“สวัสดีครับ ช่วงนี้เป็นไงบ้าง (หัวเราะ) อ๋อ ไม่ใช่ พี่ต้องเป็นคนที่ถูกถามสิเนอะ”

ใหม่-พสธร วัชรพาณิชย์ กล่าวทักทายเราแบบติดตลกหลังเห็นว่า เราเริ่มกดบันทึกเสียงสนทนาในครั้งนี้ 

ต้องบอกก่อนว่าพี่ใหม่และเราเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องสมัยเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง ในอำเภอเล็กๆ อย่าง อำเภอพิมาย จังหวักโคราช เราสองคนเป็นเด็กสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เห็นหน้าคร่าตากันในรั้วโรงเรียนเสมอ แต่ไม่เคยได้พูดคุยหรือทักทายกันเพราะเอาแต่ก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสือตามหน้าที่ของตนเองไป จนวันหนึ่งที่เราเห็นจุดร่วมกันของเราสองคน ด้วยการเบนเข็มสายการเรียน พี่ใหม่เบนเข็มไปทางฝั่งสายภาพยนตร์ และเราเองก็หักลำมาเป็นเด็กสายสังคมที่อยากทำงานในวงการสื่อ 

เมื่อปีที่แล้ว พี่ใหม่ชักชวนเราให้ได้มาทำโปรเจกต์นิทรรศการเล็กๆ ที่อำเภอพิมายด้วยกัน ซึ่งโปรเจกต์นั้นทำให้เราสองคนรู้จักกันมากขึ้น และทำให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นสร้างสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ ที่เมืองเล็กๆ อย่างอำเภอพิมายด้วย

การเริ่มต้นสิ่งดีๆ ที่ว่าคือ การจัดพื้นที่แสดงศิลปะแห่งแรกของเมืองพิมาย ซึ่งนิทรรศการแรกที่เปิดตัวพื้นที่นี้อย่างเป็นทางการคือ งานศิลปะจากการถ่ายภาพที่ใหม่บันทึกภาพไว้อย่างมีความหมายระหว่างการทำภาพยนตร์ธีสิสเรื่อง มันดาลา – The Rivulet of Universe 

หลายคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพว่า เพียงแค่นิทรรศการภาพถ่ายที่เห็นได้ทั่วไป สามารถเรียกได้ว่าเป็นการสร้างสิ่งดีๆ ได้ขนาดนั้นเชียวหรือ คอลัมน์บุคคลวันนี้ จึงพามาขยายภาพของความสำคัญและความสัมพันธ์ของ ศิลปะและโลกใบเล็กของเด็กต่างจังหวัด ผ่านมุมมองของเด็กต่างจังหวัดที่เป็นทั้งผู้กำกับหน้าใหม่ เป็นทั้งศิลปิน เป็นทั้งผู้ริเริ่มที่

และเป็นผู้ที่ยังตระหนักในบ้านเกิดอย่าง ใหม่-พสธร

เดินทางไปสร้างหนัง

“สวัสดีครับ ใหม่-พสธร วัชรพาณิชย์ครับ วันนี้มาฉายหนังใน Thesis Exhibition หรือเทศกาลฉายหนังธีสิสของมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับเพื่อนๆ ครับ”

มันดาลา – The Rivulet of Universe ภาพยนตร์ธีสิสของใหม่ที่เพิ่งฉายไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน ณ เฮ้าส์สามย่าน มิตรทาวน์ โดยฉายเป็นภาพยนตร์ปิดของงานเทศกาลภาพยนตร์ธีสิสครั้งที่ 7 ซึ่งล่าสุดภาพยนตร์มันดาลาได้พาใหม่คว้ารางวัล Best Screenplay จากงานนี้ด้วย และก่อนหน้านี้เอง มันดาลาก็คว้ารางวัลภาพยนตร์ดีเด่นจาก Young Thai Artist Award 2022 มาแล้ว ใหม่แอบกระซิบให้เราฟังว่า แท้จริงแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่ใช่ฉบับ Official เพราะเวอร์ชันเต็มของหนังเรื่องนี้คาดจะมีความยาวเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว

“มันดาลาเป็นหนังที่เราทำเพื่อตั้งคำถามว่า เราคือใคร และเรายึดโยงกับพื้นที่ไหนหรือเปล่า ในเรื่องจะมีตัวละครสองกลุ่มที่มาผูกโยงกันผ่านเรื่องเล่าภายของท้องถิ่นพิมาย เราได้ reference เรื่องราวที่เขียนมาจากตำนานตํานานปาจิต-อรพิม แต่เราเอามันมาตีความใหม่ ซึ่งความน่าสนใจของตำนานนี้ คือมันถูกส่งต่อแบบปากต่อปากกันมาตั้ง 900 ปี แบบที่ไม่มีใครรู้เลยว่าแท้จริงแล้วใครคือต้นฉบับกันแน่ เป็นเรื่องเล่าต่อกันมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกจารึกไว้ในชาดกด้วยซ้ำ”

ต้องอธิบายง่ายๆ ให้ทุกท่านได้เห็นภาพก่อนของเมืองพิมายกันเสียก่อน 

โคราชหรือนครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยอำเภอที่โดดเด่นอยู่หลายเมือง พอพูดถึงโคราช หลายคนมักนึกถึงธรรมชาติของเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง หรืออาจจะนึกถึงผ้าไหมอำเภอปักธงชัย แต่อำเภอพิมายเองก็มีจุดเด่นที่หลายคนอาจจะรู้จักเช่นกัน นั้นคือ ปราสาทหินพิมาย ปราสาทก่อนการสร้างนครวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง พิมายจึงเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีกลิ่นอายความเก่าแก่ มีกลิ่นอายเรื่องราว วัฒนธรรมและอารยธรรมที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น 

แม้จะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมเก่าแก่ แต่เพราะปราสาทหินพิมายอยู่ใกล้บ้านจนกลายเป็นความคุ้นชิน หลายคนที่เกิดที่นี่จึงรู้สึกว่าปราสาทก็เป็นเพียงแค่หินก่อเพียงเท่านั้น ความเก่าแก่โบราณคือสิ่งที่ต้องรักษาให้คงไว้อยู่เฉยๆ ไม่สามารถทำอะไรกับปราสาทหินเหล่านี้ได้ หลายคนที่เดินทางออกจากบ้านเกิดแห่งนี้ไป ก็คงด้วยเพราะเหตุผลที่ว่า พิมายเป็นเมืองที่ตายแล้ว

“ช่วงแรกที่เราหาพื้นที่ในกรุงเทพฯ เพื่อทำหนังกับเพื่อนๆ นี่แหละ แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยชอบหนังช่วงนั้นเลย สุดท้ายเราเลยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราถึงไม่ชอบ เราได้คำตอบว่าตัวเราไม่ได้รู้สึกกับพื้นที่ขนาดนั้น แล้วไม่ได้มีจุดยืนกับผู้คนของที่นี่ขนาดนั้น มันเลยออกมาเป็นหนังส่วนหนึ่งที่เราไม่ชอบตัวเองที่อยู่ตรงนี้ (กรุงเทพฯ) แล้วมันมีจุดๆ หนึ่งที่เราได้มีโอกาสกลับไปทำหนังเล็กๆ ที่บ้านเกิดคืออย่างอำเภอพิมาย จังหวัดโคราช การทำหนังที่บ้านในครั้งนั้นมันจุดประกายเราและเพื่อนๆ ด้วย”

หนังเล็กๆ ที่ว่าคือ หนังจากวิชา World Film History เรื่อง โชติช่วงร่วงโรยรา-Sear Nelumbo เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสามล้อคนหนึ่งที่อยู่ดีๆ ชีวิตเขาก็เจอเปลี่ยนไปโดยบังเอิญ จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองพิมายแบบสโลวไลฟ์ แต่วันหนึ่งเขาต้องรับผู้โดยที่เป็นนักท่องเที่ยวไปที่ห้างโลตัส (ห้างที่ดีที่สุดในพิมาย ณ ตอนนี้) จุดเปลี่ยนของการเดินทางครั้งนี้คือการที่สามล้อคนนี้ได้มีโอกาสได้ลองชิมไก่ KFC ครั้งแรกในชีวิต 

