ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชาวโลกได้พบกับข่าวใหญ่กับกรณีการเสด็จสวรรคตของ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่สอง หลังจากครองราชย์สหราชอาณาจักรมายาวนานกว่า 70 ปี นำมาด้วยการผลัดแผ่นดินเกาะอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพเข้าสู่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่สาม
จากเหตุการณ์นี้เอง ทำให้เกิดความนิยมในเรื่องราวที่หวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อยอดผู้เข้าชมซีรีส์ The Crown ซีรีส์ดราม่าที่เล่าเรื่องชีวิตของราชินีเอลิซาเบธที่สองตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ กลับมาสูงขึ้นจนติดอันดับยอดผู้ชมสูงสุดหลายประเทศ และเพิ่งมีซีซั่นใหม่ที่จะปล่อยให้ชมในกลางเดือนนี้

ภาพ: Netflix
ซึ่งแม้ว่าจะมีกระแสจากกรณีสวรรคตทำให้กระแสของซีรีส์เรื่องนี้กลับมา แต่ก็คงไม่เกินเลยไปนัก หากเราจะบอกว่าซีรีส์อย่าง The Crown คือซีรีส์ดราม่าอิงประวัติศาสตร์ที่ดีอันดับต้น ๆ ที่จะนึกถึง และมันคือซีรีส์ที่สร้างชื่อและยกระดับให้สตรีมมิ่งอย่าง Netflix ในช่วงแรกเริ่ม ได้เข้ามาอยู่ในสารบบความคิดของนักดูหนังได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยที่ตัวซีรีส์เรื่องนี้ได้กวาดรางวัลอย่างถล่มทลายรวมถึงเสียงวิจารณ์ในแง่บวกจากทั้งบรรดานักวิจารณ์และคนดูทั่วไป ถึงคุณงามความดีของมัน
อย่างแรกก็คงต้องชื่นชมทาง Netflix ที่ถือว่าใจป้ำพอตัวในการลงทุนสร้างซีรีส์เรื่องนี้ด้วยเม็ดเงินมหาศาล ที่ในตอนนั้น มันเคยครองแชมป์ซีรีส์ที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุดและโดนโค่นล้มในภายหลัง รวมถึงการจ้าง ปีเตอร์ มอร์แกน ผู้เขียนบทมือทองที่เคยผ่านงานภาพยนตร์คุณภาพที่เล่าเรื่องอิงประวัติศาสตร์มากมายทั้งเรื่องกษัตริย์ราชวงศ์อังกฤษอย่าง The Queen (2006) หรืองานดราม่าอิงการเมืองสหรัฐฯในยุคประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันใน Frost/Nixon (2008) ที่พิสูจน์ฝีมือการเขียนบทอันเอกอุและเป็นที่ประจักษ์ มาทำหน้าที่ผู้สร้าง (Creator) ให้กับซีรีส์เรื่องนี้
นอกจากงานโปรดักชั่นที่เราอาจต้องบอกว่าเงินมหาศาลระดับร้อยล้านดอลลาห์ที่ลงไปดูจะคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์เพราะมันคือการสร้างฉากหลังในประเทศอังกฤษที่ย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำออกมาได้อย่างประณีตและเนี้ยบในทุกองค์ประกอบ ซึ่งหากใครจะให้คะแนนในส่วนนั้นมากจนทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ได้คำชมไปก็ย่อมได้ หากแต่หัวใจสำคัญของศิลปะภาพยนตร์อย่างการเล่าเรื่อง ซีรีส์เรื่องนี้ก็ทำได้ดีกว่านั้นอีก

ภาพ: Netflix
ด้วยความที่เป็นซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ แม้จะเน้นหนักไปที่ตัวละครราชินีเอลิซาเบธที่สอง หากแต่ด้วยสถานการณ์นั้นแวดล้อมไปด้วยเรื่องราวมากมายทั้งเกมการเมือง สภาพสังคมในแต่ละยุคสมัยไล่ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงยุค 90 ความขัดแย้งและเรื่องราวในราชวงศ์ที่ประกอบด้วยคนมากมาย ที่เปิดโอกาสให้ผู้สร้างได้มีตัวละครมากมายที่สามารถเล่าเรื่องประเด็นต่าง ๆ ที่หลากหลายได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความชราบั้นปลายของนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่อย่าง วินสตัน เชอร์ชิล ความขัดแย้งเรื่องการทำใจยอมรับในการอยู่ภายใต้การนำของเพศหญิงในยุคสมัยที่ชายเป็นใหญ่ของ ฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ผู้เป็นพระสวามีของราชินีเอลิซาเบธ ความดื้อรันของสมาชิกราชวงศ์ระดับสูงที่เลือกทำตามความรู้สึกมากกว่าสถานะของตัวเองอย่าง เจ้าหญิงมาร์กาเรต ผู้เป็นน้องสาวของราชินีเอลิซาเบธ การเติบโตของชายหนุ่มที่ต้องปรับตัวให้พร้อมกับการเป็นว่าที่กษัตริย์ในอนาคตอย่าง เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และความอึดอัดกับราชวงศ์ของสามีกับความรักในฝันที่ล่มสลายอย่าง ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์
ซึ่งเรื่องราวและปมปัญหาของตัวละครเหล่านี้ ต่างก็ถูกเล่าออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการลงลึกถึงความเป็นมนุษย์ ผ่านการตีความของผู้สร้างในการเสริมเติมแต่งมิติตัวละครให้น่าสนใจและถ่ายทอดความเป็นปุถุชนได้อย่างสามัญเป็นที่สุด สิ่งนี้เองที่โดยส่วนตัวนี่อาจเป็นจุดสำคัญที่ผู้คนหลงใหล เพราะซีรีส์เรื่องนี้ได้นำพาคนดูเข้าไปพบโลกของคนอีกระดับ ที่คนสามัญธรรมดาไม่อาจเข้าไปพบเห็น เข้าถึงในระยะประชิดในระดับที่รับรู้ความรู้สึกนึกคิด แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องจริง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ตามที

