ผู้สูงวัย
เราเดาว่า 3 วินาทีแรกหลังจากเห็นคำนี้ของใครหลายคนคงคิดถึงปู่ ย่า ตา ยายของตัวเอง บางคนอาจจะกำลังนึกถึงไม้เท้า บางคนคงนึกถึงเก้าอี้โยกหวาย หรือหลายคนคงกำลังคิดถึงอาหารรสฝีมือคุณย่า
แล้วผู้สูงวัยสำหรับคุณ ยังมีภาพจำอื่นๆ อีกบ้างไหม?
เราให้เวลาคิดอีก 3 วินาที
ยังนึกไม่ออกใช่ไหมคะ?
เราเลยอยากพาหลายคนมาเปิดหู เปิดตา และเปิดใจ เข้าถึงมุมใหม่ๆ ของคนสูงวัยกันค่ะ
“วัย” หรือ “ใจ” ที่ทำให้เราห่างกัน ค้นหาคำตอบของการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัยไปกับเรา
สโลแกนที่เพจ มนุษย์ต่างวัย ได้บรรยายถึงตัวเองเอาไว้ นี่คือสื่อออนไลน์ที่ชวนคนพับเก็บภาพจำเก่า และเปิดใจพบกับตัวตนใหม่ๆ ของคนสูงวัยเก่งแจ๋วที่พร้อมลุยอะไรๆ ใหม่ๆ จนวัยรุ่นอาจคาดไม่ถึง ตั้งแต่การเริ่มทำธุรกิจขายต้นไม้อย่างจริงจัง การทำคาเฟ่ การร้องเพลงแรป จนไปถึงการเป็นแฟนคลับศิลปินตัวยง
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากหยิบยกเรื่องของคนสูงวัยมาเล่าเรื่องกันเท่าไรนัก เพราะคนมักติดภาพจำเก่าๆ ของคนสูงวัยว่าเป็นวัยที่ไม่น่าชม แต่ประสาน อิงคนันท์ ผู้ช่ำชองในด้านงานสื่อโทรทัศน์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ได้กลายมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำสื่อออนไลน์ ผู้ตั้งใจอยากเล่าเรื่องราวของคนสูงวัยที่เชื่อมโยงกับคนทุกวัยด้วยพลังงานบวกที่อบอุ่น
ต่อจากนี้คือเรื่องราวที่เราได้นั่งจับเข่าคุยกับประสาน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมนุษย์ต่างวัย มุมมองที่มีต่อคนสูงวัย และหัวใจหลักที่อยากให้สังคมได้มองคนสูงวัยในมุมมองที่ใหม่ขึ้น
มนุษย์เบื้องหน้า-มนุษย์เบื้องหลัง-มนุษย์ต่างวัย
ลองเส้นทางที่ต่างจากเดิม
เมื่อโลกไม่หยุดหมุน เราเองก็ต้องไม่หยุดก้าวไปข้างหน้า แน่นอนว่าวัย 40 ของประสานก็ยังคงก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกเสมอเช่นเดียวกัน ซึ่งการเปลี่่ยนแปลงตามการหมุนของโลกในวัยนี้ เขาเลือกที่จะก้าวข้ามโลกการทำงานโทรทัศน์ และหันเข้าสู่เส้นทางสื่อออนไลน์
“ตอนอยู่ที่ทีวีบูรพานี่ดีนะ เราเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ดูงานการผลิต ผลิตงานเองด้วย แล้วก็เป็นพิธีกรรายการเองด้วย แต่พอมาถึงระดับหนึ่ง ตอนนั้นเราอายุสัก 39-40 แล้วนะ เราก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตมันอยากขยับแล้ว
“เราว่าทุกอาชีพพอทำไประดับหนึ่งแล้วมันจะเจอจุดอิ่มตัว เพราะทำแบบเดิมอยู่ 10 กว่าปี เราเลยอยากขยับขยาย ทดลองทำอะไรใหม่ๆ บางคนอาจจะมองว่าประหลาดที่เราออกมาจากงานที่ดีตรงนั้น แต่เราว่าถ้าเราไม่ทำสักทีมันอาจจะช้าไป ความกล้ามันจะเล็กลง เมื่ออายุเรามากขึ้นก็เลยตัดสินใจลาออก ”
หลังจากตัดสินใจลาออกเพื่อปลุกไฟและเติมเต็มสิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิต ประสานจึงหันไปรับงานฟรีแลนซ์อยู่ได้ระยะหนึ่ง ก่อนจะมาผลิตรายการให้กับ ThaiPBS
“ตอนที่ออกมาเราไม่ได้มีความรู้สึกอยากตั้งบริษัทใหม่นะ เรามองว่าการเป็นหัวหน้าคนมันลำบาก การตั้งบริษัทมันดูยากนะเพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่มีศักยภาพพอ”
เป็นที่รู้กันดีว่าประสานคนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังได้ดี แล้วอะไรที่ทำให้ประสานมองว่า ตัวเองยังมีศักยภาพไม่มากพอที่จะทำหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าของบริษัท
“ตอนแรกที่เริ่มชวนน้องๆ ในทีมมาทำบริษัทกันเราไม่ได้มีวิธีคิดแบบตอนนี้นะ ตอนนั้นเรามองว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของบริษัท เราทำด้วยกันเหมือนเป็นคอมมูน เราไม่อยากเป็นหัวหน้า แต่พอทำไประดับหนึ่งแล้ว เราเรียนรู้ว่าในโลกความเป็นจริงแล้วมันมีคนนั่งหัวโต๊ะ
“การเริ่มต้นเปิดบริษัทคุณต้องทำตั้งแต่หัวจรดเท้า ทำทุกหน้าที่ พอต้องมีออฟฟิศก็ต้องไปหาโต๊ะทำงาน เครื่องถ่ายเอกสาร ฮาร์ดดิสก์ ต้อทำเองทุกอย่าง ต้องรู้ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องการผลิตไปจนถึงเรื่องบัญชี แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่การใช้ปริ้นเตอร์ ถ้าปริ้นเตอร์แม่งเสีย กระดาษติด คุณจะซ่อมยังไง มันเหนื่อย ใช้เวลามาก ต้องคอยจัดการเรื่องคน ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เพราะคุณไม่สามารถเก่งคนเดียวได้”
การเริ่มต้นของเส้นทางที่แตกต่าง
การเรียนรู้โลกความจริงในวันนั้น ทำให้ประสานกล้าที่ขยับขยายตัวเองมาสู่การเป็นเจ้าของบริษัท
“จุดเปลี่ยนมาจากรายการลุยไม่รู้โรย รายการนี้ผลิตให้กับ ThaiPBS เป็นรายการที่พาไปทำความรู้จักกับผู้สูงวัย ที่มีพลังในการใช้ชีวิต เราว่ามันสนุกดี แต่ตอนเริ่มต้นแรกๆ เราไม่ได้มองภาพรวมแล้วก็ไม่ได้เข้าใจกับสังคมผู้สูงวัยมากเท่าไรนะ ตอนแรกๆ เรารู้สึกว่ามันจะสนุกหรือเปล่าวะ เพราะว่าเรื่องผู้สูงวัยส่วนใหญ่เขาไม่ทำ มันไม่เก๋ ส่วนมากเขาก็ทำเรื่องคนรุ่นใหม่กันทั้งนั้น เพราะประเด็นนี้ไม่เซ็กซี่ แต่เราก็ตั้งใจทำมาก เพราะเชื่อว่าทำให้สนุกได้ เพียงแต่ตอนนั้นเราไม่ได้ไปประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง”
กระทั่ง ThaiPBS อยากทำรายการเกี่ยวกับคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น มุมมองการสื่อสารประเด็นสังคมสูงวัยของประสานก็เริ่มขยายกว้างออกไป
“พอเขาอยากทำรายการผู้สูงวัยมากขึ้น เราเลยต้องค้นคว้าเกี่ยวกับสังคมผู้วัยอย่างจริงจัง ในงานวิจัยหรือข้อมูลจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่า เรื่องสังคมสูงวัย ไม่ใช่เรื่องของผู้สูงวัยเท่านั้น แต่สังคมสูงวัยเชื่อมโยงกับคนทุกวัย ต่างประเทศเขาเริ่มพูดถึงเรื่องอคติระหว่างวัยกันเยอะขึ้นแล้ว ซึ่งมันเคยมีการทดลองนะครับว่าเมื่อพูดถึงคนสูงวัย วัยรุ่นจะคิดถึงอะไร เขาบอกว่ามักนึกถึงไม้เท้า ความอ่อนแอ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีผู้สูงวัยอีกไม่น้อยที่่ยังมีชีวิตที่แอคทีฟ พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงภาพจำเก่าๆ ของคนวัยอื่นๆ ต่อผู้สูงวัย บ้านเราก็เหมือนกันนะ เวลาพูดถึงคนสูงวัยก็จะนึกถึง ไม้เท้า รถวีลแชร์ กิจกรรมเราก็นึกถึงการเต้นลีลาศ เล่นอังกะลุง เล่นเปตองที่คนมักติดภาพจำ แต่จริงๆ แล้วยังมีผู้สูงวัยอีกมากที่ออกมาทำกิจกรรมหลากหลายอย่างที่เราคิดไม่ถึง
“อย่างเรื่องการแต่งตัว ผู้สูงวัยหลายคนเขาอยากแต่งตัวตามสมัยนะ แต่เขาแค่กลัวว่ามันจะเกินวัยหรือเปล่า ตอนนั้นเราเลยชวนนักศึกษาสาขาการออกแบบแฟชั่นที่มศว. มาทำการทดลองด้วย ให้เขาไปออกแบบมาว่าแฟชั่นที่เหมาะกับคนสูงวัยควรเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้น้องๆ คนรุ่นใหม่ ได้เปิดมุมมองใหม่เลยนะว่า ผู้สูงวัยหลายคนไม่ได้เป็นแบบที่พวกเขาคิด หลายคนอยากแต่งตัวสวยๆ ยังอยากออกจากบ้าน แต่ก็ติดเงื่อนไขหลายอย่าง โดยเฉพาะความไม่มั่นใจ ถ้าหากว่าคนในวัยอื่นๆ ไปช่วยเขาเสริมความมั่นใจ เขาก็อยากจะออกมาใช้ชีวิต พอออกมาใช้ชีวิต ก็จะหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ดี”
หลังจากทำงานสื่อโทรทัศน์มาหลายปี กระทั่งเมื่อ 4 ปีก่อน ประสานก็เริ่มขยับมาทำงานสื่อสารบนสื่อออนไลน์ตามที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป
“ช่วงสัก 3-4 ปีก่อน งานออนไลน์มันค่อนข้างเติบโตขึ้น แล้วเรายังอยากทำอาชีพสื่อที่เรารักไปนานๆ เลยไม่สามารถที่จะอยู่เฉย ๆ ได้ ต้องทรานฟอร์มตัวเองกระโดดเข้าสู่โลกออนไลน์จริงๆ อย่างเราเองเป็นคนผลิตสื่อสายโทรทัศน์มานาน จะใช้ออนไลน์ก็ในฐานะผู้ใช้งานซึ่งก็ไม่ได้เข้าใจหัวใจของมันมาก แต่ก็ต้องมาหัดทำและเรียนรู้ใหม่หลายๆ เรื่อง ก็เลยตัดสินใจทำสื่อออนไลน์ ชื่อมนุษย์ต่างวัยขึ้นมา
กว่าจะได้ออกมาชื่อมนุษย์ต่างวัย ทีมงานมีลิสต์รายชื่ออยู่ในมือกว่า 30 รายชื่อ แต่ชื่อมนุษย์ต่างวัย สื่อความหมายถึงสังคมสูงวัยที่เป็นเรื่องของคนทุกวัยได้ดีที่สุด ประสานและทีมงานจึงมาลงเอยกับชื่อนี้
วัย และ หัวใจหลักของการเข้าใจกันในคนต่างรุ่น
สูตรสำเร็จของการเฟ้นหาบุคคลต่างวัย
แม้จะเป็นการกระโดดเข้ามาอยู่วงการสื่อออนไลน์อย่างเต็มตัวแล้ว มีประสบการณ์ทำงานด้านประเด็นสังคมสูงวัยพอสมควร แต่การจะไปเฟ้นหาผู้สูงวัยสุดเก๋าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
“เรายกผลประโยชน์ให้น้องๆ ฝ่ายข้อมูล ในตอนแรกทีมมนุษย์ต่างวัยเล็กมาก ทีมก็มีแค่ 3 คนเอง ตอนเริ่มต้นแรกๆ เราทำงานตามกำลัง เอาพื้นฐานจากการทำทีวีมาผสม เราเอาจุดแข็งที่เราถนัดงานวิดีโอ งานสัมภาษณ์บุคคล การจับประเด็นมาใช้ในการผลิตสื่อออนไลน์ ตั้งใจทำให้งานปราณีต ไม่เหมือนสื่อออนไลน์ทั่่วๆ ไป ”
มนุษย์ต่างวัยในช่วงแรกผลิตชิ้นงานวิดีโอสัปดาห์ละแค่ 2 คลิป เพราะขนาดทีมค่อนข้างเล็ก แต่ยึดหลักในการทำงานว่า เล่าเรื่องผู้สูงวัยให้คนทุกวัยดูได้และอินด้วย
“สมัยก่อนเรายังไม่ได้คิดคีย์เวิร์ดของงานออกมาจริงๆ พอทำเสร็จแล้วก็วัดจากการเอาความรู้สึกของคนอายุ 30 ไปดู หรือถ้าคนอายุ 20 กว่าจะดูคลิปนี้ไหม ปรากฏว่าผ่านไปหนึ่งเดือน คลิปเรามันโดนทุกคลิป คลิปแรกที่เราปล่อยกลายเป็นไวรัลเยอะมาก เป็นคลิปเรื่องผู้สูงวัยกับการส่งไลน์ เราเล่าเรื่องความนึกคิดของผู้สูงวัยในการส่งไลน์ สวัสดีวันจันทร์ วันอังคาร ว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดนั้น ปรากฎว่าคลิปนี้มีคนชอบกันเยอะ คนรุ่นใหม่ก็บอกว่า ดูแล้วเข้าใจผู้สูงวัยที่บ้านว่าทำไมถึงชอบส่งสติกเกอร์ให้ลูกหลาน
“การจะทำเรื่องของคนสูงวัยให้คนต่างวัยดูด้วย มันต้องเชื่อมโยงกันด้วยประสบการณ์ร่วมอะไรบางอย่าง มันไม่ได้ดูแค่ว่าคนแก่คนนี้มีชีวิตอย่างไร เพราะถ้าเราเล่าเรื่องแค่นั้นคงไม่มีคนดูหรอก อย่างมีคุณลุงคนหนึ่งเขาปลูกต้นชวนชม ถ้าเราทำในมุมชีวิตคนสูงวัยปลูกต้นไม้ ก็จะเป็นแค่คุณลุงคนนี้ มีงานอดิเรกทำในช่วงวัยเกษียณ แต่สิ่งที่เราทำคือ ทำให้เห็นว่ากว่าจะเรียนรู้เรื่องการปลูกต้นชวนชม จนกระทั่งกลายเป็นเซียน ผู้เชี่ยวชาญปลูกต้นชวนชมราคาหลักล้านได้ ต้องฝึกฝน อดทน กว่าจะสำเร็จ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน ถ้าอยากจะสำเร็จ ก็ต้องอดทน พยายาม เหมือนกันทั้งนั้น ประสบการณ์แบบนี้แหละ มันจะเชื่อมโยงคนต่างวัย กับผู้สูงวัยเข้าหากันได้”
จำนวนคอมเมนต์และยอดเข้าชมคลิปคนลุงปลูกชวนชมที่พุ่งสูง เป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่ยืนยันวิธีคิดว่า การเล่าเรื่องผู้สูงอายุก็ไม่ต่างจากการเล่าเรื่องวัยรุ่นคนหนึ่งหนึ่งที่ลงมือทำบางสิ่งบางอย่างด้วยแพสชัน ทำให้ในช่วง 3 เดือนแรกมนุษย์ต่างวัยเติบโตอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายจากที่ประสานตั้งใจไว้
“เราคุยกับทีมว่าถ้าได้ 5 หมื่นผู้ติดตามจะไปเลี้ยงหมูกะทะ พอเลี้ยงหมูกะทะได้ไม่นานเท่าไร ผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ สักพักคนติดตามก็ก้าวหลักแสนแล้ว มันเร็วมาก ตอนนั้นมีงานที่โดนหลายชิ้น แต่เราก็จะเตือนกันเองว่า มันจะมีชิ้นที่โดนและไม่โดน เพราะฉะนั้นทำออนไลน์แล้วต้องไม่ตกเป็นทาสของมัน เราต้องไม่ตกเป็นทาสของยอดไลก์ ยอดแชร์ ไม่งั้นเราจะทำงานด้วยความวิตกจริต เกิดความลุกลี้ลุกลน หลงทิศ หลงทาง ทำให้ผิดไปจากแนวทางที่ตั้งใจไว้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราคุยกันในทีมตั้งแต่เรกๆ จนมาถึงวันนี้”
เชื่อมโยงคนทุกวัยแบบไม่ Toxic
ทั้งยอดการเข้าถึง ยอดไลก์ ยอดคอมเมนต์ จนไปถึงยอดผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นเกินความคาดหมาย มองเผินๆ อาจจะรู้สึกว่าเพจมนุษย์ต่างวัยประสบความสำเร็จไปมากกว่าครึ่งแล้ว
แต่ประสานกลับไม่ได้คิดแบบนั้น
“จริงๆ เราไม่กล้าเรียกมันว่าความสำเร็จ เพราะโลกออนไลน์เปลี่ยนเร็ว สำเร็จวันนี้ อาจล้มเหลวพรุ่งนี้ก็ได้ บางอย่างที่เคยคิดว่าใช่ พออีกวันก็ไม่ใช่แล้ว แต่สิ่งที่เราพยายามรักษาก็คือหลักคิด เราคิดว่าเพจนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของคนสูงวัย แต่คือการทำเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน เราก็ควรมีความสัมพันธ์ที่ไม่สร้าง Toxic ต่อกัน เราจะไม่เลือกวิธีโพสต์ที่ล่อให้คนเข้ามาด่า จะไม่ทำอะไรที่มัน Toxic มนุษย์ต่างวัยต้องไม่ใช่สื่อที่คนเข้ามาแล้วมาพ่นพลังลบใส่กัน เราไม่ได้โลกสวยนะ แต่เราเชื่อว่า ถ้าเราทำสื่อแล้วยิ่งไปกระตุ้นให้คนในสังคมมีพลังลบต่อกัน ด่าทอกัน แบบนี้ไม่สนุกสำหรับเรา แต่เราต้องทำให้เขามองโลกตามความเป็นจริง ชื่นชมได้ ถ้าจะติ ก็ติเพื่อก่อ”
ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างวัยก่อตัวขึ้นค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะความเห็นต่างทา การเมืองของคนต่างวัย
“มีช่วงหนึ่งที่น้องในทีมถามเราว่าพวกเราต้องแสดงจุดยืนว่าไม่เอาความรุนแรงไหม เรากับทีมก็นั่งคุยกันอยู่นานว่า เราชัดเจนนะว่าไม่เอาความรุนแรง แต่เราจะบอกแค่ว่าไม่เอาความรุนแรงแล้วจบไปเหรอ เราเลยนั่งคุยกันกับทีมและคิดว่า เราควรจะสื่อสารอะไรบางอย่าง จนได้แคมเปญหนึ่งออกมา
แคมเปญที่ว่าคือ #เราไม่สามารถdeleteใครออกไปจากสังคม
“กับบางคนถึงคุณเกลียดเขาขนาดไหน จะเห็นต่างกับเขาแค่ไหน แต่คุณไม่สามารถลบคนเหล่านั้น หรือทำให้เขาหายไปจากสังคมได้ เพราะเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา อย่างคนใกล้ตัวเรา เช่น คนในครอบครัว ถึงแม้จะเห็นต่างไปจากเรา เราก็คงไม่สามารถไปกำจัดเขาให้ออกไปจากชีวิตได้ ให้เขาหายไปเลย ไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่นกัน พ่อแม่ที่เขารู้สึกว่า ลูกคิดไม่เหมือนเขา เขาก็ไม่สามารถ Delete ลูกคนนั้นออกไปจากชีวิตเขาได้เหมือนกัน ถึงไม่วนเวียนเจอหน้ากัน แต่ในความรู้สึก เขาก็ยังวนเวียนอยู่ในความคิด”
เสียงตอบรับในแคมเปญนี้ออกมาดีมาก เป็นแคมเปญที่ชวนคนในสังคมได้เข้าใจคนที่มองกันคนละมุมมากขึ้น ตั้งแต่มุมของแม่ มุมของลูก มุมของเจ้านาย มุมของเด็กจบใหม่ ไปจนไปถึงมุมของผู้สูงวัย ว่าอะไรคือทำให้คนต่างเจนมีมุมมองที่แตกต่างกัน
“มนุษย์ต่างวัยพยายามออกแบบสังคมให้เป็น Inclusive Society ที่แม้จะแตกต่างกันแต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ สามารถที่จะพูดคุย ฟังกันได้ ไม่ต้องเห็นเหมือนกันก็ได้ แต่ต้องเคารพกัน นี่คือสิ่งที่มนุษย์ต่างวัยคิด”
จัดอีเวนต์สำหรับมนุษย์สูงวัย
นอกจากงานที่ลงในหลายแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว มนุษย์ต่างวัยยังต่อยอดแคมเปญหรือคอนเทนต์ดีๆ ด้วยการจัดกิจกรรม ให้เหล่าผู้สูงวัย หรือ คนที่อยู่ในช่วงก่อนเกษียณได้มีพื้นที่อีกด้วย
“เราทำงานกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เป็นงานที่เราคิดถึงสิ่งที่คนวัยเกษียณต้องการนั่นคือ เรื่องอาชีพและการทำงาน โดยเฉพาะคนเกษียณยุคใหม่ เช่น ถ้าเขาอยากจะเริ่มต้นอาชีพใหม่สักอาชีพ อย่างถ้าเขาอยากปลูกแคคตัสเป็นอาชีพ เขาควรต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เช่น การตลาด การทำแบรนดิ้ง การสื่อสาร การตั้งราคาและสิ่งต่างๆ อีกหลายประเด็น ซึ่งพวกนี้ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ของเขาหมดเลยนะ แล้วถ้าให้คนสูงวัยไปสมัครเรียนคอร์สการตลาดแบบวัยรุ่นเขาไม่ค่อยอยากไป เพราะเขากลัวเรียนไม่ทันและรู้สึกไม่มั่นใจ แต่ถ้าเขามาเรียนห้องเดียวกับคนวัยเดียวกันที่เขาคุ้นเคย เขาจะมั่นใจขึ้น”
การจัดกิจกรรมกับ สสส. เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พอดี การอบรมในช่วงนั้นจึงจัดด้วยการอบรมออนไลน์แทน นอกจากการอบรมเรื่องการตลาด ยังมีเสวนาเรื่องอาชีพอีก 8 ครั้ง
แม้จะเปิดรับสมัครเพียง 40 คน แต่ความไฟแรงของเหล่าวัยเก๋าทำให้มีคนแห่สมัครเต็มทุกคอร์ส
“เราขยายการเปิดรับที่ 60-80 คน ให้เขาได้ฟังเสวนาที่มาที่ไปของแต่ละอาชีพ อย่างการเป็นบาริสต้าต้องทำยังไง อยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจ Food Truck เริ่มต้นอย่างไรได้บ้าง หรือถ้าอยากทำเกษตรที่บ้านต้องทำยังไง ซึ่งปรากฎว่ามีคนสนใจกันค่อนข้างมาก”
มนุษย์ต่างวัยบอกให้รู้ว่า…
ประสบการณ์จากคนหลายวัย
ตั้งแต่การผลิตรายการโทรทัศน์ จนเข้ามาสู่การทำคอนเทนต์ออนไลน์ ตลอดทางที่ได้คลุกคลีกับผู้สูงวัย ประสานได้เห็นภาพกว้างของสังคมผ่านผู้สูงวัยมากขึ้น
“ผู้สูงอายุมีหลายกลุ่มนะ กลุ่มเปราะบาง กลุ่มยากจน กลุ่มที่ถูกทอดทิ้งไม่มีรายได้หรือที่เรียกว่าจนก่อนแก่ ซึ่งกลุ่มนี้เขาต้องการความช่วยเหลือที่ไม่ใช่แค่เรื่องเบี้ยยังชีพ เขาต้องการการดูแลเรื่องสุขภาพและเรื่องต่างๆ เยอะมากเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าการจะแก้ปัญหาได้มันเป็นเรื่องของโครงสร้างที่ไม่ใช่แค่แก้ไขแค่ผู้สูงวัย แต่ต้องเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นอื่นๆ ด้วย
“ในฐานะสื่อเล็กๆ มันอาจจะใหญ่เกินกว่าเราจะไปช่วยขยับได้ แต่มีผู้สูงวัยอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อยคือ กลุ่มที่ยังแอคทีฟ แข็งแรง สิ่งที่เขาต้องการคือเขาต้องการพื้นที่ งาน การมีส่วนร่วมกับสังคม เพราะหลังจากที่เกษียณออกมาแล้ว ยังมีพลังที่อยากจะทำอะไรมากมาย แต่ไม่มีพื้นที่ให้กับพวกเขา ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราทำงานด้วย ควบคู่ไปกับกลุ่มที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ ระหว่างอายุ 40-55 ปี เราต้องการจะสื่อสารว่า ถ้าอยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในตอนแก่ คุณต้องเตรียมตัวตั้งแต่ในวัยนี้ หรือเตรียมตัวตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว เพราะถ้ารอจนถึงวัยเกษียณค่อยมาเตรียมความพร้อม น่าจะช้าไป”
อีกสิ่งที่ประสานเห็นและอยากบอกต่อสังคมมากๆ คือการที่บางครั้งวิธีการคิดของคนเรา อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต่างของวัย (Generation Gap)
“พอเราทำงานมาสักระยะ ก็เริ่มมีคำถามนะว่า ไม่รู้ว่าเรื่องวัยที่เขาแบ่งกันมันจริงหรือเปล่า อย่าง Gen X ต้องมีนิสัย มีบุคลิกเป็นแบบนั้น Gen Y ต้องเป็นแบบนี้ หรือ Gen Z ก็ต้องมีคาแรคเตอร์หรือวิธีคิดแบบนี้ เพราะประสบการณ์ที่เราเจอ บางทีผู้สูงวัยที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Baby Boomer หรือ Gen X แต่วิธีคิดของเขาบางอย่างไม่ต่างอะไรจากคนรุ่นใหม่ที่อยู่ต่างวัย เลย ยังรักที่จะเรียนรู้ อยากทดลอง อยากไปเห็นโลกใหม่ๆ แต่ในเชิง กลับกันเด็กรุ่นใหม่บางคนกลับมีวิธีคิดตรงกันข้าม จนทำให้บางทีอดคิดไม่ได้ว่า การแบ่งลักษณะนิสัยตามวัยที่เราเห็นกันทั่วไป บางทีมันอาจไม่มีอยู่จริงก็ได้”
ประสานย้ำกับเราอีกครั้งว่าการแก่ชราไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าเราเตรียมตัวให้ดี อายุที่มากขึ้นหรือการเข้าสู่วัยเกษียณก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างของชีวิต ก็ไม่ต่างอะไรจากการเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงวัย เช่น เปลี่ยนจากวัยมัธยมไปสู่มหาวิทยาลัยฯ หรือวัยมหาวิทยาลัยฯ ต้องก้าวเข้าไปสู่วัยทำงาน
“เสน่ห์อีกอย่างของการเติบโตตามวัยก็คือ เขาอยู่ในวัยที่ชัดเจนขึ้นว่า เขาอยากอยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อมแบบไหน มีชีวิตแบบไหนที่เขาอยากจะเป็น คนแบบไหนที่เขาอยากคบหา อะไรคือสิ่งที่เขาต้องแคร์อะไรคือสิ่งที่เขาปล่อยวางได้
“เราว่าวัยนี้ถ้าเราเตรียมพร้อมมาดีๆ จะเป็นวัยที่เรามีอิสระ มีสิทธิ์ที่จะเลือกและกำหนดชีวิตตัวเองได้ แต่กว่าจะได้สิ่งเหล่านี้มา มันไม่มีทางลัดนะ มันต้องมาจากประสบการณ์ ถ้าไม่แก่ ก็อาจจะไม่ได้สิ่งเหล่านี้มาก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่จะมาถึงจุดนี้ เขาต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้มาจากช่วงวัยอื่นๆ พูดง่ายๆ ว่าต้องบาดเจ็บมาบ้าง ถ้าถามว่า เราได้อะไรจากการทำงานในประเด็นนี้ เราคิดว่า เราได้มีโอกาสมองเห็นอนาคตว่า ถ้าเราอยากจะเป็นคนเกษียณ หรือ เป็นผู้สูงวัย ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข มีความภาคภูมิใจในชีวิต สามารถมีชีวิตในแบบที่เราเลือกเองได้ เราควรจะออกแบบช่วงวัยต่างๆ อย่างไร”
Road Map ของมนุษย์ต่างวัย
แม้จะเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว แต่มนุษย์ต่างวัยก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากทำและเตรียมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“เราไม่ได้วางแผนไว้ไกลมากนะ เพราะเดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไว เอาแค่คุณสามารถฝ่าคลื่นแห่ง Algorhitm ของทุกแพล็ตฟอร์มในแต่ละสัปดาห์ หรือในแต่ละเดือนให้ได้ยังเหนื่อยเลย
“แต่ถ้าถามว่ายังอยากทำอะไรอีก เราคิดว่า ตอนนี้เราไม่ได้มองตัวเองว่า เป็นแค่สื่อเท่านั้น เรายังอยากเป็นคนทำหน้าที่เชื่อมโยงคนในสังคมทั้งต่างวัยหรือวัยเดียวกันให้มาพบกัน วันหนึ่งมนุษย์ต่างวัยอาจจะเป็นร้านกาแฟ เป็นคลับ เป็นสมาคมให้คนสูงวัยหรือคนต่างวัยมาพบปะแลกเปลี่ยนกันก็ได้ หรือวันหนึ่งเราอาจจะลุกขึ้นมาทำผลิตภัณฑ์หรือบริการบางอย่างที่เราคิดว่า ผู้สูงวัยกำลังมองหาแต่ไม่มีอยู่ในตลาด ก็เป็นไปได้ หรือไม่เราอาจจะเป็นโรงเรียนเพื่อสอนวิชาเกษียณอย่างไรให้มีความสุขก็ได้ ยังมีอีกหลายอย่างที่เราอยากจะทำ แต่ก็ขึ้นกับจังหวะและโอกาส”