ในโลกนี้ดูเหมือนจะมีผู้กำกับเพียงไม่กี่คน ที่มีเมื่อภาพยนตร์ที่ปรากฏชื่อของเขาบนโปสเตอร์ ไม่ว่าเราจะไม่รู้ (หรือไม่เข้าใจ) เรื่องราวของหนังหรือไม่ก็ตาม หากคุณเป็นคนที่ชอบดูหนัง ไม่ว่ายังไงเราก็จะหาเวลาไปดูหนังของเขาอยู่ดี สำหรับ ณ เวลานี้ ชื่อของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นหนึ่งในชื่อนั้น ที่เมื่อใดหนังของเขาเข้าฉาย มันก็เปรียบเสมือนวาระแห่งชาติ ที่บรรดาคนบ้าหนังจะหาเวลาเดินเข้าโรงภาพยนตร์โดยมิได้นัดหมาย 

ความพิศวงของเวลาที่ไม่เดินเป็นเส้นตรง ความน่าสนใจในเรื่องราว ปริศนาและความลับ เงื่อนไขบางอย่างในหนังที่ตัวละครต้องฝ่าฟัน (และคนดูต้องใช้สมองขบคิด) ความเข้มข้นในการเล่าเรื่องของมนุษย์ปุถุชนอันยากแท้หยั่งถึง รวมถึงรสนิยมความชอบการถ่ายทำภาพยนตร์แบบดั้งเดิม (Old School) โดยจะพึ่งพาความอัจฉริยะจากคอมพิวเตอร์ให้น้อยที่สุด กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของผู้กำกับผู้นี้ที่เรามักจะพบเจอในหนังของเขา และด้วยเอกลักษณ์เหล่านี้เองที่ทำให้หนังของเขามีความแปลกใหม่ และถูกใจคนดูหนังจำนวนมาก จนมีแฟนคลับกระจายตัวอยู่ทั่วโลก 

มันคงจะเป็นเรื่องที่ซ้ำซากไปเสียแล้วหากบทความนี้จะมาสาธยายความยอดเยี่ยมในด้านต่าง ๆ ที่ผู้กำกับผู้นี้ได้สร้างไว้บนแผ่นฟิล์ม เพราะมันสามารถหาอ่านได้ง่าย ๆ เพียงแค่ค้นหาในกูเกิ้ลหรือหนังสือ ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องจำเป็นต้องซื่อตรงกับความรู้สึกตัวเอง เริ่มจากการขอสารภาพว่า เราเกิดความสงสัยในตัวของ (เสด็จพ่อ) โนแลนมาตั้งแต่หนังเรื่องที่แล้ว ว่าเขาช่างเป็นผู้กำกับที่เอาแต่ใจ (เกินไปหน่อย) ซึ่งความรู้สึกนี้ก็ยังตามติดมาจนถึงตอนนี้ เมื่อได้ดูงานล่าสุดของเขา

ภาพ: Vanity Fair

ในฐานะที่ดูภาพยนตร์ของโนแลนมาทุกเรื่องนับตั้งแต่ Memento (2000) และหลงใหลในลายเซ็นของเขาจนถอนตัวไม่ขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องอัศวินรัตติกาลที่ขอยกให้เป็นหนังฮีโร่ที่ดีที่สุดตลอดกาลใน The Dark Knight (2008) หนังมายากลซ่อนเงื่อนที่ดูกี่ครั้งก็อ้าปากค้างในฉากเปิดเผยความจริงใน The Prestige (2006) รวมถึงความทึ่งในการท่องโลกความฝันอันน่าตกตะลึงใน Inception (2010) กลับเป็นคนดูหนังที่ขอยกธงขาวปล่อยจอยในยามที่ดูหนังเรื่อง Tenet (2020) ในจุดนี้ไม่ขอโทษใคร เพราะมีหลายคนที่เข้าใจเงื่อนไขเวลาในหนังอย่างชัดเจนไม่มีปัญหา อาจเป็นเพราะสติปัญญาของตัวเองที่อาจไม่เฉลียวมากพอที่จะเข้าใจก็เป็นได้ แต่คำถามมันเกิดขึ้นในหัวตลอดเวลาว่ามันมีวิธีการเล่าเรื่องที่ง่ายกว่านี้ หรือในแง่มันเป็นมิตรกับคนดูส่วนใหญ่มากกว่านี้

