ส้มตำระดับมิชลิน

หลังจากอ่านจบ เราเชื่อว่าหลายคนคงแอบคิ้วขมวดกับความย้อนแย้งของประโยคนี้อยู่กลายๆ เพราะรางวัลที่การันตีจากแบรนด์ยางรถยนต์ชื่อดัง ดูจะต้องเป็นรางวัลการันตีสำหรับอาหารสไตล์ตะวันตก มากกว่าการการันตีอาหารสไตล์ไท๊ยไทยอย่าง ส้มตำ

แต่ร้านส้มตำคุณกัญจณ์ พิสูจน์มาแล้วว่าอาหารไทย-อีสานอย่างส้มตำก็คว้าการันตี Michelin Plate และ Michelin Bib Gourmand มาได้ จนทำให้ส้มตำของไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติยิ่งขึ้น ด้วยรสความนัวที่ไม่เหมือนใคร

หลายคนคงสงสัยว่าความพิเศษหรือเคล็ดลับอะไรที่ทำให้ร้านส้มตำเล็กๆ ในเมืองทองธานี กลายเป็นร้านส้มตำสวนอาหารระดับมิชลินได้ คอลัมน์อาหารการกินวันนี้เลยพาทุกคนมาคุยกับกัญจณ์ เครือแก้ว และเอ๊ะ-อรณสา เครือแก้ว สองคู่หูคู่ชีวิตที่ปลุกปั้นร้านอาหารด้วยความรัก ใส่ใจพิถีพิถันตั้งแต่วัตถุดิบยันต้นไม้รอบสวนอาหาร ที่ทั้งคู่ตั้งใจปลูกและหมั่นดูแลเพื่อสร้างบรรยากาศแสนสบายใจ 

นอกจากรสชาติที่แซ่บนัวแล้ว เราจึงอยากพามาเรียนรู้เส้นทางสู่การการันตีจากมิชลินของพวกเขาไปด้วยกัน

จากร้านในฟู้ดคอร์ท สู่การเป็นสวนอาหาร

จุดเริ่มต้นของการเริ่มทำร้านอาหารของทั้งคู่เริ่มขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว 

“เราเริ่มทำอาชีพร้านอาหารตั้งแต่อายุ 25 ปี ตอนนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงในอาชีพเดิมของผม หลังจากนั้นผมเลยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำอะไรต่อ จนได้เห็นรุ่นพี่ที่เขาขายคอหมูย่างที่ตลาด อ.ต.ก. (องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) ผมเลยไปเรียนรู้วิธีการหมักคอหมูย่างว่าต้องทำยังไงบ้าง โทรถามสูตรจากเพื่อนของคุณพ่อที่ภัตตาคารที่ศรีสะเกษว่า การหมักคอหมูย่าง ต้องหมักยังไงบ้าง หลังจากนั้นผมก็ลองหมักคอหมูย่างขายที่ตลาดเมืองทองธานี ผลปรากฏว่าเมนูคอหมูย่างเป็นเมนูที่อร่อยที่สุด ลูกค้าให้การตอบรับเยอะมาก ต้องเข้าคิวเพื่อรอซื้อกันเลย” 

โดยปกติแล้วเมนูคอหมูย่างมักไม่ใช่อาหารจานหลัก เพราะเชื่อว่าหลายคนต้องซื้อคอหมูย่างไปกินกับเมนูอื่นๆ อย่างลาบหรือต้มแซ่บ แน่นอนว่าลูกค้าก็เริ่มพากันเรียกร้องให้ทั้งคู่ทำเมนูอื่นๆ มากินคู่กับคอหมูย่างด้วย

“พอคอหมูย่างประสบความสำเร็จใช่ไหมคะ ก็มีลูกค้าเรียกร้องว่า ทำไมไม่มีส้มตำด้วย จากนั้น 3 เมนูกลายเป็นสิบกว่าเมนู และไต่ไปถึง 40 กว่าเมนูในตลาดรวมใจเมืองทองธานี ตอนนั้นเราตั้งชื่อร้านกันว่าร้านรวมใจไก่ย่างมาก่อน เมื่อก่อนตลาดรวมใจดังมาก มีคนเข้ามาที่นี่เยอะ และตลาดตรงนั้นคล้าย Food Court ที่มีล็อกเล็ก ๆ สำหรับแต่ละร้านเลย” เอ๊ะเสริม 

