ลองคิดเล่น ๆ ว่าหากตอนช่วงปลายของยุค 90s วันหนึ่ง มีคนเดินมาบอกคุณว่านักแสดงอย่าง แบรนแดน เฟรเซอร์ ที่กำลังโด่งดังในบทไอ้หนุ่มฟัดมัมมี่พันปีที่คืนชีพขึ้นมาโดยบังเอิญ, ซือเจ๊อย่าง มิเชลล์ โหยว ที่เพิ่งออกลายบู๊สนั่นจอกับการเป็นสาวบอนด์เลือดเอเชียใน Tomorrow Never Dies (1997), คี ฮุย ควอน เด็กชายสายเลือดเอเชียคนหนึ่งที่ผู้คนคุ้นหน้ากับบทเด็กชายที่ติดตาม อินเดียนา โจนส์ ในการผจญภัยถล่มวิหารเจ้าแม่กาลี ที่ทุกคนจำชื่อไม่ค่อยได้ หรือ หญิงสาวที่เป็นไม้เบื่อไม่เมากับฆาตกรชื่อดังอย่าง ไมเคิล เมเยอร์ ในหนังสยองขวัญในตำนานอย่าง Halloween (1978) อย่าง เจมี ลี เคอร์ติส ว่าทั้งสี่คนนี้ จะคว้าออสการ์ได้ในสักวันหนึ่ง
มันก็คงเป็นมุกตลกขบขันที่เราคงหันมองหน้าและหัวเราะแบบขื่น ๆ พลางคิดในหัวว่าไอ้นี่ท่าจะบ้าแน่ ๆ
ใครจะไปคิดว่าในอีกราว ๆ ยี่สิบปีต่อมา เรื่องราวนั้นจะเกิดขึ้นจริง ในจังหวะชีวิตที่แปลกและไม่น่าเชื่อ นักแสดงทั้งสี่คนที่กล่าวมาคว้าออสการ์ครั้งนี้ได้สำเร็จในค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นักแสดงทั้งสี่คนไม่เคยอยู่ในสารบบที่ดูจะข้องแวะกับรางวัลออสการ์เลยแม้แต่น้อย ทั้งสี่คนไม่ได้มีสถานะเป็นนักแสดงยอดฝีมือที่รอบทที่ส่งให้เขาได้ออสการ์เหมือนคนอื่น ๆ ที่เราจะไม่ประหลาดใจหากเขาคนนั้นจะคว้าออสการ์ได้สักวันหนึ่ง อาทิเช่น เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบต, แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ หรือ ไรอัน กอสลิ่ง หากเป็นนักแสดงหญิงก็เช่น มาร์โกต ร็อบบี้, เซียร์ชา โรแนน หรือ แครี มัลลิแกน
แต่กับนักแสดงทั้งสี่คนนี้ บางคนหายจากสถานะนักแสดงที่มีชื่อเสียงไปแล้ว บางคนห่างหายจากการแสดงไปถึง 20 ปี บางคนถึงวัยปลดระวาง ที่ตลอดอาชีพไม่เคยเฉียดเข้าใกล้ออสการ์เลยสักครั้ง… แต่ท้ายสุด ความฝันของทั้งสี่ก็เป็นจริงในค่ำคืนที่ Dolby Theatre
ทั้งหมดนั้น จึงนับเป็นออสการ์ครั้งที่น่าสนใจทีเดียวโดยเฉพาะในสาขารางวัลนักแสดงที่ต้องบอกว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยนัก และควรค่าแก่การบันทึกเอาไว้เป็นความทรงจำ และแน่นอนว่ามันควรที่จะรวมไปถึงเรื่องราวชีวิตของนักแสดงทั้งสี่คนด้วย

เจมี ลี เคอร์ติส
ผู้ชนะสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
จากภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once