ตัวอย่างเช่น ในตอนที่เขาทำหนังเรื่อง Inception ที่ดูเป็นโปรเจกต์ล้ำ ๆ เรื่องแรกของโนแลนที่ตัวเขาเองรู้ดีว่ามันไม่ใช่เรื่องราวปกติที่คนดูจะเข้าใจได้ง่าย ๆ เราจึงได้เห็นการเล่าเรื่องแบบที่โนแลนไม่รีบร้อนเลยในช่วงแรกเพื่ออธิบายกลไกและเงื่อนไขของความฝันที่เขาต้องการปูพื้นฐานให้คนดูก่อน มีฉากที่อธิบายและยกตัวอย่างโดยการให้ตัวละครสาธิตให้เห็น จนมั่นใจว่าคนดูไม่งงแล้ว ค่อยเดินเรื่องให้เต็มสูบ สำหรับผู้เขียนแล้ว Inception คือหนังโนแลนในเวอร์ชั่นที่เขายังพยายาม Balance ไอเดียล้ำ ๆ ของตัวเองให้ซื่อตรงที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็คิดถึงคนดู และพยายามที่จะเล่าให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่หลังจากที่ชื่อเสียงทะยานพุ่งสูงขึ้น ก็เป็นอย่างที่เห็น ว่าความเป็นตัวเองมันหนักข้อขึ้นตามชื่อเสียง เพราะเรื่องก่อนหน้าอย่าง Tenet การเล่าเรื่องมันเป็นตัวเองเสียจนไม่เห็นความเห็นใจคนดูเลย 

Oppenheimer แม้จะดูเหมือนเป็นหนังดราม่าชีวประวัติบุคคลจริง แต่เอกลักษณ์ความเป็นโนแลนยังตามติดมาทุกกระบวนความ โดยเฉพาะวิธีการเล่าเรื่องไม่เรียงตามลำดับเวลา สลับกันผ่านสามช่วงเวลาอันได้แก่ ช่วงเวลาที่ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เป็นนักศึกษาไล่ไปจนถึงการไปคุมโครงการแมนแฮตตันเพื่อวิจัยระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, เหตุการณ์ในปี 1954 ที่ออพเพนไฮเมอร์ถูกคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูของสหรัฐฯ ไต่สวนในข้อกล่าวหาว่าเขาไปข้องเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์และมีพฤติกรรมที่น่ากังวลในความไม่เป็นอเมริกันที่แท้จริง และเหตุการณ์ในปี 1959 ที่ถูกเล่าในภาพสีขาว-ดำ ในเหตุการณ์ที่เล่าเรื่องตัวละครอย่าง ลูอิส สเตราส์ ที่กำลังถูกวุฒิสมาชิกซักถามในเรื่องความสัมพันธ์ของเขากับออพเพนไฮเมอร์ เพื่อรับรองตำแหน่งรัฐมนตรี 

ทั้งหมดมิใช่เพียงเล่าสลับช่วงเวลากันไปมาเท่านั้น แต่มันถูกเล่าแบบไม่ได้เรียงต่อกันเป็นเรื่องราวที่ร้อยเรียงจากเพราะ A เกิดขึ้น นำไปสู่ B จนไปขมวดปมที่ C แบบเข้าใจง่าย หากแต่มันถูกเล่าเป็นสถานการณ์สั้น ๆ เล็กใหญ่ที่โดดไปโดดมา รวมถึงตัวละครสมทบที่มีบทบาทสำคัญร่วมสิบคนที่อยู่ดี ๆ  นึกจะโผล่เข้ามาก็เข้ามาโต้ง ๆ ไม่ได้มีบอกกล่าวว่าเขาเป็นใครทำอะไร อย่างไร ซึ่งนอกจากคนดูควรจะมีความรู้พื้นฐานในเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงรู้จักบุคคลจริงอยู่บ้างแล้ว ยังต้องพยายามจับต้นชนปลายเหตุการณฺ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนคล้ายกับการต่อจิ๊กซอว์ภาพขนาดใหญ่ตลอดสามชั่วโมง ซึ่งโดยส่วนตัวต้องขอย้ำอีกครั้งว่า มันควรมีวิธีเล่าเรื่องที่เป็นมิตรกับคนดูได้มากกว่านี้