เมื่อมีทั้งคอหมุย่างและส้มตำ ร้านรวมใจไก่ย่างจึงยิ่งมีคนต่อคิวหน้าร้านจนแถวยาวเหยียด แต่ปลายแถวยังยาวได้กว่าเดิม หลังทั้งคู่ตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์ส้มตำแห่งประเทศไทย 

“เมื่อปี พ.ศ. 2542 เรามีโอกาสไปแข่งชิงแชมป์ส้มตำแห่งประเทศไทยที่สนามหลวง มีผู้เข้าร่วมกันแข่งชันประมาณ 90 กว่าร้าน ซึ่งการแข่งขันมี 2 ประเภทคือ ประเภทรสชาติกับประเภทลีลา ซึ่งผมเองก็มั่นใจว่าส้มตำของเราอร่อย แต่ก็ไม่ได้มั่นใจว่าจะชนะ ตอนนั้นไปแข่งแบบเอาสนุกเลย ปรากฏว่ารสชาติถูกใจลูกค้าจริง ๆ และการแข่งขันก็เน้นเรื่องรสชาติจริงๆ ไม่มีคะแนนการพรีเซนต์เมนูด้วย พวกเราเองก็ภูมิใจ เพราะเราเป็นแชมป์คนที่ 2 ต่อจากคุณป้าสุดใจที่ตลาด อ.ต.ก. หลังจากได้แชมป์ส้มตำแห่งประเทศไทยมา ก็มีคนมาต่อคิวหน้าร้านยาวขึ้นจนเรียกได้ว่า สามแถวหน้าร้าน แถวหนึ่งก็เกือบ 8 เมตรเลย”

การคว้าแชมป์ส้มตำแห่งประเทศไทยในครั้งนั้นทำให้ร้านรวมใจไก่ย่างเดินทางไปถึงจุดที่ พื้นที่ของร้านเดิมช่างคับแคบจนรู้สึกอึดอัด ทั้งคู่จึงเริ่มมีความคิดที่อยากจะขยับขยายร้านให้เติบโตขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าที่จะหลั่งไหลเข้ามาในอนาคต

“ร้านรวมใจไก่ย่างเพราะว่าถูกจำกัดตั้งแต่การห้ามขายเครื่องดื่ม มีกฎระเบียบมากมายเพราะตลาดที่นั่นมีลักษณะเป็นแบบ Food Court ความอึดอัดของผมตรงนั้นทำให้เราย้ายออกมาเซ้งร้านหนึ่งสามแยกเตาปูนและทำเป็นสวนอาหาร เราก็ทำมาเรื่อยๆ จนมาถึงการขยับขยายมาตั้งบนที่ดินแปลงนี้ เมื่อก่อนเราก็เช่าที่ของคนอื่นอยู่ แต่สุดท้ายก็ได้มาอยู่ตรงนี้ 14 ปีแล้วครับ”

ในระยะเวลาสิบกว่าปีที่กัญจน์และเอ๊ะเสิร์ฟคอหมูย่างและส้มตำสูตรพิเศษจนถูกปากลูกค้ามากหน้าหลายตา การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จึงได้มาเยือนอีกครั้ง จากการที่รวมใจไก่ย่างได้รับการันตีความอร่อยยิ่งขึ้นด้วยการการันตีจามิชลิน

“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้รู้จักรางวัล Michelin Star, Michelin Guide หรือ Michelin Plate อย่างจริงจังหรอก รู้แค่ว่ามันมีความ High-End” กัญจณ์ตอบ ก่อนเอ๊ะจะเล่าเรื่องราวการได้มาซึ่งรางวัลอันน่าภูมิใจนี้ 

