สหราชอาณาจักรเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (The Late Queen Elizabeth II) เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดสิ้งสุดของรัชสมัยอันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษคือ 70 ปี 214 วัน

            สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงครองสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนาน จึงทำให้ทรงพบกับเรื่องราวที่หลากหลายของโลกอันผันผวน ด้วยทรงอยู่ในฐานะพระประมุขของสหราชอาณาจักรและกลุ่มประเทศในเครือจักรภพ จึงต้องทรงวางพระองค์อยู่ในพระราชสถานะแห่งความเป็นมิตรไมตรีระหว่างมิตรประเทศทั้งหลายและสหราชอาณาจักรด้วย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯ เยือนประเทศไทย เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 (พระฉายาลักษณ์ฉาย ณ โรงเรียนสตรีวิทยา)

            ไทยและอังกฤษถือเป็นราชอาณาจักรทั้งสองที่มีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานทั้งในระดับพระราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศในเอเชียที่อังกฤษดำรงความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานที่สุดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่มีช่วงเวลาสอดคล้องกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แต่หากเรามองย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ไทยและอังกฤษได้รู้จักกันมาอย่างยาวนานแล้ว มีความสัมพันธ์ฉันมิตรบ้าง หมางใจกันบ้างแต่ความสัมพันธ์ทางการทูตนี้ก็กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาอันสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ทางการทูตของทั้งสองประเทศ

            บทความนี้จะขอนำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอังกฤษที่มีมายาวนานกว่า 4 ศตวรรษโดยสังเขป ผ่านกระแสธารแห่งพระราชไมตรีระดับพระราชวงศ์ที่ราชอาณาจักรทั้งสองมีต่อกันอย่างแน่นแฟ้นเสมอมา

ปฐมบทแห่งความสัมพันธ์

            ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอังกฤษนับย้อนไปได้กว่า 400 ปี คือเมื่อครั้งสมัยอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2153 บริษัทบริติชอีสต์อินเดีย (British East India Company) ได้ส่งเรือ เดอะ โกลบ (The Globe) นำพระราชสาส์นจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 (James I) แห่งราชวงศ์สจ๊วตมายังกรุงศรีอยุธยา โดยได้เดินทางมาถึงในปี พ.ศ. 2155 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ด้านกรุงศรีอยุธยา เองก็ได้ส่งคณะทูตเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 2 (Charles II) เมื่อปีพ.ศ. 2227 ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่อนที่คณะทูตชุดนี้เดินทางต่อไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) แห่งฝรั่งเศสต่อ ณ พระราชวังแวร์ซายส์  อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างสยามและอังกฤษในสมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ยังมีไม่มากนัก เนื่องจากปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศยังน้อย

            จนเวลาล่วงเลยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) อังกฤษมีความพยายามที่จะส่งเซอร์จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากสยามและอังกฤษไม่ไว้วางใจกัน ประกอบกับท่าทียโสโอหังของครอว์เฟิร์ดซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายไทย และการขอสำรวจร่องน้ำของอ่าวไทยที่ทำให้สยามระแวงว่าอังกฤษอาจจะส่งเรือรบเข้ามา เพราะในเวลานั้นอังกฤษเริ่มขยายแสนยานุภาพผ่านลัทธิจักรวรรดินิยมครอบครองหัวเมืองขึ้นต่าง ๆ ในทวีปเอเชียแล้ว แต่แม้ว่าการทำสนธิสัญญาในรัชกาลที่ 2 จะไม่สำเร็จ

            สุดท้ายแล้วสยามและอังกฤษก็ได้เปิดความสัมพันธ์กันด้วยการทำสนธิสัญญาเบอร์นี โดยร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) เป็นผู้แทนฝ่ายอังกฤษ สนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นปฐมบทของความสัมพันธ์ทางการพระราชไมตรี (การทูต) และการพาณิชย์ (การค้า) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)รายละเอียดเกี่ยวกับสนธิสัญญาเบอร์นีโดยสังเขปผมเคยเล่าให้ฟังแล้วครั้งหนึ่งในบทความเรื่อง มองผ่านมุม ‘บุพเพสันนิวาส 2’ เศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ 3 เจริญขนาดไหน จึงไม่ขอกล่าวซ้ำ จะกล่าวโดยย่อแต่เพียงว่าสนธิสัญญาฉบับนี้ได้ถือเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ

            ปริมาณการค้าระหว่างสยามกับอังกฤษทวีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เมื่ออังกฤษส่งเซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) เข้ามาขอทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาคือสนธิสัญญาเบาว์ริง แม้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะทำให้สยามเสียเปรียบบางประการ เช่น สยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่อังกฤษ หรือสยามจะสามารถเก็บภาษีเรือสินค้าอังกฤษได้น้อยลง แต่ในภาพรวมถือเป็นสนธิสัญญาที่ก่อให้เกิดผลดีในทางเศรษฐกิจต่อสยาม เพราะเท่ากับสยามได้เปิดการค้าเสรีกับอังกฤษ อันเป็นต้นแบบของการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศตะวันตกอื่น ๆ ของสยามด้วย

            ทำให้ปริมาณรายรับการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาสูงขึ้น สยามโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพเริ่มปรับเปลี่ยนไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม และยังถือเป็นสนธิสัญญาที่ทำให้อังกฤษสามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรเพื่อนำไปป้อนสู่ระบบโรงงานอุตสาหกรรมของอังกฤษได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องยึดครองสยามเป็นอาณานิคม

            ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นพระบรมราโชบายอันรอบคอบของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงปกป้องอำนาจอธิปไตยของสยามเอาไว้ได้ ด้วยทรงศึกษาความเป็นไปของบริบทโลกในเวลานั้นและทรงทราบความต้องการของชาติตะวันตกที่ต้องการทรัพยากรมากกว่าการทำสงครามยึดแย่งดินแดนต่าง ๆ เป็นอาณานิคมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการทำสงครามและการบริหารจัดการดินแดนอาณานิคม พร้อมกันนี้ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวอังกฤษเปิดกิจการในสยามและให้ราษฎรรับจ้างชาวตะวันตกได้ รวมถึงทรงตราประกาศห้ามมิให้ราษฎรสยามวิวาทกับชาวตะวันตก ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยจากพระบรมราโชบายตลอดรัชกาลที่มีส่วนในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสยามและอังกฤษ

            พร้อมกันนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงส่งคณะราชทูตสยามไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่กรุงลอนดอนด้วย นับเป็นก้าวย่างแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรที่สำคัญยิ่งในรัชกาลนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และพระราชโอรส

ความสัมพันธ์ภายใต้เงาแห่งจักรวรรดินิยม

            ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสยามและอังกฤษต้องประสบกับความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกันเช่นเดียวกัน เมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สยามต้องเสียดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวินให้แก่อังกฤษใน พ.ศ.2435 แต่ถึงกระนั้นในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปทั้งสองครั้ง (พ.ศ.2440 และ พ.ศ.2450) พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังอังกฤษด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งที่สองนั้น ได้จรจาเรื่องการกู้เงินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟจากประจวบคีรีขันธ์ไปยังหัวเมืองมลายู หลังจากนั้นได้เสด็จประพาสเพื่อเยี่ยมชมความเป็นอยู่ของชาวยุโรปและเพื่อทอดพระเนตรสถานที่สำคัญและศิลปวัฒนธรรม

            เป็นที่น่าสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ให้ไปทรงศึกษาต่อ ณ สหราชอาณาจักร พระองค์สำคัญที่ควรกล่าวถึงคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เป็นเหตุให้ในแผ่นดินรัชกาลที่ 6 จึงทำให้บ้านเมืองสยามมีพัฒนาการ ‘อย่างอังกฤษ’ เกิดขึ้นหลายประการ

            ที่สำคัญคือการจัดตั้งการศึกษาในระดับอุดมศึกษาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีทุนทรัพย์ในการบำรุงกิจการการศึกษาของตนเองได้อย่างมหาวิทยาลัยในอังกฤษ การพัฒนาระบบกฎหมายและการศึกษาระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจากอังกฤษ การพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมของเช็กสเปียร์หลายเรื่องมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้ชาวสยามมีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมแบบอังกฤษ ซึ่งถือเป็นนิยามของ ‘ความเจริญ’ ของโลกในเวลานั้น

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            รวมถึงเกิดความสนใจการศึกษาด้านอินเดียศึกษาอย่างลึกซึ้งในสยาม (เนื่องจากอังกฤษได้เข้าไปยึดครองอินเดียเป็นอาณานิคมและศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียจนเรื่องเกี่ยวกับอินเดียเป็นที่สนใจในหมู่ชนชั้นสูงชาวอังกฤษ) และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการขยายตัวในการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสยามเองด้วย เนื่องจากการมีรากเหง้านั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ความเจริญของชาติ ทั้งหมดนี้ถือเป็นแง่มุมอย่างสังเขปที่สุดสำหรับอิทธิพลที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสยาม 

            อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดียิ่งระหว่างสยามและอังกฤษคือการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยนำกองกำลังสยามเข้าร่วมรบโดยยืนข้างฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 และการที่สยามเป็นส่วนหนึ่งของผู้ชนะสงครามถือเป็นพระราชกุศโลบายอันแยบคายในรัชกาลที่ 6 เพราะสยามได้ใช้โอกาสนี้ในการยกเลิกข้อตกลงทางการทูตที่ไม่เป็นธรรมกับสยามที่มีมาตั้งแต่สมัยสนธิสัญญาเบาว์ริง อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรทั้งสองก็ต้องสะดุดลงหลังจากที่สยามเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และไทยประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่จะสังเกตได้ว่าความสัมพันธ์ในระดับพระราชวงศ์นั้นยังคงแน่นแฟ้น ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงลี้ภัยไปประทับที่อังกฤษภายหลังจากสละราชสมบัติ

            รวมถึงเจ้านายไทยหลายพระองค์ก็ได้ประทับอยู่ในอังกฤษเพื่อลี้ภัยการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานั้น และแม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศตัวเข้าข้างฝ่ายอักษะ แต่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ก็ยังทรงรักษาพระราชไมตรีในระดับพระราชวงศ์ระหว่างไทยและอังกฤษเอาไว้ได้โดยตลอดรอดฝั่ง จนกระทั่งถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติก่อนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในระยะเวลาไม่นาน พร้อม ๆ กับที่ไทยต้องการฟื้นฟูประเทศจากความบอบช้ำหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางความท้าทายของโลกที่แบ่งออกเป็นค่ายเสรีนิยมและสังคมนิยมในช่วงสงครามเย็น ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ไทยมีต่อประเทศต่าง ๆ จึงมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของประเทศเป็นอย่างยิ่ง กระแสธารแห่งพระราชไมตรีระหว่างรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ทางการทูตร่วมสมัยของทั้งสองแผ่นดิน

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นพระราชอาคันตุกะในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พ.ศ.2503

เสถียรสถาวร

            จุดยืนของฝ่ายไทยในช่วงสงครามโลกคือการสนับสนุนประเทศฝ่ายเสรีนิยม ภาพเหล่านี้สะท้อนผ่านการเสด็จพระราชดำเนิน (State visit) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยมีสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยเสด็จด้วย คงจะกล่าวไม่ผิดไปจากความจริงนักว่าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาประเทศในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 นั้น จุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งนั่นก็คือการที่ประเทศไทยต้องแสวงหาพันธมิตรและกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศฝ่ายเสรีนิยม เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวนั้นโลกตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดของสงครามเย็น เรื่องที่เคยหมองหมางน้ำใจกันมาในอดีต เช่น การกระทบกระทั่งกันในการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก หรือการแบ่งฝักฝ่ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จำเป็นต้องถูกวางไว้เบื้องหลัง เพื่อสัมพันธภาพที่ดีของทั้งสองประเทศ 

พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป เจ้าชายพระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อครั้งโดยเสด็จเยือนสหราชอาณาจักร พ.ศ.2503

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ สหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 – 23 กรกฎาคม พ.ศ.2503 โดยทรงสนิทสนมกันเป็นอย่างยิ่งแม้ว่าจะไม่ทรงเคยพบกันมาก่อน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระราชนิพนธ์เหตุการณ์ในการร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหาร ณ กรุงลอนดอนไว้ใน ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ ความตอนหนึ่งว่า

“… ข้าพเจ้ามีความรู้สึกส่วนตัวว่า ทุกครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงพบกับพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ท่านทรงคุยกันอย่างคุ้นเคย ทั้ง ๆ ที่ทรงพบกันเป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันมานั่นเอง โดยเฉพาะคืนนั้น มีการทรงเย้าแหย่กันและกันอย่างสนิทสนม ทำให้พวกเราที่ร่วมโต๊ะเสวยพลอยสนุกสนานได้ขบขันไปด้วย ทั้งนี้ เห็นจะเป็นเพราะทั้งสองพระองค์ทรงมีพระชะตาต้องกัน และพระชันษาก็ใกล้เคียงกันมากนั่นเอง …”

            หลังจากนั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยเสด็จพระราชดำเนินมาสองครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ.2515 และครั้งที่ 2 ในพ.ศ.2539 (เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก) ซึ่งนั่นทำให้ความแน่นแฟ้นในระดับพระราชวงศ์ทั้งสองประเทศทวียิ่งขึ้น อันนำไปสู่ประโยชน์แห่งความสัมพันธ์เชิงสังคมและเศรษฐกิจระหว่างสองพระราชอาณาจักรด้วย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยพระสวามี เสด็จฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2539
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ พร้อมทั้งสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ โดยเสด็จด้วย

            ประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงสายใยแห่งพระราชไมตรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือเมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะเนื่องในวันคริสต์มาส พ.ศ.2560 ปรากฏว่าบนโต๊ะทรงพระอักษรส่วนพระองค์นั้นมีสิ่งของทูลพระขวัญ (ของขวัญ) พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 วางอยู่เป็นสำคัญ และแม้ว่าเมื่อองค์พระประมุขทั้งสองเจริญพระชนมพรรษามากขึ้น มิได้เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศดังแต่ก่อน แต่ก็มีพระบรมวงศานุวงศ์ในทุกระดับเสด็จพระราชดำเนินทรงไปมาหาสู่ระหว่างกันอยู่เป็นประจำ

            มีเรื่องเล่าชวนอมยิ้มเกี่ยวกับพระเมตตาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในคราวที่เสด็จฯ เยือนประเทศไทยครั้งแรก (พ.ศ.2515) ในครั้งนั้นเสด็จฯ ไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในเวลานั้นระบบประปาของไทยยังไม่เจริญเหมือนกับทุกวันนี้ เมื่อทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทราบว่าจะเสด็จพระราชดำเนินมา ก็ได้มีการดูแลทำความสะอาดหอประชุมและห้องสรง (สุขา) เอาไว้เป็นอย่างดี

            เป็นธรรมดาที่เมื่อเราทำความสะอาดห้องสุขาแล้วเราก็มักจะมีการกดชักโครกเป็นอันเสร็จพิธีเพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างสะอาดเรียบร้อย แต่ในเวลานั้นระบบประปายังไม่ทันสมัย การกดชักโครกครั้งหนึ่งต้องรอเวลาหลายสิบนาทีกว่าที่น้ำจะเติมเข้ามาเต็มชักโครกอีกครั้ง เป็นเหตุให้เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใช้ห้องสรงนั้น จึงทำให้น้ำประปาไม่ไหล แต่ก็ทรงเข้าพระราชหฤทัยสถานการณ์เป็นอย่างดี มิได้ทรงตำหนิติเตียนใครให้ไม่สบายใจ ได้แต่ตรัสแก่ผู้ใกล้ชิดเพียงว่าในห้องน้ำมีความลับของราชวงศ์อังกฤษอยู่ พอได้ยินเพียงเท่านั้นทางฝ่ายไทยก็ทราบได้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริงจากคณาจารย์ที่อยู่ในเหตุการณ์การเสด็จพระราชดำเนินในวันนั้น

            กาลเวลาได้หมุนเวียนให้สรรพสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนผันไป ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่ท้าทายมนุษยชาติมากขึ้นทุกที ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศต่าง ๆ ย่อมเป็นที่ต้องการของประชาชนในชาติทั้งหลายมากกว่าความเป็นศัตรู อังกฤษถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน และแน่นอนว่าผู้คนในทุกระดับระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง ย่อมจะมุ่งหวังให้พระราชไมตรีและไมตรีในทุกระดับของประเทศเราทวีประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อความผาสุกของประชาชนทั้งสองประเทศอันเป็นยอดปรารถนาของผู้คนทั้งปวง

            ด้วยความระลึกถึง

Contributors

ครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาที่รักการเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกกว้างเป็นชีวิตจิตใจ เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มนุษยสัมพันธ์ และการเดินทางจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเติบโตไปพร้อมกันเสมอ