In Partnership with NIA

            เมื่อมีคนเปิดบทสนทนาด้วยประโยคที่ว่า อยากเที่ยวภาคใต้จัง ไปจังหวัดไหนดี ภาพจำแรกของใครหลายคนอาจจะนึกถึงการบินลัดฟ้าไปเที่ยวภูเก็ต กระบี่หรือพังงากันอยู่แน่ๆ แต่ภาคใต้มีจังหวัดอื่นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ…

            พัทลุง

            จังหวัดสุดยูนีคที่แม้จะอยู่ภาคใต้ แต่ไม่มีแผ่นดินฝั่งไหนที่ติดทะเลเลย

            เรียกได้ว่าพัทลุงเป็นจังหวัดทางผ่านที่ถูกรายล้อมด้วย 4 จังหวัดอย่าง ตรัง นครศรีธรรมราช สตูลและสงขลา ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่อยากลองล่องใต้ ล้วนมีหมุดหมายแรกเป็นจังหวัดใกล้เคียงพัทลุงอย่างตรังหรือสงขลาอยู่เสมอ

            เมื่อพัทลุงไม่มีทะเลให้เที่ยว แล้วพัทลุงมีอะไรให้น่าลองไปสำรวจกันบ้างนะ?

            เราได้มีโอกาสไปล่องใต้สไลต์คนท้องถิ่นที่พัทลุง กับโครงการ “เขา ป่า นา เล” โครงการที่จะยกระดับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของพัทลุงให้ก้าวไปอีกขั้น โดยได้รับความร่วมมือจาก ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และมหาวิทยาลัยทักษิณ ให้มีการจัดทริปนี้ขึ้น แล้วเริ่มต้นโครงการนี้ด้วยคอนเซปต์ “เล” หรือทะเลนั่นเอง จึงเกิดทริป “ตามล่าหาปลาลูกเบร่” นี้ขึ้นมา

            วันนี้ Rhythm เลยอยากพาทุกคนมารู้จักกับจังหวัดพัทลุงให้มากขึ้น ผ่านบันทึกการเดินทางในทริป “ตามล่าหาปลาลูกเบร่” ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 2 วัน 1 คืน แต่เป็นระยะเวลาที่สุดแสนจะสนุกตามแบบฉบับของคนท้องถิ่นมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

แดดแก่ๆ ของบ่ายที่ 13 กุมภาพันธ์

            หลังบินข้ามน้ำข้ามทะเลกันประมาณชั่วโมงกว่าๆ เราก็มาถึงท่าอากาศยานตรัง อีกเมืองเล็กๆ ที่ดูสงบและน่าอยู่ เรานั่งรถตู้จากสนามบินตรัง ก่อนจะตรงมาที่จังหวัดพัทลุงกันอีกที แล้วจึงถึงที่พักศรีปากประรีสอร์ท (Sri Pakpra Boutique Resort Phatthalung) ที่พักติดคลองปากประ คลองสำคัญของพัทลุงที่รวมสายแม่น้ำหลายสายมาบรรจบที่นี่ ก่อนจะไหลรวมลงสู่ทะเลสาบสงขลา

            เราเก็บกระเป๋าเข้าที่พักกันเรียบร้อย และได้มานั่งคุยกันเรื่องแผนการเดินทางในสองวันนี้ เรากระเตงกันไปดูศูนย์เพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยการนั่งรถสองแถวโบราณของที่นี่ หรือที่คนพัทลุงเรียกว่า รถไม้ (แถมเกร็ดเล็กๆ ว่า คนแถบจังหวัดระนองเรียกรถแบบนี้ว่า รถคอกหมู เพราะเดิมทีรถแบบนี้เอาไว้ขน-ส่งหมู)

            มาถึงฐานกิจกรรมนี้ เราได้ ดร.พลากร บุญใส (ซ้าย) รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมสังคม และผู้ใหญ่บ้านสุชาติ บุญญปรีดากุล (ขวา) ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ตำบลลำปำ มาพูดคุยเกี่ยวกับบ่อเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในระบบปิด และชวนมาทำความรู้จักกับปลาลูกเบร่ที่หลายๆ คนอาจไม่เคยได้ยินกันให้มากขึ้น