ภาพ: CNN
อาจบอกได้ว่าเจมีคือเด็กที่เกิดมาเพื่อเป็นนักแสดงอย่างแท้จริง เพราะพ่อแม่ของเธอคือ โทนี เคอร์ติส และ เจเน็ต ลีห์ ซึ่งต่างก็เป็นนักแสดงชื่อดังในช่วงยุค 50 – 60 ทั้งคู่
โดยเจมีได้เริ่มเส้นทางนักแสดงของตัวเองด้วยการเล่นบทตัวประกอบในทีวีซีรีส์ในช่วงแรก จนกระทั่งได้แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการในบท ลอรี สโตรด พี่เลี้ยงเด็กที่ต้องหนีการตามล่าของไมเคิล เมเยอร์ ฆาตกรโหดจาก Halloween ซึ่งมันกลายเป็นหนังสยองขวัญที่โด่งดังอย่างมากในช่วงเวลานั้น จนทำให้เจมี ลี เคอร์ติสกลายเป็นนักแสดงหญิงที่บรรดาคอหนังจดจำชื่อของเธอได้ทันที
เมื่อแจ้งเกิดด้วยหนังสยองขวัญทำให้งานต่อมานับจากนั้นเป็นผลงานแสดงหนังสยองขวัญเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น The Fog (1980), Prom Night (1980) และ Terror Train (1980) ในปีเดียว เธอแสดงหนังสยองขวัญไปถึง 3 เรื่อง จนทำให้ภาพลักษณ์ของเธอ กลายเป็นเจ้าแม่หนังสยองขวัญในยุคนั้นไปโดยปริยาย

Trading Places (1983)
ภาพ: Prevention
แต่น่าเสียดายที่ไม่ใช่หนังทุกเรื่องที่เธอเล่นจะเป็นหนังที่ดี รวมถึงภาพลักษณ์ในการเป็นเจ้าแม่หนังสยองขวัญก็กลายเป็นสิ่งที่เธอสลัดไม่ออก จนกระทั่งเธอได้แสดงในภาพยนตร์ตลกอย่าง Trading Places (1983) ซึ่งทำให้เธอคว้ารางวัลด้านการแสดงได้เป็นครั้งแรกจากเวทีบาฟต้า ในสาขานักแสดงสมทบหญิง และเริ่มเส้นทางนักแสดงที่หลากหลายมากขึ้น
เวลาล่วงเลยไปถึงปี 1994 ที่เธอได้โอกาสแสดงในหนังแอ็คชั่นคอมเมดี้ฟอร์มยักษ์ของ เจมส์ แคเมรอน อย่าง True Lies ประกบซูเปอร์สตาร์ในเวลานั้นอย่าง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ที่ได้รับคำชื่มชมอย่างมาก จากฝีมือการแสดงที่แอ็คชั่นก็ทำได้คล่องแคล่ว บทจะตลกก็แสดงได้ลงตัวกำลังดี หรือบทจะเซ็กซี่ก็ทำเอาคนดูอ้าปากค้างอยู่เหมือนกัน
น่าเสียดายที่หลังจากนั้น จังหวะชีวิตดูไม่สามารถต่อยอดความสำเร็จของเธอได้ ไม่ว่าจะเล่นหนังอีกกี่เรื่องก็มักจะลงท้ายด้วยกระแสที่มาแล้วก็ไป ไม่มีบทให้เธอได้โชว์ศักยภาพมากนัก จนเข้าวัยชราที่โชคยังดีที่การกลับไปรับบทแจ้งเกิดอย่าง ลอรี สโตรด ในวัยชรา ยังประสบความสำเร็จอย่างดีจนมีภาคต่อตามมาอีกสองเรื่อง และมีหนังดี ๆ อย่าง Knives Out (2019) เข้ามาบ้าง จนกระทั่งความสำเร็จของ Everything Everywhere All at Once ที่ทำให้เธอเข้าชิงออสการ์ครั้งแรก และก็คว้ารางวัลมาได้ตั้งแต่ครั้งแรกเลยเช่นกัน
โดยภาพอันตกตะลึงของเธอในงานประกาศผลออสการ์ที่เอ่ยชื่อของเธอออกมา คงเป็นการบอกได้อย่างดีว่าแม้แต่ตัวเธอเอง ยังไม่อยากจะเชื่อว่าเธอคว้าออสการ์ได้จริง ๆ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยเฉียดเข้าใกล้มาก่อนเลย
มันเป็นเรื่องของจังหวะ จังหวะชีวิตที่นำเธอไปเจอกับหนังที่ส่งให้เธอคว้าออสการ์ได้สำเร็จ

Everything Everywhere All at Once (2022)
ภาพ: A24
คี ฮุย ควอน
ผู้ชนะสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
จากภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once