“หนังเรื่องนี้เป็นไฟนอลโปรเจกต์ของวิชาศาสตร์ภาพยนตร์โลก อาจารย์ให้เราเลือกมา 1 ทวีป เพื่อให้ทำหนังในสไตล์ของทวีปนั้นๆ ซึ่่งเราเลยเลือกทวีปหนึ่งที่เรารู้สึกว่า เราไม่ค่อยเห็นหนังจากทวีปนี้เลย นั่นคือทวีปแอฟริกา เพราะปกติคนขาวจะเป็นคนเข้าไปถ่ายทำที่นี่แล้วเสนอในมุมมองของคนขาว ทำให้เกิดภาพจำของแอฟริกาคือต้องมีทุ่งโล่งๆ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในเชิงพื้นที่ เอาเลยอยากเปรียบเทียบว่า เราเลยลองถามอาจารย์ว่า อย่างบ้านเราเองที่ไม่ได้ถูกคนอื่นครอบครองแบบนั้น แต่เราแสดงความเป็นอาณานิคมผ่านทางเศรษฐกิจได้ไหม อาจารย์ก็โอเค เราเลยเลือกพิมายเพราะที่นี่มีทั้งความเก่าและความใหม่อยู่ร่วมกัน มันเปรียบได้กับการที่ยุคสมัยเก่าคลานไปสู่ยุคทุนนิยมมากขึ้นด้วย”

สมัยที่เราและใหม่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา อำเภอพิมายยังเต็มไปด้วยสามล้อ ในยุคนั้นยังไม่มีห้างโลตัส แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สามล้อที่เคยขับส่งผู้คนทั่วเมืองก็เริ่มโรยรา และความเจริญอื่นๆ ในยุคทุนนิยมก็เข้ามาแทนที่

“มันดาลามันมีทั้งกลุ่มตัวละครทั้งรุ่นกลางคนที่เขาจะยึดโยงกับพื้นที่อย่างรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่คนรุ่นเรา ความรู้สึกเหล่านี้มันจะบางเบามาก เพราะมีมากมายที่เด็กๆ เขาไม่ได้รู้สึกยึดโยงกับพื้นที่ เขารู้สึกว่าตัวเองเป็น Global Citizen ซึ่งเราเอง ที่พิมายก็ไม่ได้ยึดโยงพื้นที่ทางจิตใจขนาดนั้น แต่ด้วยความที่เราเป็นคนทำงานงานศิลปะ เราว่าพิมายเป็นวัตถุดิบที่ดีมากกว่า แต่เราก็มองว่า ต่อให้ทุกคนรู้สึกถึงการเป็น Global Citizen กันหมดแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาหาอัตลักษณ์บางอย่างอยู่ดีที่บ่งบอกว่าใครเป็นใคร เรื่องซอฟต์พาวเวอร์จึงเป็นเรื่องที่คนมักพูดอยู่เสมอไงครับ”

เราโฟกัสกับคำว่า พิมายเป็นวัตถุดิบที่ดี เราเองที่เป็นคนพิมายเหมือนกัน แต่ก็ยังเดาไม่ค่อยออกว่าวัตถุดิบเหล่านี้มีอะไรดีบ้างสำหรับเหล่าคนทำหนัง

“ทุกคนที่ได้ดู เขามักบอกว่าพื้นที่นี่มันสดใหม่มาก เขาไม่ค่อยได้เห็นพื้นที่แบบพิมายกันเท่าไร และที่บอกว่าเป็นวัตถุดิบที่ดี อย่างแรกเลยก็คือ เราเกิดและโตที่นี่ ทำให้นึกถึงหนังเรื่องไทบ้าน(เดอะซีรีส์) เลย (หัวเราะ) เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เราเลยเล่าเรื่องในมุมมองที่คนอื่นเล่าไม่ได้ สองคือประวัติศาสตร์ที่นี่มันยาวนานมากแต่มันไม่เคยอยู่ในบทเรียนหรือถูกรื้อมาเล่า เพราะพิมายมีมาตั้งแต่ยังไม่มีการมานั่งแยกอันนั้นไทย-อันไหนกัมพูชา แต่พอเวลาผ่านไปมันเกิดเรื่องของอัตลักษณ์ที่ทับซ้อน รัฐไทยไม่สนับสนุนการเล่าเรื่องนี้ เพราะมันคือเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ช่วงที่ไปถ่ายทำมันดาลาในปราสาทหินพิมาย เรามีนักแสดงเป็นคนกัมพูชาเข้าไปแสดงที่นั่น เจ้าหน้าที่ของปราสาทเขาเลยขอให้เราส่งหนังให้เขาดูก่อนด้วย (หัวเราะ)”