“ปีแรกที่เราร้านอาหาร ยังไม่ได้รางวัลนี้เข้ามาในไทยเนอะ แต่หลังจากปีนั้นเราก็เริ่มรู้ข่าวคราวว่ามี Michelin เข้ามาในเมืองไทยแล้ว แต่ตอนนั้นไม่สนใจขนาดนั้น เพราะเราไม่รู้กระบวนของรางวัลนี้หรอก จนวันหนึ่งเราทำร้านอาหารกันปกติ แต่สักพักมีลูกค้าเข้ามา แต่เขาใส่สูท คัทชู ใส่กระโปรงสีดำเนี๊ยบๆ มาเลย มาถึงเขาก็ขอเจอผู้จัดการร้านหรือเจ้าของร้านก็ได้ เราเดินไปถึงเขาก็แนะนำตัวว่า ‘มาจาก Michelin นะคะ’ แล้วยื่นนามบัตรและขอเบอร์โทรของเราไปด้วย แล้วเขาก็อธิบายว่า ตอนนี้ที่ประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มชิมหลายร้านเพื่อมอบรางวัลมิชลินอยู่ เขาก็ขอรายละเอียดต่างๆ จากเราและจะติดต่อกลับมาหาเราหลังการประเมินผ่าน E-mail กลาง ห้ามติดต่อกลับไปหาเขาแบบเป็นส่วนตัวด้วย และเขาทิ้งท้ายไว้กับเราด้วยว่า ‘ขออนุญาต ไม่ให้บอกเรื่องนี้ออกสื่อหรือใด ๆ ใคร ๆ ทั้งสิ้นนะคะ’ ฟังแล้วเราก็รู้เลยว่านี่คือทางการมากๆ” 

เอ๊ะเล่าต่ออีกว่า จริงๆ แล้วทั้งคู่ได้รู้ข่าวคราวว่า ส้มตำคุณกัญจณ์ติดโผรายชื่อมิชลินเพลทจากการที่คนรู้จักยกสายโทรศัพท์มาบอก การไดรับรางวัลการันตีความอร่อยระดับนานาชาติ ไม่เพียงแค่ทำให้ร้านส้มตำคุณกัญจณ์รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติเพียงเท่านั้น แต่ทั้งคู่เชื่อว่าการมาถึงของการการันตีในครั้งนี้ เป็นการยกระดับความน่าสนใจของวงการร้านอาหารไทย

สุดท้ายแล้วร้านที่ได้รางวัล มักรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจ เพราะอย่างน้อยสิ่งที่เขาตั้งใจทุ่มเทลงไปมันเห็นผลและมีคนเห็นคุณค่า ในมุมของเศรษฐกิจ เรามองว่ารางวัลนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้คนรู้สึกตื่นเต้นและเห็นความสำคัญของวงการร้านอาหารมากขึ้นนะ แม้แต่ Street Food ที่เขาได้รับรางวัลมิชลิน สังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าร้านเขาดูดีและพัฒนาขึ้นหลังจากได้รางวัลด้วย มิชลินทำให้ร้านอาหารกลับมาพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ด้วยครับ” กัญจณ์อธิบาย

“คนไทยโตขึ้นมากับอาหาร ทำอะไรก็อร่อยไปหมด เพราะว่าวัตถุดิบของประเทศไทยดีมาก และการรับรสชาติในวัยเด็กของคนไทยก้รับรสได้หลากหลาย เราเข้าถึงความนัวและความอร่อยว่ามันเป็นแบบไหน แล้วยิ่งมีการประเมินมิชลินเข้ามา วงการอาหารยิ่งทำให้ถูกยระดับขึ้นมากเลย แต่การที่เราได้รางวัลนี้มาแล้วมันก็มีความยากอยู่นะคะ เพราะเราก็ต้องคิดว่าต้องทำยังไงถึงจะรักกษารางวัลนี้ไว้ได้ เราคุยกับเด็กในร้านบ่อยมากเรื่องการได้รับรางวัลมิชลินมา เพราะมันสุดยอดมาก แต่จะทำยังไงให้เราได้อีกในปีต่อไป และพวกเราต้องร่วมมือกันยังไง สิ่งที่ยากคือการรักษาระดับไว้จริงๆ ค่ะ”