ภาพ: Los Angeles Times
ว่ากันตามตรง นี่คือนักแสดงที่หายไปจากสารบบความคิดของนักดูหนังไปแล้ว แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็จำไม่ได้ว่าเขาคือใคร เคยแสดงเรื่องอะไรมา (รู้แต่ว่าเขาหน้าคล้ายกับ เฉินหลง) ในคราวแรกที่ดูหนังเรื่องที่ทำให้เขาได้ออสการ์
ซึ่งมันไม่ผิดหรอก ที่คุณหรือผมจำเขาไม่ได้ เพราะเขาเองก็หายหน้าหายตาไปจากหน้ากล้องนานถึง 20 ปี!
ในการผจญภัยครั้งหนึ่งของนักโบราณคดีในตำนานอย่าง อินเดียน่า โจนส์ มีการผจญภัยที่อินดี้ต้องร่วมผจญภัยกับเด็กชายหัวไว ฉลาดเฉลียว ที่มีเคมีการแสดงที่เข้ากันอย่างดี จนเปิดให้คนดูได้สัมผัสมุมความสัมพันธ์แบบ พ่อ-ลูก ของตัวละครที่มีให้กัน ตัวละครเด็กคนนั้นชื่อ ช็อต ราวด์ รับบทโดย คี ฮุย ควอน คนนี้นี่เอง ในภาพยนตร์เรื่อง Indiana Jones and Temple of Doom (1984)
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูง กับการเริ่มต้นเส้นทางนักแสดงด้วยหนังแอ็คชั่นฟอร์มยักษ์ ควอนก็ได้รับโอกาสต่อทันทีกับการแสดงในบท เดต้า หนึ่งในแก๊งเด็กที่ผจญภัยหาขุมทรัพย์โจรสลัดในตำนานใน The Goonies (1985) ที่กลายเป็นหนึ่งในหนังเด็กผจญภัยสามัญประจำบ้านแห่งยุค ในเมื่อการแสดงในสองเรื่องแรก ต่างประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ตรงกันข้ามกับเส้นทางชีวิตของควอนที่ค่อย ๆ หายไปจากแสงไฟ

Indiana Jones and the Temple of Doom (1984)
ภาพ: Lucasfilm
‘มีนักแสดงเด็กน้อยมาก ๆ ที่จะกลายเป็นนักแสดงผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ มันยากมาก ๆ แต่มันจะยากเป็นร้อยเท่าพันเท่าถ้าคุณเป็นนักแสดงเอเชีย ผมต่อสู้ดิ้นรนอยู่นาน ขณะเดียวกัน ผมก็หวังว่าจะมีโทรศัพท์เข้ามาเสนอให้ผมเล่นหนังที่มหัศจรรย์เหมือน Indiana Jones หรือ The Goonies หรือบทดี ๆ จากนักแสดงเอเชีย แต่มันไม่เคยเกิดขึ้น ผมเลยรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง’
สิ่งที่ควอนได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ ไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะด้วยข้อจำกัดที่เป็นนักแสดงเอเชีย บทบาทที่เหมาะสมในการส่งมาถึงเขามันก็น้อยนิดเอามาก ๆ ในระหว่างนั้นเขาต้องหันไปแสดงงานทีวีซีรีส์เสียเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ต้องรับบทในหนังแอ็คชั่นเกรดบีที่ไม่มีใครจดจำ จนกลายเป็นตัวประกอบโดยสมบูรณ์ในหนังตลกอย่าง Encino Man (1992) (ที่ทำให้ครั้งหนึ่งเขาได้เคยร่วมจอกับเบรนแดน เฟรเซอร์ เจ้าของออสการ์สาขานำชายในปีเดียวกัน มาแล้วด้วย) จนถึงขนาดที่ต้องไปเล่นหนังจีนและหายจากหน้าจอไปเลย
ระหว่างนั้นควอนที่ยังมีความหวังในวงการ ได้ตัดสินใจเรียน USC Film School ที่นั่นเองทำให้เขาเจอผู้คนและโอกาสในการทำงานในวงการต่อไป ในเมื่องานหน้ากล้องไม่มี เขาจึงผันตัวไปทำงานหลังกล้อง โดยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ดูแลเรื่องฉากต่อสู้ในหนังแอ็คชั่นเรื่อง The One (2001) หรือการเป็นผู้กำกับกองสองให้กับหนังเรื่อง 2046 (2004) ของ หว่องกาไว

