เราเคยคุยกับคนที่หลีกหนีจากเมืองกรุง แล้วกลับบ้านเกิดมาทำอะไรดีๆ อยู่บ่อยครั้ง

และในวันนี้เราก็ได้มาคุยกับผู้กลับบ้านอีกคน ที่ได้หวนมาแต่งแต้มสีสันเล็กๆ ให้กับเมืองนครศรีธรรมราช 

นิ่ม-แก้วตระการ จุลบล เป็นศิลปิน และผู้ประกอบการสีดินสตูดิโอค่ะ”

เรากล่าวทักทายกันก่อนที่จะพูดคุยกับผู้กลับบ้านคนนี้ให้มากขึ้น เพราะการกลับบ้านของนิ่มในครั้งนี้ เธอกลับมาพร้อมกับแพสชันที่อยากให้เมืองนครได้เข้าถึงโลกของศิลปะมากยิ่งขึ้น

โดยความตั้งใจนั้นทำให้นิ่มตัดสินใจเปิด See-din Studio หรือ สีดินสตูดิโอ พื้นที่สอนศิลปะแห่งใหม่ในย่านท่าวัง-ท่ามอญ ใจกลางอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสตูดิโอสอนศิลปะเล็กๆ ที่สอนเจาะกลุ่มเด็กๆ โดยเฉพาะ 

สีดินสตูดิโอที่แรกตั้งอยู่ที่อำเภอพรหมคีรี อันเป็นบ้านโดยกำเนิดของคุณนิ่ม สตูดิโอนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่ทำงานศิลปะของเธอเอง และยังพร้อมเป็นพื้นที่ต้อนรับนักเรียนที่สนใจมาทัศนศึกษาที่นี่ด้วย หลังจากนั้นจึงได้เปิดสีดินสตูดิโอแห่งที่สองที่ท่าวัง-ท่ามอญ สตูดิโอสอนศิลปะสำหรับเด็กๆ นครฯ ซึ่งเป็นที่ที่เราได้มานั่งคุยกับเธอในวันนี้

เรานั่งคุยกับเธอตั้งแต่เส้นทางการกลับมาเปิดสตูดิโอศิลปะ ณ บ้านเกิด คุยเรื่องการนำพาศิลปะเข้ามาอยู่ในเมืองที่ผู้คนต่างสนใจด้านวิชาการมากกว่า จนไปถึงบทสนทนาที่นิ่มอยากเห็นสีดินสตูดิโอเป็นส่วนเล็กๆ ในการสร้างเฉดสีใหม่ให้เมืองนครศรีธรรมราชน่าสนุกขึ้น 

เราจึงอยากชวนมาดูมุมมองของนิ่มผู้พาศิลปะมาสร้างสิ่งใหม่ให้บ้านเกิด และค่อยๆ ชุบเมืองที่หยุดนิ่งให้กลับมามีสีสันมากขึ้นไปด้วยกัน

จากเขตพระนคร สู่ นครศรีฯ

เรานั่งอยู่ที่ชั้นหนึ่งของบ้านที่มีลมพัดผ่านอยู่ตลอดเวลา ก่อนจะถามคำถามสุดธรรมดา ด้วยการขอให้นิ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปิดสตูดิโอนี้

“จริงๆ เราเรียนจบด้านศิลปะ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วก็ได้มาเปิดร้านอาหารร้านบาร์ด้วยกันกับพี่เจมส์ (แฟน) ที่กรุงเทพฯ แต่สุดท้ายก็รู้สึกอิ่มตัวกับการใช้ชีวิตที่นี่ เพราะเริ่มรู้สึกว่าอยากมีครอบครัวแล้ว แล้วเรามองว่ามีลูกอยู่ต่างจังหวัด คงเป็นอะไรที่ตอบโจทย์เรามากกว่า  ก็เลยมีความคิดอยากย้ายกลับมาอยู่นครฯ ไปพร้อมๆ กับการทำศิลปะอย่างจริงจังด้วย”

ร้านบาร์ที่นิ่มและเจมส์เปิดที่กรุงเทพฯ ชื่อว่าหลังแรกบาร์ ได้ชื่อนี้มาเพราะที่นั่นเป็นบ้านหลังแรกในเขตพระนคร หลายคนอาจจะเคยไปที่คาเฟ่บ้านขนมปังขิงกันอยู่บ้าง ซึ่งหลังแรกบาร์ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับบ้านขนมปังขิงเลย 

