คนเหี้ย101 คอนเทนต์ใหม่ของ Rhythm ที่จะพาคุณมาทำความเข้าใจและรู้จักกับคนเลี่ยหู้ เอ้ย! คนเตี้ย เอ้ย! คนเอี้ย เอ้ย! คนเหี้ยยย หลากรูปแบบจากคนหลายอาชีพ ที่เข้ามาแต้มสีสันและอาจสร้างทั้งแผลที่แฝงพร้อมกับบทเรียนชีวิตให้คุณ หรืออาจจะเป็นตัวคุณเองที่เข้าไปเป็นคนไม่น่ารักในชีวิตของคนอื่น ย่อมสามารถนำประสบการณ์แสน here เหล่านั้น มาบันทึกไว้รวมกันที่คลาสเรียน “คนเหี้ย101” กันได้เลย!
โดยคนแรกที่จะมาประเดิมเปิดคลาสคนเหี้ย101 กับ Rhythm ในครั้งนี้คือแขกที่เรารู้สึกตื่นเต้น และยินดีอย่างมากที่ได้คุยกับเขาคนนี้ คุณหนุ่ย-ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอนและที่ปรึกษาด้านการตลาด ที่จะพาเราเข้าสู่บทเรียนการรับมือกับคนเหี้ย จากไบเบิลที่คุณหนุ่ยได้เผชิญในสายอาชีพการตลาดและเอเจนซี่ เชื่อว่าสายงานนี้คงมีตั้งแต่ บรีฟเหี้ย ทำงานชุ่ย ไปจนถึงการพบเจอบุคคลที่โลกหมุนโคจรรอบตัวเอง มาหาคำตอบถึงการรับมือกับคนเหี้ยไปกับคุณหนุ่ยได้ในบทความนี้กันได้เลย!

นิยามคนของคนเหี้ย ฉบับหนุ่ย-การตลาดวันละตอน
การเจอคนนิสัยไม่ดี คนแย่ๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตที่ผมเชื่อว่าทุกคนได้เจอกันทุกคนอยู่แล้ว และเราเองก็อาจจะเป็นคนเหี้ยในชีวิตของบางคนด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีใครเป็นมนุษย์ผู้ดีเลิศในทุกมุมกับทุกคนได้แน่นอน แต่ว่าเราต้องพยายามระวังไม่ให้ตัวเองเป็นคนเตี้ยโดยไม่จำเป็น หรือเป็นไปโดยไม่รู้ตัวดีกว่า
นิยามของคนเหี้ยสำหรับผมมันก็เลยมีสองแบบ คือ คนที่ไม่ดีโดยเจตนาและคนที่ดีโดยไม่เจตนา ยกตัวอย่างคนที่ไม่ดีโดยไม่เจตนาก่อน ว่ากันง่ายๆ คือ ผมอาจจะบังเอิญไปเดินชนคนอื่นโดยไม่รู้ตัว จึงไม่ได้ขอโทษเขา ในวินาทีนั้นผมก็อาจจะเป็นคนเหี้ยต่อคนอื่นโดยไม่เจตนาไปเสียแล้ว เพราะผมทำลงไปโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้ตัวครับ
ส่วนแบบการเป็นคนไม่ดีโดยเจตนาคือ การรู้ตัวว่าสิ่งนั้นผิดแต่ก็ยังทำ ผมต้องบอกว่า มนุษย์เรารู้ดีครับว่าอะไรคือ common sense ยิ่งโตขึ้นเรายิ่งได้เรียนรู้ โดยเฉพาะสังคนในที่ทำงาน ซึ่งคนที่ไม่ดีโดยเจตนาสำหรับผม ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบเพื่อนร่วมงานโดยตั้งใจ ผลักภาระให้เพื่อนร่วมงานโดยตั้งใจ หรือทำบรีฟห่วยๆ มาแล้วก็โยนให้ฝ่ายครีเอทีฟไปทำต่อแบบงงๆ คนเหล่านี้ทำเพราะความเคยชินที่เคยทำ และตั้งใจทำเพราะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่าคนอื่น ผมคิดว่านี่แหละคือคนไม่ดี
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมหนังสือประเภทที่ ‘How to อยู่ร่วมกับคนเฮงซวย’ ถึงได้ขายดีมากๆ ผมได้ค้นพบว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวของคนเรา มักจะมีคนที่เราไม่ชอบหน้ากันอยู่เสมอ แต่เราหนีคนแบบนี้ไม่ได้ เราจึงต้องอยู่กับมันให้เป็น และต้องหาวิธีที่จะดีลกับมัน
รูปแบบของคนเหี้ยฉบับวงการเอเจนซี่/การตลาด
โอ้โฮ แทบจะเขียนเป็นไบเบิลได้เลยนะ (หัวเราะ) แต่คุยกันเป็นข้อๆดีกว่า
ข้อแรก การทำงานตัวเองให้ง่ายแต่ลำบากคนอื่น การทำงานให้ “ง่าย” กับการทำงาน “มักง่าย” ไม่เหมือนกันนะ การทำงานให้ง่ายคือทำให้ง่ายกับทุกคน แต่การทำงานมักง่ายคือโยนๆ งานออกไป
เมื่อก่อนผมเป็นครีเอทีฟ ผมก็ต้องไปหา reference ที่ดีพอ เพื่อที่จะบรีฟทางฝ่ายกราฟิกให้เข้าใจตรงกันว่าผมต้องการงานแบบไหน ผมใช้ระยะเวลาในการรวบรวม reference เต็มวัน จนบางคนแซวผมว่า ผมค้นหาข้อมูลเยอะจนเหมือนเป็นคนเรื่องเยอะขนาดนี้ ทำไมไม่ทำเองไปเลย แต่ผมมองว่ามันคือการพยายามทำให้คนอื่นทำงานต่อได้ง่ายขึ้น และเพื่อสื่อสารภาพในหัวของผมออกมาได้อย่างชัดเจน
ข้อที่สอง การเอารสนิยมของตัวเองเป็นที่ตั้งกับทุกสิ่ง ข้อนี้สำคัญมากในวงการเอเจนซี่และการตลาดเลยนะ เพราะจะมีพวกที่ติเตียนงานคนอื่นด้วยการจั่วหัวว่า “พี่ไม่ชอบ” “พี่ว่า..ดีกว่า” ผมเองก็เคยเป็นแบบนั้น ซึ่งพอผมรู้ตัวแล้วว่าผมเคยเป็นแบบนั้น ผมก็รีบแก้ไขตัวเอง ปรับความคิดและทำความเข้าใจว่าเรื่องรสนิยมมันเป็นเรื่องของปัจเจกมากๆ ซึ่งหนักสุดสำหรับผมคือการที่โดนเจ้านายบอกกับผมว่า งานของผมรสนิยมไม่ดีเลย ซึ่งในเวลาต่อมาผมก็ลาออกจากบริษัทนี้ ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะเคารพและหาตรงกลางในเรื่องรสนิยมของเพื่อนร่วมงาน จนไปถึงการหาตรงกลางระหว่างรสนิยมของทีมและลูกค้าด้วย สองข้อที่ผมว่ามานี้ เป็นข้อที่ผมค้นพบในคนเหี้ย และเป็นสองข้อที่ผมเลือกไม่ทำในวันที่ผมได้เป็นหัวหน้าของคนหลายชีวิตครับ
วิธีรับมือกับคนเหี้ยทั้งสองรูปแบบ
การเอาตัวเองออกมาถือเป็นการลัดเลยนะครับ แต่ก่อนจะรู้จัดการหนีเพื่อตัดปัญหาได้ ผมเคยอดทนกับคนเหล่านี้แทนที่จะตัดปัญหาด้วยการหนีออกมา ซึ่งการที่ได้ลองทนกับคนเหล่านี้ ทำให้ผมรู้ว่าจุดไหนที่ไม่ควรทนอีกต่อไป ต้องบอกว่าผมไม่ได้เกิดมาในบ้านที่รวย ฉะนั้นการลาออกเพื่อหนีคนเหี้ยในทันทีมันเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ผมเลยต้องหาลู่ทางรองรับและอดทน อดทนจนเริ่มเข้าใจวิธีรับมือกับคนเฮงซวยในแบบฉบับของผมเอง เราต้องถามตัวเองว่า ทนแล้วคุ้มไหม? บางครั้งทนแล้วไม่คุ้ม สิ่งนั้นก็ทำให้เราเริ่มตัดสินใจได้ในการทนกับคนแย่ๆ ในแบบของเราครั้งต่อๆ ไปได้
ถ้าในกรณีที่เราหนีไม่ได้ ผลงานคือเกราะป้องกันที่ดีครับ เมื่อเรามีผลงานที่ดี เพื่อนร่วมงานก็จะมีความเกรงใจต่อเรามากขึ้น เพราะเขาจะเริ่มรู้ว่าถ้าทำกับเราไม่ดีจะส่งผลอย่างไรต่องานของเขาไปด้วย งานที่ดีของเราเองจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าเราอนุญาตให้คนอื่นมาทำตัวเป็นคนเหี้ยใส่เราได้หรือเปล่า
แต่ก่อนที่ผมเองจะเป็นหัวหน้าที่ดี หรือไม่ทำตัวเป็นคนแย่ๆ ในชีวิตของคนอื่นได้ ผมเองก็เคยเป็นในแบบที่ตัวเองไม่ชอบมาก่อนเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วการที่ทำเป็นเผลอเป็นคนไม่ดี ผมว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ เราเพียงต้องหมั่นตรวจสอบตัวเอง ต้องเท่าทันตัวเองว่าเรากำลังเป็นคนแบบไหนอยู่ ทริคสำหรับผมคือ หลายๆ ครั้งก็อย่าเพิ่งรีบโยนความผิดให้คนอื่นเลยครับ ควรหันกลับมาลองถามตัวเองก่อนว่าเราผิดไหมในสถานหารณ์นั้นๆ หรือเราผิดในมุมมองของคู่กรณีของเราไหม หรือมีมุมไหนที่เขายังไม่เข้าใจเรา และเราเองก็ไม่เข้าใจเขาเช่นกัน ดังนั้นนอกจากการหนีจากคนเหี้ยและการสร้างเกราะป้องกันปัญหาด้วยงานที่ดีแล้ว เราเลือกที่จะเรียนรู้มุมมองของอีกฝ่ายได้ เพื่อไม่ให้เราเองเป็นคนเหี้ยแบบเขาด้วยครับ
อีกอย่างที่อยากฝากไว้คือ เมื่อเราเจอคนที่ไม่ดีในที่ทำงาน เรามีหน้าที่แค่ถอดอารมณ์ตัวเองออกมาให้ได้ อย่าเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นมากเกินไป เพราะสุดท้ายยังไงก็ต้องมีคนที่ไม่ชอบหรือไม่พอใจเราเสมอ คนที่เขาไม่พอใจเรา เขาก็อาจจะเป็นคนเหี้ยในชีวิตเรา และเช่นเดียวกันเราก็เป็นคนเหี้ยในชีวตเขาด้วย คนเราล้วนต่างความคิด คุ้มจริงเหรอที่ต้องจูนความคิดกับคนเหี้ย
ถ้าไม่คุ้มก็ควรปล่อย เพราะคนเราเกลียดกันได้ไม่นาน
เดี๋ยวเขาก็ไปเกลียดคนอื่นต่อเอง
วิธีรับมือกับคนเหี้ยไม่มีสูตรลัด แต่ประสบการณ์สอนให้ปรับตัว
สรุปวิธีรับมือสั้นๆ ก็คงต้องบอกว่า เราต้องหัดอยู่ให้เป็น พยายามยุ่งเกี่ยวกับคนเหล่านี้ให้น้อยที่สุด แล้วจึงค่อยพยายามถีบตัวเองออกมาจากสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ แต่ก่อนที่จะเดินออกมา ก็ต้องอยู่ให้เป็นเย็นให้พอรอให้ได้ อดทนเพื่อสร้างสถานะทางสังคมให้มากขึ้น อดทนเพื่อสร้างคอนเนกชัน หรืออดทนเพื่อเงินทองที่มากขึ้นจนกว่าจะพร้อมถีบตัวเองจากตรงนั้น
ผมเชื่อว่าเมื่อเราอดทนมากพอ และพาตัวเองหนีจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างจากระดับเดิม หรือการไต่ระดับไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้น ผมเรียนรู้ว่า ในระดับที่สูงขึ้นเราจะเจอคนแย่ๆ น้อยลงในสังคมวัยทำงาน เพราะคนเก่งคือคนที่เลือกสังคมได้ และคนที่เก่งมักเลือกคนที่เก่งเหมือนกันให้ขึ้นมายืนให้จุดเดียวกัน และแน่นอนว่าคนมักอยู่ในสังคมเป็น มีความเคารพต่อเพื่อนร่วมงาน ฉะนั้นแล้วความอดทนและการรู้จักปรับตัวเพื่อรอสิ่งที่ดีกว่า จึงเป็นไบเบิลในการรับมือกับคนเหี้ยสำหรับผมเลยครับ

ถ้าเลือกได้อยากเจอคนเหี้ยอยู่ไหม
เจอเป็นสีสันชีวิตก็พอนะครับ (หัวเราะ) จริงๆ คนนิสัยไม่ดีไม่ค่อยน่ากลัวหรอก เพราะถ้าเป็นคนที่แย่แต่ไม่มีอำนาจ ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวครับ แต่มันจะน่ากลัวก็ต่อเมื่อคนแย่ๆ กลับเป็นคนที่มีอำนาจ เพราะนั่นหมายความว่า เขาสามารถทำอะไรกับชีวิตเราก็ได้ แต่อย่างที่บอกว่าถ้าเราไต่ระดับขยับสิ่งแวดล้อมขึ้นมาอยู่ในจุดที่สูงขึ้น เราก็จะไม่ค่อยพบเจอคนแบบนี้แล้วครับ เพราะฉะนั้นการได้เจอคนแย่ๆ บ้างอาจเป็นการสอนบทเรียนชีวิตให้กับเราได้ด้วย
หนุ่ยได้รับบทเรียนแบบไหนจากคนเหี้ย
สอนความอดทนครับ (หัวเราะ) เหมือนเล่นเกมแล้วเจอสัตว์ประหลาด ด่านแรกๆ ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องชนะมันมายังไง แต่พอได้เล่นรอบต่อไป ผมก็เริ่มเรียนรู้ว่าจะโค่นมันยังไงได้บ้าง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีแพทเทิร์นการเล่นเกมของตัวเองเสมอ การเก็บเลเวลไปเรื่อยๆ ก็เปรียบเสมือนการเรียนรู้ผู้คนเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราแกร่ง และเลือกเป็นคนในแบบที่เราอยากเป็น พร้อมๆ กับการเลือกที่จะไม่เป็นในแบบไม่ชอบด้วย ผมเชื่อว่าคนเราจะเริ่มมีเช็กลิสต์ นิสัยที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งเราจะเริ่มเป็นตัวเองที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราเจอด่านที่ยากขึ้นหรือเจอกับคนแบบนี้บ่อยๆ ครับ
อยากฝากอะไรถึงคนเหี้ย
คนที่อาจจะยังทำไม่ดีกับคนอื่นอยู่ อยากให้ลองกลับมาพิจารณาตัวเองก่อน สิ่งที่เขาไม่ชอบเรา ถ้าเราปรับปรุง มันจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นไหม ถ้าปรับปรุงแล้วดีขึ้น มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ทำ บางครั้งการรับฟังความจริงที่ไม่ระรื่นหูอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่รับฟังและเลือกมาปรับปรุงแล้วชีวิตอาจจะดีขึ้น ผมเชื่อว่าคุณจะเป็นคนที่ใครๆ ก็อยากเข้าหา รวมถึงโอกาสในชีวิตต่างๆ ที่คุณไม่คาดคิดจะค่อยๆ ไหลมาหาคุณ หวังว่าคุณจะกลายเป็นคนที่น่ารัก และเป็นคนที่ใครๆก็อยากจะช่วยสนับสนุนให้คุณไปได้ไกลขึ้นในวันข้างหน้าครับ