            ปลาลูกเบร่ คือปลาตัวเล็กแต่แคลเซียมเยอะ เป็นสัตว์พื้นถิ่นของพัทลุง พบได้บริเวณคลองปากประของพัทลุงเท่านั้น ผู้ใหญ่สุชาติเล่าให้เราฟังว่า

            “ปลาลูกเบร่เป็นปลาน้ำจืดที่พบในทะเลสาบสงขลา มีเฉพาะอำเภอระโนดฝั่งสงขลาและอำเภอเมืองฝั่งพัทลุงพบเยอะสุดคือคลองปากประ เป็นคลองที่เราจะเห็นได้เลยว่าบริเวณนี้มีการยกยอยักษ์อยู่ครับ ซึ่งปลาลูกเบร่ถือเป็นปลาพื้นถิ่นที่หาทานได้เฉพาะในจังหวัดพัทลุงครับ”

            ยอยักษ์ที่ผู้ใหญ่บ้านพูดถึงคือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ มีลักษณะเป็นผ้าโปร่งมุ้งแบบตาข่ายถี่ๆ แล้วโยงปลายมุ้งทั้งสี่มุมเข้ากับไม้โยง ซึ่งโดยปกติแล้วชื่อของมันเรียกว่า ยอ แต่ที่นี่เรียกว่ายอยักษ์เพราะยอมีขนาดใหญ่ถึงขั้นที่ต้องมีบันไดปีนขึ้นไป เพื่อใช้น้ำหนักทั้งหมดของคนหนึ่งคนยกยอยักษ์ขึ้นเหนือน้ำ 

            “ปัจจุบันถือเราเจอกับวิกฤตปลาลูกเบร่เลยก็ว่าได้ เพราะตอนนี้ปลาลูกเบร่เป็นที่รู้จักของคนเยอะขึ้น สมัยก่อนปลาลูกเบร่รู้จักเฉพาะคนในจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น แต่ตอนนี้เริ่มมีตลาดออนไลน์ กลายเป็นว่าปลาลูกเบร่เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ เมื่อมีความต้องการบริโภคมากขึ้น ก็ทำให้ความต้องการในการจับปลาลูกเบร่ก็มีมากขึ้นไปด้วย ทำให้เกิดการ Overfishing ปลาลูกเบร่ลดลงจนใกล้สูญพันธุ์อย่างน่าตกใจ”

            นอกจากการ Overfishing แล้ว ยังส่งผลต่อตลาดปลาลูกเบร่ที่เมื่อก่อนขายในราคากิโลละ 150 บาท แต่ปัจจุบันถูกขายในราคากิโลละ 700 บาท ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผู้ใหญ่บ้านตำบลลำปำ ต้องการหาวิธีเพิ่มจำนวนและจำกัดปริมาณการจับปลาลูกเบร่ด้วยการเข้าร่วมโครงการ หมู่บ้านนวัตกรรม เมื่อปี 2564 และเข้าร่วมโครงการ “เขา ป่า นา เล” ในปี 2565 ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การร่วมมือระหว่าง ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และมหาวิทยาลัยทักษิณ นั่นเอง

            “เราเลยมานั่งคุยกันว่า เราควรมีวิธีการเพิ่มจำนวนและจำกัดปริมาณการจับหรืออนุรักษ์ปลาลูกเบร่ได้อย่างยั่งยืน ในเบื้องต้นเราเลยทำการเพาะเลี้ยงในระบบปิดก่อนครับ”

            เราพากันชะโงกหน้าไปดูปลาในบ่อเพาะที่มีป้ายแปะไว้ว่า ห้ามเคาะถัง ระวังปลาตกใจ ที่ต้องเขียนแปะป้ายไว้เด่นหราเช่นนั้น เป็นเพราะปลาลูกเบร่อ่อนแอมาก ถึงขั้นที่ว่าปลาลูกเบร่สามารถตายได้ หากพ้นน้ำเพียง 1 นาทีเท่านั้น