เคล็ด (ไม่ลับ) ของผู้รักษาตำแหน่ง Michelin Plate และ Michelin Bib Gourmand

เอ๊ะย้ำกับเราว่าร้านส้มตำคุณกัญจณ์ยังคงเจอความยากไปอีกระดับ นั่นคือการรักษารางวัลมิชลินให้ยังคงอยู่ และคุณภาพอาหารตั้งแต่รสชาติไปจนถึงวัตถุดิบก็ต้องคงที่เช่นกัน การรักษารางวัลนี้ไว้ให้อยู่หมัดนั้น กัญจณ์เล่าให้เราฟังว่าต้องเริ่มกันที่เคล็ดลับการทำส้มตำให้อร่อยเสียก่อน

“เคล็ดลับการทำส้มตำให้อร่อย ต้องเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้นที่ดี วัตถุดิบตั้งต้นมีสามอย่าง คือ มะนาว น้ำตาลและน้ำปลาสามรส อย่างตำไทยเมนูพื้นฐานที่คนเขากินกัน เน้นอยู่สามรสชาติคือเปรี้ยว หวาน เค็ม แต่การจะทำให้สามรสชาตินี้ออกมาอร่อยมันไม่ง่ายเลย เพราะไม่ใช่แค่ว่าสักแต่จะเอามะนาวหรือน้ำตาลปี๊บมาใส่ แต่เราต้องรู้ว่ามะนาวที่เราใส่เป็นมะนาวแบบไหน มะนาวแป้นที่มีกลิ่นหอม หรือมะนาวอ่อน มะนาวแก่ก็มีรสชาติและกลิ่นที่ต่างกันไปด้วย และน้ำตาลเองก็ต้องดูว่าเป็นน้ำตาลจากที่ไหน อย่างน้ำตาลมะพร้าวก็จะมีความหอมและรสชาติกลมกล่อม แต่น้ำตาลโตนดมีรสชาติหวานโดดมากกว่า  ฉะนั้นเราต้องรู้ว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างมันให้คุณสมบัติอะไรบ้าง ”

นอกจากการคัดสรรวัตถุดิบอย่างใส่ใจ การควบคุมคุณภาพของอาหารก็สำคัญเช่นกัน แม้ว่าในตอนนี้ส้มตำคุณกัญจณ์จะมีเมนูกว่า 200 เมนูแล้ว ทั้งยังมีการแยกแผนกการทำอาหารย่อยออกไปหลายแผนก ตั้งแต่ครัวขนมหวาน ครัวทอด ครัวผัด ครัวยำ ครัวลาบอีสาน 

“เราสองคนมักสุ่มตรวจคุณภาพอาหารทุกวันในแต่ละแผนก ทั้งสุ่มหน้าตาอาหาร สุ่มรสชาติ สุ่มเดินเข้าไปดู สุ่มตรวจเรื่องการจัดการและปรุงอาหารของคนในครัว ถ้าอาหารจานไหนมีเศษอาหาร หรือเศษผมตกลงไป เราจะจดทุกรายละเอียดเลยว่าจานไหนที่เกิดข้อผิดพลาด แล้วนำไปปรับปรุงวิธีการทำงานและลดเปอร์เซ็นของพนักงานในร้าน เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก เราอยากป้องกันไม่ให้ลูกค้าได้ทานอาหารของเราแล้วรู้สึกระคายเคือง”