“นอกจากเป็นบาร์และร้านอาหาร เราก็เปิดร้านเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการให้ศิลปินด้วย โดยเฉพาะศิลปินนอกกระแสที่ยังไม่ได้รับความนิยมมากมาย เพราะพวกเขาก็อยากมีพื้นที่แสดงงานเป็นของตัวเองบ้าง เราจัดเป็นพื้นที่กึ่ง Alternative Space คือเป็นพื้นที่ทางเลือกที่ทำได้ทั้งศิลปะทั้งดนตรีด้วย อย่างวงดนตรีที่เขาเคยมาเล่นก็มี Desktop Error, Selina and Sirinya หรืออย่างอารักษ์อาภากาศ ส่วนงานศิลปะก้จัดเวียนกันเป็นเดือนๆ ไปค่ะ จะจัดเป็นเดี่ยวหรือเป็นนิทรรศการแบบกลุ่มก็ได้”

ยิ่งได้เห็นเหล่าศิลปินได้มีพื้นที่แสดงงานของตัวเองในหลังแรกบาร์ นิ่มยิ่งตระหนักในตัวเองได้ว่า เธอเองก็อยากจะมีพื้นที่เป็นตัวตนของเธอเองจริงๆ เสียทีเช่นกัน

“พอเรารู้สึกอยากทำงานที่เป็นตัวเอง เพื่อนเลยได้จังหวะชวนไป Residency (ศิลปินในพำนัก) ที่เซอร์เบียอยู่ประมาณสองเดือน เพื่อสำรวจตัวเองว่าเราต้องการอะไรกันแน่ เพื่อลองดูว่าถ้าเราได้ทำงานศิลปะอีกครั้ง มันจะเป็นยังไงถ้าเราไม่ทำร้านนี้อีกแล้ว เรากับเพื่อนก็แบกเป้แบกเฟรมไปวาดรูปตามข้างทาง ไปสเก็ตช์ภาพ แล้วเรารู้สึกว่าพอเราได้กลับมาทำงานศิลปะหลังจากที่ไม่ได้กลับมานานแล้ว มันสนุก มันแฮปปี้เพราะเราได้เจอคนมากมายและได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ และเรารู้สึกว่าเราทิ้งมันไปไม่ได้เลยเพราะนี่มันคือตัวตนของเราเอง”

นิ่มเล่าให้เราฟังว่าจริงๆ แล้วพ่อของเธอเป็นครูสอนศิลปะ เธอเองก็เรียนศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ดังนั้นศิลปะจึงเป็นสิ่งที่แยกจากชีวิตของนิ่มไม่ได้เลย และเมื่อมันแยกออกจากความเป็นเธอไม่ได้ การเลือกกลับมาทำงานศิลปะที่บ้านเกิด จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตของนิ่ม

เราลองถามว่าการจะเปิดสตูดิโอศิลปะของตัวเองสักตั้ง ต้องเริ่มต้นด้วยอะไรบ้าง เธอให้คำตอบตรงๆ กับเราอย่างไม่อ้อมค้อม

“เริ่มตั้งแต่วันแรกก็ต้องมีเงินก่อนนะ (หัวเราะ) เรามีเงินก้อนหนึ่งจากการทำร้าน เราก็วางแผนว่าจะทำยังไงดีให้พื้นที่นี้ได้ใช้ประโยชน์ เพราะการมาตั้งสตูดิโอที่ต่างจังหวัดบริบทก็จะต่างจากกรุงเทพฯ เพราะอย่างของกรุงเทพฯ ศิลปะเป็นสิ่งที่จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ถ้าคุณเจ๋ง แต่ถ้าเป็นที่นครฯ เราต้องทำพลังให้มากกว่านั้น ซึ่งเราวางแผนกันอยู่นานพอสมควรเหมือนกัน เพราะเรามองว่าในต่างจังหวัดมันเหมาะกับคนที่อยากทำงานศิลปะที่เงียบสงบ ได้อยู่กับตัวเองด้วย ดังนั้นเราคิดว่าพื้นที่ที่เราจะทำควรมีกิจกรรมแบบไหนดี ที่นครเหมาะกับกิจกรรมสำหรับใครบ้าง แล้วเรื่องเงินที่จะทำให้ที่นี่มันไปต่อได้ เราต้องคิดเงินแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับที่นี่ด้วย”