            “ช่วงแรกๆ เราต้องมีการวางยาสลบเพื่อจับปลาลูกเบร่มาเพาะเลี้ยงในถัง เพราะถ้าตักพวกมันขึ้นจากน้ำปุ้บ มันจะตายปั้บ แถมปลาลูกเบร่ตกใจง่ายด้วยครับ มาอยู่ในบ่อเพาะครั้งแรก พวกมันว่ายชนถังตายเพราะตื่นสภาพแวดล้อมใหม่ เราเลยแก้ปัญหาด้วยการเอาปลาซิวและปลาเล็กอื่นๆ ที่เคยอยู่กับปลาลูกเบร่มาเลี้ยงรวมกัน เป็นการเลียนแบบสภาพแวดล้อมจริงที่พวกมันเคยอยู่ครับ”

            ปลาลูกเบร่เป็นปลาพื้นถิ่นสำคัญของพัทลุง เพราะพบได้ที่นี่ที่เดียว ปลาลูกเบร่จึงเป็นอีกอัตลักษณ์ที่ถ้าหากเราเจอปลาลูกเบร่ที่ไหน  แน่นอนว่าทุกคนต้องหวนนึกถึงจังหวัดพัทลุงแน่นอน

            ยิ่งไปกว่านั้นปลาลูกเบร่ยังมีรสชาติที่เข้มข้นต่างจากปลาเล็กพันธุ์ แม้ลักษณ์ภายนอกของปลาลูกเบร่จะคล้ายคลึงกับปลาซิว แต่ปลาทั้งสองเป็นปลาคนละพันธุ์กัน แถมปลาลูกเบร่ยังมีรสชาติอร่อยกว่า เนื้อหวานปนรสชาติมัน มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ไม่ว่าใครที่ได้ลองก็ต้องติดใจอย่างแน่นอน

            เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้ NIA ปิ๊งไอเดียทดลองใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร (Sandbox) ด้วยการจัดทริป “ตามล่าหาปลาลูกเบร่” นี้ขึ้นมา เพื่อย้ำถึงอัตลักษณ์ของพัทลุงไปพร้อมกับการอนุรักษ์ปลาลูกเบร่ และยังสามารถกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนได้อีกด้วย

            ทุกท่านอ่านไม่ผิด ทริปนี้เราไม่ได้ไปดูแค่การเพาะปลาลูกเบร่เฉยๆ แต่เราได้เข้าไปในชุมชนของตำบลลำปำอีกด้วย ความสนุกกำลังจะเริ่นต้นหลังจากนี้!

            หลังจากเราได้เข้าใจความสำคัญของปลาลูกเบร่ ได้เห็นบ่อเพาะและอาคารแปรรูปปลาลูกเบร่แล้ว ถึงเวลาที่กองทัพต้องเดินด้วยท้องเสียทีความอลังการในเที่ยงวันนี้คือกับข้าวกับปลาในรูปแบบ ปิ่นโตร้อยสาย ของแม่ๆ ในชุมชนนั่นเองค่ะ

            แน่นอนว่าปิ่นโตไม่น่าจะถึงร้อยสายหรอก เพราะทริปนี้พวกเรามากันไม่เยอะ แต่ถ้ามาทริปนี้กันเป็นร้อยๆ คน บรรดาแม่ๆ ในชุมชนคงทำปิ่นโตกันได้ถึงร้อยสายแน่นอน

            หากจะให้ไล่เรียงว่าปิ่นโตแต่ละสายว่ามีเมนูอะไรบ้าง เราคงต้องขอยกธงขาวยอมแพ้กันเสียตรงนี้ เพราะเมนูพื้นบ้านที่แม่ๆ แต่ละคนทำมา ล้วนแล้วแต่ไม่ซ้ำกันซักเมนู คงต้องให้ทุกท่านลองทนหิวจากการดูรูปที่เราเอามาฝากกันดีกว่า

            เมนูที่ถึงใจเราที่สุดคงต้องยกให้แกงไตปลา กินคู่กับไข่เจียวและปลาลูกเบร่อบกรอบ รสชาติแกงไตปลาเหมือนฝีมือแม่สุดๆ รสชาติไม่จัดแต่กลมกล่อม เครื่องแกงไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เนื้อปลานุ่มๆ กับปลาลูกเบร่แปรรูปอบกรอบที่เข้ากันอย่างลงตัว จนเราต้องแอบไปตักข้าวเพิ่มอีกทัพพี