“ยิ่งกว่าการควบคุมคุณภาพอาหารแล้ว เราต้องใส่ใจในการบริการลูกค้าด้วย ความโชคดีของเราอยู่ตรงที่การสื่อสารกับลูกค้านะ ถ้าลูกค้ามากินแล้วรู้สึกว่าเมนูไหนไม่อร่อยหรือรสชาติเปลี่ยนไป เขาสามารถบอกเราได้เลย  เราพร้อมเปลี่ยนจานใหม่ให้และเราเองก็พร้อมปรับปรุงคุณภาพตามคำแนะนำของลูกค้าด้วย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีสำหรับร้านเรามาก จนเรารู้สึกว่าร้านเรามีคนคอยสนับสนุนในทางที่ดีตลอดเลย เราอยากให้ลูกค้ามีความสุขกลับบ้านไป ไม่ว่ามื้อนั้นเราจะได้กำไรหรือขาดทุน เราไม่ได้สนใจขนาดนั้น เราสนแค่ว่าเขากลับออกไปแล้ว เขาต้องมีความรู้สึกดีๆ กลับบ้านไปด้วย” 

เรียกได้ว่าการจะทำสวนอาหารดีๆ สักแห่งขึ้นมาได้ ย่อมใช้ศาสตร์หลายอย่างในการจัดการ ไม่เพียงแค่รสชาติอาหารต้องอร่อยลงตัว แต่ยังต้องมองถึงคุณภาพอาหาร คุณภาพการบริการ ราคาอาหารที่คุ้มค่ากับลูกค้า จนไปถึงการดูแลพนักงานในร้านที่ตอนนี้มี 60 คนแล้ว 

“ตอนที่ตัดสินใจมาทำร้านอาหารแบบสวนอาหารเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก และลูกค้าตอบรับดีมากโดยที่เราไม่ได้มีต้นทุนอะไรเลย แต่มันเติมเต็มชีวิตเรา เพราะเราอยากร้านแบบนี้ เราก็มานั่งคิดกันว่าต้องลงทุนเท่าไร การบริหารความสมดุลในร้านและต้นทุนคอร์สอาหารแบบไหน หรือทำให้มันเกิดกำไรต้องทำยังไง ทุกอย่างเป็นโจทย์ที่เราตั้งใจว่าทำเพื่อให้ลูกค้ามาอยู่กับเราแล้วมีความสุขที่สุด กำไรอาจจะไม่ได้สูงสุด แต่ทุกครั้งที่เราเห็นลูกค้ามีความสุขกับมันไป นั่นคือความสุขของเราด้วย”

“แต่การทำร้านก็มีอุปสรรคในบ้างครั้ง ซึ่งเราผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่าง ๆ อย่างโควิดมาได้ ก็เพราะว่าท่ามกลางความยากลำบากที่เกิดขึ้น เรายังดูแลพนักงาน 60 กว่าคนในร้าน เราขอให้บุคลากรของเราอยู่ครบ นี่คือการบริหารความสมดุลในสไตล์ของพวกเรา มันคือการ Give and Take ด้วย เพราะเมื่อพนักงานทุกคนอยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตได้ ในวันที่กลับมาเปิดร้าน พนักงานของเราก็พร้อมทำงานแบบ Full team และพวกเขาเองก็ไม่ทิ้งเราไปไหนด้วย”

ด้วยเหตุนั้น ร้านส้มตำคุณกัญจณ์จึงยังคงมีพนักงานเก่าแก่ทำงานอยู่ในร้านหลายคน  เพราะพวกเขาเป็นพนักงานที่ทำงานกันมาตั้งแต่เปิดร้านรวมใจไก่ย่างที่เมืองทองธานี เรียกได้ว่านี่คือการร้านอาหารด้วยความรักและความเข้าอกเข้าใจอย่างแท้จริง 

เคล็ด (ไม่) ลับสำหรับผู้รักษาตำแหน่งมิชลินดูไม่ยาก แต่เรามองว่าการรักษาตำแหน่งนี้ไว้ก็คงเต็มไปด้วยความรู้สึกดดันเช่นกัน แต่กัญจณ์และเอ๊ะกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะทั้งคู่บอกกับเราว่า “การรักษามิชลินไม่กดดันสำหรับเราเลยนะ เพราะว่าเราทำร้านอาหารบนความสุขจริงๆ”