บ้านของเด็กสายศิลป์

จากที่กองบรรณาธิการ Rhythm กระเตงกันไปที่นครศรีธรรมราชเกือบหนึ่งอาทิตย์ เราได้ฟังคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ที่นั่นหลายคนว่า เมืองนี้คือเมืองที่คนทำงานกันหนักและยังจริงจังในด้านวิชาการมากด้วย เราเลยสงสัยว่าแล้วทำไมนิ่มถึงมองว่าสตูดิโอศิลปะแบบนี้จะเหมาะกับเด็กๆ ที่นี่

“เมื่อก่อนเราเรียนที่นคร แล้วก็ไปอยู่กรุงเทพมานานเกือบ 10 ปี พอเรากลับมาอยู่ที่นี่อีกครั้ง เรามาได้เดินมายืนดูตามที่ต่างๆ ได้กลับมาสัมผัสกิจกรรมภายในจังหวัดก่อน เบื้องต้นว่าเรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วนครฯ ที่เราจากไปยังเป็นนครฯ แบบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่า ถ้าคนอยากจะให้คนรู้จักศิลปะมากขึ้น ก็คงต้องเริ่มจากเด็ก ต้องปลูกฝัง ชุดความคิดที่ดีสำหรับศิลปะให้กับเด็กก่อน”

“เพราะคนเรามักจะตั้งคำถามเสมอว่า ศิลปะมันจะแพงได้ยังไง ทำไมศิลปะต้องราคาแพง แล้วทำไมต้องให้ลูกมาจ่ายเงินกับสิ่งนี้ด้วย ซึ่งเราก็รู้สึกว่า มันขึ้นอยู่กับ Mind Set ของผู้ปกครองเหมือนกัน แต่เราเปลี่ยนผู้ปกครองไม่ได้ เราเลยต้องเปลี่ยนกับเด็กที่สามารถพัฒนาและปลูกฝังได้ ให้เขาเข้าใจว่าความจริงแล้วศิลปะคือสิ่งสำคัญในชีวิต และมันอยู่รอบตัวเราทั้งหมดเลย ถ้าจะให้เด็กรักศิลปะและไม่อยากให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ตั้งคำถามว่าทำไมศิลปะต้องแพงขนาดนี้  เราก็ต้องมาปลูกฝังให้เขาตั้งแต่เด็ก เพื่อเขาเห็นคุณค่าและไม่ต่อต้านศิลปะ”

แม้วงการศิลปะจะเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นในกลุ่มผู้ปกครอง แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับการโน้มน้าวใจให้ผู้ปกครองเห็นว่า ศิลปะไม่ใช่เป็นแค่งานอดิเรกจริงๆ

“เราสื่อสารในเรื่องของประสบการณ์ของเราเลย เพราะตั้งแต่เด็กแม่ปล่อยให้เราทำงานศิลปะเต็มที่ เราเลยมองว่าศิลปะมันควรอยู่กับทุกคน ศิลปะเป็นสิ่งที่เปิดกว้างหลายๆ แบบ เรามองว่าสิ่งที่เราสื่อสารออกไปผ่านศิลปะ มันไม่ใช่สิ่งที่เรารู้สึกคนเดียว ซึ่งพอเราสื่อสารออกไป ผู้ปกครองที่เขาเห็นแบบเดียวกันกับเราก็มีเพราะผู้ปกครองบางกลุ่มเขาไม่ใช่สายวิชาการแบบเราเหมือนกัน

“ต้องบอกให้เข้าใจก่อนว่านครเป็นเมืองทฤษฎี เป็นเมืองวิชาการ คนจะสนใจในเรื่องนั้นมากกว่า ดังนั้นศิลปะห่างออกไปจากผู้คน บริบทต่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น และอาชีพก็จะมีเฉพาะๆ ทางตามเขาคาดหวังและตั้งใจว่าอยากให้ลูกเขาเป็น ซึ่งศิลปะแทบจะเป็นวิชาหลังๆ ที่เขาจะเลือก เราเลยพยายามสื่อสารกับผู้ปกครองทั้งการพูดคุยตัวต่อตัว และผ่านเพจเฟซบุ๊กด้วยว่า เราสอนแบบไหน ซึ่งเราไม่ได้สอนแบบคนอื่น เช่น การบังคับว่าต้องมีรูปมาแล้วต้องวาดตามลงบนกระดาษ ห้ามออกนอกกระดาษ เราไม่ได้สอนแบบนั้น”