            และแน่นอนว่ามีของคาวก็ต้องไม่พลาดของหวาน มาทริปนี้เราได้กินสาคูต้นที่ทำจากเมล็ดต้นสาคูจริงๆ ในที่สุดเราก็เจอสาคูแท้ที่ทำจากเมล็ดต้นสาคู เพราะที่ผ่านมาเรามักเจอสาคูจากแป้งกันทั้งนั้นเลย สาคูต้นในวันนี้ช่างอร่อย หอม มัน เข้ากับกะทิที่น่าจะเติมน้ำตาลลงไปผสมด้วย เพราะน้ำกะทิไม่เค็ม เป็นกะทิละมุนที่พร้อมละลายเมล็ดสาคูในปากสุดๆ 

            หลังจากเราดื่มด่ำกับอาหารพื้นบ้านพัทลุงกันเรียบร้อย เราก็เริ่มมารังสรรค์จินตนาการของตัวเองกับฐานกิจกรรมปลาลูกเบร่บนผืนผ้าบาติก เรางัดความเป็นศิลปินในตัวออกมาอยู่ไม่น้อยไปกับกิจกรรมนี้  เราใช้แม่พิมพ์รูปปลาลูกเบร่จุ่มในน้ำเทียนต้ม แล้วเสกลายตามจินตนาการลงบนผ้าบาติก

            หลังจากได้ผ้าบาติกสีขาวที่เต็มไปด้วยการแต่งแต้มลวดลายจากสีเทียน คราวนี้เราก็สามารถนำผ้าไปชุบน้ำสีธรรมชาติจากต้นไม้พื้นถิ่นของพัทลุง แล้วรอให้สีแห้งสักพักก่อนจะนำผ้าไปต้มให้เทียนละลายออก เพื่อให้เหลือส่วนสีขาวของผ้าที่เป็นลายปลาลูกเบร่นั่นเอง

            เราคงบอกไม่ได้ว่าผ้าผืนไหนเป็นของเรา ต้องขอเก็บผลงานเป็นความลับแล้วกัน เพราะคงเป็นผลงานที่ไม่น่าดูเสียเท่าไรค่ะ (ฮา)

            คลาสศิลปะยังไม่จบ เราไปต่อกันที่กิจกรรมวาดกระเป๋ากระจูดกัน กระเป๋ากระจูดเป็นหนึ่งในสินค้า OTOP ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านของชุมชน กระจูดเป็นต้นไม้ประจำถิ่นภาคใต้ที่มักนำมาทำกระเป๋าสานหลายรูปทรง  ซึ่งวันนี้เราได้ลองเพนต์กระเป๋ากระจูดใบเล็กกันด้วย ขณะที่เพนต์เราก็ได้รับความสุนทรีกันอยู่ไม่น้อย เพราะได้จิบชายามบ่ายอย่างชาดอกบัว เป็นชาที่ทำจากเกสรดอกบัวหลวง 

            ถามว่าแล้วทำไมต้องเสิร์ฟชาดอกบัวหลวงด้วย เหตุผลไม่ซับซ้อนเลยค่ะ นั่นเป็นเพราะที่พัทลุงมีทะเลน้อย ซึ่งทะเลน้อยเต็มไปด้วยดอกบัวแดงหรือบัวหลวงนั่นเองค่ะ

            ดื่มด่ำกับชาและการเพนต์กระเป๋ากันจนหนำใจ เราก็กระเตงกันไปต่อที่จุดแลนด์มาร์กของพัทลุงกัน

            แลนด์มาร์กที่ว่าคือ สะพานเอกชัย หรือชื่อเต็มคือ สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างเมื่อ 5 ธันวาคม 2550 โดยมีระยะทางกว่า 5.5 กิโลเมตร ซึ่งข้ามทะเลสาบ จากทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ไปสู่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

            ตลอดเส้นทางอันยาวไกลของสะพานจะมีจุดแวะให้จอดรถชมวิวได้ เราได้ชมทิวทัศน์สวยๆ ผืนทะเลสาบกว้างสุดลูกหูลูกตาที่มีระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์รายล้อม สังเกตุได้ว่าที่นี่เป็นทะเลสายที่มีน้ำขึ้นน้ำลงอยู่ตลอด มีหญ้าเขียวชอุ่มผุดขึ้นจากน้ำเป็นหย่อมๆ นั่นจึงเป็นอาหารชั้นดีสำหรับควายน้ำเลยก็ว่าได้