“อย่างสุดท้ายคือยังไม่มีใครใช้ที่นี่ถ่ายทำครับ เพราะเรื่องราวของที่นี่มันเก่ามาก บางคนอาจจะมองว่ามันเก่าจนใช้อะไรไม่ได้ แต่เรามองว่ามันอยู่ที่มุมสื่อสาร คือเรามองว่าเราจะสร้างคุณค่าจากมันขึ้นมาได้ยังไง คล้ายกันกับซอฟพาวเวอร์ของฝั่งญี่ปุ่นที่เขาฮิตไปศาลเจ้ากันสุดๆ คนจะรู้สึกว่ามันสวยดีนะถ้าได้เดินขึ้นไปที่ศาลเจ้า ซึ่งที่พิมายก็เหมือนกัน มันอยู่ที่มุมมองของการสื่อสาร และการผลักดันมุมมองที่เรามองออกไปมากกว่า”

เอาหนังไปสร้างนิทรรศการศิลปะ

เราท้าวความถึงการทำหนังของใหม่ให้ฟังกันอย่างเข้าใจไปพอสมควร จากนี้ไปคือเรื่องราวที่เราตั้งใจอยากหยิบมาเล่าให้ทุกคนฟัง เรื่องดีๆ จากใหม่ที่ทำให้เรามานั่งคุยกันในวันนี้คือ การเป็นผู้ริเริ่มสร้างพื้นที่ศิลปะแห่งแรกของพิมาย และเป็นพื้นที่ที่เปิดโลกแห่งอาชีพใหม่ให้กับเด็กๆ ของที่นี่

“ต้องเกริ่นก่อนว่าเราเคยฝึกงานที่แกลเลอรีแทนที่จะไปฝึกงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ เราเลยได้วิธีคิดสไตล์ทำงานศิลปะแบบ conceptual ในการทำหนัง เพราะฉะนั้นเรื่องมันดาลาจึงเกิดจากการคิดแบบมีคอนเซตป์ มันเป็นวิธีคิดอีกแบบเวลาทำหนัง แต่พอหนังเสร็จ เราเลยรู้สึกว่าเรายังเหลือเรื่องอีกเยอะที่ยังไม่ได้เล่าในหนัง ตั้งแต่รูปที่ถ่ายระหว่างเขียนบทที่เราถ่ายรูปไว้เยอะมาก ซึ่งเรื่องมันดาลาหรือ The Rivulet of Universe เราเขียนบทตามสายน้ำ เริ่มตั้งแต่แม่น้ำมูลแล้วมาจบที่โขงเจียม ซึ่งเราไปถ่ายที่โขงเจียมมาจริงๆ” 

“ซึ่งระหว่างถ่ายทำเราก็ถ่ายรูปสายน้ำไว้เยอะมากๆ เป็นร้อยรูป เรารู้สึกว่ามันยังเล่ามันดาลาต่อได้อีก แต่เป็นการเล่าถึงกระบวนการคิดเวลาเราถ่ายหนังว่า อะไรบ้างที่เป็นสิ่งประกอบร่างให้เป็นหนังเรื่องนี้ มันเลยเกิดนิทรรศการที่พิมายในชื่อว่า Real Rhythm of Rivulet หรือ จังหวะสายธาราที่แท้จริง เพื่อจะบอกว่าภาพยนตร์มันดาลา-The Rivulet of Universe เป็นปลายของสายน้ำ แต่จังหวะที่แท้จริง เส้นทางที่แท้จริงและลวดลายที่แท้จริงของสายน้ำอยู่ตรงนี้ นิทรรศการนี้จึงโชว์วิธีคิดว่า เราประติดประต่อเรื่องราวโดยใช้อะไรบ้าง และเรามีมมุมองกับการทำหนังยังไง มันเลยเป็นนิทรรศการที่จะโชว์วิธีคิดในแบบเราที่อยากจะบอกว่ามันดาลาคืออะไร อยากให้รู้ว่าเรากำลังหยิบเรื่องราวที่มีคุณค่ามาเล่า เพราะอย่างที่บอกว่าพิมายเป็นเมืองที่มีวัตถุดิบดี แต่ถ้าขาดคนหยิบมาเล่ามันก็เหมือนการที่เมืองนี้เป็นเมืองที่มีปลาดีเยอะมาก แต่ดันไม่มีใครจับมาทำซาชิมิที่อร่อย”

แม้ว่าใหม่จะบอกกับเราว่าที่นี่มีแต่วัตถุดิบดีๆ ที่ควรถูกหยิบมาใช้และนำเสนอให้กับทั้งคนนอกและคนในพื้นที่ได้เห็น แต่ผู้เขียนที่เป็นคนพิมายอยู่แล้วเหมือนกัน เราจึงเกิดคำถามว่า อะไรที่ทำให้ใหม่มั่นใจว่า นี่คือสิ่งที่คุ้มค่ากับการจัดนิทรรศการศิลปะในเมืองเล็กๆ ที่ผู้คนไม่ได้ให้ความสำคัญกับศิลปะมากนัก

“เรามองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นมากกว่า ไม่ได้หวังให้ทุกคนเข้าใจศิลปะทั้งหมด แต่ถ้าแค่ห้าคนสิบคนมาที่งานนี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะมันอาจจะไปจุดประกายอะไรต่อโดยที่เราคาดเดาไม่ได้ก็ได้ ซึ่งมีคนเข้ามาดูเรื่อยๆ เลย มีคนสนใจหลายคน อย่างนักวิจัยปริญญาเอกของใต้หวันเขาก็มาดูงาน เพราะเขาต้องกลับไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับ Creative Industry ซึ่งเมืองแรกเขานึกขึ้นได้ว่าอยากจะมาเก็บข้อมูลเป็นพิมาย ไม่ใช่ปากช่อง เพราะพิมายมีรากทางวัฒนธรรมสูงมาก  แล้วก็มีผู้ใหญ่อีกหลานคนที่เข้ามาดูและประทับใจกับนิทรรศการนี้ เราเลยมองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีแรงกระพือบางอย่างไปได้”

การจัดนิทรรศการนี้จัดที่ ร้านประจำอำเภอ (ปจอภ) คาเฟ่ยอดฮิตของเด็กๆ รวมไปถึงผู้ใหญ่ที่ต้องแวะเวียนมาที่นี่กันไม่ขาดสาย เรียกได้ว่าเป็นร้านประจำอำเภอสมชื่อจริงๆ อย่างผู้เขียนเอง ก็ต้องแวะเวียนไปที่คาเฟ่นี้ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิด ซึ่งร้านประจำอำเภอได้ให้พื้นที่จัดงานนิทรรศนี้บนชั้นที่ 2 ของตัวบ้าน พื้นที่นี้ถูกเรียกว่า พูนพิน – PoonPin เพราะเดิมทีบ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าของสองตายายที่ชื่อพูนและพิน การดัดแปลงชั้นสองของบ้านได้เริ่มต้นขึ้นหลังเจ้าของร้านกาแฟประจำอำเภออย่าง พี่นิว ได้พูดคุยกับใหม่และเห็นพ้องต้องกันว่าอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ควรมีพื้นที่ทางศิลปะเพื่อโอบรับความหลากหลายเอาไว้บ้าง โดยนิทรรศการแรกสุดที่ใหม่ได้ทดลองจัดแสดงคือ ภาพวิดีโอและภาพวาดกากกาแฟ บรรยากาศและความลงตัวของพื้นที่ชั้น 2 ของบ้านหลังนี้ ทำให้ใหม่ได้จังหวะยื่นเข้าร่วมกับทุนกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนกับ SYSI: Society of Young Social Innovators จนได้ทุนมาก้อนหนึ่ง ที่เพียงพอต่อการจัดนิทรรศการเล็กๆ ให้พอมีพื้นที่เพื่องานศิลปะได้

“ตอนยื่นสมัครกับ SYSI เราเริ่มมาด้วยความอยากอย่างเดียว แต่เราก็เคาะเป้าหมายโดยที่โฟกัสไปที่เยาวขชน สุดท้ายเราได้เป้าหมายมาเป็นน้องๆ มัธยม เพราะเรามองว่าเขาเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้มากที่สุด  ถ้ามีน้องๆ ที่สนใจศิลปะหรือการเป็นนักเล่าเรื่อง เราคิดว่าเขาน่าจะได้ไอเดียจากตรงนี้ไป ซึ่งที่เราก็ไม่ได้จัดแค่นิทรรศการ แต่เรามีจัดเสวนาเพื่อเอาคนมีความรู้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันให้เด็กๆ ฟังตั้งแต่เรื่องเมือง ศิลปะและอาชีพ ซึ่งเด็กๆ เขาก็สนุกนะ ซึ่งมีคอมเมนต์ในเพจร้านประจำอำเภอที่แม่ๆ เขามาแชร์ให้ฟังว่า ลูกมาเล่าว่าได้ไปเจอนิทรรศการดีๆ น้องๆ ก็ได้แรงบันดาลใจ ไม่รู้ว่ามากหรือน้อยแต่ก็ได้กลับไปแน่นอน ซึ่งต่อจากนี้เราได้พาน้องๆ ทริปเล็กๆ อย่าง Isan Creative Festival ที่ขอนแก่นด้วย เราพาน้องๆ ไปดูว่าศิลปะกับเมืองมันออกแบบยังไง ที่ทำให้เมืองมันมีลูกเล่นขึ้นมาได้ เพิ่มไอเดียและเปิดโลกให้เด็กๆ ครับ”

“SYSI เขาถามเรานะว่าทำไมถึงอยากโฟกัสกับเด็กๆ เพราะเรามองว่าถ้าเราโฟกัสกับเด็กแล้ว สุดท้ายผู้ปกครองจะตามมา เราทำงานเพื่อนอนาคต เราก็รู้สึกว่าการเปิดโลกให้เขาตั้งแต่เด็กๆ มันเพิ่มโอกาสให้น้องๆ ได้ค้นหาสิ่งที่ชอบหลายอย่างได้มากกว่า และที่ทำตรงนี้เราก็อยากให้มันเป็น norm ของที่นี่ อยากให้มันเป็นวัฒนธรรมใหม่โดยปาริยาย ที่ถ้าปีไหนไม่มีจัดนิทรรศการที่พูนพิน ปีนั้นจะต้องมีคนถามหาแน่ๆ ว่าทำไมปีนี้ถึงไม่มีจัด เราอยากให้มันเป็น norm ปกติแบบนี้”

นอกจากนี้ใหม่ยังเพิ่มโอกาสให้น้องๆ ได้รู้จักสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีสอนในห้องเรียน อย่างการพาเด็กๆ เข้าไปเรียนคอร์สออนไลน์ของ CEA (Creative Economy Agency) ซึ่งเป็นคอร์สเรียนที่ผู้เรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตรเมื่อเรียนจบหลักสูตร ใหม่เห็นความสำคัญในเรื่องใบประกาศนียบัตรสำหรับน้องๆ ชั้นมัธยมฯ ปลาย เพราะใบประกาศนียบัตรเหล่านี้สามารถให้น้องๆ นำไปเก็บไว้ในแฟ้มผลงาน เพื่อประกอบการยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ แต่อยากเบนสายไปยื่นคณะที่เกี่ยวกับข้องกับงานศิลปะ การได้มีใบรับรองที่เกี่ยวข้องกับสายครีเอทีฟก็เป็นตัวช่วยหนึ่งในมีประวัติผลงานที่ดีได้ด้วย ใหม่คิดเช่นนั้น

“เราอยากให้น้องๆ ได้ใบเซอร์ฯ เพื่อรองรับให้ยื่นที่มหาลัยได้ เพราะตอนนั้นเราก็ไม่มีมีใบเซอร์ฯ เกี่ยวกับศิลปะเลยเพราะเราเป็นเด็กวิทย์-คณิต เราก็เลยสอบไม่ติดในปีแรกไง (หัวเราะ) เรามองว่าการหาใบรับรองเพื่อยื่นเป็นผลงานในสายนี้มันยากมากสำหรับเด็กต่างจังหวัดต่างอำเภอนะ ซึ่งเราเองที่รู้ว่า CEA มีคอร์สออนไลน์ เราก็เลยแนะนำเรื่องพวกนี้ให้น้องๆ เพราะการเรียนรู้แนวนี้มันค่อนข้างเฉพาะทาง ไม่ได้มีเด็กทุกคนที่จะรู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ด้วยครับ แล้วหลังจากที่พาเด็กๆ ไปดูงานที่ Isan Creative Festival เราก็คิดว่าจะให้น้องๆ ได้ลองทำกิจกรรมที่อยากทำในพิมายดู เป็นการเอาไอเดียจากการไปดูงานที่นั่นมาปรับใช้กับบ้านเรา พอจบกิจกรรมนี้เราก็อาจจะให้ใบประกาศนียบัตรกับน้อง ถือเป็นการจบเฟสแรกเริ่มของนิทรรศการครั้งนี้ด้วยครับ” 

หนังนำพาเส้นทางชีวิต

อย่างที่ใหม่บอกว่า แท้จริงแล้วเขาเรียนจบมัธยมศึกษาในสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผลงานที่เกี่ยวกับสายงานภาพยนตร์จึงไม่มีอยู่ในแฟ้มผลงานของเขาเลย มหาวิทยาลัยกรุงเทพจริงเป็นโอกาสที่เปิดกว้างให้ใหม่ได้ลองทำในสิ่งใจเรียกหา

“ช่วงม.4-5 เราไปดูหนังกับลูกพี่ลูกน้องบ่อย เป็นกลุ่มสามคนไปด้วยกัน แต่เราชอบจังหวะที่ทุกคนมาคุยกันหลังหนังจบแบบออกรส มันคือวัฒนธรรมหนึ่งที่เราชอบ หลังจากนั้นก็ดูหนังลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ เริ่มไปดูหนังอินดี้ว่ามันเป็นยังไง ไปดูเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติบ้าง ไปดูดาวคะนองบ้าง แต่ตอนนั้นเราไม่เก็ทหนังอินดี้เลยเพราะเรายังเด็กมาก แต่เราก็เริ่มสนใจแล้วว่าทำไมหนังพวกนี้ถึงได้รางวัล เพราะพูดตรงๆ ตอนนั้น เราไม่ได้รู้จักการทำโปรดักชันหนัง เลยคิดว่าหนังอินดี้แบบนั้นคงไม่ต้องใช้เงินเยอะเลยนี่หว่า มันไม่ใช่หนังแนวซุปเปอร์ฮีโรที่ยิงกันสนั่นหวั่นไหวก็ยังได้รางวัล แล้วก็ยังมีคนดูนี่หว่า มันเลยเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจว่าอยากทำหนัง แต่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้พุ่งตรงไปที่การเรียนฟิล์มนะ

“ก่อนหน้านั้นเราจับพลัดจับผลูไปเรียนวิศวะ ก็เพราะว่าเรียนสายวิทย์-คณิตมานี่แหละ เลยรู้สึกว่าเราก็คงต้องสอบวิศวะตามสายที่เรียนมา สุดท้ายเรียนไปสองวันลาออก มันไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่อยากเสียดายตังไปฟรีๆ สิ่งนี้มันเรียกว่าการซิ่วเนอะ ช่วงนั้นครอบครัวก็ต้องคุยกันหนักเลย อาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากนักในช่วงนั้น เพราะทุกอย่างมันดูงงๆ มันกลายเป็นปัญหาอยู่ช่วงหนึ่งเลย ซึ่งเราเลยจับจังหวะ ตั้งตัวเองขึ้นมาอีกรอบแล้วตั้งใจไปสอบนิเทศจุฬาฯ แต่สุดท้ายก็สอบไม่ติดนะ คะแนนเราไม่ดี แถมผลงานสายนี้ก็ไม่มีจะให้ยื่นอีก สุดท้ายก็เลยมองหามหาวิทยาลัยเอกชน จนมาบรรจบที่ ม.กรุงเทพ”

เพราะเคยลองผิดลองถูก และได้เห็นว่าบริบทของบ้านเกิดเป็นอย่างไร การนำพาหนังมันดาลามาจัดเป็นนิทรรศการศิลปะที่พูนพิน จึงเป็นเหมือนพื้นที่ใหม่ที่เปิดโลกให้กับเด็กๆ อำเภอพิมาย และยังเป็นพื้นที่เพื่อโอบอุ้มความหลากหลายให้กับเหล่าศิลปิน ที่อยากจัดแสดงงานศิลปะของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองเล็กๆ ที่เคยหยุดนิ่งมานาน

“เราว่าการปลี่ยนมันเกิดขึ้นตั้งแต่ที่เราทำแล้วในมุมเล็กๆ ของเรานะ มันคงอาจจะไม่ได้เปลี่ยนทุกอย่างปุบปับเลย จะเปลี่ยนปุบปับได้ก็ต้องเลือกตั้งนะ (หัวเราะ) เราว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก้าวต่อไปคือการทำให้สิ่งที่เริ่มแล้วมันดำรงต่อไปได้ เพราะเรากำลังหาโมเดลว่า โมเดลไหนจะช่วยทำให้งานนี้อยู่ต่อไปได้ อาจจะไม่ได้ตลอด แต่มีตามเทศกาล ทำให้คนรู้ว่าเทศกาลไหนจะต้องมีนิทรรศการที่พูนพิน หรือต้องมีการแจกใบเซอร์ฯ และมีเปิดคอร์สดีๆ ช่วงไหนช่วงหนึ่ง อาจจะเท่านี้นก่อน เราไม่ได้มีเงินเยอะขนาดในระดับที่จัดทุกวัน”

พูนพินเป็นพื้นสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นสิ่งใหม่ๆ และเป็นพื้นที่รองรับสำหรับศิลปินตัวเล็กๆ ที่อยากลงงานศิลปะ 

“ความฝันสุดๆ เลยคืออยากให้ที่นี่เป็นฮับที่เอาไว้แสดงผลงาน และเราตั้งใจอยากที่จะทำศิลปินพำนักหรือ Artist Residency เพราะเรามั่นใจว่าการที่คนมาอยู่พิมายสักเดือนหนึ่ง ทุกคนจะได้งานเจ๋งๆ กลับไปแน่นอน แต่เป็นความฝันที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป รอมีพลังในเรื่องต่างๆ มากกว่านี้ มันคือก้าวระยะยาวที่เราอยากเห็น เพราะถ้าที่นี่ทำได้ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเยอะกว่านี้อีก พิมายจะเริ่มมีคนใหม่ๆ เข้ามาอยู่ เมื่อมีคนใหม่เข้ามาอยู่แล้ว จะเกิดการไหลของเงินเข้าไปที่ตัวชุมชนเยอะขึ้น อาจจะเป็นแค่จุดเล็กๆ แต่มันเปลี่ยนแปลงได้แน่”

ผู้เขียนเองก็เป็นผู้ที่จากบ้านมา และหวังไว้ในใจอย่างหนึ่งเช่นเดียวกันว่า จะได้กลับไปทำอะไรดีๆ ให้กับบ้านเกิดของตัวเองได้สักวัน

“ความเปลี่ยนแปลงของพิมาย เราไม่ได้หวังให้มันเกิดสิ่งใหม่ๆ นะ เราแค่อยากให้พิมายกลับไปเป็นแบบยุคพีค แค่ให้มันกลับไปถึงจุดเดิมที่เคยเป็นในอดีต พี่ของเราเคยเล่าให้ฟังว่า อำเภอพิมายมียุคที่มีชาวต่างชาติทั้งยุโรปและญี่ปุ่น เขาฮิตมาที่เมืองเรา เป้นเหตุว่าทำไมอำพิมายถึงมีศูนย์สอนภาษาจีนและญี่ปุ่น จริงๆ รุ่นพี่พวกเรามีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่นเยอะแยะเลยเพราะพวกเขามาเรียนแลกเปลี่ยนที่พิมาย”

สิ่งที่ใหม่เล่าให้ฟังทำให้นึกถึงภาพถ่ายของคุณพ่อของผู้เขียน คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังว่ามีเพื่อนเป็นคนอเมริกาชื่อว่าแอนดรูว์ เขามาเรียนแลกเปลี่ยนที่อำเภอพิมาย มีทั้งภาพถ่ายของพ่อคู่กับคุณแอนดรูว์และในซองภาพถ่ายนั้นได้แนบเงินดอลลาร์เอาไว้ด้วย (ตรงนี้ผู้เขียนเองก็จำไม่ได้ว่ากี่ดอลลาร์ แต่เห็นคุณพ่อบอกว่าในยุคนั้นก็ไม่ได้เป็นเงินมากมายอะไร เพราะแอนดรูว์ให้เป็นของที่ระลึกต่อกัน)

“เราถึงบอกว่าเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพื่อขอสิ่งใหม่ๆ แต่เราแค่ขอสิ่งเดิมที่มันคึกคัก เพราะถ้ามีคนใหม่ๆ หลั่งไหลเข้ามาที่พิมายเยอะขึ้น สิ่งดีๆ หลายอย่างจะเกิดตามมาเอง โดยเฉพาะถ้ามีวัยรุ่นมาอยู่ เราเชื่อว่าการขับเคลื่อนเมืองก็จะถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของคนหนุ่มสาว ซึ่งเราเองก็เชื่อในพลังของคนหนุ่มสาว และเราก็อยากให้พิมายมีย่านเล็กๆ ที่มีผู้คนคึกคัก มีพื้นที่ที่เดินท่องเที่ยวถึงกันได้ เกิดย่านเล็กๆ ที่มีการหลั่งไหลเข้าออกของคนได้ สิ่งที่เราตั้งใจคือการเห็นภาพเหล่านี้เกิดขึ้นในพิมายสักวันหนึ่งนี่แหละครับ” 

Contributors

Contributors

เด็กมนุษย์ฯ ผู้ชื่นชอบการออกไปเดินเที่ยวคนเดียว เอนจอยกับการเต้นและการกิน ปัจจุบันกำลังพยายามใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่

ช่างภาพอิสระ ... อิสระจากความมั่นคงทางรายได้