นิ่มไม่ได้มีรูปแบบตายตัวว่าเด็กๆ ที่มาเรียนต้องทำศิลปะแบบไหน แต่เธอเลือกที่จะถามเด็กๆ ก่อนว่าอยากทำอะไร ชื่นชอบการทำศิลปะแบบไหน เพราะเธอย้ำกับเราว่า ศิลปะคือความปัจเจกอันเป็นความชอบส่วนบุคคล และนิ่มเชื่อว่าการที่ผู้ปกครองเข้าใจมากขึ้นว่าศิลปะคืออะไรและสำคัญยังไง เป็นสิ่งที่ช่วยให้ศิลปะมีพลังมากขึ้นในบ้านเกิดของเธอ

“คอร์สที่เราเปิดสอนอยู่ตอนนี้ก็เป็นคอร์สศิลปะทั่วไปเลยค่ะ แต่เราจะสอนเหมือนเรียนตัวต่อตัว เพราะงานแต่ละคนจะทำไม่เหมือนกัน เราแบ่งตามระดับอายุและแบ่งคอร์สตามความสนใจ เราไม่จะไม่ให้เด็กมานั่งเรียนปะปนกัน ซึ่งระยะเวลาของแต่ละคอร์สก็แล้วแต่คอร์สด้วย อย่างถ้าเป็นคอร์สระยะยาวก็ัเป็น ห้าครั้งแปดครั้ง และจะมีช่วงปิดเทอม ที่เราจัด Art Camp ขึ้นมา ห้าวันติดต่อกันไรงี้ สลับสับเปลี่ยนกันไป”

เรียกได้ว่าคอร์สทุกคอร์สของนิ่มได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อยเลย เพราะเด็กๆ ที่เรียนที่นี่ ไม่เพียงแค่สร้างสรรค์งานภาพหรือระบายสีเพียงเท่านั้น แต่ยังทำผลงานศิลปะเป็นงานประดิษฐ์ขึ้นมาเองได้ตามใจชอบ แต่ถ้าหากเป็นเด็กที่อายุ 13-18 ปี วิธีการสอนก็จะต้องลงลึกเรื่องทักษะขึ้นมาหน่อยตามระดับความรู้ความสามารถของเด็กๆ ยิ่งไปกว่าคอร์สเรียนทั่วไปแล้ว นิ่มยังจัด Art Camp สำหรับเด็กๆ ในช่วงปิดเทอมด้วย ซึ่งจะจัดติดต่อกัน 5 วัน แต่ละวันก็จะมีโปรแกรมไม่เหมือนว่าในแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง

“ครั้งที่แล้วก็จัดเป็นคอร์สแวนโกะ ตอนเช้าจะพาเด็กๆ เรียนรู้ประวัติของแวนโก๊ะ พาวาดรูปประวัติหรือวาดหน้าแวนโก๊ะ และในวันที่ 2-4 คืองานปั้นงานลงสีต่างๆ ลงบนกระดาษบ้าง ลงบนกระเป๋าบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป ส่วนช่วงบ่ายจะมีพี่ฝนเขามาทำขนมให้ พาเด็กๆ มาแต่งหน้าขนม หน้าเค้กเป็นรูป The Starry Night รูป Sunflower เราอยากแบ่งให้ตอนเช้าเป็นการเรียนทักษะศิลปะล้วนๆ ส่วนตอนบ่ายจะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เรารู้สึกว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราทุกอย่างจริงๆ”

พี่ฝน หรือ แม่ฝนที่คุณนิ่มกล่าวถึง เป็นคุณแม่ที่อยู่ในแวดวงการเลี้ยงลูกโฮมสคูล ซึ่งนิ่มเองก็เลี้ยงลูกแบบโฮมสคูลเช่นกัน การเลี้ยงลูกสไตล์โฮมสคูลจึงทำให้พวกเธอได้มาเจอกัน และได้ร่วมกันสร้างพื้นที่นี้ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของเด็กๆ เมืองนคร ซึ่งนอกจากคอร์สเรียนแล้ว นิ่มยังเพิ่มกิจกรรมแสนสนุกเข้าไปให้กับสีดินสตูดิโออีก กิจกรรมนั้นคือ ตลาดเด็ก หรือ See-Din Kids Craft Market  

