะใจจนทำให้เรารู้สึกประทับใจ และอดไม่ได้ที่จะอยากดูซ้ำอีกครั้งเพื่อกลับเข้าดูฝีไม้ลายมือความร้ายแบบตัวแม่ของเออร์ซูลาอีกครั้ง

การรีวิวเป็นเพียงมุมมองที่เป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจ สำหรับใครที่ยังลังเลว่าจะดูดีหรือไม่ แต่เราคงเชียร์ให้ลองไปดูสักครั้ง ไม่ว่าจะไปดูเพื่อเอาสนุก ดูเพื่อมาวิเคราะห์ต่อ หรือดูเพราะอยากเปิดบทสนทนากับคนรอบตัวก็ย่อมได้หมด เพราะลองดูก็ไม่เสียหายอะไร อยากให้ทุกคนลองไปดูแบบเปิดใจ เพราะเงือกน้อยแอเรียลเวอร์ชันคน อาจจะเป็นภาพยนตร์ Live-Action ประจำปีนี้ที่ตราตรึงบางคนโดยไม่รู้ตัวก็ได้ค่ะ

Contributors

Contributors

เด็กมนุษย์ฯ ผู้ชื่นชอบการออกไปเดินเที่ยวคนเดียว เอนจอยกับการเต้นและการกิน ปัจจุบันกำลังพยายามใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่