เวลาผ่านไปนานจนชื่อของควอนหายไปจากทั้งหน้ากล้องและหลังกล้องโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งความสำเร็จแบบฮิตเซอร์ไพรส์ของหนังโรแมนติกอย่าง Crazy Rich Asian (2018) ที่ใช้นักแสดงนำชาวเอเชียยกชุด ทำให้ควอนเกิดกำลังใจและคิดหวนกลับมาพยายามไขว้คว้าหางานแสดงอีกครั้ง จนกระทั่งโอกาสมาถึงกับการรับบทใน Everything Everywhere All at Once ที่ส่งเขาถึงรางวัลออสการ์อย่างไม่น่าเชื่อ
‘ผมติดค้างทุกอย่างในชีวิตกับภรรยาที่ใช้ชีวิตกับผมมาตลอด 20 ปี เขาบอกผมเสมอว่า สักวันมันจะเป็นเวลาของผม ความฝันมันคือสิ่งที่คุณเชื่อและศรัทธา ผมเกือบจะยอมแพ้กับตัวเองไปแล้ว – สำหรับคนอื่น ๆ ที่ยังตามความฝันอยู่ โปรดทำมันต่อไป ขอบคุณมาก ๆ ที่ต้อนรับการกลับมาของผม’
นี่คือคำพูดของควอนหลังเดินขึ้นไปรับรางวัล ที่เต็มไปด้วยน้ำตาและรอยยิ้มของความดีใจ จนกลายเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์ประทับใจของงานออสการ์ในปีนี้

Everything Everywhere All at Once (2022)
ภาพ: A24
มิเชลล์ โหยว
ผู้ชนะสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
จากภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once

ภาพ: Complex
‘สำหรับน้อง ๆ หนู ๆ ที่หน้าตาเหมือนฉันที่ดูอยู่ตอนนี้ นี่คือแสงแห่งความหวังและความเป็นไปได้ นี่คือเครื่องยืนยัน ว่าฝันให้ใหญ่ แล้วฝันนั้นจะเป็นจริง และสาว ๆ อย่าให้ใครมาบอกเธอว่า มันผ่านช่วงเวลารุ่งโรจน์ของเธอมาแล้ว อย่ายอมแพ้นะ’
ซือเจ๊ คำเรียกติดปากของพวกเราชาวไทยที่มีต่อมิเชลล์ โหยว มีที่มาจากชื่อของหนังเรื่อง Yes, Madam (1985) ที่มีชื่อไทยว่า โอ้โฮซือเจ๊ ที่โด่งดังพอสมควร กับบทบาทที่มิเชลล์ได้โชว์ลีลาแอ็คชั่นดุเดือด จนกลายเป็นนักแสดงหญิงสายบู๊ตัวแม่ของหนังฮ่องกงยุครุ่งเรือง
จากเด็กสาวชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ที่หน้าตาอันสวยงามของเธอไปเตะตาแมวมอง เธอจึงได้รับการทาบทามให้ประกวดนางงาม จนไปเตะตาผู้บริหารสตูดิโอในวงการหนังฮ่องกง ที่เปิดโอกาสให้เธอเข้าวงการภาพยนตร์อย่างเป็นทางการในปี 1984
ด้วยหน้าตาที่สวย และฝีมือการแสดงฉากแอ็คชั่นได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยตัวเอง ทำให้เธอคือนักแสดงตัวท็อปที่โดดเด่นในแง่ของหนังแอ็คชั่นและหนังดราม่าได้ในเวลาเดียวกัน โดยจุดสูงสุดของเวทีหนังฮ่องกง คือการประกบเฉินหลงใน Police Story 3: Super Cop (1992) ซึ่งทำเงินไปมหาศาล

วิ่งสู้ฟัด 3 (2535)
ภาพ: Prime Video
แต่เมื่ออุตสาหกรรมหนังฮ่องกงเริ่มจะซบเซาและเธอก็ถึงจุดอิ่มตัวในเส้นทางอาชีพแล้ว เธอจึงตัดสินใจเดินตามรอยนักแสดงรุ่นพี่ที่หันไปโกอินเตอร์ในวงการหนังฮอลลีวูด โดยเธอตัดสินใจไปออดิชั่นบทสาวบอนด์ใน Tomorrow Never Dies ซึ่งเธอได้บทนั้นเสียด้วย และเรื่องนั้นเองที่สร้างตำนานเป็นสาวบอนด์ที่บู๊เก่งที่สุดในบรรดาสาวบอนด์ทุกภาค แถมต่อยอดด้วยความสำเร็จอย่างมากของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) หนังแอ็คชั่นกำลังภายในที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฮอลลีวูดทั้งที่พูดภาษาจีนและใช้นักแสดงเชื้อสายจีนทั้งหมด แต่ไม่น่าเชื่อว่านั่นจะเป็นช่วงสุดท้ายของยุครุ่งเรืองของมิเชลล์ โหยว ที่ค่อย ๆ เข้าช่วงขาลงนับจากนั้น
จากนักแสดงที่รับบทนำตลอด ก็กลายเป็นนักแสดงที่ต้องรับบทสมทบ ยังดีที่ตัวหนังยังได้คำชมและเสียงตอบรับที่ดีอยู่ เช่นหนังดราม่าอย่าง Memoirs of a Geisha (2005) หรือหนังไซไฟอย่าง Sunshine (2007) จนถึงงานที่น่าจะส่งเธอไปถึงเวทีรางวัลต่าง ๆ บ้างอย่าง The Lady (2011) หนังชีวประวัติของ อองซานซูจี ก็กลับได้รับเสียงวิจารณ์ที่ไม่สู้ดีนัก

