นั่งนับนิ้วถอยหลังกันมาตั้งแต่ปี 2562 ในที่สุดก็ใกล้ครบวาระ 4 ปีของการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ใกล้เข้ามาแล้ว

            ช่วงนี้บรรยากาศการประกาศนโยบายกลับมาคึกคักกันอีกเช่นเคย ประเด็นการเลือกตั้งและการถกเถียงถึงพรรคการเมืองต่างๆ กำลังกลับเข้าไปสู่วงสนทนาของประชาชนอีกครั้ง 

            ซึ่งพรรคการเมืองที่กำลังมาแรงในวงสนทนาช่วงนี้ คงขาดพรรคน้องใหม่อย่างพรรคไทยสร้างไทยไปไม่ได้

            แม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่ได้ผู้นำหญิงแกร่งและเก๋าประสบการณ์อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาเป็นผู้นำทัพเดินหน้าชูนโยบายสู้เพื่อคนตัวเล็ก และแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีกว่าเดิม ด้วยความที่เป็นพรรคป้ายแดงในเรื่องของนโยบาย ภาพลักษณ์ รวมถึงวิสัยทัศน์ของพรรคต้องมีความชัดเจน และการสื่อสารกับประชาชนบนความใหม่ จึงเป็นงานช้างที่ทัพไทยสร้างไทยต้องเดินหน้าแนะนำตัวกันมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีจุดชูโรงสำคัญคือ การส่งผู้พันปุ่น-ศิธา ทิวารี ลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

            ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2565 ไทยสร้างไทยได้เบิกตัวดรีมทีมโฆษกพรรคทั้ง 7 คน ที่จะเข้ามาช่วยด้านการหาเสียง การสร้างความเข้าใจในนโยบายพรรคสู่ประชาชน และสำคัญกว่านั้นคือ การขยายเสียงปัญหาจากประชาชนให้ได้มากที่สุด

            ความน่าตื่นเต้นในการเปิดตัวครั้งนั้นคือ ทีมโฆษกพรรคล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความหลากหลายในเรื่องความสามารถ ตั้งแต่คนที่มีความเชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจ แวดวงการเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลาย จนไปถึงผู้ที่เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม

            ก่อนจะพาไปรู้จักมุมมองและแนวคิดของหมู่คณะนี้ให้มากขึ้น เราขอแนะนำตัวพวกเขาทั้ง 7 ให้ฟังกันก่อนคร่าวๆ

            บุ๊ค-ศรัณยู คงสวัสดิ์เกียรติ รองโฆษกเน้นการเป็นกระบอกเสียงให้คนกีฬา เขาเห็นว่ากีฬาทุกประเภทสามารถเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ขณะเดียวกันก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไหล่เครื่องยนต์การเกษตรอยู่ด้วย

            หนุ่ย-เจตุบัญชา อำรุงจิตชัย รองโฆษกผู้อยู่ในวงการธุรกิจที่อยากเข้ามาเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้นด้วยการ ดูแลนโยบายที่จะช่วยประชาชนและกลุ่ม SMEs ให้อยู่รอดได้ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น

            พลอย-ณิชชา บุญลือ รองโฆษกพรรค ที่เคยทำงานในวงการทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2561 ในบทบาทเลขานุการประจำคณะกรรมธิการ ซึ่งขณะนี้เข้ามาดูแลในเรื่องสตรี เด็ก ผู้สูงวัยและกลุ่มเปราะบาง ล่าสุดเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู ณิชชาก็ได้เข้าพื้นที่ไปทำหน้าที่สื่อสารกับประชาชนในจุดนั้นด้วย

            ธิดา-ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ อดีตสส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย เคยทำงานกับกรรมาธิการต่างประเทศของพรรคเพื่อไทย อยู่ในวงการทางเมืองมาแล้วกว่า 5 ปี ขณะนี้ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคและผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคไทยจสร้างไทย ทำหน้าที่ดูแลทุกนโยบายของพรรค ตั้งแต่การรวบรวมความเห็นของประชาชน การออกนโยบาย จนไปถึงการสื่อสารนโยบายที่ออกมากับประชาชน

            เบส-ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล รองโฆษกดูแลในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเข้ามาเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่ม LGBTQ+ อยากเห็นความเท่าเทียมมากขึ้นทั้งด้านความเข้าใจทางสังคมและการเปลี่ยแปลงด้านทางนโยบายหรือกฎหมายให้กับกลุ่มเหล่านี้ 

            สตีฟ-สรเทพ โรจน์พจนารัช รองโฆษกที่ดูแลในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตั้งแต่โรมแรม การสนับสนุนการท่องเที่ยวในแง่ต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบของภาคการท่องเที่ยวจากช่วง COVID – 19 นอกจากนี้ยังเป็นประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร และเป็นอุปนายกสมาคมผู้ใช้ประสาทหูเทียมที่เขาผลักดันมากว่า 15 ปี

            นิก-สิรภพ สมผล รองโฆษกพรรคน้องใหม่และเป็นผู้สมัครสจ. สกลนคร อดีตเป็นนักการเมืองท้องถิ่นผู้คลุกคลีอยู่กับชาวสกลนคร ดูแลในการส่งเสียงของประชาชนตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณท้องถิ่น การกระจายทรัพยากรสู่ท้องถิ่นเพื่อชาวบ้าน

            ร่ายประวัติคร่าวๆ ทั้ง 7 กันพอหอมปากหอมคอแล้ว เรามาฟังอุดมการณ์ของเหล่าคนรุ่นใหม่กันดีกว่าว่า อะไรคือพลังที่ผลักให้คนเหล่านี้ยึดมั่นในการเป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนได้มากขนาดนี้

จากซ้ายไปขวา: บุ๊ค, หนุ่ย, พลอย, ธิดา, เบส, สตีฟ, นิก
ภาพ: พรรคไทยสร้างไทย

เหล่ากระบอกเสียงของประชาชน

บทบาทในฐานะกระบอกเสียง

            หนุ่ยเริ่มพูดถึงหน้าที่ของโฆษกพรรคไทยสร้างไทยว่า ว่าโฆษกพรรคการเมืองเปรียบเสมือนยามเฝ้าประตูใหญ่ของพรรค

            หมายความว่าเราต้องมีทักษะในเรื่องการเป็นผู้พูดที่ดีและเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะว่าคุณไม่รู้หรอกว่ามันจะมีอะไรมาอยู่หน้าประตูบ้านคุณบ้าง สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือคุณต้องมีสติในการรับฟังด้วยเหตุผล และตอบปัญหาด้วยสติ เราคือผู้รับสารและผู้ส่งสารที่มีประสิทธิภาพ 

            “เราต้องรู้ในสิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดของพรรค หากมีสื่อมวลชนเอาไมค์มาจ่อ คุณสามารถตอบในฐานะตัวแทนพรรคได้ นี่คือหน้าที่ของโฆษกที่ดี ซึงการเป็นพรรคการเมือง ย่อมมีทั้งคนรักและมีทั้งคนที่อาจจะไม่ชอบ คำถามอาจจะเป็นเชิงลบบ้าง หรือบวกบ้าง แต่สิ่งที่ต้องทำคือต้องรับมือให้ทันและตอบให้มีทางออกที่ดีด้วยเหตุผล”

            เบสเสริมว่า “โฆษกมีหน้าที่สื่อสารเรื่องต่างๆ ให้ไปถึงประชาชนและรัฐบาลให้ดังขึ้น เราไม่ได้เสนอแค่นโยบายพรรค แต่เราพูดถึงแนวคิด ประเด็นปัญหา และการแก้ไขเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมให้ประชาชาชนและรัฐได้ทราบ ซึ่งมันเป็นงานที่หนักมากนะ เพราะเราไม่ได้มาแค่พูดเพื่อตำหนิรัฐบาลหรือใครไปเฉยๆ แต่เสนอการแก้ไขปัญหา พูดถึงต้นตอของปัญหาให้คนรับสารเข้าใจด้วย”

            พลอยเสริมอีกว่า การทำงานที่ต้องสื่อสาร เราต้องคิดและไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนมากๆ อย่างเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู การที่ต้องเข้าพื้นที่ไปอยู่กับชาวบ้าน ไปสัมผัสต้นตอของปัญหา พอเราเห็นและเข้าใจถึงแก่นของปัญหาแล้ว เราก็นำมันมาสะท้อนถึงโครงสร้างการบริหารประเทศได้ ส่งสารนี้ให้ประชาชนเข้าใจได้ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาไปด้วยกันได้ค่ะ

            สำหรับรองโฆษกพรรคที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครแบบนิก ก็มีการทำงานที่ต่างจากคนอื่นๆ เล็กน้อย นิกเป็นผู้สมัครในพื้นที่จังวัดสกลนคร จึงต้องลงพื้นที่ที่สกลนครทุกวัน

            ผมอาจไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ร่วมกับทีมโฆษกพรรคโดยตรง แต่ผมยังเป็นอีกแรงในฐานะรองโฆษกพรรค เพื่อสื่อสารกับชาวสกลนครในทุกนโยบายของพรรค และทุกปัญหาที่เกิดในสังคม แต่ถ้าผมเห็นประเด็นไหนในสกลนครที่พอจะหยิบยกขึ้นมาส่งเสียงเพื่อแก้ปัญหาได้ ตรงนั้นทางพรรคก็จะสนับสนุนและทำงานไปด้วยกันครับ

การเป็นโฆษกคือ การทำงานหนัก

            เมื่อเราถามทีมโฆษกว่า ทำงานหนักไหม สตีฟตอบเราว่า “เราเสพข่าวกันตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ 7.00 น. บางคนตื่นแล้ว บางคนยังไม่ตื่น แต่เราบรีฟข่าวกันในกลุ่มงานตั้งแต่เช้าเลย เรียกว่าบรีฟทั้งวันน่าจะดีกว่า พอข่าวใกล้ออกช่วงบ่ายเราก็บรีฟกันอีก ซึ่งแต่ละคนจะมีหน้าที่เป็นของตัวเองนะครับ เช่นถ้าเป็นข่าวการศึกษา คนที่ดูแลข่าวนี้จะเป็นธิดาที่เป็นหัวหน้าทีมโฆษก ถ้าเป็นเรื่องกีฬาก็จะเป็นบุ๊คดูแลข่าวนี้ อย่างสตีฟเองก็ดูแลในเรื่องธุรกิจ การท่องเที่ยวและร้านอาหาร ซึ่งธิดาจะเป็นคนแจกข่าวทุกวันตอนเช้าครับ”

            หนุ่ยเสริมว่า “การที่เราเป็นพรรคการเมืองใหม่ และในพรรคก็เป็นคนรุ่นใหม่เสียเยอะ เราเป็น Nobody ทางวงการการเมืองไปเลย ดังนั้นการที่พรรคจะแถลงข่างอะไรให้มันเป็นไวรลหรือน่าสนใจจนทำให้นักข่าวมาสัมภาษณ์เรา มันเลยเป็นเรื่องที่ยากมากครับ การที่จะแถลงอะไรก็แล้วแต่ให้มันมีหน้ามีตาบนสื่อ เราต้องทำการบ้านกันเยอะมาก 

            “หลายคนอาจเคยเห็นการด่ากันระหว่างพรรคการเมือง ในภาษานักการเมืองเขาเรียกกันว่าปิงปอง เป็นการโต้กันไปโต้กันมาซึ่งมันได้ข่าวง่ายนะ แต่ผมว่าประชาชนได้แค่ความสนุกเหมือนดูละครเวทีมากกว่าได้ประโยชน์จริงๆ ดังนั้นไทยสร้างไทยพยายามไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นครับ เราจะโต้ในสิ่งที่เรารู้สึกว่าต้องโต้ ไม่โต้เป็นกิจวัตร เราอยากเลือกแถลงข่าวในสิ่งที่มันเป็นการแก้ไขปัญหา ให้ประชาชนได้ประโยชน์จากเราได้มากที่สุดมากกว่า”

โฆษกรุ่นใหม่อายุไม่ใช่อุปสรรค

            ทีมโฆษกของเราหลายคนไม่ได้ทำงานการเมืองมาก่อน อย่างสตีฟเองก็ต้องปรับตัวกับการทำงานการเมืองเหมือนกัน ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเลยที่ทำให้สตีฟปรับตัวเข้ากับทีมได้ดีและได้เร็วคือ การที่ 80 เปอร์เซ็นของพรรคเราเป็นคนรุ่นใหม่ มันทำให้การคุยกันง่าย และเข้ามาในอุดมการณ์เดียวกันด้วย