ตลาดที่จัดขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้ลองมาขายของ หาสินค้า และตั้งราคามาตั้งหน้าร้านกันเอง รวมทั้งยังมีการขายของที่ประดิษฐ์หรือวาดจากฝีมือเด็กๆ เอง มีทั้งการขายของเล่นหรือของใช้ส่วนตัวของตัวเอง รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเวิร์กชอปของเด็กๆ ด้วย “เรามีจัดตลาดเด็กทุกอาทิตย์ที่สามของเดือน ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่โฮมสคูลจะพาเด็กๆ มาทำกิจกรรมเป็นพ่อค้าแม่ค้าแม่ขายกัน เราทำตลาดนี้ขึ้นมาเพราะอยากให้ลูกได้เรียนรู้ถึงเรื่องของ การใช้เงิน เพราะการให้เงินลูกไปซื้อขนมเฉยๆ มันก็คงง่ายไปแล้ว เราเลยคุยกับแม่ฝนว่า แม่ฝนเองก็อยากจะให้ลูกเรียนรู้เรื่องเงินเหมือนกัน แต่ไม่ได้ถึงขั้นว่าลงลึกถึงเรื่องธุรกิจหรอก เพราะเราไม่รู้ว่าต่อไปลูกจะเป็นนักธุรกิจหรือเปล่า อยากให้เด็กๆ จะได้รู้จักค่าของเงินไม่มากก็น้อย เพราะเด็กๆ จะได้เห็นวิธีการได้มาของเงินตั้งแต่การมาเฝ้าร้าน การมาจัดร้าน การคิดหาของมาวางขายด้วย

“แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ก็ต้องมานั่งคุยกับลูกว่าเขาอยากขายอะไร และสิ่งที่ลูกอยากขายก็ต้องเป็นสิ่งที่คนอยากจะซื้อด้วยนะ ต้องเป็นสิ่งที่ลูกตั้งใจอยากจะขายด้วยนะ อย่างบางคนเอาของเล่นของตัวเองมาขาย นั่นอยู่ในจุดที่เด็กๆ ต้องตัดใจแล้ว เพราะมันเป็นของรักของหวง เด็กๆ ต้องมั่นใจว่า พอไปตั้งขายและมีคนมาซื้อ เด็กๆ จะต้องไม่อยากเอาคืนนะ ดังนั้นมันเลยมีเรื่องของจิตใจเข้ามาเกี่ยวพอสมควรด้วย เราเลยมองว่างานกิจกรรมแบบนี้คือการแตกแขนงของความคิดเหมือนกันว่า เด็กๆ จะจัดการกับสิ่งที่คิดยังไง ก็เลยเกิดตลาดขึ้นค่ะ”

แม้ว่าจะต้องคิดและจัดหาสินค้ามาขายกันเอง แต่ในเรื่องการตั้งราคา พ่อแม่จะเป็นผู้ช่วยให้เด็กๆ อยู่ เพราะเรื่องการเงินคือเรื่องที่ต้องค่อยๆ สอนและเรียนรู้กันไป ซึ่งตอนนี้ตลาดเด็กก็เริ่มคับคั่ง มีคุณพ่อคุณแม่มาร่วมแจมตลาดนี้ 20-30 บ้านเลยทีเดียว กลายเป็นว่าเมืองที่เดิมทีมีความวิชาการอยู่มากในตัว ตอนนี้กลับเริ่มมีสีสันอื่นๆ เข้ามาให้เหล่าผู้ปกครองเปิดใจได้มากขึ้นแล้ว

“สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้คือ นครที่เราเคยจากไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วมันไม่เคยมีสิ่งนี้ แต่การกลับมาครั้งนี้เราคิดว่าเราพอมีกำลัง และรู้สึกว่าเรามีพื้นที่แล้ว ตอนนี้เองเราก็ได้เห็นเด็กจะเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคตแล้ว เราได้เห็นพัฒนาการในการคิดของเด็กจากกิจกรรมทุกอย่างของที่นี่ ซึ่งไม่ว่าจะวัยไหนเขาก็มีลำดับขั้นของการเติบโต เพราะฉะนั้นเวลาเรามองเด็กแล้วมันทำให้ได้พลังมากขึ้นเสมอจริงๆ”