The Lady (2011)
ภาพ: EuropaCorp
แต่แล้ว เธอก็กลับมาอยู่ในแสงไฟอีกครั้ง ด้วยหนังเรื่อง Crazy Rich Asian ในบทแม่ไฮโซสุดเฮี้ยบของตัวเอก ที่โดดเด่น โชว์การแสดงที่น่าเกรงขามและเพิ่มมิติตัวละครอย่างดี ต่อยอดความนิยมด้วยการรับบทสำคัญในหนังมาร์เวล อย่าง Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings (2021) จนการมาถึงของ Everything Everywhere All at Once ที่เธอกลับมารับบทนำอย่างเต็มตัว จนคว้าออสการ์ได้สำเร็จและสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแสดงหญิงสายเลือดเอเชียคนแรกที่คว้าออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงได้สำเร็จ
จากซือเจ๊ตีนหนักแห่งเกาะฮ่องกง สู่ซือเจ๊ที่คว้าออสการ์ นี่มันคือเรื่องราวเส้นทางชีวิตนักแสดงที่โชคชะตาขีดเขียน เพราะมันไม่มีทางที่จะจินตนาการได้เลย

Everything Everywhere All at Once (2022)
ภาพ: A24
เบรนแดน เฟรเซอร์
ผู้ชนะสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
จากภาพยนตร์เรื่อง The Whale

ภาพ: ABC NEWS
ถ้าคุณเติบโตทันดูหนังช่วงปลายยุค 90s คุณต้องเคยเห็นหน้าของเบรนแดน เฟรเซอร์ ที่ในช่วงเวลานั้น เขาคือนักแสดงระดับเอลิสต์ที่เคยรับค่าตัวโดยเฉลี่ยสูงถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีหนังยอดฮิตอย่าง George of the Jungle (1997) หรือ จอร์จ เจ้าป่าฮาหลุดโลก และ The Mummy (1999) ด้วยหน้าตาที่หล่อเหลาและฝีมือการแสดงเปี่ยมเสน่ห์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ทำให้เขากลายเป็นนักแสดงขวัญใจผู้ชมในวงกว้าง
แต่เส้นทางชีวิตอันรุ่งโรจน์เป็นอันต้องชะงักลง มิใช่ว่าเขาไปทำเรื่องราวเสียหายหรือก่อวีรกรรมร้ายแรง มิใช่ว่าหมดสิ้นความต้องการในวงการบันเทิง หากแต่มันเริ่มต้นจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เฟรเซอร์ออกมาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GQ ในปี 2018 โดยอ้างว่าเขาเคยถูก ฟิลิปป์ เบิร์ก อดีตประธานสมาพันธ์สื่อฮอลลีวูด หรือ HFPA ล่วงละเมิดทางเพศ

The Mummy (1999)
ภาพ: Alphaville Films
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2003 ในงานเลี้ยงของ HFPA ณ โรงแรมย่านเบเวอร์ลีฮิลล์ ในทีแรกเขากับเบิร์กก็สวมกอดทักทายกันปกติ แต่เขากลับเริ่มรู้สึกว่าถูกเบิร์กพยายามจะล่วงเกินบริเวณจุดของสงวนของเขาอย่างหนัก นั่นทำให้เขารู้สึกเสียขวัญและกลัว จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาภรรยา แต่ท้ายสุด เขาก็กลัวว่าเรื่องนี้จะทำให้เขาเสียอนาคตทางวงการบันเทิงไป เขาจึงเลือกจะเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ เขาต้องทนความรู้สึกแย่ ๆ แบบนี้เป็นเวลานานหลายปีจนเกิดความเครียดสะสม จนทำให้เขาเป็นโรคซึมเศร้า
แต่แล้วเมื่อทนไม่ไหว เขาจึงเริ่มออกมาแฉพฤติกรรมของเบิร์ก แต่เหตุการณ์กลายเป็นว่าคำพูดของเฟรเซอร์กลายเป็นแค่ลมปากที่ไม่มีมูลเหตุ และเขาก็กลายเป็นผู้ถูกคว่ำบาตรจากคนใหญ่คนโตของฮอลลีวูดที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเบิร์กแทน
นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา เหตุใดเขาถึงไม่มีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่หรือหนังดี ๆ ให้เล่นเลยแม้แต่เรื่องเดียว ทำให้แฟนหนังค่อย ๆ ลืมชื่อเขาไปเสียสนิท
เวลาผ่านจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แฉสนั่นฮอลลีวูดในกรณีของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์คนดังที่ถูกแฉว่ามีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงสาวมากมาย จนเกิดกระแสที่ทำให้นักแสดงหลายคนเลือกจะเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างไม่กลัวเกรง นี่จึงทำให้กรณีของเฟรเซอร์ถูกจับตามองอีกครั้ง และ HFPA ก็จำเป็นต้องเริ่มการสืบสวนเบิร์กแต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งเมษายนปี 2021 ทางสมาคมก็จำเป็นต้องไล่เบิร์กออกหลังจากที่เบิร์กไปแสดงความเห็นว่ากระแส Black Lives Matter เป็นกระแสเกลียดชังและเหยียดผิว
เรื่องราวทั้งหมดจบลง และเฟรเซอร์ก็ได้รับโอกาสครั้งใหม่ในภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ ดาร์เรน อโรนอฟสกี ในหนังเรื่อง The Whale ในบทที่เปิดโอกาสให้เฟรเซอร์ได้แสดงศักยภาพและการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตออกมา

The Whale (2022)
ภาพ: A24
เกร็ดที่น่าสนใจก็คืออโรนอฟสกีเป็นผู้กำกับที่เคยกำกับหนังที่ชุบชีวิตนักแสดงตกอับมาแล้ว กับกรณีของ มิกกี้ รูค ใน The Wrestler (2008) ที่ทำให้รูคผงาดคว้าออสการ์สาขานักแสดงนำชายได้สำเร็จจนกลับมามีที่ยืนในฮอลลีวูดอีกครั้ง ซึ่งคล้ายกับกรณีของเฟรเซอร์ที่กลับมาคราวนี้ เขาก็สามารถคว้าออสการ์สาขานักแสดงนำชายได้ทันที
‘ผมเริ่มทำงานในวงการนี้มา 30 ปี เมื่อก่อนผมไม่ได้มีความสุขและซาบซึ้งกับสิ่งที่ได้มา จนวันหนึ่งทุกอย่างมันจบลง’
สุนทรพจน์ของเฟรเซอร์นี้คงบอกได้ว่านับตั้งแต่นี้ มันคงเป็นการเริ่มต้นใหม่ เรื่องราวในอดีต ความทุกข์ทุกอย่างจบลง นับจากนี้ไปชีวิตใหม่จะเริ่มต้น และรางวัลออสการ์ในมือเขาเป็นการการันตีได้อย่างหนึ่งว่า
แดนสนธยาที่เต็มไปด้วยมายาอย่างฮอลลีวูดนั้น ยินดีต้อนรับการกลับมาเสมอ
อ้างอิง
https://www.beartai.com/lifestyle/1224620
https://www.moviesrain.com/ke-huy-quan-everything-everywhere-all-at-once/
คลิป เจาะชีวิต มิเชล โหยว (หยังจื่อฉุง) ตำนานซือเจ๊ฮ่องกง โดย คนบ้าหนังคลั่งแผ่นฟิล์ม https://youtu.be/oVoOL37lIFg
Contributors
Contributors
ชายบ้าภาพยนตร์ บ้าแมนยู บ้าการเมือง ที่ชอบอ่าน ชอบเขียน และคิดเสมอว่าบทความดีๆ สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือจุดความคิดบางอย่างได้เสมอ แต่เป็นมนุษย์ติดกาแฟ คิดวนไปวนมา ตอนนี้กำลังฝึกตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สามารถมองเห็นความสุขง่ายๆ ของชีวิต