เวลาเรานึกถึงงานสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานหรือข้ามขีดจำกัดสายเลือดทางศิลปะในประเทศไทย เรามักจะมีภาพของวัดนิเวศธรรมประวัติ จ.พระนครศรีอยุธยาที่เป็นวัดไทยที่สร้างโดยมีแรงบันดาลใจจากโบสถ์คริสต์ หรือวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่แม้ภายนอกจะดูเหมือนวัดไทยปกติ แต่ภายในกลับมีการประยุกต์เอางานตกแต่งแบบโบสถ์คริสต์มาใช้เช่นกัน รวมถึงมัสยิดบางหลวงที่ชื่อบอกเป็นมัสยิดแท้ๆ แต่กลับมีหน้าตาคล้ายวัดไทยที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ทว่า เรายังมีโบสถ์คริสต์ทรงวัดไทยเช่นกัน ซึ่งมีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยู่บ้าง
อย่างวัดนักบุญยอแซฟ ตรอกจันทน์ซึ่งสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2498 – 2506 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญนามคุณพ่อแปรูดงต้องการขยายมิสซังคาทอลิกในกรุงเทพฯไปทางใต้ และได้ทำการซื้อที่ดินใกล้กับวัดไผ่เงินในปี พ.ศ. 2494 และได้เริ่มสร้างโรงเรียนสตรี บ้านพักซิสเตอร์ โรงเรียนประถม บ้านพักสงฆ์ ก่อนจะเริ่มสร้างโบสถ์ขึ้นในเวลาต่อมา
โบสถ์นักบุญยอแซฟมีโครงสร้างที่ดูคล้ายกับวัดไทยอยู่หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องลำยองคอนกรีตพร้อมหัวเสาที่ประดับกลีบบัวแวง ซุ้มประตูและหน้าต่าง หอระฆังด้านหน้าที่ดูยังไงก็หอระฆังวัด แต่ถ้าลองพิจารณาดีดีจะเห็นว่า มีการประดับด้วยไม้กางเขนแบบละตินอยู่หลายจุด ไม่ว่าจะแทนช่อฟ้าบนเครื่องลำยอง บนหน้าบัน ประดับเหนือซุ้มที่มีรูปนักบุญโยเซฟ หรือแผนผังที่ยังเป็นไม้กางเขนอยู่ เลยยังเห็นความเป็นโบสถ์คริสต์อยู่บ้าง รวมถึงการประดับกระจกสีเล่าเรื่อง


หรือวัดพระมหาไถ่ที่สร้างขึ้นโดยคณะพระมหาไถ่จากสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ ยี. อัชชิเนลลี และได้รับคำแนะนำจากพระคาร์ดินัลฟูลตัน ชีน นักเทศน์ชาวอเมริกันที่เดินทางมายังประเทศไทยพอดี โดยเป็นโบสถ์หลังที่ 2 ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2497 แทนที่โบสถ์หลังเดิมที่สร้างขึ้นด้วยไม้ในปี พ.ศ. 2492 ในชื่อของ “วัดพระแม่แห่งโรงรถ”
ถ้ารู้สึกว่าโบสถ์วัดนักบุญยอแซฟมีความคล้ายวัดไทยแล้ว วัดพระมหาไถ่ยิ่งเหมือนวัดขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะหน้าตาภายนอกที่ดูเหมือนวัดไทยอย่างชัดเจน ทั้งแผนผัง เครื่องลำยองคอนกรีตบนหน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่าง หรือแม้แต่งานประดับบนเพดานในกรอบแบบที่พบได้ทั่วไปในวัดไทย ถ้าไม่ติดว่าตรงช่อฟ้าเป็นรูปไม้กางเขนหรือข้างในที่ตั้งรูปพระเยซูแทนพระพุทธรูปนี่ดูยังไงก็วัดชัดๆ รวมถึงภาพเล่าเรื่องบนผนังที่เล่าเรื่องพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า
นอกจากนี้จริงๆก็ยังมีอีกหลายโบสถ์ที่สร้างเป็นทรงไทย ไม่ว่าจะเป็นวัดนักบุญยาโกเบ จังหวัดสมุทรสงคราม วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ จังหวัดชลบุรี หรือวัดอารักขเทวดาโคกวัด จังหวัดปราจีนบุรี แต่เราจะไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะเคยเห็นแต่รูป ยังไม่เคยไปจริงเลย
แต่เอาเข้าจริงๆแล้วก่อนการสร้างโบสถ์คริสต์ทรงไทยเหล่านี้ขึ้นมาก็มีการสร้างโบสถ์คริสต์ทรงไทยมาก่อนแล้วในช่วงก่อนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ดูอย่างโบสถ์ซางตาครู้สหลังที่ 2 ก็ได้ครับ โบสถ์ที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2378 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังนี้มีมีความเป็นอาคารเป็นพื้นถิ่นอยู่พอประมาณเลย ก่อนที่จะถูกกระแส European Revival ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกลายเป็นโบสถ์สไตล์ตะวันตกอย่างโบสถ์คอนเซ็ปชัญหรือโบสถ์เซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ แต่กลายเป็นว่าจู่ๆก็ได้เกิดกระแสตีกลับ กลับไปสร้างโบสถ์แบบไทยๆอีกครั้ง
ที่เป็นเช่นนี้อาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรมท้องถิ่นของบาทหลวงจากต่างประเทศ การกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อลดแรงต้าน แนวคิดรัฐนิยมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลแบบใดก็ตาม มันก็ทำให้เกิดโบสถ์คริสต์ทรงไทยขึ้นอีกครั้ง
เราต้องมารอดูกันต่อว่า ในอนาคตจะมีโบสถ์คริสต์ทรงไทยหลังใหม่ๆ อีกรึเปล่า
Contributors
Contributors
คนบ้าวัดเจ้าของสถิติ 43 วัดในวันเดียว ผู้หลงรักในศิลปะทั้งเก่าทั้งใหม่ ทั้งไทยและเทศ