จุดที่เป็นพระเอกของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ฉากระเบิด (โดยไม่ใช้ความมหัศจรรย์ของคอมพิวเตอร์) หรืองานด้านภาพยิ่งใหญ่ แต่กลายเป็นบทสนทนาเรื่องยาก ๆ ที่เหล่าตัวละครพูดกันแบบหูดับตับไหม้โต้ตอบกันไม่มียั้ง ในแง่หนึ่งก็เป็นจุดที่ถือเป็นรสชาติใหม่ของหนังโนแลนอยู่เหมือนกัน เพราะผลงานที่ผ่านมา หนังโนแลนมักจะค่อนข้างประหยัดถ้อยคำและเล่าเรื่องด้วยเหตุการณ์เสียมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นงานอย่าง Dunkirk (2017) ที่บทพูดน้อยมาก และเดินเรื่องด้วยสถานการณ์ที่ตัวละครเผชิญเป็นหลัก เราจึงได้ข้อสรุปใหม่ ๆ ในตัวโนแลนได้อีกอย่างว่า เขาก็เป็นคนทำหนังที่เต็มไปด้วยไดอะล็อกพูดกันทั้งเรื่องได้สนุกและเร้าอารมณ์ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงท้ายของหนังที่ทั้งการแสดง บทพูด การตัดต่อ และดนตรีประกอบ ได้ทำหน้าที่ร่วมกันในการยกระดับและเร่งเร้าความตื่นเต้นของคนดูได้อย่างถึงอกถึงใจในระดับทะลักจุดแตกได้เลยทีเดียว

แม้ฟังดูเหนื่อยยาก แต่เพื่อความเป็นธรรม มันไม่ยากเท่าเรื่องก่อนหน้านี้ของเขา และหากจับจุดเรื่องได้ อย่างน้อยเราก็ยังสนุกไปกับหนังที่เดินไปข้างหน้าด้วยจังหวะที่มีพลังงานเหลือล้นผ่านองค์ประกอบด้านการแสดง งานด้านภาพและเสียงได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ดูผ่านโรงภาพยนตร์อย่าง IMAX 

เป็นที่รู้กันดีว่าคริส โนแลน คือผู้กำกับที่หลงใหลการถ่ายหนังด้วยกล้องฟิล์ม IMAX 70 มม. เหลือเกิน จนเขาแทบจะเป็น Brand Ambassador ของโรงภาพยนตร์ IMAX ทั่วโลกโดยที่ไม่ได้ค่าตัว เพราะใครเล่าจะปฏิเสธว่างานด้านภาพและเสียงในหนังของโนแลนที่ปรากฏต่อสายตาและหูของคนดูในโรง IMAX มันมิใช่ประสบการณ์พิเศษที่เหนือกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ และต้องเป็นโรงภาพยนตร์นี้เท่านั้นที่คุณจะได้อรรถรสที่สมบูรณ์แบบที่สุด ในจุดนี้คงไม่มีใครตั้งคำถามอีกแล้ว ว่าโนแลนคือคนทำหนังมือฉมังที่ใช้ศักยภาพความโดดเด่นด้านภาพและเสียงของโรง IMAX ได้ดีที่สุดในโลก 

เริ่มจากเรื่องดนตรีประกอบของ ลุดวิก โยรันส์สัน ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ แน่นอนว่าด้วยศักยภาพของโรง IMAX มันทำให้ดนตรีประกอบของหนังทรงประสิทธิภาพสูงสุด ในการประโคมความกระหึ่มในยามที่คนดูต้องการเวลาที่ระเบิดลูกนั้นทำงาน หรืออีกแง่มันก็ถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครทั้งในยามอึดอัด หวาดวิตก ที่ถูกเก็บในใจจนแทบจะระเบิดได้อย่างยอดเยี่ยม เรียกได้ว่าเบาะที่นั่งและใจคนดูนี่สั่นแล้วสั่นอีกจนเป็นเรื่องปกติ

ส่วนงานด้านภาพ โดยปกติเราจะคุ้นชินกับการรับประสบการณ์ในโรงหนังนี้ผ่านงานด้านภาพสุดอลังการเช่นฉากรถบรรทุกขนาดใหญ่ตีลังกาพลิกคว่ำกลางเมืองก็อตแธม ฉากโจรกรรมเครื่องบินใหญ่กลางเวหาที่หักสองท่อน แต่ในเรื่องนี้กล้อง IMAX ถูกใช้เพื่อการจับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเป็นหลัก เห็นได้ชัดเจนจากการใช้มุมกล้องที่ใกล้ใบหน้าของนักแสดงมาก ๆ ลองคิดดูว่าใกล้ขนาดนั้นบนจอ IMAX มันเปิดโอกาสให้คนดูได้มองเห็นรายละเอียดสีหน้าและอารมณ์แบบใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์ตีความความรู้สึกตัวละคร และแน่นอนว่าด้วยวิธีถ่ายทอดแบบนี้ สำหรับนักแสดงจึงเป็นไฟลท์บังคับว่าเขาต้องมีสมาธิกับการแสดงที่ดีที่สุดเท่านั้น มิฉะนั้นคนดูเห็นข้อผิดพลาดทันที 

นี่จึงเป็นอีกประสบการณ์ในโรงยักษ์ ที่ก็นับว่าแปลกใหม่ดี และถือว่าเหมาะสมที่ยอมเสียเงินเพื่อดิ้นรนมาดูเพื่อเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ที่ ‘ไฟ’ จากเทพเจ้านั้นถูกใช้งานโดยมนุษย์

ในช่วงเริ่มแรกของหนัง ปรากฏข้อความสั้น ๆ ที่เล่าเรื่องของ โพรมีธีอุส เทพไททันองค์หนึ่งในเรื่องเล่าของเทพปกรณัมกรีก ผู้ที่ตัดสินใจขโมยไฟจาก เฮสเทีย เทพแห่งไฟ ลงไปให้เหล่ามนุษย์ ส่งผลให้มนุษย์ได้เรียนรู้การหุงหาอาหาร และการใช้แสงสว่างจนเป็นบ่อเกิดการพัฒนาทั้งสมองให้เฉลียวฉลาดจนสร้างและพัฒนาอารยธรรมให้ก้าวหน้าและรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน แต่เหตุการณ์นั้นทำให้ ซุส ประมุขแห่งทวยเทพโกรธ จนสั่งลงโทษโพรมีธีอุสด้วยการจับขังไว้ในถ้ำบนเขาคอเคซัส เพื่อให้นกยักษ์มาจิกตับกินทุกวัน โดยที่ตับจะงอกขึ้นใหม่ในตอนเช้า วนเวียนแบบนี้ไม่มีสิ้นสุดจนชั่วกัปชั่วกัลป์

‘ไฟ’ ที่ว่านั่น อาจเปรียบเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่จะตีความ เพราะไฟนำมาสู่อะไรอย่างอื่นมากมายที่พัฒนาอารยธรรมและความเจริญของมนุษยชาติ ไฟจึงอาจเปรียบได้ดั่งความรู้ และความรู้นำมาซึ่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราคงได้เห็นผ่านประวัติศาสตร์โลกมาอยู่แล้วว่าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์นั้นทำหน้าที่ทั้งสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาและไขข้อข้องใจต่อทั้งโลกและจักรวาล แต่ขณะเดียวกันมันก็ถูกพัฒนาเป็นอาวุธที่ทำลายล้างโลกใบนี้ได้เหมือนกัน

โพรมีธีอุสกับออพเพนไฮเมอร์ อาจมีจุดเริ่มต้นเหมือนกันตรงที่ เป้าประสงค์ของการใช้ไฟ เกิดจากความปรารถนาดี โพรมีธีอุสทำเพื่อให้มนุษย์ได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาสติปัญญาและอารยธรรม ออพเพนไฮเมอร์ทำโดยความเชื่อว่าต้องทำเพื่อสันติภาพ เพราะหากเราไม่ทำ ศัตรูอีกฝั่ง (เยอรมนีหรือสหภาพโซเวียต) ก็จะทำสำเร็จอยู่ดีในสักวันหนึ่ง ดังนั้นการทำสิ่งนี้ (ระเบิด) คือสิ่งที่สมเหตุสมผลและการันตีสันติภาพได้ (อย่างน้อยก็ในมุมมองฝั่งของอเมริกัน) แต่ท้ายสุดแล้วคนดูก็คงจะรู้กันดีว่าผลลัพธ์ของการใช้ไฟนั้น เกินกว่าที่ใครจะรับผิดชอบมันได้ไหว และมันแลกมาด้วยการถูกลงทัณฑ์ทั้งชีวิตไม่ต่างกัน 

‘ผู้คนไม่ได้จดจำว่าใครคือผู้สร้างระเบิด แต่จดจำว่าใครคือผู้ที่ทิ้งระเบิด’