เมล็ดพันธุ์ของเมืองคอน

กลายเป็นว่าในตอนนี้ การนำพาศิลปะกลับมาบ้านเกิดของนิ่ม ไม่เพียงแต่ทำให้เธอได้อยู่กับศิลปะที่เธอรัก แต่เธอยังได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ให้กับเมืองนครศรีธรรมราช และได้เป็นหนึ่งในผู้ปลูกฝังให้เด็กๆ ของที่นี่ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

“เวลาที่เราเห็นชิ้นงานของเด็กๆ นิ่มรู้สึกว่าความแตกต่างมันมีสำหรับทุกคนจริงๆ เพราะมุมมองในเรื่องต่างๆ ที่ของเด็กกับผู้ใหญ่มันต่างกัน วิธีการเล่าเรื่องมันก็ต่างกันชัดเจน ได้ซึ่งเราเคารพในทุกความต่างของแต่ละคน เพราะทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นงานศิลปะที่ออกมาก็คงต้องไม่เหมือนกันด้วย เราจะไปบอกว่าเหมือนเราเป็นกล้องถ่ายรูปก็ไม่ได้ เราสื่อสารแบบมนุษย์ เราเป็นมนุษย์ เรารู้สึกว่ามันถูกต้องแล้วที่คนอื่นจะทำไม่เหมือนเรา เพียงแค่เราจะยอมรับในความต่างนั้นไหมก็เท่านั้นเอง นิ่มเลยรู้สึกว่าเด็กๆ มีความแตกต่าง และเรายอมรับในความต่างของเด็กๆ ทุกคนด้วย”

ก่อนหน้านี้เราได้ถามถึงที่มาของชื่อ สีดินสตูดิโอ (See-din Studio) ว่าอะไรทำให้ตั้งชื่อนี้ นิ่มอธิบายให้ฟังว่า “สี” เป็นตัวแทนของศิลปะ ส่วน “ดิน” เป็นตัวแทนของธรรมชาติ เพราะเธอเชื่อว่าศิลปะคือธรรมชาติ และธรรมชาติก็คือศิลปะเช่นกัน แต่ถึงสีดินยังมีอีกความหมายสำคัญที่นิ่มตั้งใจจะสื่อถึงด้วย

“คำว่าสีดินในภาษาอังกฤษ (See-din) ถ้าเขียนแยกตัว D ออกมา มันจะอ่านว่า Seed-in แปลว่าเมล็ดพันธ์ข้างใน เพราะเราต้องจะสื่อว่า เราอยากบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ของนครฯ ซึ่งเมล็ดพันธ์นั้นมันหมายถึงเด็กๆ ด้วยการปลูกฝังแนวคิดเรื่องการรักศิลปะในแบบที่เป็นตัวเขา เป็นศิลปะที่ไม่เปลี่ยนตัวตนของเขาไป”

ตั้งแต่คุยกันมา นิ่มมักพูดถึงทั้งเรื่องการเคารพความแตกต่าง การแสดงตัวตนผ่านงานศิลปะ จนไปถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตและสังคมด้วยงานศิลปะ เราเลยลองถามนิ่มดูว่าศิลปะมีอิทธิพลกับชีวิตของนิ่มมากแค่ไหน

“ศิลปะมีอิทธิพลกับเราเลยค่ะ เพราะเรารู้สึกว่ามันคือชีวิตเราจริงๆ เราเคยลองคิดว่าทำไมแม่ถึงปล่อยให้เราทำงานศิลปะ แต่ก็ได้คำตอบว่าแม่คงเห็นความต่างสำหรับเรา แม่อาจจะไม่รู้หรอกว่าพอคลอดเราออกมาแล้ว เราจะเป็นศิลปินแบบนี้ไหม แต่แม่ก็ให้เราได้เห็นและสัมผัสกับศิลปะมาตลอดจริงๆ นิ่มเลยรู้สึกจริงๆ ว่า ความเป็นศิลปะมันอยู่ในทุกคน ขนาดหน้าตาเราทุกคนยังไม่เหมือนกันเลย ตั้งแต่เรื่องศิลปะการใช้ชีวิต ศิลปะการแต่งตัว ศิลปะการทำอาหาร หรือไลฟ์สไตล์ ทุกอย่างมันคือศิลปะที่ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราว่ามวลทุกอย่างของชีวิตคนเราล้วนเป็นศิลปะไปหมดเลย”