ส้มตำคุณกัญจณ์ : ร้านอาหารในสวน

เชื่อว่าหลายคนที่ได้อ่านเส้นทางการเติบโตแบบก้าวกระโดดของร้านส้มตำคุณกัญจณ์ในฉบับรวดรัดผ่านบทความนี้ อาจมองว่ากัญจณ์และเอ๊ะช่างมีเส้นทางการทำร้านที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่แท้จริงแล้วทั้งคู่ก็ได้รับบทเรียนสำคัญจากวิกฤตโควิด-19 เช่นเดียวกันกับร้านอาหารอื่นๆ ด้วย

“เรื่องล่าสุดที่เราได้เรียนรู้จากการทำร้านก็คือ เรื่องการเอาตัวรอดในสถานการณ์โควิดนี่แหละค่ะ มันเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่คาดเดาอะไรไม่ได้ อย่างเราเองก็ลงทุนรีโนเวตร้านบางส่วนไปเยอะ พอจะเปิดร้านหลังจากรีโนเวตเสร็จ โควิดก็กลับมาอีกแล้ว กลายเป็นว่าเราต้องปิดๆ เปิดๆ ร้าน เงินทุนก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเราคือกำลังใจค่ะ หลังจบโควิด เราถามว่าพนักงานว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา ทุกคนอยู่กับเราแล้วรู้สึกกลัวบ้างไหม พนักงานก็ตอบเรามาว่า ‘อ๋อ ถ้าพวกพี่ไม่กลัว ผมก็ไม่กลัวครับ’ เราเลยเรียนรู้สิ่งสำคัญเลยว่า ผู้นำต้องเป็นตัวอย่าง และพาทุกคนให้รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ให้ได้ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้สิ่งที่ทุกคนในร้านได้ทำลงไปมันไม่เสียเปล่า” เอ๊ะอธิบาย

“คำว่าไม่กลัว ที่พนักงานบอกคือหมายถึง ความไม่กลัวทั้งการติดโรคโควิดและ กับไม่กลัวว่าร้านจะเจ๊งด้วย เพราะช่วงโควิดเราก็ไม่ได้ลดเงินพนักงานเลยนะ แต่อาจจะให้หยุดเพิ่มมากขึ้น คือสมมติว่าปกติเราทำงานกันอยู่ 26 วัน พนักงานที่นี่ก็ทำงาน 26 วันนี่แหละ แต่เราขอจ่ายค่าแรงเขาแค่ 22 วัน นั่นแปลว่าเขาจะทำงานฟรี 4 วัน แต่การมาทำงานในช่วงโควิดก็แทบไม่มีลูกค้าเลย เพราะฉะนั้นมาทำงานก็มานั่งเล่นเลยนะ แต่เราจ่ายให้พวกเขา 22 วัน ในขณะที่อื่นๆ เขาลดเงินพนักงานตั้งครึ่งหนึ่งเลย เราทำแบบนั้นเพราะเรามองว่าเขาก็มีภาะของที่บ้านที่ต้องดูแลเหมือนกัน”

เรานั่งคุยกับทั้งคู่มาจนถึงตอนนี้ เรารับรู้ได้ถึงทั้งแพสชันและความรักในการทำร้านอาหารผ่านเสียงและแววตาของทั้งคู่ จนเราอดไม่ได้ที่อยากจะฟังคำตอบว่า ร้านส้มตำคุณกัญจณ์มีความหมายต่อกัญจณ์และเอ๊ะมากเพียงไร

“เราแต่งงานกันที่นี่ครับ เรือนหอก็อยู่ที่นี่” กัญจณ์ตอบด้วยเสียงหัวเราะที่มาพร้อมกับรอยยิ้ม ก่อนที่เอ๊ะจะเล่าต่อ

“อย่างที่บอกว่าก่อนหน้านี้เราทำร้านคุณกัญจณ์ไก่ย่างที่เตาปูน ตั้งแต่ที่เป็นร้านเล็กๆ แต่มันเริ่มต้นจากความฝันของเราสองคน ที่ยากทำให้คนอื่นมีความสุขบนสกิลที่เรามี สกิลของพี่คุณกัญจณ์คือทำอาหารอร่อย สกิลของพี่เอ๊ะเป็นเรื่องของการบริหารการจัดการ นอกจากความสุขเรื่องการทำอาหารแล้ว เราก็มองเรื่องความสุขกับการมาถึงสถานที่ตรงนี้ด้วย ที่เห็นต้นไม้ของที่นี่คือเราปลูกใหม่กันเองหมดเลยนะ เพราะเดิมทีที่ดินแปลงนี้เป็นต้นหญ้าและป่ารกด้วยซ้ำ การทำร้านตรงจึงเกิดจากความรักของเราจริง ๆ พื้นที่ทุกตารางนิ้วของที่นี่มีความหมายกับเราสองคนมากเลย  บางคนเขาก็บอกว่าที่นี่เป็นสวนอาหาร แต่เราบอกว่าไม่ใช่ค่ะ ที่นี่เป็นร้านอาหารในสวน เพราะเราอยากให้คนที่เข้ามาที่นี่ได้มีความสุข ผ่อนคลาย สบายใจ ทิ้งความเครียดเบื้องหลังเอาไว้ แล้วก็มามีความสุขกับเราค่ะ”

เราได้คุยกับเจ้าของร้านอาหารที่รสชาติเป็นเลิศอยู่หลายท่าน สิ่งที่เราได้สัมผัสมาตลอดเลยคือ อาหารที่อร่อยจนคนกินลืมรสชาติไม่ลง มักเป็นอาหารที่ใส่ใจและใส่ความสุขของคนคนทำลงไปด้วยอย่างดี 

“ตลอด 30 ปีของการทำร้านอาหารมา มันสอนให้เรามีสติและรู้สึกขอบคุณที่เราเกิดมาเป็นลูกอีสาน เพราะมันทำให้เรารู้จักรสชาติอาหารอีสาน มันทำให้เราทำอาหารอีสานเป็น และจนตอนนี้เราทำให้อาหารอีสานโด่งดังให้กับประเทศได้ แถมยังเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปทั่วโลกได้ แต่การจะไปถึงขั้นนั้นได้ ระหว่างทางเราต้องมีสติกับทุกเรื่องที่เข้ามาในชีวิตเสมอครับ” กัญจณ์อธิบายก่อนเอ๊ะจะเสริมต่อ

“สำหรับเรา เรามาทำงานกับพี่กัญจณ์ตั้งแต่ตอนที่แต่งงานกันก็เข้าปีที่ 17 แล้วที่ทำร้านอาหารด้วยกัน เรารู้สึกว่าอาชีพร้านอาหารทำให้เราสามารถทำงานโดยที่สร้างความสุขให้ตัวเอง  และสร้างความสุขให้คนอื่นไปด้วยกันได้ และมันเป็นอาชีพที่เราพัฒนาต่อได้โดยไม่มีวันจบ มันเพิ่มคุณค่าให้ทั้งกับตัวเราเองแล้วก็โลกใบนี้ เมื่อเรามีความสุขกับสิ่งที่อยู่ ไม่ว่าปัญหาอะไรจะมา เราก็ไม่มองสิ่งนั้นคือปัญหา แต่เรามองว่ามันเป็นความท้าทาย เพื่อให้เราก้าวเข้าไปได้ สุดท้ายแล้วชีวิตมันจะมีความสำเร็จรออยู่ข้างหน้าจริงๆ ค่ะ”

Contributors

เด็กมนุษย์ฯ ผู้ชื่นชอบการออกไปเดินเที่ยวคนเดียว เอนจอยกับการเต้นและการกิน ปัจจุบันกำลังพยายามใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่

ผู้ที่ชื่นชอบการ Backpack เที่ยวคนเดียวพร้อมกับกล้องคู่ใจ ออกเดินทางเพื่อตามหาสถานที่และมิตรภาพใหม่ๆ