นี่คือคำพูดของประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ที่บอกต่อออพเพนไฮเมอร์ในภาพยนตร์ ที่แม้คนดูจะรู้อยู่เต็มอกว่าก็จริง แต่ในมุมมองของออพเพนไฮเมอร์มันก็สายไปเสียแล้วที่จะกู้คืนความรู้สึกผิดบาปที่เกิดขึ้นในเมื่อมันปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าเขาสร้างอาวุธมหาประลัยที่ทำให้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

อย่างในฉากวินาทีที่การทดลองระเบิดลูกนั้นเกิดขึ้นประจักษ์ต่อสายตาทุกคน แสงของระเบิดลูกนั้นมันช่างสว่าง สวยงามดั่งภาพวาด เต็มเปี่ยมด้วยความยินดีกับความสำเร็จในการสร้างพลังอำนาจของไฟ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อหนังตัดสลับกับใบหน้าที่มีความรู้สึกยินดี โล่งอก แต่ก็กลับมีอาการหวาดวิตกและกระอักกระอ่วนของออพเพนไฮเมอร์ มันก็บ่งบอกได้ชัดเจนว่าภาพระเบิดลูกนั้นที่คนทุกคนกำลังจ้องมันด้วยความตกตะลึงและยินดีปรีดา ในอีกมุมหนึ่ง มันคือไฟมัจจุราชจากขุมนรกที่มีพลังทำลายล้างร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมากับมือ

สมมติว่าหากเรื่องเล่าของเทพปรณัมกรีกเป็นเรื่องจริง ณ ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ โพรมีธีอุส ก็จะยังคงต้องถูกขังในถ้ำนั้น และได้เฝ้ามองการเจริญเติบโตของอารยธรรมมนุษย์ รวมถึงเฝ้ามองอาวุธทำลายล้างโลกที่มีจุดเริ่มต้นจาก ‘ไฟ’ ที่เขาขโมยมาด้วยความหวังดี จินตนาการไม่ออกเลยว่าโพรมีธีอุสจะรู้สึกอย่างไร 

ที่แน่ ๆ มันคงไม่ต่างจากความรู้สึกของออพเพนไฮเมอร์สักเท่าไหร่

โดยรวมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของโนแลนเรื่องนี้ ก็อาจไม่ใช่หนังที่ดีที่สุดของเขา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าด้วยองค์ประกอบของหนังทั้งหมดนั้น เข้าขั้นยอดเยี่ยมในทุกด้าน แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการเล่าเรื่องแบบเอาแต่ใจเกินเหตุไปหน่อยเท่าไหร่นักก็ตาม แต่หนังก็มีคุณสมบัติครบถ้วนในการถูกยกย่องไปอีกนาน นั่นรวมถึงจะมีบทบาทบนเวทีรางวัลในปีหน้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในรายของนักแสดง คิลเลียน เมอร์ฟี และ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ รวมถึงผู้กำกับอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

เพราะไม่ว่าคุณจะชอบหนังของโนแลนหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างหนึ่งที่ใครก็ต้องยอมรับคือโนแลนคือคนทำหนังที่หมกมุ่น (และบ้า) กับการทุ่มพลังชีวิตไปกับความสร้างสรรค์ทุกองค์ประกอบในหนังของเขา ไม่ว่าจะด้านภาพ เสียง การตัดต่อ และการกำกับที่มันต้องส่งไปถึงคนดูอย่างสมบูรณ์แบบในโรงภาพยนตร์

ในยุคที่สตรีมมิ่งกำลังครองโลก และการดูหนังไม่ได้จำเป็นต้องเข้าโรงหนังอีกต่อไป อย่างน้อยมันยังมีคนทำหนังบ้า ๆ ที่ยังคงถ่ายหนังด้วยฟิล์ม เพื่อทำหนังที่เหมาะสมกับสถานที่ที่เหมาะสมกับการดูหนังที่สุด อย่างโรงภาพยนตร์อยู่

หนังของเขาจึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ย้ำเตือนว่าทุกการเดินเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อดูหนังสักเรื่องยังเป็นสิ่งที่มีความหมาย และมันควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพียงใด

ภาพ: Universal Pictures

Contributors

Contributors

ชายบ้าภาพยนตร์ บ้าแมนยู บ้าการเมือง ที่ชอบอ่าน ชอบเขียน และคิดเสมอว่าบทความดีๆ สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือจุดความคิดบางอย่างได้เสมอ แต่เป็นมนุษย์ติดกาแฟ คิดวนไปวนมา ตอนนี้กำลังฝึกตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สามารถมองเห็นความสุขง่ายๆ ของชีวิต