            “ผมว่าเด็กรุ่นนี้โดนกระทำจากอำนาจรัฐมากกว่าครึ่ง ดังนั้นเขาจึงมีอุดมการณ์เดียวกันคือเขาไม่ชอบรัฐประหาร และมองในเรื่องประชาธิปไตยมากกว่า อะไรที่มันไม่ยุติธรรม เขาตั้งใจที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงตรงนั้น”

            อีกเรื่องที่สำคัญมากกับการมีคนรุ่นใหม่ในพรรค ธิดาอยากให้ดูว่า การขับเคลื่อนทุกอย่างในโลกยุคนี้มันเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ ดูอายุเฉลี่ยของ CEO ของทั้งโลกตอนนี้แล้วอายุมันยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ หลายคนที่อายุ 30 ก็เป็น CEO ที่ประสบความสำเร็จได้แล้ว

            “ถ้าเราพูดถึงคนรุ่นใหม่ในแง่การเมืองบ้าง คนที่อายุน้อยมักจะพูดมุมมองทางสังคมและกว้างมากขึ้น กล้าที่จะพูดในหลายแง่มุมมองขึ้น ถ้ามองตัวเลขเฉลี่ยอายุของประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีในประเทศอื่นๆ อายุของผู้นำก็เริ่มน้อยลงเช่นเดียวกัน ดังนั้นสมัยนี้อายุไม่ใช่อุปสรรคในการเข้ามาบริหารประเทศแล้ว เพราะตอนนี้แหล่งความรู้มันก็มีอยู่มากและเท่าเทียมกันมากขึ้น ฉะนั้นการที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการการเมืองก็เป็นการปฏิวัติ และทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเมืองใหม่ๆ ซึ่งเราถือว่าเป็นสิ่งที่ดีนะ” ธิดาอธิบาย

สร้างทีมที่อยากสร้างไทย

ความเชื่อใจที่มอบให้แก่พรรค

            ด้วยพรรคไทยสร้างไทยมีคุณหญิงสุดารัตน์เป็นหัวเรือ ดังนั้นความนิยมในตัวของคุณหญิงจึงเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนเชื่อมั่นในพรรคไทยสร้างไทยอยู่แล้ว

            แต่บุ๊คมองว่าไม่ใช่ทั้งหมด

            “อีกสิ่งที่ดึงดูดผมมาที่นี่คือ การที่เราเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมกับพรรค เราเลยพยายามทำการบ้านมากขึ้น การจะเลือกอยู่กับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง เราก็อยากจะได้พรรคการเมืองที่ดีและเชื่อใจได้ที่สุด ไม่อยากใช้คำว่าฝากผีฝากไข้ เพราะมันเหมือนเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ แต่เราอยากอยู่กับพรรคที่มีคนคิดแบบเรามากกว่า”

            ส่วนสตีฟเอง นอกจากคุณหญิงหน่อยแล้ว อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเลือกเข้ามาเป็นทีมโฆษกคือ นโยบายพรรค

            “นโยบายหลายพรรคที่เราเห็นบางอย่างมันเพ้อฝัน แต่พอเรามาสัมผัสนโยบายของพรรคนี้เรารู้สึกว่ามันทำได้จริง เป็นนโยบายที่เราต้องการพอดี รวมถึงพรรคนี้เราเขียนนโยบายกันได้เอง ทำอะไรก็ตัดสินใจทำได้เอง ขอแค่เสนอมา เขียนยุทธศาสตร์พรรคไปเสนอก็ได้ เขียนนโยบายพรรคก็ได้ ไม่ใช่ทุกพรรคที่จะให้คนตัวเล็กๆ มานั่งเขียนนโยบายหรือทำกิจกรรมแบบนี้ได้นะครับ”

            ธิดาเสริมว่า “ตอนแรกๆ เราก็ยังไม่ได้เข้ามาพรรคนี้ทันที เราเองก็ดูสถานการณ์ก่อนเหมือนกัน ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเข้ามาตรงนี้เพราะมันเป็นที่ที่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่จริงๆ เขารับฟังความคิดเห็นและให้โอกาสคนรุ่นใหม่ทำงาน ทำให้ทุกคนมีโอกาสโชว์ศักยภาพได้เต็มที่ ซึ่งนั่นเป็นกระบวนการของประชาธิปไตยเลยก็ว่าได้”