เมื่อศิลปะคือชีวิต นิ่มจึงอยากให้คนนครฯ หันกลับมาเข้าใจศิลปะในตัวเองให้มากยิ่งขึ้น เพราะอย่างที่นิ่มเคยเล่าให้เราฟังไปว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองแห่งวิชาการ เป็นเมืองที่ไม่ได้หวือหวาหรือกระฉับกระเฉง นิ่มจึงอยากเดิมความสนุกและสีสันตรงนั้นเข้าไปให้เมืองคอนมากขึ้น เพิ่มกิจกรรมให้คนนครฯ ได้ทำสิ่งที่น่าสนุกมากขึ้น และให้นักท่องเที่ยวได้มีตัวเลือกในท่องเที่ยวได้มากกว่าการไปเที่ยวชมธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เราเลยลองถามต่อว่า นิ่มเห็นว่าการกลับบ้านในครั้งนี้ของนิ่ม ถือเป็นการเปลี่ยนภาพเมืองคอนเมื่อ 20 ปีก่อนได้บ้างไหม

“นิ่มว่าก็คิดว่าเปลี่ยนนะ และจริงๆ ก็อาจจะมีคนที่ทำอะไรบางอย่างแล้วเปลี่ยนเมืองคอนอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่มีแค่เรา แต่เราแค่รู้สึกว่าอยากทำให้นครไม่ดูจืดชืด แม้ว่าเราจะอยู่กรุงเทพฯ มานาน แต่เราไม่ได้อยากเอาความเป็นกรุงเทพฯ มาใส่ที่นี่หรอก กลับกันคือเราอยากจะชูความเป็นนครฯ ที่ยังคงสนุกสนานได้ เป็นนครฯ ที่มันมีชีวิตชีวามากขึ้น แล้วถ้าเราไม่ทำสิ่งเหล่านี้เราคงเสียดายมาก บางอย่างอาจจะเปลี่ยนไม่ได้ทั้งหมด แต่เราเชื่อว่ามีแรงกระเพื่อมบางอย่างเกิดขึ้น เราอาจจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ไม่ได้ใหญ่มาก คงเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ก็มีส่วนในการพาเมืองนครฯ ไปอยู่ในจุดแตกต่างขึ้นได้”

นิ่มพูดถึงสีสันและความมีชีวิตชีวาของนครศรีธรรมราชอยู่บ่อยครั้ง เราเลยลองถามดูว่า ถ้าเปรียบเทียบนครศรีธรรมราชเป็นโทนสีต่างๆ เมืองคอนฯ ควรเป็นสีโทนไหนดี

“เมื่อก่อนน่าจะเป็นโทนสีอิฐ ส่วนนครฯ ในตอนนี้สำหรับเราเองก็อาจจะเป็นสีคู่ขัดแย้ง ที่พอมาอยู่คู่กันแล้วมันลงตัวกันได้ เช่นสีเหลืองกับสีม่วง ซึ่งเป็นสีคู่ขัดแย้งกัน แต่อยู่กันแล้วลงตัว อย่างม่วงกับเหลืองก็เป็นสีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่แล้วด้วย แต่จะเป็นสีที่ทำให้นครฯ มีความชัดเจนขึ้น สมัยใหม่ขึ้น และสีม่วงไม่ได้เป็นม่วงทึมๆ ด้วย เราคิดแบบนี้ เพราะตอนนี้นครฯ มีความใหม่ขึ้น แต่ไม่ได้ใหม่แบบพุ่งทยาน เราก็ค่อยเป็นค่อยไปกันเอา”

ไม่เพียงแต่เมืองนครฯ ที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่สีดินสตูดิโอเองก็ต้องค่อยๆ เติบโตเช่นเดียวกัน

