ระวังแมวออก

ป้ายเตือนที่ถูกแปะไว้หน้าประตู ทำเอาทาสแมวอย่างเรายิ่งตื่นเต้นที่จะได้พบปะน้องแมวในงาน “อัณฑะเหมียวครองเมือง” (Catsanova 2024) อีกหมุดหมายในงาน Bangkok Design Week 2024 ที่จัดไปแล้วเรียบร้อยเมื่อวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารหอศิลปะและการออกแบบ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์  เป็นงานที่พาน้องแมว (จร) มาพบปะเหล่าทาสพร้อมกับหาบ้านใหม่ แถมยังได้มาเอ็นดูกับงานอาร์ตแกลเลอรีที่รังสรรค์ “ไข่แมว” ให้เป็นงานศิลปะตามใจนึกด้วย

แต่นัดหมายของเราไม่ใช่แค่การมาเล่นกับน้องแมว (จร) และเสพอาร์ตไข่แมวเพียงเท่านั้น แต่นัดสำคัญที่ว่าคือ การได้พูดคุยกับอาจารย์แก๊ป-ยศพร จันทองจีน ผู้เป็นเบื้องหลังของงาน Catsanova 2024 และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “จรจัดสรร Stand For Strays”

เราเห็นโครงการจรจัดสรรครั้งแรกขณะที่เลื่อนดูเฟซบุ๊กช่วงพักกลางวัน จนไปสะดุดตากับโพสต์ที่เป็นภาพบ้านพักพิงเล็กๆ ที่ถูกติดตั้งบนกำแพงบ้าน ซึ่งโครงบ้านเล็กๆ ที่เราเห็นคือ จุดพักพิงของเหล่าน้องหมาจรที่เข้ามาหลบฝน และแวะมากินอาหารกันตรงนี้ได้ เราเองที่เป็นทาสหมาและแมวได้เห็นแล้วก็รู้สึกดีใจไม่น้อยที่ได้รับรู้ว่า อย่างน้อยๆ ก็มีคนให้ความสำคัญและอยากช่วยเหลือหมา-แมวจรมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้พาให้เรามาที่งาน Catsanova 2024 เพื่อที่จะได้พูดคุยกับจุดตั้งต้นของสิ่งดีๆ สำหรับน้องหมาน้องแมว และอยากมาส่งต่อแนวคิดดีๆ ให้กับคนรักสัตว์ผ่านบทความนี้ไปด้วยกัน

ก้าวแรกของจรจัดสรร

บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความนุ่มฟู เพราะรอบๆ ที่นั่งของเรามีน้องแมวเดินมาแวะเวียนทักทายเราระหว่างบทสนทนา ซึ่งเราเองก็อดไม่ได้ที่จะแอบยื่นมือไปหยุมพุงของน้องแมวด้วยเหมือนกัน

อาจารย์แก๊ปเล่าให้ฟังว่าโครงการจรจัดสรรเริ่มจากการเรียนปริญญาเอกของอาจารย์เอง จรจัดสรรจึงเริ่มต้นด้วยการเป็นชิ้นงานที่ทำเพื่อเป็นผลงานในการจบปริญญาเอกของอาจารย์แก๊ป แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “โปรเจกต์ตัวจบ” แต่นี่ก็เป็นผลงานที่เกิดจากแพสชันที่อาจารย์แก๊ปมีมาตลอดอย่างแท้จริง

“เราคุยกับอาจารย์ว่า เราเอาเรื่องน้องหมาน้องแมวมาทำงานปริญญาเอกได้จริงๆ เหรอ ถ้ามันทำได้จริงแก๊ปก็อยากจะทำนะ เพราะปกติแก๊ปเองเป็นคนรักสัตว์มาตลอด เราช่วยสัตว์ในทุกรูปแบบตามที่เราช่วยได้ ทั้งช่วยโพสต์ช่วยแชร์ หรือช่วยบริจาคเราก็ทำมาตลอด”

“ซึ่งในการช่วยเหลือ ณ ขณะนั้น เราเป็นคนทั่วไปที่ช่วยเหลือน้องหมาน้องแมวในมุมคนที่อยากช่วยเหลืออยู่ด้านนอก แต่พอเราตัดสินใจจะทำเรื่องนี้ในฐานะนักศึกษาปริญญาเอก การเข้าถึงในเรื่องการช่วยเหลือสัตว์ก็ทำได้ง่ายขึ้น เราได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีทีม NGO ที่เขาทำงานอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว ซึ่งเขายินดีที่จะช่วยสนับสนุนโครงการของเราด้วย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นดีๆ ด้วยค่ะ”

คำว่า จรจัดสรร คือคำผสมที่มาจากคำว่า จรจัด และ จัดสรร เพราะอาจารย์แก๊ปอยากให้ความเป็นจรจัดของสัตว์มีความเป็นระบบจากการจัดสรร ซึ่งวิธีที่จะจัดสรรให้น้องหมาน้องแมวมีความเป็นระบบด้วยงานออกแบบ

“เราใช้การดีไซน์มาออกแบบบ้านพักพิงให้กับหมาจรแมวจร โดยเราทำการสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่ และคนที่ทำงานกับปัญหาของหมา-แมวจร เพื่อให้รู้ว่าทั้งคนและสัตว์ต้องการบ้านพักพิงแบบนี้ไหม หรือการติดตั้งบ้านพักพิงจะสร้างความเดือดร้อนให้คนที่อาศัยในพื้นที่หรือเปล่า ปรากฏว่าโปรเจกต์นี้ได้เสียงตอบรับที่ดี เพราะบ้านพักพิงนี้กำลังช่วยทั้งคนและสัตว์ได้ด้วย”

อาจารย์แก๊ปขยายความให้เราฟังต่อว่า ทั้ง NGO หรือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือหมา-แมวจรต้องทำงานหนักกันมากๆ เพราะน้องหมาน้องแมวจรมีมากขึ้นทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้นคือคนในสังคมยังผลักภาระให้กันไปๆ มาๆ กว่าที่เราคิดเสียอีก

แม้กระทั่งคนรักสัตว์ที่พยายามช่วยแก้ปัญหาเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ อย่างการให้ข้าวให้น้ำหมา-แมวจร เพราะพวกเขาไม่สามารถรับน้องๆ เลี้ยงเพิ่มได้ แต่ก็กลับได้รับการต่อว่าจากคนหลายกลุ่มว่า การให้ข้าวหมา-แมวจรคือการสร้างความสกปรก หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในชุมชน ฉะนั้นจรจัดสรรเองจึงเป็นคนหรือสื่ออีกประเภทที่อยากช่วยแก้ปัญหาในแบบของตัวเองเช่นกัน  

“เชื่อว่าคนที่รักน้องหมา  ถ้าเขามีความพร้อมหรือมีพื้นที่เพียงพอก็คงจะเอากลับไปเลี้ยงที่บ้านแน่นอน ต้องเข้าใจว่าคนเราก็มีข้อจำกัดที่ต่างกันไป อยากให้เข้าใจว่าคนที่ให้ข้าวหมาหลายๆ คนก็ไม่ได้ไร้ความรับผิดชอบหรือตั้งใจไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร

“ซึ่งการเกิดขึ้นของจรจัดสรรที่ออกแบบบ้านพักพิงตัวนี้ เพื่อให้คนที่ให้ข้าวหมา-แมวจรสามารถให้ข้าวน้องๆ ได้เป็นที่เป็นทางมากขึ้น แล้วก็ให้เป็นสัญลักษณ์ ให้คนในชุมชนรับทราบร่วมกันว่าตรงนี้มีน้องหมาอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะรักสัตว์และมีบางคนกลัวหมามากจริงๆ ซึ่งการที่เราทำงานตรงนี้ เราจึงไม่ได้มองแค่สวัสดิภาพของหมาแมว แต่เรามองคนในสังคมร่วมด้วย นี่คือสิ่งที่เราพอจะทำได้ในแบบของเราค่ะ”

บ้านพักพิงชุดแรกถูกติดตั้งในพื้นที่เมืองทองธานี โดยการติดตั้งมีการพูดคุยกับเจ้าของบ้านที่นำไปติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเหล่าน้องหมาที่อยู่บริเวณบ้านพักพิงนี้ ล้วนเป็นหมาจรที่ได้รับการทำหมันแล้ว และบริเวณบ้านพักพิงจะได้รับการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอจากบ้านที่รับเป็นอาสาสมัครให้ติดตั้ง

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ : จรจัดสรร Stand For Strays

“หลังติดตั้งบ้านพักพิงให้กับหลายๆ บ้าน เจ้าของบ้านส่วนใหญ่จะทักมาขอบคุณ พร้อมกับถ่ายรูปส่งมาในกลุ่มเฟซบุ๊กจรจัดสรร เป็นภาพที่มีน้องหมาเข้ามานอนในบ้านพักพิงแล้ว เพราะตอนแรกน้องหมาก็จะกลัว ต้องใช้ความคุ้นชินประมาณ 7-14 วันกว่าที่น้องหมาจะกล้าเข้าไปนอน

“มีบ้านหลังหนึ่งเขาทักมาขอบคุณเรา และเราเองก็ซึ้งใจเหมือนกัน เขาบอกว่าน้องหมาตัวนั้นไม่มีที่ให้นอน พอมีบ้านพักพิงของเราไปติดตั้ง ที่ตรงนี้ก็เหมือนบ้านของน้อง สุดท้ายน้องก็กลับมานอนเสียชีวิตตรงนั้น มันสะเทือนใจนะ แต่ก็รู้สึกดีใจที่ทำให้ทั้งคนและสัตว์ได้รู้สึกอบอุ่น”

จรจัดสรรที่จริงจัง

ระยะเวลากว่า 2 ปีของจรจัดสรร จากที่จุดตั้งต้นแรกคือการสร้างโปรเจกต์เพื่อให้เรียนจบปริญญาเอก แต่ด้วยแพสชันที่ล้อไปกับความตั้งใจรักสัตว์ของอาจารย์แก๊ป ทำให้จรจัดสรรถูกต่อยอดเป็นโครงการที่จริงจังมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์ตัว(เรียน)จบที่เป็นมากกว่าโปรเจกต์เพื่อการศึกษา แต่เป็นสิ่งที่อยากส่งคืนสิ่งดีๆ สู่สังคมและน้องหมาน้องแมวมากกว่า

“ตอนนี้จรจัดสรรอยากจะเป็นสื่อค่ะ เราอยากสื่อสารปัญหาให้สังคมเกิดการตระหนักรู้ เพราะเหล่าคนที่เขาแก้ปัญหาหมาจรแมวจร เขามัวแต่แก้ปัญหาจนไม่ได้มีเวลามาสื่อสารกับคนนอก ส่วนเราเองที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาเชิงลึกแบบพวกเขา เราเลยอยากทำหน้าที่สื่อสารให้คนมองเห็นและเข้าใจแก่นของปัญหานี้ โดยไม่ได้อยากให้มันเป็นดราม่าหรือเกิดจากความสงสาร เพราะเราอยากให้คนเข้าใจปัญหานี้กับเราด้วยความอบอุ่นมากกว่าค่ะ”

คุยกันมาสักพักเรายิ่งสัมผัสได้ถึงความตั้งใจจริงของอาจารย์แก๊ปมากขึ้นเรื่อยๆ และรู้สึกว่าน้องแมวที่เข้ามาคลอเคลียระหว่างที่เราพูดคุยกับอาจารย์แก๊ปช่างโชคดี ที่อย่างน้อยๆ น้องแมวทุกตัวในงานนี้ได้รับการดูแลภายใต้องค์กรและโปรเจกต์ที่อาจารย์แก๊ปกำลังตั้งใจทำอย่างดี

เมื่อพูดถึงต้นตอของปัญหา เราเลยอยากเข้าใจมุมมองของความเป็นหมา-แมวจรจากอาจารย์แก๊ปดูบ้าง ว่าอาจารย์เองคิดเห็นแบบไหนและมองเห็นปัญหาของน้องหมา-แมวจรอย่างไรบ้าง

อาจารย์แก๊ปตอบกับเราอย่างชัดเจนว่า ปัญหาทุกอย่างเกิดจากจิตสำนึก ของคนในสังคมที่มีความเห็นแก่ตัวกันมาก และมักผลักปัญหาไปให้คนอื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผลักภาระหมา-แมวของตัวเองให้เป็นหมา-แมวจร เพราะเมื่อเลี้ยงน้องๆ ไม่ไหวก็เอาไปปล่อยวัด ปล่อยข้างถนน หรือปล่อยให้คนหน้าบ้านตัวเองเลี้ยงแทน 

“การตระหนักรู้คือจุดเริ่มต้นที่สังคมเรามีน้อย เพราะไม่ว่าจะมีกฎหมายบังคับใช้แค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถที่จะไปกำหนดจิตสำนึกของคนได้ กฎหมายสำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีจิตสำนึก ดังนั้นกฎหมายกับจิตสำนึกก็ต้องมาคู่กัน  จรจัดสรรจึงแตะได้แค่เรื่องจิตสำนึก ในส่วนของข้อบังคับใช้ เราก็ยังการภาครัฐที่เข้มแข็งและเข้มงวดกับกฎหมายคุ้มครองเกี่ยวกับสัตว์มากกว่านี้ เพราะวงจรหมาจรแมวจรที่ไม่จบสิ้น ปัญหาล้วนเกิดจากคนไม่มีจิตสำนึกและความหละหลวมของมาตรการที่ใช้จัดการเรื่องนี้ด้วย

“จรจัดสรรจึงพยายามสื่อสารเรื่องปัญหาให้คนเข้าใจในปัญหา และต้องยอมรับในปัญหา เพราะถ้าไม่เกิดการยอมรับก่อน ก็จะไม่เกิดการแก้ไข เมื่อเข้าใจและยอมรับปัญหาได้ การผลักภาระให้คนอื่นๆ ในสังคมก็จะน้อยลง และอย่ามองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของตัวเอง แต่ให้เข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขในเป้าหมายเดียวกัน แม้จรจัดสรรจะเป็นจุดกระตุ้นได้ในช่วงสั้นๆ แต่ก็หวังว่าจะเป็นอีกจุดที่สามารถกระตุ้นคนบางกลุ่มให้ทำบางสิ่งได้ในแบบของเขาเอง”

2024 อัณฑะเหมียวครองเมือง

“อัณฑะเหมียวครองเมือง” (Catsanova 2024) ที่จัดระหว่างเทศกาล  Bangkok Design Week 2024 เรียกได้ว่าเป็นการเปิดบ้านน้องแมวจรที่รอบ้านใหม่ รวมถึงการจัดอาร์ตแกลเลอรีศิลปะไข่แมว งานศิลปะที่เหล่าศิลปินมาบรรเลงสีสันลงบนไข่น้องแมวหลากรูปแบบบนผืนผ้าใบ และยังมีการประมูลภาพน้องแมว เพื่อนำเงินนี้ไปสมทบทุนให้กับการดูแลและหาบ้านในน้องแมวจรต่อไปด้วย

แต่งานนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่จรจัดสรรได้ทำการจัดหาบ้านให้น้องๆ สัตว์จร แต่เมื่อปี 2566 จรจัดสรรเองก็เข้าร่วม  Bangkok Design Week  ด้วยคอนเซปต์การเดินแฟชันของน้องหมาจรเช่นกัน และยังยกศูนย์พักพิงน้องหมาจรมาให้ศิลปินได้แต่งแต้มสีบนบ้านพักพิงแสนน่ารักด้วย ซึ่งเมื่อนำบ้านพักพิงที่มีการเพนต์ลวดลายไปติดตั้งในชุมชน กลับทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีสีสันและสร้างทัศนียภาพที่ดีให้ชุมชนด้วย ซึ่งในงานนี้ก็ยังคงเป็นงานที่หาบ้านให้น้องหมาจรไปพร้อมๆ กิจกรรมน่ารักๆ เหมือนกับงานในครัังนี้

“ชื่องาน อัณฑะเหมียวครองเมือง เป็นชื่อที่จริงๆ เราเอามาจาก 2499 อันธพาลครองเมือง แต่เปลี่ยนจากคำว่าอันธพาลเป็นคำว่า ‘อัณฑะเหมียว’ เพราะแมวจรอยู่ในที่ชุมชนเยอะจนจะครองเมืองแล้วด้วยค่ะ”

“และที่เราให้เป็นตัวอัณฑะเแมว เพราะอยากสื่อถึงการสืบพันธุ์ด้วย ไม่ใช่แค่แมวตัวเมียที่สืบพันธุ์ เพราะอัณฑะคือจุดสืบพันธุ์ระหว่างแมวตัวเมียกับแมวตัวผู้ เราก็เลยใช้คอนเซปต์นี้ ประกอบกับที่ทาสแมวส่วนใหญ่ก็เอ็นดูไข่แมวกันมาก บางคนไม่อยากทำหมันเพราะเอ็นดูความน่ารักของไข่แมว เราเลยให้งานอาร์ตนี้เป็นตัวแทนที่ว่า คุณซื้องานศิลปะไข่แมวนี่ไปติดไว้ที่บ้านนะ แล้วเอาแมวของคุณไปทำหมัน ภาพไข่แมวพวกนี้จะได้เป็นตัวแทนของไข่แมวของคุณ ซึ่งขนาดไข่แมวในงานของเราเท่าไข่แมวของจริงเลย ฉะนั้นก็อยากให้พาแมวไปทำหมันเถอะค่ะ”

น้องแมวจรในงานนี้ทุกตัวทำหมันกันหมดแล้วเรียบร้อย และพร้อมหาบ้านใหม่อย่างปลอดภัย น้องแมวจรที่นี่เป็นแมวที่อยู่ในศูนย์ประเวศ ซึ่งตอนนี้ทางศูนย์ประเวศยังไม่ได้เปิดให้บุคคลภายนอกเข้า งานอัณฑะเหมียวครองเมืองจึงเป็นการพาน้องแมวหาบ้านใหม่ในเชิงรุก ซึ่งมีน้องแมวบางตัวได้บ้านใหม่ไปแล้วเรียบร้อย

“การติดตามบ้านของ SOS Animal Thailand มีการคัดบ้านและติดตามการดูแลน้องแมวจรกันโหดมากๆ คนที่รับน้องแมวจรไปเลี้ยง อาจจะต้องมีการติดตามความเป็นของน้องแมว 6 เดือนต่อหนึ่งครั้ง และต่อไปจะเป็นปีละครั้ง ต้องมีการตรวจสอบว่าบ้านของเจ้าของใหม่มีความพร้อมในการเลี้ยงจริงๆ ต้องไม่รับน้องไปแล้วนำไปปล่อยเมื่อเลี้ยงไม่ไหว นอกจากจะเป็นการทำร้ายน้องแมวแล้ว ยังทำให้ปัญหาที่เราพยายามแก้ จะยังเกิดเรื้อรังไม่จบสิ้น”

แต่ก่อนที่จะรับน้องไปเลี้ยงที่บ้าน งานอัณฑะเหมียวของเมืองจึงเป็นตัวกลางที่พาน้องแมวจากศูนย์ประเวศได้มาพบปะผู้คน ได้มารับความอบอุ่นจากเหล่าคนรักแมวที่พร้อมเล่นกับน้องๆ ได้ทั้งวัน ขณะเดียวกันที่ทาสแมวได้เข้ามาลองทำความรู้จักกับน้องแมว เป็นอีกวิธีที่จะรู้จักน้องแมวแต่ละตัวมากขึ้น ถ้าถูกใจนิสัยใจคอน้องแมวตัวไหน จึงค่อยเข้าสู่กระบวนการรับเลี้ยงและการตรวจสอบ (สุดโหด) ว่า คุณพร้อมจะเลี้ยงน้องที่คนรู้สึกถูกจริตถูกชะตาจริงหรือเปล่า

“การมาอยู่ตรงนี้มันสอนให้รู้ว่า ในตอนที่เราคิดจะทำอะไรที่เป็นการเพื่อสังคม เราจะวางมือจากมันไม่ได้ เราต้องจริงจัง เราเองก็เคยเหนื่อยเพราะแบกความคาดหวังของใครหลายๆ คนเอาไว้อยู่ แต่ระหว่างทางที่เราทำกิจกรรมทุกอย่างขึ้นมา เราก็ได้รับคำชมคำสนับสนุนมาตลอด และเราก็ได้เห็นน้องหมาน้องแมวมีชีวิตที่ดีขึ้น จุดนี้แรงผลักดันทำให้เราไปต่อได้ และเมื่อเราไปต่อ ก็พร้อมมีคนไปต่อกับเราด้วยแพสชันเดียวกัน แพสชันที่ไม่อยากเห็นน้องหมาน้องแมวจรถูกผลักให้เป็นสิ่งที่เรียกว่าปัญหาอีกต่อไป”

Contributors

เด็กมนุษย์ฯ ผู้ชื่นชอบการออกไปเดินเที่ยวคนเดียว เอนจอยกับการเต้นและการกิน ปัจจุบันกำลังพยายามใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่

อาร์ตไดผู้รักงานออกแบบที่เขียนคอนเทนต์ได้นิดหน่อย ชอบเล่าตัวเลขและข้อมูลด้วยภาพ ชอบกินเส้นมากกว่าข้าว ชอบดูหนัง ชอบแมว และชอบเธอ