ภาพ: Netflix
การถ่ายทอดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมในรายละเอียดต่าง ๆ ที่เหมือนเป็นการดูดให้คนดูกลับไปย้อนดูเหตุการณ์นั้นในระยะประชิดผ่านการตีความ เช่นกรณีการสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่หก พระราชบิดาของราชินีเอลิซาเบธที่สอง มันคือช่วงโมงยามแห่งการผลัดแผ่นดินอันสับสนอลหม่าน ที่หญิงสาวคนหนึ่งต้องเดินเข้าไปดูพระศพของบิดาผู้เป็นอดีตกษัตริย์ด้วยความเศร้าโศกและหวาดกลัวอนาคต ขณะที่ตัวเองกำลังจะต้องรับภาระหน้าที่อันหนักหนาที่ตามมา ภาพของคนรอบตัวทั้งแม่ น้องสาว รวมถึงย่าของตนเอง ที่ต้องก้มหัวทำความเคารพเธอในฐานะกษัตริย์คนใหม่ จึงเป็นฉากอันทรงพลังที่ยากสำหรับคนธรรมดาจะจินตนาการได้
อีกจุดหนึ่งที่ต้องเขียนถึงเมื่อเราจะพูดถึงซีรีส์เรื่องนี้ คือเรื่องของนักแสดงที่มารับบทเป็นตัวละครต่าง ๆ ที่ต้องชมทีมแคสติ้งของซีรีส์เรื่องนี้ที่เลือกนักแสดงมารับบทได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น แคลร์ ฟอย ที่มารับบทราชินีเอลิซาเบธวัยสาว โอลิเวีย โคลแมน นักแสดงดีกรีออสการ์ที่รับบทราชินีเอลิซาเบธในช่วงวัยกลางคน แมตต์ สมิธ ในบทฟิลิป พระสวามีของราชินี วาเนสซา เคอร์บี้ ในบทเจ้าหญิงมาร์กาเรต เกือบทั้งหมดต่างก็เป็นนักแสดงที่พูดได้ว่าแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม และต่างก็แจ้งเกิดในวงการฮอลลีวูดอย่างเป็นทางการได้ทั้งสิ้น นี่ยังไม่รวมนักแสดงสมทบคนอื่น ๆ ที่มากจนไม่อาจเอ่ยชื่อแต่ก็ทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ซึ่งการันตีได้จากรางวัล Emmy Awards ที่กวาดมาอย่างถล่มทลาย

ภาพ: Netflix
นอกจากนั้น ซีรีส์เรื่องนี้ยังทำหน้าที่หนึ่งได้สำเร็จอย่างไม่ได้ตั้งใจ นั้นคือความสามารถในการประสานความเข้าใจระหว่างราชวงศ์กับคนธรรมดา แม้ว่าคนนั้นจะมีความเห็นต่อราชวงศ์อย่างไรก็ตาม นี่คือตัวอย่างของความอิสระของผู้สร้างงานศิลปะในประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่มีแนวคิดความอนุรักษ์นิยมแบบ ‘แตะต้องไม่ได้’ มาตีกรอบงานศิลป์ และซีรีส์เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าหากความตั้งใจของผู้สร้างไม่ได้ต้องการโจมตี มันอาจส่งผลดีในแง่ของความเข้าใจที่มากขึ้นเสียด้วยซ้ำ
เพราะตลอดระยะเวลาที่ซีรีส์ดำเนินเรื่องราวมา สิ่งที่เราได้เห็นมาตลอดจากตัวละครราชินีเอลิซาเบธ คือการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องรักษาราชวงศ์ในดำรงต่อไปด้วยหน้าที่ที่มีมงกุฎอยู่บนหัว เช่นเดียวกับตัวละครรอบข้างที่ล้วนขับเคลื่อนด้วยความขัดแย้งทางความรู้สึก ที่หลายครั้งก็บอกเราทางอ้อมว่ายศถาบรรดาศักดิ์ทั้งหลายที่คนเหล่านั้นถือครองโดยชอบธรรม มันกลับเป็นความทุกข์แสนสาหัสต่อตัวเอง
และไม่ว่าจะเป็นตัวละครไหนในซีรีส์ ท้ายสุดแล้ว คนเหล่านั้นไม่ต่างกับมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่ต้องทำทุกทางเพื่อเอาตัวรอด เพื่อตนเองและครอบครัว
ต่างกันก็เพียงแค่ มนุษย์คนนี้เกิดมาเป็นกษัตริย์เท่านั้นเอง

ภาพ: Netflix
Contributors
Contributors
ชายบ้าภาพยนตร์ บ้าแมนยู บ้าการเมือง ที่ชอบอ่าน ชอบเขียน และคิดเสมอว่าบทความดีๆ สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือจุดความคิดบางอย่างได้เสมอ แต่เป็นมนุษย์ติดกาแฟ คิดวนไปวนมา ตอนนี้กำลังฝึกตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สามารถมองเห็นความสุขง่ายๆ ของชีวิต