เบอร์หนึ่งในใจของพรรค

            พลอยได้มีโอกาสไปลงพื้นที่ภาคอีสานกับคุณหญิงสุดารัตน์ พลอยเล่าว่า ถึงเธอเพิ่งจะอายุ 30 แต่ก็เป็นเด็กวัยรุ่นที่นั่งดมยาดมแล้ว แต่คุณหญิงสุดารัตน์คือคนที่ทำงานหนักและถึกจริงๆ

            “คุณหญิงเป็นหญิงแกร่งและอึดจริงๆ ท่านยังสู้ต่อได้ ท่านทำตั้งแต่ลงพื้นที่ ไหนจะปราศัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งท่านเคยพูดกับพลอยไว้ครั้งหนึ่งว่า ท่านไม่อยากเห็นน้ำตาของประชาชนอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ทำให้พลอยเคารพและศรัทธาในตัวหัวหน้าพรรคมากๆ”

            ธิดาเล่าเสริมถึงการทำงานกับคุณหญิงสุดารัตน์ว่า คุณหญิงคือภาพสะท้อนของนักการเมืองหญิงที่สู้และอุทิศตนเพื่องานและประชาชนจริงๆ

            “การได้ทำงานกับคุณหญิงคือ ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก คุณหญิงเป็นคนขยัน ธิดาไม่เคยเห็นผู้ใหญ่คนไหนขยันเท่านี้มาก่อนเลย ตารางงานคุณหญิงแน่นทุกวัน และการไปลงพื้นที่คือชีวิตจิตใจของคุณหญิงเลย อีกอย่างที่ธิดารู้สึกว่าเราเหมือนกับคุณหญิงคือ เราเป็นนักการเมืองหญิงเหมือนกัน การเป็นนักการเมืองหญิงที่สังคมติดภาพชายเป็นใหญ่มันไม่ง่ายเลย แต่คุณหญิงเป็นคนแกร่งที่ทำให้เรารู้สกว่า การเป็นผู้หญิงมันไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานตรงนี้เลย มันยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราว่าเรามายืนที่จุดนี้เพื่ออะไรและเพื่อใคร”

            สตีฟเสริมว่า “ทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากันหมดเนอะ แต่คุณหญิงมี 24 ชั่วโมง (หัวเราะ) ไม่รู้เขาไปเอาชั่วโมงมาจากไหน อย่างสตีฟเดินสวนกับคุณหญิงในพรรคตอนเช้า 9.00 น. แต่พอตกบ่ายก็เห็นคุณหญิงไปต่างจังหวัดแล้ว ไปได้ไงไม่รู้เหมือนหายตัวได้ พอสัก 21.00 น. มีประชุมพรรค คุณหญิงก็ล่องหนกลับมาประชุมอีกแล้ว เพราะงั้นหัวหน้าพรรคทำงานหนักขนาดนี้ เราก็ยิ่งต้องทำงานให้ทันเหมือนกัน”

            ส่วนหนุ่ยเสริมเพิ่มว่า ทุกคนในพรรคไทยสร้างไทย ไม่ใช่แค่ทีมโฆษกพรรค ล้วนเห็นการทำงานและให้ความเคารพนับถือคุณหญิง

            “ทุกคนเห็นกันหมดว่าท่านทำงานเยอะที่สุดจริงๆ ตั้งแต่เราสัมผัสนักการเมืองมา คุณหญิงเป็นคนที่ทำให้เราหรือหลายๆ คนรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันยังไม่มากพอสำหรับการเป็นนักการเมืองหรือเปล่า หรือเราต้องทำมันให้มากขึ้น”

ฝันถึงประเทศไทยในอนาคต

Dream Team ของเหล่ากระบอกเสียง

            เมื่อเราถามถึงว่า ทีมโฆษกทีมนี้พอจใช้คำว่า “ดรีมทีม” ได้ไหม สตีฟต้องบอกว่าทุกคนมีประสบการณ์มากกว่า

            “หน้าที่หรือประสบการณ์ไหนที่ตรงกับตัวเองเขาจะรับผิดชอบของตัวเองกันหมด อีกเรื่องคือ ทีมนี้เป็นการรวมตัวกันของคนที่มีทัศนคติที่ดีมากกว่า

            “อีกอย่างที่ผมเห็นเลยคือ น้องๆ ในพรรคให้เกียรติเรา ให้เกียรติทุกคน น้องๆ เขาไหว้ตั้งแต่หน้าประตูยันแม่ครัว การที่เรารู้จักพูดคุยแบ่งปัน และเอื้ออาทรต่อกันในพรรค มันเป็นการเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่ส่งผลให้พรรคประสบผลสำเร็จ ส่งผลต่อการบริหารที่ดี และมันจะสะท้อนไปยังการทำงานภาคการเมืองระดับที่ใหญ่ขึ้นได้ด้วย”

            นอกจากเรื่องประสบการณ์ที่ทุกคนมี บุ๊คเสริมว่า นอกจากที่ทุกคนมีทักษะการพูดแล้ว มันคือการดึงความสนใจของแต่ละบุคคลเข้ามาส่งเสริมซึ่งกันและกัน

            “พรรคนี้คือการดึงคนที่มีความสนใจในเรื่องราวแต่ละเรื่องเข้ามาร้อยเรียงกัน ผมว่าทุกคนมีสกิลการพูดตามสไตล์โฆษกหมดนั่นแหละ มีทั้งสกิลการสื่อสารและเรื่องที่ตัวเองสนใจ ดังนั้นจะเรียกว่าดรีมทีมได้ไหม ก็เรียกได้นะ”

            พลอยเองก็ไม่ได้เป็นลูกหลานนักการเมือง เป็นครอบครัวนักธุรกิจชนชั้นกลางที่มาทำงานตรงนี้ได้

            “เหมือนที่พี่ๆ ในทีมบอกว่า เขาก็จะมีสิ่งที่ถนัดแตกต่างกันไปเช่นเดียวกัน การเป็นทีมโฆษกคือการที่ทุกคนเข้ามาท้าทายตัวเองด้วยกัน แต่นอกเหนือจาอความท้าทายเหล่านั้น บนไหล่ของพวกเราคือประชาชน ดังนั้นการเข้ามาตรงนี้เราต้องทำงานเพื่อสะท้อนปัญหาพี่น้องประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

ก้าวใหม่ของประเทศไทยที่อยากเห็นในอนาคต

            คำถามสุดท้ายที่เราถามทีมโฆษกทุกคนคือ ประเทศไทยในฝันของคุณเป็นอย่างไร

            ก้าวที่สำคัญของประเทศไทยที่ธิดาอยากเห็นคือ อยากเห็นประเทศที่เป็นพี่น้องกัน

            “มันเป็นอะไรที่เราไม่ได้เห็นในสังคมไทยมาพักหนึ่งแล้ว มันมีความไม่ปรองดองกัน มันเป็นความแตกแยกที่แม้แต่บ้านเดียวกันยังคุยกันไม่รู้เรื่องเลย ความเห็นต่างทางการเมืองและความสวยงามทางประชาธิปไตยมันควรอยู่ในระดับที่พอดี อยากให้ประเทศไทยหลุดจากจุดนี้แล้วพัฒนาไปได้จนถึงการยืนสง่าบนเวทีโลก ต้องการผู้ที่มีดึงศักยภาพประเทศตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วพาประเทศไปยังทิศทางที่ถูกต้อง

            ประชาธิปไตยแบบใสสะอาดคือประเทศไทยในฝันของนิก

            “ผมว่าประเทศไทยมีดีตั้งแต่วัตถุดิบ ทรัพยากร จนไปถึงประชากรที่มากความสามารถไม่แพ้ใครในโลกเลย ถ้าหากไม่มีการเมืองที่คอยจับผิดซึ่งกันและกัน ไม่มีรัฐประหารที่ทำซ้ำไปซ้ำมา ประเทศจะเดินต่อไปได้อย่างสงบสุขขึ้น”

            “ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีอยู่แล้ว” สตีฟว่า “เป็นประเทศในฝันของใครหลายคน ซึ่งประเทศไทยในฝันของสตีฟเอง ต้องเป็นประเทศที่ประชาชนทุกคนตั้งแต่ชนชั้นรากหญ้า ไปจนถึงชั้นบนสุดสามารถมีความสุขร่วมกันได้โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ต้องมาคอยนั่งล้างสมองกันแล้วแบ่งเป็นกลุ่มๆ แบบทุกวันนี้”

            “เชื่อไหมว่าเราอยู่กบความขัดแย้งทางการเมืองมา 16 ปี แล้วมันจะยังเลวร้ายลงไปกว่านี้อีก 8 ปี” พลอยว่าการที่เรายังติดหล่มความขัดแย้ง ติดกับขั้วอำนาจทางการเมืองสองขั้วที่เมื่อฝ่ายหนึ่งได้ขึ้นบริหาร อีกฝ่ายไม่พอใจ จนท้ายที่สุดมันเกิดทางออกเดิมๆ นั่นคือการรัฐประหาร ฉะนั้นธงในใจเราคือการได้เห็นประชาธิปไตยที่หาทางออกร่วมกันได้ รับฟังความเห็นต่างด้วยเหตุผลและยติการขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้จริง 

            อีกอย่างที่อยากเห็นคือ การเปลี่ยนแปลงระหว่างช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตั้งแต่อาชีพ ค่าครองชีพจนไปถงวิถีชีวิต เราอยากเห็นลูกหลานเรามีชีวิตที่ดีและมีความสุขกว่านี้”

            เบสเองก็ก็ยังย้ำในประเด็นของปัญหาสังคมว่า “เราอยากเห็นสังคมที่เปิดกว้างในโอกาสทุกคน ไม่ตีตราใคร เราอยากเห็นสังคมดี ซึ่งสังคมดีย่อมต้องแก้ไขด้วยการเริ่มจากรัฐบาลเองที่จะต้องบริหารจัดการได้ดี ทำให้สังคมเท่าเทียมกัน ต้ังแต่การมีสวัสดิการสังคม การมีเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ การดูแลตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ สังคมมันก็จะดี ความเหลื่อมล้ำจะน้อยลง เมื่อไหร่ที่ความเหลื่อมล้ำมันลดลงได้ ประเทศเราก็จะพัฒนาขึ้น”

            นอกจากเรื่องความขัดแย้งแล้ว ความเห็นส่วนตัวของหนุ่ยเองก็มองว่า ถึงเวลาที่นักการเมืองรุ่นใหม่ต้องได้เฉิดฉายแล้ว

            “เฉพาะผมคนเดียวนะ ผมอยากเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่อยากให้คนที่อายุเกิน 50 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี การมีนักการเมืองอายุเยอะไม่ได้แปลว่ามันไม่ดี แต่เขาอาจจะไม่ทันโลกไม่ทันเหตุการณ์ เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนเร็ว ประเทศก็เปลี่ยนเร็ว การทำงานต่างๆ โดยระบบเก่าที่ช้าและไม่ทันสมัยจะไม่เกิดขึ้น ทุกอย่างจะรวดเร็วว่องไวขึ้น”

            และนักการเมืองเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ บุ๊คจึงมองว่า ประเทศไทยในฝันคือการที่มีนักการเมืองแบบใหม่ที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

            “อย่างที่คุณหญิงสุดารัตน์เคยบอกไว้ว่า สิ่งแรกที่นักการเมืองต้องคำนึงถึงคือประชาชาชน เอาผลประโยชน์ส่วนตัวลงไปไว้ข้างหลังสุด ผมว่าถ้านักการเมืองเป็นแบบนี้ได้ การเมืองดีๆ มันเริ่มได้ แล้วอย่างอื่นที่ดีก็จะตามมาหมดเลย”

Contributors

เด็กมนุษย์ฯ ผู้ชื่นชอบการออกไปเดินเที่ยวคนเดียว เอนจอยกับการเต้นและการกิน ปัจจุบันกำลังพยายามใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่

ผู้ที่ชื่นชอบการ Backpack เที่ยวคนเดียวพร้อมกับกล้องคู่ใจ ออกเดินทางเพื่อตามหาสถานที่และมิตรภาพใหม่ๆ