อย่าลืมโอนนะ
คำที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ จากเหรัญญิกขาประจำของกลุ่ม ผู้ต้องรับหน้าที่หารและทวงเงินค่าข้าวยิก ๆ จากเหล่าผองเพื่อนที่บางคนก็จ่ายเร็วโอนไว แต่บางคนก็ดองยอดโอน จนบางครั้งเจ้าของบิลค่าข้าวเองก็ลืมไปด้วยเหมือนกัน
แต่ช่วง 2 ปีให้หลังมานี้ ชีวิตของเหล่าเหรัญญิกประจำกลุ่มดูท่าจะดีขึ้นมาเยอะแล้ว เพราะเรามีเหรัญญิกคนใหม่เป็นคู่หูคู่ใจมาช่วยหาร ช่วยจำ และช่วยทวงค่าข้าวโดยไม่ต้องตามยิก ๆ ด้วยตัวเองเหมือนก่อนแล้ว
หลายคนคงคุ้นเคยกันดีกับขุนทอง (KhunThong) แชทบอทหารค่าข้าวกับเพื่อนผ่านไลน์ที่พัฒนาโดยธนาคารกสิกรไทย และบริษัทกสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG น้องขุนทองเป็นแชทบอทที่มาช่วยหารค่าข้าว และค่าอื่น ๆ สัพเพเหระที่ทำได้ตั้งแต่การหารแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน จนไปถึงรายปี เพียงแค่แอดไลน์บอท @Khunthong แล้วเชิญน้องเข้ากลุ่มไลน์เพื่อหารและทวงค่าข้าวกันได้ง่าย ๆ ด้วยภาษาที่เป็นกันเอง
ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมานี้ ขุนทองคว้า รางวัลชนะเลิศบนเวที Red Dot Award: Brands & Communication Design 2022 เวทีการแข่งขันด้านการออกแบบระดับโลกที่มีผู้เข้าร่วมการแข่งกันกว่า 20,000 จากทั่วโลก
น้องขุนทองทั้งเจ๋งและทั้งช่วยแบ่งเบาภาระของพี่ ๆ เหรัญญิกได้ขนาดนี้แล้ว คงมีหลายคนสงสัยว่าคนที่ริเริ่มพัฒนาบอทนี้เขา ‘คิดได้ยังไง’ และกว่าจะเป็นขุนทองที่มีฟีเจอร์ให้ความสะดวกสบาย และครอบคลุมกลวิธีหารค่าข้าวได้ขนาดนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
วันนี้เราจึงพามากางดราฟต์แรกของคขุนทองผ่านสายตาของซี-วิพิธคุณ กันทรวิชัยวัฒน์ ตั้งแต่เส้นทางของการเป็นเด็กวิศวะฯ จนมาถึงการเป็น Advance Designer และ UX/UI ของ KBTG ตัวตั้งตัวตีผู้ผุดไอเดียฟักไข่น้องขุนทอง แชทบอทไลน์ที่กอบกู้มิตรภาพหลังจบปาร์ตี้กับผองเพื่อนได้ราวกับอ่านใจ
อย่าลืมโอนนะ, อันนี้ขุนทองย้ำมาอีกที

ไฟของนักดีไซน์ก่อนฟักไข่
ดีไซเนอร์ท่ามกลางเด็กวิศวะฯ
ตอนนี้เป็น Advance Designer ที่ทำ UX/UI ด้วย UX (User Experience) คือกระบวนการก่อนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งนั่นคือกระบวนการ Ideation Process คือการรังสรรความคิดออกมาก่อนว่าไอเดียที่กำลังจะทำ มันเวิร์กหรือมันสามารถเกิดขึ้นได้จริงไหม ความต้องการของลูกค้าคืออะไร และควรแปลงออกมาเป็นฟีเจอร์อะไรบ้าง หลังจากการเก็บรวบรวมข้อมูล และทำตัว Prototype ออกมา ทดสอบกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มแรก เราจึงนำ Feedback กลับมาทำให้ UI (User Interface) ออกมาสวยงาม และใช้งานง่าย
ก่อนหน้าที่จะมาทำ UX/UI เราเรียนวิศวะคอมฯ มาก่อน เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ชอบเขียนโค้ด แต่ส่วนตัวเราชอบงานดีไซน์มากกว่า สมัยเรียนเราเลยรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแก๊งดีไซเนอร์ที่อยู่ท่ามกลางเด็กวิศวะฯ แต่สุดท้ายการมีพื้นฐานของการเขียนโค้ดก็มีประโยชน์กับการทำงานของเรามากๆ เพราะสุดท้ายแล้วงานดีไซน์ของเรา มันก็ต้องส่งต่อไป Devloper เพื่อไปเขียน Code ก่อน จึงออกมา Product ที่ออกไปสู่ตลาดจริงอีกที แม้ว่าจะชอบงานดีไซน์มาก แต่ปลายทางหลังเรียนจบ เราก็ยังเขียนยื่นกับบริษัทไปก่อนว่า เราอยากทำ Software Development แต่ยังไม่ได้เลือกว่าต้องเป็นการพัฒนาในพาร์ทไหน
เริ่มเดินทางในฐานะ Application Developer
ปีนี้เป็นปีที่ 7 ของการทำงานแล้ว เราเริ่มทำงานในฐานะ Developer ตั้งแต่ปี 2558 ครั้งแรกที่เข้ามาในบริษัท KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) เราได้มาอยู่ทีม Application Development ที่ดูแล App หลายๆตัวในธนาคาร เพราะตอนนั้นยังอยู่ในทีม Developer ที่เราต้องเอางานดีไซน์มาทำให้เกิดขึ้นจริง รวมถึงบางหน้าจอ หรือบาง flow ที่เริ่ม Dev ไปแล้ว เราอยากจะปรับหรือว่าพัฒนาให้มันดีขึ้นก็ยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากได้รับการสรุปและ Approve มาแล้ว สำหรับเราความรู้สึกอิจฉาเนื้องานของ Designer ยังอยู่ในใจตลอด เพราะว่าเค้าเป็นต้นทางของความคิดและไอเดียที่เปลี่ยน Insight ความต้องการของ User ออกมาเป็น Feature ได้จริงๆ เราเลยใช้จุดนี้ในการเป็นแรงผลักดัน เรียนรู้งานฝั่ง Product Design มากขึ้น จนได้รับโอกาสจากพี่ๆในทีมให้เราได้ลองทำ งานฝั่ง Design และได้เปลี่ยนมาทำตำแหน่ง Deisgner อย่างในปัจจุบัน
ให้เล่าถึงทำงานในฐานะ Developer เหรอ ช่วงนั้นก็ไม่ได้ง่าย เพราะเป็นยุคที่ธนาคารเพิ่งย้ายแพลตฟอร์ม เข้ามาอยู่บนแอพได้ไม่นาน เราเริ่มทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาแอปพลิเคชันตั้งแต่เรายังใช้ไอโฟน 5 กันอยู่เลย ซึ่งความท้ายทายในช่วงนั้น คือการเปลี่ยนผ่านของพฤติกรรม จากความชิน และยังมีข้อกังวลกับสิ่งใหม่ ทั้งเรื่องความปลอดภัย การที่ต้องเรียนรู้ จนคนไม่ยอมเข้ามาใช้
หลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพยุคนั้น ลองนึกถึงยุคที่คนมักไปโอนเงินที่ตู้ ATM หยิบสลิปที่ได้จากตู้มาถ่ายรูปแล้วส่งให้ปลายทางว่า ‘โอนให้แล้วนะ’ พวกเราเองก็พัฒนาแอปให้ใช้งานง่ายและปลอดภัย พยายามเรียนรู้จากพฤติกรรมผู้ใช้งาน และปรับจนเหมาะแก่การใช้ จนการใช้ Mobile Banking กลายเป็นสิ่งที่เป็นปรกติ ยุคนี้ไปที่ไหนก็สแกน QR Code กันแล้ว คนเริ่มกดเงินสดออกมาน้อยกว่าเดิมเยอะมาก อย่างเราเองก็กดเงินสดออกมาน้อยมากส่วนใหญ่ก็เลือกสแกนจ่ายเอา

ก้าวเข้าสู่เส้นทางของ Designer
โปรเจคต์แรกเลยที่เราได้ทำในฐานะ UX/UI Designer คือการซื้อขายกองทุนรวมบน KPLUS สมัยก่อนเวลาที่คนจะซื้อกองทุนรวมสักกองทุน เราต้องเดินไปซื้อที่ธนาคาร เปิดบัญชีกองทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากมีคนหลายคนที่พลาด เรื่องการลดหย่อนภาษีเนื่องจากขั้นตอนนี้มันยากเกินไป เราได้โจทย์จาก BU ว่า อยากให้การซื้อขายกองทุกมันมาอยู่บนแอปได้ เราเริ่มมาเรียนรู้ทั้งหมดเลยว่า เดิมทีที่เราไปธนาคาร เราต้องทำอะไรบ้าง ตั้งแต่การเปิดบัญชีกองทุน การเลือกว่าจะซื้อกองทุนไหน มีการสับเปลี่ยนกองทุนได้ เพื่อนำมาออกแบบประสบการณ์การใช้งานบนแอปพลิเคชันต้องทำอะไรได้บ้าง
โปรเจคต์นี้ท้าทายมากเ นื่องจากต้องไปต่อกับระบบหลังบ้าน ที่เคยมีผู้ใช้งานแค่ 1 กลุ่มคือ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ระบบหลังบ้านนี้ก็เกิดขึ้นและใช้งานมานาน ด้วยเทคโนโลยีที่ตกรุ่นไปแล้ว ซึ่งการโยกย้ายสิ่งเหล่านั้นมาไว้บนแอปพลิเคชัน มันจึงการวางรากฐานของระบบใหม่เลย ดังนั้นเราไม่ได้เปลี่ยนแค่พฤติกรรมของลูกค้าจากความเคยชินเดิมๆ แต่ทีมที่เคย Support ระบบเก่าก็ต้องปรับตัวตามด้วย เช่นกัน ตอนทำงานชิ้นนี้เสร็จดีใจมากที่เห็นงานของเราส่งผลกระทบที่ดีต่อสังคม และเป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน


ขุนทองฟักไข่
ตัวตั้งตัวตีแชทบอทเหรัญญิก
เรื่องมันเกิดขึ้นบนชั้น 2 ของร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ในวงเพื่อนที่กำลังถกเถียงว่า เคยเจอปัญหานี้เหมือนกันมั้ย? คือ เวลาที่เราไปกินข้าวและต้องหารค่าข้าวกัน มันจะต้องมีหนึ่งที่ต้องรับหน้าที่เป็นเหรัญญิก เปิดโปรแกรม Excel มาแปะให้ดูว่า แต่ละคนกินอะไรกันไปเท่าไร บางคนไม่กินเบียร์ใช่ไหม บางคนสั่งอาหารที่แตกต่างออกไป เมื่อคำนวนสิ่งต่างๆเสร็จแล้ว ก็แปะลงในกลุ่มไลน์พร้อมกับเลขบัญชี ซึ่งคนอื่นๆ ในกลุ่มจะโอนหรือไม่โอนตอนไหนก็ไม่รู้ กลายเป็นว่าผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ก็มียังมีคนโอนเงินไม่ครบ ทำให้สับสนว่าสรุปแล้วได้เงินครบ หรือได้เงินเกินแล้วกันแน่ ความงง ๆ ตรงนี้มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า ควรมีระบบที่เข้ามารองรับปัญหานี้ ตอนนั้นเราเลยมองว่า เราเป็นคนที่ทำงานธนาคารมาหลายปีแล้ว เพราะงั้นถ้าไม่ใช่เราทำแล้วมันจะเป็นใครทำ เราเลยไปเสนอความคิดนี้กับเพื่อนๆ และพี่ๆในบริษัท
ในตอนนั้นเป็นจังหวะดีที่ KBTG กำลังเปิดโอกาสให้เสนอไอเดียสร้าง Innovation ที่เกี่ยวกับ Social Banking ซึ่งพอเราเสนอเข้าไปว่าเราสนใจที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับการหารเงิน เก็บเงินค่าข้าวในกลุ้มเพื่อน ตอนแรกเราก็มุ่งเน้นไปที่การสร้างแอปหารเงินค่าข้าวกันดีไหม แต่พอเราได้ลองคุยกับเพื่อนๆ เรากลับพบว่าการที่ต้องชวนเพื่อนทั้งกลุ่มที่มากินข้าวด้วยกัน มาโหลดแอปเพื่อการหารค่าข้าวมันเป็นจุดที่ทำให้คนไม่อยากโหลด และ App ก็จะตายในที่สุด เราอยากทลายจุดนี้ไปด้วยการมองว่า ลูกค้าอยู่ตรงไหน เราก็จะเอา Product ของเราไปแทรกตัวอยู่ตรงจุดที่ลูกค้าอยู่ โดยที่เค้าไม่ต้องปรับตัวมาก ปกติลูกค้าใช้ LINE กลุ่มในการเก็บเงินกัน อยู่แล้ว จะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะเอา Product ตัวนี้เข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์ แล้ว Product อะไรที่จะไปอยู่ใน LINE ได้บ้าง? สุดท้ายมันเลยเกิดแชทบอทที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์ โดยไม่ต้องโหลดแอพใหม่
น้องขุนทองบนแผ่นกระดาษ
ช่วงแรกที่กำลัง Design ในทีมช่วยกันคิดหลายชื่อ ซึ่งขุนทองเคยชื่อแคงการู (Kangaroo) มาก่อน เพราะว่าจิงโจ้มีกระเป๋าหน้าท้อง ตอนนั้นเรานึกถึงการเก็บเงินไว้ที่กระเป๋าหน้าท้อง มองว่ามันน่ารักดี แต่ว่าชื่อมันมีความเป็นฝรั่งเกินไป ทำให้แมสยาก จนเปลี่ยนมาเป็นอีกชื่อหนึ่งคือชื่อขุนทอง มีที่มาจากความเป็นเด็กยุค 90 ของพวกเราที่ดูรายการทีวีเจ้าขุนทอง จนมันฝังหัวมาตั้งแต่เด็ก นกขุนทองจะต้องมาขับขานทุกๆ เช้า เราเลยอยากให้แชทบอทนี้เป็นเหมือนนกขุนทองที่มาเตือน เพื่อนที่ยังไม่ได้จ่ายเงินทุกเช้า เราอยากเซ็ตโทนให้แชทบอทไม่จริงจังมาก มีความสนุกสนาน น้องขุนทองเองก็มีเพื่อนในรายการเยอะมาก เราเลยอยากให้แชทบอทมีความเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์ของคุณได้ แล้วอีกความเหมาะเจาะคือชื่อ ขุนทอง (KhunThong) ขึ้นต้นด้วยตัว K พอดี ตรงกับชื่อธนาคารกสิกรไทย (KBank) ด้วย
หลังจากที่เราปิ๊งไอเดียแล้ว ทุกอย่างมันเกิดขึ้นไวมาก Prototype แรก เกิดขึ้นภายในสองอาทิตย์แรกเลยการจะสร้าง Prototype แรกได้ Designer ต้องทำงานร่วมกับ Dev และทีม Project Manager (PM) ที่ดูแลเรื่อง Innovation Project ซึ่งช่วยซัพพอร์ตเกี่ยวกับการต่อกับระบบต่างๆ ที่ต้องใช้ และเป็นคนกลางในการติดต่อกับทีมอื่นๆที่เราต้องการ Support เช่นเราอยากให้ขุนทองอ่านสลิปได้ ทีม PM ก็จะประสานงานเรื่องทำระบบและเชื่อมต่อ API ให้
Prototype แรกเราไม่ได้ทำบนแอปนะ เราวาดต้นแบบลงบนกระดาษสิบกว่าแผ่น เเล้วก็ลองเล่นบนกระดาษเลย อย่างหน้าแรก เราก็กด next บนกระดาษ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นกระดาษแผ่นที่สอง แผ่นที่สามเรื่อย ๆ อย่างนั้นเลย มันก็เลยเกิดขึ้นเร็วมาก
หลังจากที่ให้ User กลุ่มแรกลองเล่น Prototype บนกระดาษก็ได้ฟีดแบกกลับมา อย่างเช่น ลองเล่นแล้วไม่เข้าใจบางปุ่ม หรือ คำพูดตรงนี้น่าควรจะเปลี่ยนเป็นอีกแบบ พอมันเริ่มเข้าที่ เราจึงค่อยนำมันขึ้นบน UI จริง เมื่อปัญหาที่เราเจอทุกอย่างมันถูกแก้ไขตั้งแต่บนกระดาษเรียบร้อยแล้ว การขึ้น UI ก็จะเริ่มทำในสิ่งที่มันมั่นใจในระดับหนึ่งว่า เป็น Flow ที่ใช้งานได้และไม่งง หลังจากนั้นเราก็จะให้ Dev ซึ่งก็ทำไวมากๆ แชทบอทที่ทดลองต้นแบบแรกออกมาเสร็จภายในอาทิตย์เดียว

น้องขุนทองต้องทำได้ทุกอย่าง
หลักจากเราได้นำ Prototype ไปให้ User กลุ่มแรกลองเล่นก็ได้ฟีดแบกที่ดีและเรานำมาต่อยอดหลายอย่างเลย เช่น “บิลค่าข้าวนี่มันถ่ายรูปลงไปเลยได้ไหม เพราะขี้เกียจกรอกรายการอาหารเข้าไปเองว่ากินอะไรมาบ้าง” เลยทำให้น้องขุนทองเกิดฟีเจอร์สแกนใบเสร็จด้วยเทคโนโลยี OCR ขึ้นมา น้องจะอ่านใบเสร็จทั้งหมดแล้วเรียงรายการออกมาให้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือประโยชน์จากการเรียกสัมภาษณ์เพื่อเก็บฟีดแบกในช่วงแรกๆ เพราะถ้าหากเราไม่มีการสัมภาษณ์เพื่อเก็บฟีดแบก เราก็คงทำแบบคิดเองเออเอง และทำในสิ่งที่ผู้ใช้งานไม่ได้อยากจะใช้ไปเลยก็ได้
อีกเรื่องที่ได้จากการสัมภาษณ์คือเรื่องการหาร Service Charge กับ VAT ตอนแรกเราคิดว่าสองอย่างนี้มันก็หารเท่ากัน แต่จริง ๆ มันมีประเด็นตรงที่ว่า คนที่กินเยอะต้องจ่าย VAT เยอะกว่าเพื่อน มันไม่ใช่ว่า VAT 70 บาทแล้วมาหาร 10 คน คนละ 7 บาท กันแล้ว มันต้องการเป็นเปอร์เซ็นกันเลย ว่ากินเยอะต้องจ่าย VAT กี่เปอร์เซ็น สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์ เพราะอย่างเราเองไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้อยู่แล้ว
เราก็ไปเจอความพยายาม ที่จะหาวิธีมาเช็คว่าใครจ่ายแล้วบ้างใน Line กลุ่มเช่น บางคนมักเซฟรูปสลิปของเพื่อนแล้วเขียนลงบนรูปสลิปว่าใครจ่ายไปแล้วบ้าง พอมีคนโอนเงินแล้วส่งสลิปให้ใหม่ ก็ต้องมาเขียนชื่อเพื่อนทับรูปสลิปใหม่อีกครั้ง แล้วค่อยมานั่งเช็ก นั่งทวงเงินจากรูปที่บันทึกเอาไว้ในโทรศัพท์ เราเลยเห็นว่าขุนทองควรต้องมีฟีเจอร์ที่มันแจ้งเตือนว่าใครที่ยังไม่จ่ายเงิน ตอนแรกเราก็ไม่ได้ทำ แต่มันเกิดขึ้นได้เพราะการสัมภาษณ์เก็บฟีดแบกรอบแรก ๆ นี่แหละ

ติดแต่งปีกให้ขุนทอง
การแต่งแต้มขุนทองให้สมบูรณ์
หลังจากทำ Prototype แรกและรับคอมเมนต์มาปรับปรุงน้องขุนทองแล้ว เราก็เข้าสู่กระบวนการที่ต้องทำให้ขุนทองเป็นไปตามระบบความปลอดภัยของธนาคารจริง ๆ เพราะการจ่ายเงินหรือหักเงินต้องทำระบบที่ผูกกับ K PLUS ดังนั้นระบบหลังบ้านของแชทบอท ต้องมีความปลอดภัยเท่ากับมาตรฐานความปลอดภัยของธนาคารด้วย
เมื่อระบบหลังบ้านเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว เราได้ลองเปิดให้คนข้างในบริษัทลองใช้งานก่อน ในช่วงแรกเราค้นพบว่าน้องมีบัคเยอะมาก บางครั้งน้องขุนทองก็เอ๋อ ไม่ยอมตอบเลย ซึ่งการที่ให้คนในบริษัทได้ทดลองใช้ก่อนมันทำให้ได้ฟีดแบกกลับมาปรับปรุงต่อเร็วมาก หรือถ้าเกิดแชทบอทมีปัญหาใหญ่กับการใช้งานขึ้นมา การติดต่อเพื่อขอการแจ้งบัคจากคนในบริษัทจะทำได้ง่ายกว่า สมมติถึงปัญหาใหญ่ เช่น น้องขุนทองตัดเงินไปสองรอบ แบบนี้มันเรื่องใหญ่เลยนะ ดังนั้นการทดสอบระบบตรงนี้ กว่าจะได้เอาออกมาให้ลูกค้าได้ใช้จริง พวกเราก็ทดลองกันเป็นครึ่งปีเลย เพื่อให้มั่นใจว่าขุนทองที่ไปถึงมือ User ทุกคนจะสมบูรณ์
ในครึ่งปีที่ทดลองใช้กันอยู่ จริงๆ ขุนทองก็แอบกระจายไป นอกกลุ่มผู้ใช้งานในบริษัทนะ เพราะคนในบริษัทก็เห็นว่าเจ้า Chatbot ขุนทองเป็นประโยชน์ เลยไปใช้เก็บเงินเพื่อนๆ พอเพื่อนๆในกลุ่มไลน์เห็นว่ามันสนุก มันดี และเก็บเงินได้จริง เขาก็เอาไปใช้ต่อกัน ด้วยความที่มัน invite ไปอยู่ในไลน์กลุ่มง่าย ช่วงนั้นเราเลยเก็บฟีดแบกจากการได้เยะเลย เช่นตอนที่น้อง ขุนทองโดนไล่ออกจากกลุ่ม เราก็เแปะกูเกิลฟอร์มเข้าไปถามก่อน ออกว่า ‘ถึงแม้วันนี้น้องต้องไป ถ้ามีอะไรอยากบอกผู้พัฒนา ช่วยกรอกเข้ามาเลยนะครับ’ ซึ่งมีคนกรอกเข้ามาเยอะมาก เราได้ฟีดแบกดี ๆ เยอะ อย่างเช่นอยากให้ขุนทองพูดน้อยลง หลาย ๆ อย่างก็เอามาปรับจูนให้บอทเราดูเป็นธรรมชาติขึ้นสำหรับคนใช้งาน
ขุนทองที่ปีกแข็งแรง
หลังจากที่ปล่อยขุนทองออกไปสู่ผู้ใช้งานจริงแล้ว ช่วงนั้นเราก็ยังทำ User Research ในรูปแบบ Focus Group โดยการเรียกคนที่คิดว่าน่าจะใช้งานขุนทองอยู่ เข้ามาสัมภาษณ์ และแต่ละคนช่วยเล่าและช่วยฟีดแบกหน่อย เราจะได้นำตรงนั้นมาปรับปรุงเพิ่มเติม ช่วงนั้นเราได้ความเห็นถึงฟีเจอร์บางอย่าง ที่อยากให้มีเพิ่มเติม เช่นการหารเพื่อไปทริปเที่ยว การหารแบบรายเดือน ซึ่งเราก็เอาคอมเมนต์ความต้องการเหล่านั้นมาเพิ่มเติม ฟีเจอร์การหารรายเดือนเองก็เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่เราเพิ่งนำเข้ามาพอดี ตั้งแต่หาร Spotify Netflix และรายเดือนอื่น ๆ ด้วย เพราะการหารรายเดือนเหล่านี้ก็เป็น pain point ของเราเหมือนกัน ที่ถ้าไม่มีขุนทองเราคงเก็บเงินรายเดือนจากคนที่มาหารด้วยไม่ได้เลย


ขุนทองบินออกจากรัง
น้องขุนทองบนเวทีโลก
สถานะขุนทองในจากที่เป็น Innovation ในตอนนี้อัพขึ้นมาเป็น Product ชิ้นหนึ่งแล้ว ก็เลยมีคนในทีมดีไซเนอร์ของเราริเริ่มอยากให้ส่งขุนทองเข้าไปแข่งในเวที Red Dot Award เพราะขุนทองก็เติบโตมาหนึ่งปีแล้ว เริ่มมีคนใช้งานมากถึงล้านคน เราเลยอยากลองส่งน้องไปบนเวทีโกลสักครั้ง ซึ่ง Red Dot เป็นเวทีที่ใหญ่มากและการแข่งขันก็เข้มข้นขึ้นทุกปีด้วย โดยปกติทีมที่ได้รางวัลส่วนใหญ่คือทีมฝั่งยุโรป อเมริกา ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น เป็น 4-5 ประเทศตัวเต็งที่เขาส่งเข้าประกวดกันทุกปีแล้วได้รางวัลบ่อย ๆ แต่คนไทยได้รางวัลในสาขา UX/UI บนเวทีระดับโลกน้อยมาก พอตัดสินใจส่ง เราก็นั่งเขียน Essay ส่งไป 2-3 หน้าแล้วก็ทำ video presentation แนะนำ Product ของเราว่ามันคืออะไร มีหน้าตาแบบไหน ใช้งานอย่างไร
การคัดเลือกจะคัดให้ผ่านเข้าไปเป็นรอบๆ จากสองหมื่นทีมทั่วโลก หลักจากคัดเหลือร้อยทีม เขาก็จะเอาแต่ละ Product มาวางเรียงกันในห้อง และให้กรรมการดูและคัดเลือกแต่ละชิ้นงานเลยว่า ผลงานไหนควรได้รับรางวัล Red Dot Winner ของปีนี้
จนวันหนึ่งเราได้รับอีเมลเข้าว่าเป็นคำว่า Congratulations! ผลปรากฏว่าโปรเจคเราได้เป็น 1 ใน Red Dot Winners 2022 ดีใจมาก เพราะว่า Product ที่เกิดจากไอเดียใน Session เล็กๆ ที่เราคุยกันในทีม ตอนนี้ได้เติบโตและพิสูจน์ตัวเองจากผู้ใช้งาน จนไปเป็น Product แรกจากประเทศไทยที่เป็น Red Dot Winners ใน Category นี้


ไม่มีน้องขุนทองที่เพอร์เฟค 100 เปอร์เซ็นต์
ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ที่มีคนใช้เป็นล้าน เรายังคงพัฒนาและยินดีรับทุกฟีดแบกมาปรับใช้กับ Product ของเรา เราเชื่อนะว่าขุนทองไม่มีวันเสร็จ ถ้ายังมีผู้ใช้งานอยู่ มันจะมีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยากจะทำให้ดีขึ้นในทุกวัน ขอขอบคุณทุกฟีดแบคจากผู้ใช้ทุกคนเลยที่อุตส่าพิมพ์มาบอกกัน ผ่านช่องทางต่างๆ เราเห็นฟีดแบกมาเยอะนะ แต่มีอันหนึ่งที่เหมือนจะตลก แต่กระทบใจเรามากเลย เขาพิมพ์มาประมาณว่า ‘ถ้าหากจะมีใครที่ได้รางวัลโนเบล ก็ต้องเป็นทีมพี่นี่แหละค่ะ’ เราเลยเห็นว่ามันไปแก้ปัญหาให้เขาได้จริงๆ เราถึงรู้สึกขอบคุณนะฟีดแบกมาบอกความรู้สึกกัน ถึงแม้ตอนนี้ไม่ได้รางวัลโนเบล แต่ก็ได้รางวัลเรดดอทแล้วนะ (หัวเราะ)
บทเรียนจากแชทบอทเหรัญญิกถึงดีไซน์เนอร์
จริงๆ แล้วเส้นทางความฝันของดีไซเนอร์อย่างเราก็ยังไม่คอมพลีตนะ เราคิดว่ามันเป็นแค่จุดเริ่มต้น ของสิ่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น การทำโปรเจค Innovation ซักตัวไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะมันเป็นการก้าวเข้าไปในสิ่งใหม่ ซึ่งแต่ละโปรเจคก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นส่วนผสมของความร่วมมือร่วมใจของคนในทีม การได้สร้างอะไรบางอย่างจากศูนย์นั้นเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายผ่านกระบวนการและความเฉพาะตัวเหล่านั้น และหวังว่าจะได้มีโอกาสได้ทำ Innovation Project ที่ช่วยและแก้ Painpoint ให้กับผู้ใช้งาน และเค้าสามารถใช้ได้จริงๆอีกในอนาคต
แน่นอนว่าแค่มีเมล็ดพันธุ์ไอเดียที่ดีอย่างเดียวก็ใช่ว่าจะเติบโตได้ แต่ขึ้นกับว่าเมล็ดพันธุ์นั้นไปตกอยู่ในดินแบบไหน ต้องขอบคุณ KBTG และพี่ๆ ผู้บริหารที่ใจกว้าง พร้อมที่จะสนับสนุนทุกไอเดียห่ามๆ เปิดพื้นที่ ลงเงินไปกับเราจริงๆ ช่วยวาง Infrastructure สำหรับการเติบโตของไอเดียเหล่านี้ ให้สามารถเทสได้เร็ว นำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาได้เร็ว รวมถึงมีทีมที่มีความถนัดและทักษะที่แตกต่างกันเข้ามาทำงานร่วมกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง ดังนั้นการที่เราได้รับรางวัล Red Dot Winner 2022 เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ผมเชื่อว่าจะเกิด Product และ Service ขึ้นอีกมากในที่แห่งนี้
ในอีกมุมหนึ่งเราคิดว่าดินที่ดี ที่เหมาะแก่การเติบโตของเมล็ดพันธุ์ไอเดีย ไม่ควรเกิดได้ง่ายแค่ในบริษัทใหญ่นะ คนไทยที่มีไอเดียดีๆ และเก่งมีเยอะมาก น่าจะมีพื้นที่ การสนับสนุน และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพในเมืองไทย สามารถจะสร้างสรรค์ Product และ Service ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าปัจจุบัน
สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ ที่เดินอยู่บนเส้นทางนี้เหมือนกันนะครับ แล้วถ้ามีโอกาสเรามาแชร์ไอเดียกันนะ