            ระหว่างยืนบนสะพานแล้วทอดสายตาไปไกล เราดันไปสบกับฝูงควายที่ยืนเรียงแถวกันกินหญ้าโดยเท้าแช่น้ำอยู่เป็นกลุ่มๆ  หันไปมองอีกฝั่งก็เห็นควายว่ายน้ำเรียงแถวกันด้วย เป็นภาพที่เราคงหากันได้ไม่ง่ายในทุกวัน 

            พวกเราถ่ายรูปกับสะพานกันสักช็อตสองช็อตก่อนจะหอบกันกลับไปยังที่พัก เรียกได้ว่าคงต้องรับพักผ่อนเอาแรงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันพรุ่งนี้ เพราะวันนี้เราใช้พลังงานกันไปอย่างหนักหน่วงเลยทีเดียว

รอแสงแรกของเช้ามืดที่ 14 กุมภาพันธ์ 

            เริ่มต้นวันที่สองของทริปด้วยการไปที่ท่าเรือตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ ฟ้ายังมืดสนิทไม่มีแม้แต่แสงอาทิตย์ เรือสองลำมาจอดรออยู่บริเวณท่าเรือด้านหลังที่พักตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง เราแอบลูบแขนตัวเองเบาๆ เพราะไม่คิดว่าอากาศช่วงเช้ามืดจะหนาวขนาดนี้ 

            เรือลำแรกค่อยๆ พายออกไป ตามด้วยเรือลำที่สองที่พายออกไปตาม เช้านี้เราจะไปดูเส้นทางการอพยพและถิ่นที่อยู่ของปลาลูกเบร่ในคลองปากประด้วยกัน คลองปากประเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาเล็ก บริเวณนี้เป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยยอยักษ์ตั้งเรียงรายกันเป็นระยะๆ 

            เรือของเราแล่นไปถึงบริเวณยอยักษ์และมีชาวบ้านกำลังหาปลาลูกเบร่อยู่พอดี ด้วยความอยากรู้จึงรบกวนให้พี่คนพายเรือช่วยพายเข้าไปใกล้ๆ คุณป้าที่กำลังยกยอยักษ์อีกหน่อย

            ยอที่เพิ่งยกขึ้นมาเมื่อครู่มีปลาลูกเบร่ไหม เราลองถามคุณป้าชาวประมงดู

            “ไม่มีปลาลูกเบร่เลยค่ะ” ได้ยินคำตอบแล้วทุกคนบนเรือถึงกับร้องเอ๊ะ ก่อนที่คุณป้าจะช้อนปลามาให้ดูกันใกล้ๆ ว่ายกยอได้ปลาอะไรมากบ้าง ส่วนใหญ่เป็นปลาลูกแมว ปลาซิวแก้วทั้งนั้น

            แล้วอะไรที่ทำให้วันนี้คุณป้าถึงไม่ได้ปลาลูกเบร่กันนะ

            “วันนี้น้ำเสีย น้ำไม่ดี เลยไม่ได้ปลาลูกเบร่ ปกติมันจะมาอยู่ผิวๆ น้ำเลย แต่วันนี้น้ำมันเสียมาจากตรงโน้น บนฟ้า” ว่าจบคุณป้าก็ชี้นิ้วไปทางภูเขาลูกใหญ่ คงเป็นเพราะอากาศที่เริ่มเป็นพิษ จนทำให้น้ำที่ไหลจากภูเขาลงสู่ทะเลและคลองบริเวณนี้กลายเป็นน้ำเสีย

            นี่ขนาดเราลองวัดค่าดัชนี PM 2.5 ที่พัทลุงแล้วยังขึ้นสีเขียวคือยังมีความปลอดภัยอยู่ ไม่อยากจะคิดเลยว่าพวกเราอยู่กันได้อย่างไรในกรุงเทพที่มีดัชนี PM 2.5 ขึ้นค่าอันตรายจนขึ้นแถบส้ม-แดงสลับกันไปมาอยู่ทุกวัน