“สีดินเองก็มีแผนจะขยับขยายสตูดิโอของฝั่งพรหมคีรี เพราะจริงๆ นิ่มอยากทำสตูยางพาราโดยเฉพาะ ตอนนี้ก็อยากให้เป็นในชื่อ The Rubber Paradoxii เราทำเกี่ยวกับยางพารา แต่ตามด้วยคำว่า Paradoxii เพราะอยากสื่อถึงความย้อนแย้งในตัวเองของความเป็นคนใต้ด้วย เพราะเราอยากจะสื่อว่า แม้ว่าคนใต้จะดูหน้าดุ แต่เราก็มีความจริงใจและเท่ในแบบของเราถ้าทุกคนได้มาสัมผัสจริงๆ อีกอย่างคือเราโตมาด้วยการที่ปู่ย่าตายาย และพ่อแม่ทำสวนยางพาราเพื่อเลี้ยงเรามา และพรหมคีรีตอบโจทย์ในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่รายล้อมด้วยต้นยางพาราด้วย”

“สิ่งที่ตั้งใจจะทำคือเราอยากเอายางพาราไปต่อยอดด้วยงานอาร์ต เราอยากจะชุบชีวิตยางพาราโดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมัน ตอนนี้ยางพาราคือราคาตกต่ำ เราเลยมองว่าจริงๆ แล้วยางพาราควรถูกเอามาต่อยอดได้ ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้เป็นงานธีสิสที่เคยทำตั้งแต่เรียนศิลปากรแล้ว เรามีแพสชั่นที่อยากจะพัฒนายางพาราให้จับต้องได้มากขึ้น ยืดอายุของมันได้โดยที่ยังเป็นงานอาร์ตด้วย 

เรียกได้ว่าการกลับมาอยู่บ้านครั้งนี้ นิ่มได้อยู่ทำเต็มที่ในหลายบทบาทตั้งแต่การเป็นศิลปิน การเป็นครูศิลปะจนไปถึงการเป็นผู้ประกอบการด้วย และเราเชื่อว่าในอนาคตนิ่มจะได้รับบทบาทใหม่ๆ เพิ่มขึ้นไปยิ่งกว่านี้

“ในอนาคตสีดินสตูดิโอก็คงยังมีอยู่ อยากให้ที่นี่เป็นที่เอาไว้ปลูกฝังเด็กๆ ถ้าจะขยับขยายต่อ ก็ยังต้องเป็นในแนวของสีดินเหมือนเดิม สีดินก็ยังคงเป็นสีดินที่ชัดเจนในแบบของมัน แล้วเราก็อยากชัดเจนในตัวของเราไปด้วย”

คุยกันมาถึงตรงนี้ เราเชื่อว่าทุกคนสัมผัสได้ถึงความจริงใจและความตั้งใจของนิ่มที่มีให้กับเด็กๆ ของสีดินสตูดิโอ แม้ว่าสีดินสตูดิโอ ณ ท่าวัง-ท่ามอญแห่งนี้จะเปิดมาได้เพียง 2 ปี แต่ที่นี่ก็ได้ให้บทเรียนเตือนใจเธออยู่ข้อหนึ่ง

“สีดินสอนให้นิ่มรู้ว่า ศิลปะทำให้เรารู้ชีวิตจริงๆ เพราะก่อนหน้านี้สีดินสตูดิโอเจอมาหลายรูปแบบแล้ว อย่างช่วงก่อนที่เริ่มสร้างสตูดิโอ ช่วงนั้นเจอโควิดพอดี หลายๆ อย่างมันเปลี่ยนแปลงไปไวมาก ซึ่งมันทำให้เรารู้ว่า ทุกอย่างมีขึ้นมีลง มีปรับเปลี่ยน มีเปลี่ยนแปลง แต่ยังไงเราก็ไม่ล้มเลิกที่จะทำมัน เพราะสีดินสตูดิโอเปรียบเสมือนลูกของเราคนหนึ่ง และสีดินมันมีเราอยู่ในนั้น และเราเชื่อว่ามันจะค่อยๆ เติบโตไปในแบบที่ควรจะเป็นได้ค่ะ”

Contributors

Contributors

เด็กมนุษย์ฯ ผู้ชื่นชอบการออกไปเดินเที่ยวคนเดียว เอนจอยกับการเต้นและการกิน ปัจจุบันกำลังพยายามใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด