แม็ก-เจษฎา หงษ์เจริญ ยังยืนยันว่าเขาเป็นคนยุ่ง
ถ้าคุณถามว่ายุ่งขนาดไหน แม็กก็ตอบได้อย่างชัดเจนและรวดเร็วว่า ยุ่งซะจนไม่สามารถแทรกคิวสัมภาษณ์ลงไปในตารางงานประจำที่ทำอยู่ได้ (ถ้าไม่นัดก่อน) พ่วงด้วยการรับงานสอนที่กินเวลา 1 วันของทุกสัปดาห์ไปอีก ดังนั้นถ้าเราจะขนานนามเขาว่าเป็น ‘Music Composer คิวทอง’ ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงมากนัก
‘ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ยุ่งขนาดนั้นหรอก เพราะก็ไม่ได้สอนวันธรรมดา แต่อาชีพหลักยังคงทำดนตรี โดยเฉพาะดนตรีประกอบ ประกอบทุกอย่างเลย หนัง โฆษณา ละคร ละครเวที’
ขอบเขตงานของการเป็น Music Composer ในปีนี้ของแม็กยังคงน่าตื่นเต้นและสดใหม่อยู่เสมอ แม้หลายครั้งพ่วงมาด้วยเดดไลน์ที่บีบคั้นกับบรีฟงานที่แสนน่าสงสัย แต่เพราะเป็นสิ่งที่ชอบและสนใจ ทุกผลงานจึงเต็มไปด้วยมาตรฐานและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้ามากมายตลอดมา
แต่กว่าจะเป็นคนทำงานได้ขนาดนี้ แม็กเองก็ผ่านการเรียนรู้และประกอบร่างอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งกินเวลานับจากวันที่เริ่มต้นในวงโยธวาทิต จนถึงวันที่สอบเข้าคณะดุริยางคศิลป์ จนพบเจอความชอบของตัวเองและยึดมั่นอาชีพ Music Composer เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและความฝัน
เราจะพาคุณไปค้นแมททีเรียลของ ‘สิ่งประกอบสร้าง’ ว่าส่วนประกอบแบบไหนกันที่ทำให้แม็กเป็นแม็กได้แบบปัจจุบัน

Composing
จุดเริ่มต้นจนถึงวันที่ทำดนตรีเป็นอาชีพหลัก
ตอนเราสอบเข้าเราก็คิดเหมือนเด็กมหิดลทั่วไปแหละ คืออยากเป็นนักดนตรี แรกสุดเลยคืออยากเป็นนักดนตรีในวงออเคสตร้า แต่เราไม่เคยทิ้งสิ่งที่เราชอบที่สุดคือการดูหนัง เราชอบเพลงประกอบภาพยนตร์ฝรั่ง ดังนั้นพอเราเรียนไปแปปนึงเราก็เจอละเออเราชอบอันนี้นี่หว่า ก็เลยเริ่มเบนสายมาทางการแต่งเพลงก่อนเพราะว่าตอนที่เข้าปริญญาตรีน่ะ มันต้องมีการสอบแยกแขนง ผมก็เลือกสอบวิชาคอมโพ แต่สอบไม่ติดนะ แล้วขี้เกียจสอบใหม่ เลยเรียนดนตรีภาคปฏิบัติต่อไปควบกับเรียน composition ไปด้วย แล้วก็หาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับดนตรีประกอบไปด้วย จากตอนนั้นเราก็ปักธงเลยว่าสักวันเราจะทำอาชีพนี้แหละ ก็ลองดูว่ามันจะไปได้ถึงตรงไหน
ศักยภาพที่เค้นมาใช้ในการเป็น Music Composer
ตอบยากแฮะ ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความรู้สึก อย่างแรกเลยคงตอบว่าดีใจก่อนอะครับเฮ้ยอย่างน้อยที่สุดอาชีพที่เราเลือกมันก็เป็นอาชีพที่ทำเงินได้ประมาณนึง แต่ในแง่จิตใจเรารู้สึกว่าต้องพัฒนาไปอีกเยอะมากๆ เพราะคู่แข่งในตลาดมันก็เยอะเหมือนกัน
ทุกข์ของนักดนตรียุคนี้
ไม่แน่ใจว่าเป็นของนักดนตรียุคนี้หรือเป็นมาตั้งนานแล้ว แต่เราแค่รู้สึกว่าทุกคนที่ทำอาชีพสายศิลป์อะฮะ ถ้าพูดถึงแค่ดนตรีเราเชื่อว่าแทบทุกคนที่่จำเป็นต้องทำดนตรีเป็นอาชีพ หรือต้องขลุกอยู่กับมัน ค่อนข้างใช้เรื่องของสติ อารมณ์ ดังนั้นผมว่าทุกข์ของคนดนตรีน่าจะเป็นเรื่องมู้ดมากกว่า
อย่างบางคนที่เขาเป็นนักดนตรีกลางคืน คือโอเคเขามีสกิลแหละ แต่ว่าเขาคงต้องใช้มู้ด ใช้ความรู้สึกของเขาในการเอนเตอร์เทนคน แต่ถ้าส่วนตัว ผมเองที่ทำดนตรีประกอบ ก็คิดว่าเป็นเรื่องมู้ดและอารมณ์เหมือนกัน เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ ของงานอะครับมันต้องทำให้ทันเดดไลน์ เพราะฉะนั้นต่อให้บางทีเราไม่มีอารมณ์เราก็ต้องแบกต้องฝืนน่ะ


ทุกข์ของ Music Composers ที่ไม่ใช่มู้ด
อันนี้น่าจะพูดได้แค่ฝั่งประสบการณ์ตรงของผมเอง คิดว่าทุกข์เรื่องแรกเลยน่าจะเป็นเรื่องเงิน (หัวเราะ) เพราะว่าอย่างที่รู้ๆ กันน่ะครับ ประเทศไทยค่าเงินค่างานมันไม่ได้สูงมาก เพราะฉะนั้นแล้วลูกค้าจะคาดหวังงานที่ดีในงบที่จำกัด แล้วพอมันมีเรื่องงบเข้ามาเกี่ยวข้อง มันเลยอาจจะเป็นตัวบีบให้เราต้องผลิตงานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้
อ๋อ อีกอันคือบรีฟไม่ชัดเจน อันนี้แทบจะเกือบทุกงานเลยที่โดน มันมีทั้งในทางที่ดีและในทางที่ไม่ดีเหมือนกันนะ หนักหน่อยที่โดนคือขอให้ลองทำมาดูก่อน ยังไม่รู้เหมือนกันว่าอยากได้แบบไหน อื้มจะเป็นแบบนั้น คือแค่อ่านบทเฉยๆ เนี่ยนึกภาพไม่ออกหรอก ดังนั้นลองไปทำมาดูก่อนแล้วกัน เอามาเผื่อเลือก ถ้าเจอเคสแบบนี้เราก็อาจจะต้องทำตัวเลือกมาสัก 5 แบบ 7 แบบ แล้วสุดท้ายเขากลับไปเลือกตัวแรก (หัวเราะ)
หรืออีกเคสที่ดีคือ ลูกค้าไว้ใจเรามาก และให้อิสระในการแต่งเพลง เราก็จะสามารถปลุกปั้นมันได้อย่างเต็มที่ แล้วถ้ามีปรับแก้นิดๆหน่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย
ทุกข์อีกอย่างคือข้อจำกัดในการทำเพลง อันนี้น่าจะพ่วงไปถึงเรื่องเงินด้วยเนอะ สมมติว่าถ้าบัทเจทมันน้อย แล้วเราแบ่งบัทเจทออกมาในเรื่องของการอัดเสียงอะไรแบบนี้ บางทีก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าเครื่องดนตรีบางประเภทก็อาจจะต้องใช้คนเล่นทำให้งบตรงส่วนนี้มันก็โดนตัดไปอีก


ลูกค้าน่ารัก งานดีงานสนุก ในทัศนคติของแม็ก
ส่วนตัวเลยคิดว่าอย่างแรกน่าจะต้องรู้จักเราก่อน คือมาจ้างเราเพราะชอบสไตล์ที่เราทำเพลง อันนี้อย่างที่หนึ่ง ส่วนอย่างที่สองจะไปอยู่ในแง่ของวิสัยทัศน์ของลูกค้า อย่างน้อยเนี่ยถ้าเขาชัดเจนว่าเขาอยากได้แบบไหน เราก็จะทำงานง่าย แบบบอกเราว่าเขาอยากได้แบบนี้ ประมาณนี้ แค่บอกกรอบเรามามันก็จะทำงานง่ายละ สมมติว่าถ้าเขากำหนดขอบเขตของเขามาชัดเจน งานมันก็จะแก้ไม่เยอะเอง
อันนี้เล่าแล้วกัน เมื่อต้นปีผมมีโอกาสได้ทำโฆษณาจีนตัวนึง เป็นขนมอะไรสักอย่างของจีนนี่แหละ คือตอนแรกทางลูกค้าเขารู้อยู่แล้วว่าเขาอยากได้อะไร เขารู้แหละว่าอยากได้เพลงประมาณนี้ แต่เขาแค่ยังนึกภาพไม่ออกว่า เพลงที่เขาอยากได้พอมารวมเป็นโฆษณาเวลานาทีครึ่งเนี่ยหน้าตามันจะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นขั้นตอนที่เราทำคือเราเลือกเรฟมาให้เขาเลยว่าท่อนนี้จะเป็นแบบนี้ๆ แล้วสรุปคือเขาเอาตามนั้นเลย แล้วผมก็แต่งเพลงตามโครงสร้างนั้น ท้ายที่สุดเพลงไม่ได้แก้เลย ได้แก้แค่ขยับตามภาพที่เขาตัดมาใหม่เฉยๆ อันนั้นคือดีประมาณนึงเลยเท่าที่เจอมา
มีลูกค้าที่เกินความคาดหมายมาจ้างงานบ้างมั้ย
มีเอ๊ะแค่ลูกค้าเจ้าใหญ่จัง แต่ครั้งแรกไม่รู้สึกอะไรนะ เพราะมันก็เหมือนๆ กันทุกงาน แต่ส่วนตัวจะรู้สึกพิเศษมากถ้าเขามาจ้างซ้ำ จ้างรอบแรกจะรู้สึกแบบเออดีเนอะ ไหนดูซิว่าเราจะทำให้เขาประทับใจได้มั้ย แต่ถ้าเขามาจ้างซ้ำสิ่งนั้นมันพิเศษมากกว่า

Orchestration
สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเป็น Music Composer ของแม็ก หงษ์เจริญ

Harry Potter เลยครับ โดยรวมแล้วกันทั้งหมดเลยทั้งนิยายทั้งตัวหนัง เพราะเราเป็น Potterhead (ชื่อแฟนคลับแฮร์รี่พอร์ตเตอร์) อยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเราจะเป็นติ่งในทุกๆ อย่างของ Harry Potter เพราะงั้นเราจะรู้ว่านักแสดงคือใคร เนื้อเรื่องเป็นยังไง ภาคไหนใครกำกับ ใครเป็นคนทำเพลง เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ว่า อ๋อ John Williams คือคนทำเพลงนะ แล้วพอเรารู้ปั๊ป เอ้า ลุงแกทำ Star Wars ด้วยนี่หว่า เอ้าลุงแกทำ Jurassic Park ด้วยนี่หว่า ทำนั่นทำนี่ด้วย คือรู้จักมากไปเรื่อยๆ จนสรุปได้ว่า ลุงเป็นเบอร์ใหญ่ในวงการ แบบระดับโลกเลย เขาก็เลยกลายเป็นไอดอลของเราไปด้วย เราก็เลยเริ่มติดตามงานเขา เริ่มศึกษาวิธีการของเขาเวลาเขาแต่งเพลง

ภาพ: Spotify
อีกคนที่มีอิทธิพลมากคือ Alexandre Desplat อันนี้มารู้จักตอนช่วงโตแล้ว ตอนเริ่มปริญญาตรี ตลกดีว่ะ เพราะคนนี้ก็รู้จักจาก Harry Potter เหมือนกัน เป็นคนทำ Harry Potter and the Deathly Hallows
ทั้ง 7.1 (2010) กับ 7.2 (2011) ก็เลยไปหาข้อมูลจนรู้ว่าเอ้า เขาทำ Twilight ภาค 2 New Moon (2009) ด้วยนี่หว่า แล้วก็ค่อยไปเจอว่าเอ้าเขาทำนู่นทำนี่ด้วย ก็เลยไปฟังเพลงของเขา ดังนั้นส่วนผสมในการแต่งเพลงของเราเลยจะมาจากสองคนนี้ปนกัน ติดมาโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่รู้
อันอื่นที่มีอิทธิพลอีก… โห ยากอะ ยากเหมือนกันนะ เพราะจริงๆ มันหลายอย่างมากเลยที่ผสมกันออกมาให้เราเป็นเรา จริงๆ งานที่เราทำมาตั้งแต่แรกอะครับ ก็เป็นเหมือนอิทธิพลให้เราด้วยเหมือนกันนะ เพราะงานแรกๆ ทำให้เราได้รู้ว่า อันนี้คือสิ่งที่เราควรทำ อันนี้คือสิ่งที่เราไม่ควรทำ แล้วก็จะได้เรียนรู้เพื่อมาทำงานต่อไปของเราว่าถ้าเจองานแบบนี้ควรจะต้องทำตัวแบบนี้นะซะมากกว่า
งานแรกๆ ที่มีอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน
ถ้างานช่วงแรกๆ สุดเลยน่าจะเป็นงานหนังผี เพราะสตูดิโอที่เราอยู่เด่นเรื่องหนังผีมากๆ แต่คือตอนเราเริ่มเข้ามาทำงาน เราเริ่มด้วยการเข้ามาแต่งเพลงให้หนังพวก Documentary ก่อนนะ เป็นหนังไทยแต่ว่าเอาไปฉายต่างประเทศ คือชื่อแรกมันคือ Buffalo Rider วิ่งควาย เพราะเนื้อเรื่องมันเกี่ยวกับประเพณีวิ่งควาย แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนชื่อไปแล้วเป็นอะไรก็ไม่รู้ มีเรื่องนั้นแล้วก็มีหนังไทยหนังผี เพราะที่บริษัทเขาดังเรื่องหนังผี เราเลยทำเรื่องผีเยอะมาก ทั้งผีไทย ผีนอก และซีรีส์ผี คือพี่นครก่อนที่เขาจะเปิดบริษัทเขาดังเรื่องหนังผีมาก่อนอยู่แล้ว เขาทำ Sound Design เรื่องชัตเตอร์กดติดวิญญาณ (2004) เขาทำเรื่องนี้ด้วยนะ The Warlords (2007) คือทำเยอะเลย แต่แค่ชัตเตอร์ก็เดือดแล้ว น่ากลัวมาก ซึ่งงานพวกนี้ก็คืองานที่มีอิทธิพลเหมือนกัน
อะ 3 แล้วเนอะ ยากว่ะ ยากจัง (หัวเราะ)

ภาพ: Divine Art Recordings
จริงๆ มี Composer อีกคนนึง แต่คนนี้ไม่เกี่ยวกับฟิล์ม สมัยเรียน Performance อะ ยุคที่เราเรียนมันจะมี American Composer ชื่อ Eric Ewazen เขาเป็นคนแต่ง Repertoire สำหรับเครื่อง Brass แบบทรัมเป็ต ทรอมโบน ในยุคนั้นคนก็จะนิยมเล่นเพลงของเขานี่แหละ แล้วเผอิญเพลงเขาเพราะ ดังนั้นตอนเราเรียนเราเลยแอบดึงเอาส่วนประกอบบางอย่างของเขาเก็บใส่หัวเอาไว้ ความพีคคืออะไรรู้มั้ย คือเพิ่งมารู้ทีหลังว่าเขาคือเพื่อนสนิทของอาจารย์ที่สอนเรา แบบสนิทกันเลย อาจารย์ที่สอนเราชื่อ Philip Bink แล้วเขาก็เป็นเพื่อนกัน อาจารย์ยังบอกเลยว่านี่ Eric เอาเพลงมาให้เล่น เดี๋ยวผมเชิญเขามาทำ Masterclass ที่ไทยได้นะ แล้ววันดีคืนดีก็เชิญมาจริงๆ ตกใจนะคือเพลงเขาเพราะแหละ แต่ไลน์ Accom อะยาก ไลน์เปียโนคือแย่เลย คนเปียโนก็จะบ่นอุบอิบว่า ไลน์เปียโนยากกว่าไลน์โซโลเยอะเลย แต่เพลงเพราะ มันคืออเมริกันสมัยใหม่
อีกอันที่มีอิทธิพลให้เราทำงานได้ หนัง ละคร นิยาย….นี่กำลังกวาดในหัวอยู่บ้างว่ามันมีอะไรที่ใช้ได้ (หัวเราะ)

ภาพ: Spotify
ส่วนใหญ่เป็น Composer หมดเลยแฮะ อะอีกคนแล้วกัน Michael Giacchino คนนี้คือเจ้าพ่อดิสนีย์ เพลงหนังของ Disney, Pixars ทั้งยุคโน้นและยุคนี้ด้วย เอาจริงๆ Pixars ที่ทำแล้วดังก็หลายเรื่องนะ the Incredibles (2004), Up (2009) ถ้าเป็นหนังยุคนี้ก็มี Doctor Strange (2016), Spider-Man: No Way Home (2017) กวาดเรียบอะ เขากินอยู่ที่ฝั่งดิสนีย์เลยตลอดไป

ภาพ: American Theatre Wing
เอ้อคิดออกอีกคน แถมได้มั้ย Alan Menken ต้องคนนี้เลย เพราะว่าตั้งแต่ตอนเรียน ม.ปลาย Pre-College เรามีเพื่อนหลายสาขา แล้วเราสนิทกับเพื่อนที่เรียนสาขา music theatre แล้วส่วนตัวเราก็ชอบดูหนัง เราเลยเบนสายมาดูละครเวทีเพิ่มเฉยเลย แบบหาความรู้เพิ่ม ดูนั่นดูนี่ West Side Story แล้วก็เลยลามไปถึงดิสนีย์จนเจอ Alan Menken ว่าเอ้าเนี่ยเป็นพ่อเหมือนกัน แต่เป็นพ่อของการ์ตูนดิสนีย์ไปเลย อยากเป็นแบบเขาเหมือนกันนะ ที่เริ่มทำตั้งแต่ Beauty and the Beast (1991- 2017), Aladdin (1992 – 2019) คือต้นฉบับเป็นเขาทำ จนถึงขนาดรีเมคแล้วก็ยังเป็นเขาทำอยู่ คือพีคมาก

ภาพ: Spotify
แต่ที่แน่ๆ พูดมาขนาดนี้เราก็ต้องรวม Hans Zimmer ไปด้วยแหละ จะข้ามก็คงไม่ได้ Mainstream ลูกค้าชอบ เอาจริงๆ เราคิดว่าเพลงเขาเข้าถึงง่ายยิ่งในยุคหลังๆ นี้ นึกภาพถ้าเราไปดู the Dark Knight แล้วเพลงมันดันเป็น Star Wars มันก็คงไม่เข้า หรือไปดู Inception แล้วเพลงเป็น Godfather เป็นเพลงแอคชันในสมัยก่อนแบบเรื่อง Indiana Jones งี้แล้วเอามาใส่ใน Inception มันก็จะแปลก เพราะอะไร เพราะดนตรีประกอบมันขึ้นอยู่กับบริบท สไตล์ ทิศทาง และยุคสมัยของหนัง มันมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะสามารถแต่งสไตล์เดิม หรือ สไตล์เดียวได้ บท วิสัยทัศน์และการเล่าเรื่องของหนังมีพัฒนาการ ดนตรีก็เหมือนกันครับ พอเป็นยุคนี้ Hans Zimmer เลยเข้าถึงง่ายแหละ เพราะเพลงของเขาเข้ากับบริบทตอนนี้มากแล้ว
Mixing
อวดความเจ๋งของอาชีพ Film Composer
ได้เจอดาราเยอะมาก (หัวเราะ) ได้รู้จักกับคนที่ไม่ใช่แค่คนทำงานฝั่งดนตรีอะครับ เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เจอคนทุกแบบอยู่แล้ว โดยเฉพาะฝั่งโปรดักชั่น ได้รู้จักคนตัดต่อ คนถือกล้อง รู้จักนักดนตรีเก่งๆ เยอะเลยจากการอัดเสียง บางคนเราเพิ่งรู้ว่าคนนี้รุ่นน้องเรานี่หว่า แต่เก่งชิบหายเลย คิดว่าเป็นเรื่องคอนเนคชั่นนี่แหละ หรือถ้าเราบังเอิญได้ทำงานที่ดี เราก็จะได้ดูก่อนคนอื่น (หัวเราะ)
เคยเซ็งกับงานที่ทำออกไปมั้ย
มีดิ บางครั้งพอเราเห็นงานที่ปล่อยบางทีก็อยากจะแก้เหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าทำออกมาไม่ได้ตามที่ตัวเองคาดหวังไว้ อาจจะเพราะด้วยปัจจัยบางอย่าง ณ ตอนที่แต่งเพลง ทำให้บางทีเราอาจจะไม่ละเอียดหรือทำไม่ทันหรือเป็นสไตล์ที่ไม่ถนัด

เรื่องที่เพิ่งเรียนรู้ล่าสุดจากอาชีพนี้
เอาเรื่องที่อาจจะฟังดูดราม่าหน่อยแล้วกัน (หัวเราะ) คืออาชีพนี้มันไม่แน่นอน การแข่งขันมันค่อนข้างสูง ณ วันนึงเราทำงานอยู่ตรงนี้ แต่พอเราหันหลังกลับไปนิดเดียวเราจะเห็นคนที่ทำให้เรารู้สึกว่า โอ๊ย คนนี้เก่งจังเลย ตายแล้วจะทำตัวยังไงดี ซึ่งความจริงคือเขาน่าจะยืนอยู่ตรงนั้นสักพักแล้วแหละ แต่เราแค่ยุ่งเกินจนไม่ได้มองไป คิดว่าเป็นอันนั้น
เห็นปลายทางในอาชีพนี้ของตัวเองยังไง
เห็นหรือคาดหวังครับ (หัวเราะ) ถ้าคาดหวังก็หวังว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไปเรื่อยๆ สิ่งแรกที่คาดหวังให้ตัวเองคืออย่าพิการจนทำให้ทำงานไม่ได้ คิดว่าความคาดหวังคือ คาดหวังให้ตัวเองประกอบอาชีพนี้ไปเรื่อยๆ แล้วให้มันทำเงินไปเรื่อยๆ คาดหวังแบบลมๆ แล้งๆ คือคาดหวังให้ตัวเองมีงานต่อไปตลอดชีวิต และคาดหวังให้เจองานที่น่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าครับ