            “เมื่อสามสี่วันก่อนได้ปลาลูกเบร่มา 10 กิโล แต่บางวันก็ได้น้อย บางวันก็ไม่มีเลยเพราะน้ำอย่างเดียว”

            ปัจจัยเรื่องน้ำดีและน้ำเสียในธรรมชาติเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งนี่คงเป็นอีกเหตุผลที่ทั้งทาง NIA และมหาวิทยาลัยทักษิณเล็งเห็นถึงสิ่งนี้ แล้วหันมาร่วมมือกันในการเพาะเลี้ยงในระบบปิด เพื่อให้ง่ายต่อการเพาะพันธุ์ปลาส่งออกขายมากยิ่งขึ้นด้วยนั่นเอง

            คุณป้านำปลาที่โชว์เราไปเก็บไว้ในถัง ก่อนจะปีนขึ้นบันไดของยอแล้วทิ้งน้ำหนักตัวที่มีลงบนแกนเชื่อมไม้โยงยอ เพื่อให้มุ้งยอยกขึ้นจากน้ำให้พวกเราได้ดูกันชัดๆ เห็นแบบนี้แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่าการเป็นชาวประมงไม่เพียงแค่ต้องร่างกายแข็งแรง แต่ต้องมีทักษะเรื่องการใช้อุปกรณ์อย่างช่ำชองจริงๆ

            เรียนรู้เรื่องปลาลูกเบร่กันหนำใจ พี่คนพายเรือก็เริ่มเก็บไม้พายแล้วเปลี่ยนเป็นสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อให้ไปถึงจุดชมวิวได้เร็วขึ้น

            เพราะตอนนี้ใกล้ถึงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว

            เราชื่นชมแสงแรกของเช้านี้กันสักพัก ก่อนจะนั่งเรือให้น้ำกระเซ็นเข้ามากระทบแขนกันยาวๆ เพื่อไปที่สะพานเอกชัยอีกครั้ง ในวันแรกเราชมสะพานเอกชัยด้วยมุมที่มองจากบนสะพาน แต่วันนี้เราได้มองผืนน้ำในมุมมองเดียวกันกับชาวประมง 

            ระหว่างทางที่นั่งเรือไปสะพานเอกชัย เราเห็นเกาะเล็กๆ กลางทะเลสาบ มีป่าน้อยใหญ่อยู่ขนาบข้างทะเลสาบเต็มไปหมด พี่คนพายเรือชี้ป่าข้างทางให้เราดูว่า ป่าโซนนั้นมีลิงป่าอาศัยอยู่เต็มไปหมดเลย เรามาถึงสะพานเอกชัยกันอีกครั้ง ยังคงเห็นเจ้าควายน้ำที่กินหญ้ากันอย่างขะมักเขม้น ควายน้ำเหล่านี้สามารถอยู่ได้เองตามธรรมชาติ โดยที่เจ้าของแทบไม่ต้องเลี้ยงต้อนเข้าคอกแบบควายนาด้วย

            พวกเราชื่นชมภูมิทัศน์ของทะเลน้อยกันอย่างจุใจ ก่อนที่เรือลำน้อยสองลำจะติดเครื่องยนต์หันหางเรือกลับท่า เพื่อส่งผู้โดยสารให้กลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

            ทริปสองวันนี้ช่างอิ่มเอมและจุใจ ทำให้เราได้เห็นความเป็นพัทลุงในมุมมองแตกต่างที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน และเราเองก็เชื่อว่าหากใครได้ลองไปสัมผัสพัทลุงสักครั้ง จะต้องรู้สึกอยากกลับไปเยือนเมืองแห่งนี้อีกรอบอย่างแน่นอน

ภาพประกอบเสริม: สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


หากใครสนใจแพ็กเกจท่องเที่ยวสไตล์คนท้องถิ่นพัทลุง สามารถติดต่อผ่านทางวิสาหกิจชุมชนบ้านชายคลองปากประ โทร.091-848-5919 (ผู้ใหญ่สุชาติ) โดยทัวร์ 2 วัน 1 คืนมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,990 บาทต่อคน

Contributors

Contributors

เด็กมนุษย์ฯ ผู้ชื่นชอบการออกไปเดินเที่ยวคนเดียว เอนจอยกับการเต้นและการกิน ปัจจุบันกำลังพยายามใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด