เกลียวคลื่นที่ม้วนตัวเข้าสู่ฝั่งโถมปะทะกับชายหาดแรงขึ้นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าฤดูร้อนกำลังจะหมดไป และฤดูมรสุมกำลังจะเข้ามาแทนที่ ท่ามกลางบรรยากาศที่ใคร ๆ เรียกว่าเป็น Low Season ของการเที่ยวทะเลฝั่งอันดามัน กลับมีกิจกรรมทางน้ำอย่าง “การเล่นเซิร์ฟ” ขึ้นมาเรียกเรตติ้งของการเที่ยวทะเลหน้าฝนได้เป็นอย่างดี

            และจุดหมายปลายทางของการเล่นเซิร์ฟระดับโลกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยก็คือหาดเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

            ผมเองก็วางแผนเอาไว้ว่าเมื่อใดก็ตามที่คลื่นลมแรงมากพอ ผมก็จะขอลงไปโต้คลื่นเล่นเซิร์ฟที่เขาหลักกับเขาด้วยเหมือนกัน แต่เมื่อไปถึงเขาหลักแล้ว จะให้เล่นเซิร์ฟอย่างเดียวก็คงไม่พอ เพราะประการที่หนึ่งก็คือการใช้แรงโต้คลื่นอยู่ในทะเลติดกันหลาย ๆ วันก็น่าจะเหน็ดเหนื่อยเอาการอยู่ และประการที่สองก็คือพื้นที่ละแวกใกล้เคียงเขาหลักก็มีสถานที่ท่องเที่ยวแนวศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจไม่น้อยพอให้ไปเปลี่ยนบรรยากาศได้ นั่นก็คือเมืองเก่าตะกั่วป่า

            เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางลงไปเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานที่หาดเขาหลักประมาณห้าวัน และเห็นว่าเมืองเก่าตะกั่วป่านั้นเป็นของ “แกล้มเซิร์ฟ” ได้เป็นอย่างดี เผื่อใครจะเอาไว้วางแผนไปเดินเล่นในเมืองเก่า ถ่ายรูปตึกสไตล์ชิโน – โปรตุกีสสีพาสเทลเท่ ๆ หาของกินแสนอร่อย และสัมผัสวิถีชีวิตของเมืองเก่าของจริงที่ยังไม่ได้ถูกปรุงแต่งให้กลายเป็นเขตเมืองเก่าเพื่อการท่องเที่ยวเต็มขั้น

            เมืองเก่าตะกั่วป่าตอบโจทย์นี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ

หมุดหมายแห่งเส้นทางเดินเรือ

            เมืองเก่าตะกั่วป่าปรากฏชื่อบ้านนามเมืองคู่กับเส้นทางเดินเรือของมนุษยชาติตั้งแต่เมื่อครั้งบรรพกาล ย้อนเวลากลับไปเมื่อช่วงเวลาก่อนคริสตกาล มนุษย์ในอารยธรรมโบราณต่าง ๆ เริ่มรู้จักการเดินทางค้าขายมายังดินแดนอันแสนไกลเพื่อแสวงโชคและความมั่งคั่ง นักเดินเรือนานาชาติอันมีชาวกรีก อินเดีย จีน และเปอร์เซียได้ติดต่อกันทางการพาณิชย์และแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมร่วมกัน หนึ่งในจุดนัดพบโดยปริยายของนักเดินเรือต่างถิ่นก็คือดินแดน “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวรรณทวีป” ซึ่งเป็นชื่อที่เอกสารอินเดียโบราณใช้ในการเรียกแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

            เพราะถ้าเราสังเกตดูแผนที่ เราจะพบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานั้นเป็นคาบสมุทรที่คั่นกลางระหว่างเมืองท่าในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก กับเมืองท่าฝั่งมหาสมุทรอินเดียเรื่อยไปจนถึงคาบสมุทรอาระเบียและโลกตะวันตก เพราะฉะนั้นเมืองท่าบนคาบสมุทรสุวรรณทวีปจึงทวีความสำคัญขึ้นมาด้วยปัจจัยเกื้อหนุนทางภูมิศาสตร์นั่นเอง เมืองตะกั่วป่าปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารนานาชาติหลายสำเนียงด้วยกัน ชื่อที่มักจะได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอคือ “ตะโกลา” ซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่ของปโตเลมี (Ptolemy) สำหรับชื่ออื่น ๆ นั้นก็เช่น ตกุละ ในภาษาสิงหล (ศรีลังกา) และกะกุละ (ภาษาอารบิก) ซึ่งก็น่าจะเป็นต้นเค้าของชื่อเมือง “ตะกั่วป่า” ในปัจจุบัน ซึ่งทุกชื่อล้วนสื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกันว่าตะกั่วป่านั้นน่าจะมีความหมายว่า “ดินแดนแห่งกระวาน” เนื่องจากบริเวณนี้ในอดีตเป็นแหล่งค้าขายเครื่องเทศซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกนั่นเอง

            จนกระทั่งเมื่อเครือรัฐต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบันก่อตัวขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย พื้นที่เมืองตะกั่วป่าซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมศรีวิชัย (Srivijaya Culture) ที่ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทย คาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา ไปจนถึงหมู่เกาะชวา ประจักษ์พยานอันสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของพื้นที่เมืองตะกั่วป่าในฐานะเมืองท่าตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตก็คือกลุ่มโบราณสถานทุ่งตึก หรือเมืองโบราณทุ่งตึก ที่ปรากฏซากฐานอาคารซึ่งอาจจะเคยเป็นศาสนสถานหรืออาคารสำคัญต่าง ๆ อยู่ในบริเวณป่าละเมาะ และมีเศษภาชนะเครื่องถ้วยและเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากที่ได้รับการค้นพบจากพื้นที่บริเวณนี้ บ่งชี้ได้ว่าพื้นที่ทุ่งตึกน่าจะเป็นที่รู้จักอย่างดีของนักเดินเรือชาวอินเดีย อาหรับ และจีน

            จนถึงสมัยอยุธยา เมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองในความดูแลของกรมท่า (โกษาธิบดี) และขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองถลาง เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ในช่วงรัชกาลที่ 4 – 5 เมืองตะกั่วป่าก็ได้ขยายตัวเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่พระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) เป็นเจ้าเมือง จนกระทั่งการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมืองตะกั่วป่าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภูเก็ต และเมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงเปลี่ยนระบบเมืองซึ่งสะท้อนความเป็นเอกเทศจากราชธานีสูงให้กลายเป็นระบบจังหวัด เมืองตะกั่วป่าจึงได้กลายเป็น “จังหวัดตะกั่วป่า” ในที่สุด

            แต่แล้วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำเป็นอย่างมาก กำลังซื้อที่ลดน้อยถอยลงของชาติตะวันตกส่งผลให้เศรษฐกิจไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ส่งผลให้สภาวะทางการคลังของไทยต้องรัดเข็มขัดตามระเบียบโลกในเวลานั้นด้วยเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) จึงทรงให้ยุบจังหวัดตะกั่วป่าเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดพังงา ตะกั่วป่าจึงมีฐานะเป็นอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน

            ในตัวเมืองตะกั่วป่ามีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากตะกั่วป่าเป็นเมืองที่รุ่งเรืองด้วยการทำเหมืองอย่างมากในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนได้มีการสร้างอาคารบ้านเรือนเป็นอาคารพาณิชย์ (ตึกแถว) ด้วยสถาปัตยกรรมแบบชิโน โปรตุกีส เรียงรายกันสองฝั่งถนนบริเวณที่เรียกกันว่า “ตลาดใหญ่” อาคารแบบนี้เป็นอาคารที่ได้รับความนิยมมากในเมืองท่าที่มีชาวจีนโพ้นทะเลไปพำนักอาศัยอยู่ (เช่น มะละกา ปีนัง ภูเก็ต) เนื่องจากเป็นอาคารที่สามารถใช้เป็นร้านค้าและบ้านเรือนได้ (Shophouse) และการที่ชาวจีนอาศัยอยู่ติดกันทำให้สามารถเกื้อกูลช่วยเหลือกันได้ง่ายด้วย หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นของชุมชนชาวจีนก็คืออาคารโรงเรียนเต้าหมิง (ปัจจุบันเลิกดำเนินการแล้ว) เป็นโรงเรียนจีนที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ พ.ศ.2463 (สมัยรัชกาลที่ 6)

            เมื่อพอจะรู้จักความเป็นมาของเมืองตะกั่วป่ามากขึ้นแล้ว ผมจะพาทุกท่านไปย่ำเท้าชมเสน่ห์ของเมืองเก่าตะกั่วป่ากัน

            ถ้าพร้อมแล้ว ใส่รองเท้าผ้าใบคู่โปรดที่เดินสบาย แล้วสะพายกล้องตามผมมาได้เลยครับ

ทอดน่องท่องเมืองเก่า

            เวลาที่ผมเดินเล่นในเมืองเก่า ผมจะมีจุดเริ่มต้นของผมง่าย ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นวัง (หรือจวนเจ้าเมือง) วัด หรือตลาด สำหรับกรณีของเมืองเก่าตะกั่วป่านี้ ผมเริ่มต้นที่วัดเสนานุชรังสรรค์ ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ (ควนฉมังคีรี) สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2390) ระหว่างช่วงที่พระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองตะกั่วป่า วัดนี้สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 ชัดเจน คือมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อฐานแยกพื้นข้างในประธาน และชาลารอบตัวอาคารสูงกว่าระดับดิน ริมชาลาก่อเสารายเป็นเสาสี่เหลี่ยมขึ้นไปรับพาไลทั้งสี่ด้าน ที่สำคัญวัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (ดื่มน้ำสาบาน) ของข้าราชการในสมัยโบราณด้วย ก่อนที่จะยกเลิกพิธีนี้ไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

            ผมเดินลงจากวัดเสนานุชมุ่งหน้าเข้าสู่เขตเมืองเก่า มองไปทางซ้ายจะพบกับ “ตึกขุนอินทร์” เป็นอาคารแบบชิโน – โปรตุกีสประยุกต์ ปัจจุบันรับชมได้เพียงด้านนอกเท่านั้น แต่ก็ชวนให้จินตนาการให้เห็นถึงความโอ่อ่าของบ้านหลังนี้ในอดีตได้เป็นอย่างดี บ้านหลังนี้เดิมเป็นสมบัติของ ร.อ.ท.ขุนอินทรคีรี (ช้อย ณ นคร) หลานของพระยาเสนานุชิต ทุกวันนี้บ้านหลังนี้เป็นสมบัติของตระกูล ณ นคร

            เขตเมืองเก่าของตะกั่วป่ามีสถาปัตยกรรมของอาคารแบบชิโน – โปรตุกีสแบบที่พบได้ทั่วไปตลอดเขตเมืองเก่าชายฝั่งทะเลอันดามัน ด้านหน้าของอาคารจะมีทางเดินต่อกันความยาวประมาณห้าฟุตที่มีหลังคาคลุม สามารถเดินได้ตลอดโดยไม่เปียกฝนเรียกว่าหงอคาขี่

            ผมเดินตัดจากตึกขุนอินทร์ออกไปทางทิศตะวันออกประมาณสามร้อยเมตรก็จะพบกับศาลเจ้าจีนขนาดใหญ่ที่ชื่อว่าศาลเจ้าซินไช่ตึ๊ง อันเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ประจำเมืองตะกั่วป่าซึ่งเป็นสถานที่สืบสานประเพณีถือศีลกินผักของชาวไทยเชื้อสายจีนในตะกั่วป่ามาจนถึงทุกวันนี้ บริเวณใกล้เคียงกับศาลเจ้าแห่งนี้มีอาคารแบบชิโน – โปรตุกีสเรียงรายอยู่ทั่วไป ดังที่ผมเล่าไปแล้วว่าเมืองเก่าตะกั่วป่ายังเป็นเมืองเก่าที่ผู้คนยังใช้ชีวิตจริง ๆ อยู่มาก ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นเมืองเก่าเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่

            เพราะฉะนั้นเราจะได้เห็นบรรยากาศการค้าขายภายในตึกเก่าเหล่านี้อย่างมีชีวิตชีวา ร้านไหนขายอะไรก็ขายอยู่อย่างนั้น บางร้านขายก๋วยเตี๋ยว ขายขนม เปิดอู่ซ่อมรถ เปิดร้านขายของชำ ฯลฯ ก็ดำเนินชีวิตกันไปตามปกติ ตึกเหล่านี้ไม่ได้กลายเป็นคาเฟ่หรือโรงแรมบูติกรองรับการท่องเที่ยวมวลชนไปจนหมด นับว่าตะกั่วป่ายังคงเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิตจริง ๆ อยู่มากทีเดียว

            จากบริเวณใกล้เคียงกับศาลเจ้าซินไช่ตึ๊ง ผมเดินตัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองไปจนเห็นกำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่า ซึ่งเคยเป็นสถานที่พำนักของพระยาเสนานุชิตสมัยที่เป็นเจ้าเมือง ปัจจุบันสถาปัตยกรรมส่วนนี้เหลือเพียงกำแพงเนื่องจากสมัยก่อนจวนเจ้าเมืองจะสร้างด้วยเครื่องไม้ ไม่ได้เน้นการก่ออิฐถือปูน

            มีบันทึกว่าในช่วงที่พระยาเสนานุชิตเป็นเจ้าเมืองตะกั่วป่านั้นการค้าดีบุกในเมืองแห่งนี้เฟื่องฟูมาก สามารถเก็บภาษีที่ได้จากการประกอบธุรกิจส่งไปให้ส่วนกลางปีละมาก ๆ และพระยาเสนานุชิตยังเป็นเจ้าเมืองที่เข้มแข็ง เพราะในช่วงเวลานั้นมักจะปรากฏความวุ่นวายของชาวจีนที่ตั้งตนเป็นอั้งยี่และสู้รบกันเป็นประจำ แต่เมืองตะกั่วป่าก็สามารถป้องกันภัยอันตรายจากพวกอั้งยี่ได้ทุกครั้ง หลักฐานบางแห่งระบุว่าการสร้างกำแพงจวนเจ้าเมืองตะกั่วป่าไว้อย่างเข้มแข็งก็เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันพวกอั้งยี่ด้วย

            แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นเมืองเก่า ตะกั่วป่าจึงต้องได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยสายน้ำตามธรรมชาติ เพราะในอดีตสายน้ำไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งทรัพยากรหรือแหล่งอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นเส้นทางการคมนาคมด้วย ผมขับรถออกนอกเส้นทางท่องเที่ยวไปเล็กน้อยเพื่อไปยังริมคลองตะกั่วป่า ซึ่งไหลมาจากต้นกำเนิดที่อำเภอกะปงซึ่งอยู่ตอนในของจังหวัดพังงา ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ในอดีตชาวบ้านสามารถสัญจรทางน้ำจากเมืองตะกั่วป่าลึกเข้าไปถึงกะปงได้ แต่ต่อมาเมื่อกิจการเหมืองแร่เจริญขึ้น ตะกอนจากการทำเหมืองแร่ก็ไหลลงไปในคลอง ทำให้ลำคลองตื้นเขินไป

            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เคยเสด็จฯ มายังเมืองตะกั่วป่าเมื่อ พ.ศ.2452 (ปลายรัชกาลที่ 5) ทรงบันทึกเอาไว้ว่า

            “… พอพ้นตลาดก็หมดถนน มีแต่ทางตัดไปตามป่าละเมาะและทุ่ง เป็นทางงามดี แต่แดดข้างจะร้อน ข้ามคลองหลายแห่ง แต่ล้วนตันเสีย เพราะทรายเหมืองไหลลงมาเต็มเสียหมด การทลายเขาลงมาเพื่อทำเหมืองแร่ขุดนี้ทำให้เสียประโยชน์มาก ตามริมลำน้ำตะกั่วป่าเดิมเคยมีบ้านอยู่ราย ๆ ไป ทำนา ทำไร่ ทำสวนได้ดี บัดนี้ทรายไหลลงมาถมคลอง ตัดทางน้ำเดินเสียหมด แล้วยังไหลไปท่วมที่นาที่สวน ทำการเพาะปลูกไม่ได้ …”

            ก็เรียกว่าได้อย่างเสียอย่าง การทำเหมืองสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชาวตะกั่วป่าก็จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียอาชีพดั้งเดิมอย่างการทำเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน

ส่งท้ายวัน

            ก่อนจะกลับที่พักที่เขาหลัก ผมแวะไปที่สะพานเหล็กบุญสูง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนสะพานไม้ของเดิม โดยเหล็กที่นำมาสร้างสะพานนี้เคยเป็นชิ้นส่วนของเรือขุดแร่ดีบุกในสมัยที่การทำเหมืองแร่ยังเจริญรุ่งเรือง สะพานแห่งนี้เป็นทางสัญจรของชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าตัวสะพานจะไม่ใหญ่มาก แต่ก็พอที่จะให้รถจักรยานยนต์สองคันวิ่งสวนกันได้สบาย ช่วงที่สะพานตัดผ่านกลางทุ่งแดดอาจจะแรงสักหน่อย แต่ผมแนะนำให้เดินไปให้ถึงกลางสะพานตรงจุดที่ข้ามคลองตะกั่วป่า บรรยากาศจะสวยงามมากครับ

            ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของการท่องเมืองตะกั่วป่าโดยสังเขป เป็นเมืองเรียบง่ายที่เราสามารถเที่ยวได้ภายในระยะเวลาครึ่งวัน และไม่ได้ตั้งอยู่ไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวหลักอย่างหาดเขาหลักเลย สำหรับผมแล้วเมืองเก่าตะกั่วป่าเป็นสถานที่ที่คนรักทะเลแวะเวียนไปเปลี่ยนบรรยากาศได้เสมอ และในฤดูมรสุมนี้ที่เขาหลักจะเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางอีกครั้งหนึ่งของผม

            เมืองตะกั่วป่าก็จะเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ผมจะต้องแวะไปเยี่ยมเยียนด้วยความคิดถึงด้วยเช่นกัน

Contributors

ครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาที่รักการเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกกว้างเป็นชีวิตจิตใจ เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มนุษยสัมพันธ์ และการเดินทางจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเติบโตไปพร้อมกันเสมอ