พี่กุ๊บ-จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ คือนักเขียนที่โคตรเท่ในสายตาเรา
เราเห็นชื่อนี้ตั้งแต่สมัยที่เราทำงานเขียนหนังสือในฐานะนักเขียนตัวเล็กๆ บนก้อนเมฆอย่าง The Cloud และอีกหลายสำนัก ก่อนจะได้ร่วมงานกันในช่วงที่เราเป็นนักเขียนฝึกหัดในเชียงใหม่
สโคปอาชีพที่เขาทำเพื่อหาเลี้ยงตัวเองคือ นักเขียน และ Copywriter ซึ่งนอกจากงานเขียนบนสื่อออนไลน์ต่างๆ แล้ว เขายังมีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กออกมาหลายเล่ม ส่วนใหญ่เป็นงานรวมเรื่องสั้นและนิยายที่มีท่าทีในการสื่อสารอันเจ็บแสบและเปี่ยมชั้นเชิง ถ้าได้อ่านแล้ว ต้องมีจุกกันบ้าง
นอกจากเป็นนักเขียน อีกสิ่งที่เขาพยายามทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะออกตัวว่ามันเป็น “อาชีพ” ไม่ได้ แต่ก็ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจเขาได้มากนั่นคือการทำงานศิลปะ ซึ่งแม้เขาเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ด้วยการทำนิทรรศการเดี่ยวออกมาได้แค่สองนิทรรศการ แต่ทั้งหมดก็ล้วนแฝงนัยเสียดสีแบบเดียวกับงานเขียนของเขา ทั้งนิทรรศการ คิดถึงคนบนฝ้า ที่ชวนให้เราปีนบันได้ขึ้นไปดู “อะไร” สักอย่างบนนั้น หรือนิทรรศการ ฝ่าละออง งานภาพเคลื่อนไหวที่มี “เครื่องดูดฝุ่น” เป็นตัวเดินเรื่อง
แน่นอน, สาเหตุที่เราเจอกันในร้านอาหารแห่งหนึ่งกลางเมืองเชียงใหม่คือ การสนทนาถึงเส้นทางในวงการนักเขียนที่ไม่ได้เรียบง่ายตามประสา “จังหวะสนทนา” และเป็นเพราะวาระที่เขาเพิ่งตีพิมพ์ผลงานร่วมเรื่องสั้นเล่มใหม่อย่าง รักในลวง กับสำนักพิมพ์ Salmon Books
พร้อมไปกับการพูดคุยถึงผลงานชิ้นใหม่ เราเลยถือวิสาสะสำรวจจังหวะชีวิตของชายหนุ่มผู้นี้ไปด้วย – ชายผู้เลี้ยงชีพผ่านการเขียน ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนสิ่งที่เขาถนัดให้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน-เคลื่อนไหวสิ่งที่ตัวเองเชื่อ
และนี่คือเรื่องราวของผู้เขียน รักในลวง อันปราศจากความลวงตลอดบทสนทนานี้
นักเล่าเรื่องด้วยการเขียน
“ที่อยากเป็นนักเขียนเพราะเราชอบเรื่องเล่ามั้ง เราชอบงานศิลปะทุกอย่างที่เล่าเรื่องได้ และจริงๆ เราอยากทำหนังมาตั้งแต่เด็ก ความชอบดูหนังทำให้เราอ่านหนังสือ เพราะหนังแต่ละเรื่องก็มีต้นฉบับมาจากหนังสือ เราก็คิดว่าการทำหนังมันเจ๋งนะ แต่ว่าการเป็นต้นฉบับของหนังมันก็เจ๋งเหมือนกัน”
ในทีแรกที่พี่กุ๊บเรียนจบจากคณะมนุษยศาสตร์เอกภาษาอังกฤษนั้น เขาเองก็ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าอยากที่จะทำอาชีพอะไร แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง ช่วงนั้นดันเป็นยุคที่หนังสือทำมือกำลังเป็นที่นิยม และยังเป็นยุคทองของนิตยสารด้วย เรียกได้ว่าเป็นยุคที่การได้เป็นคอลัมนิสต์หรือการได้ทำงานเป็นบ.ก. (บรรณาธิการ) เป็นความฝันของวัยรุ่นหลายคน
“ตอนนั้นก็คิดแค่ว่า การได้เลือกคนที่เราอยากสัมภาษณ์ จนไปถึงการได้เขียนบทความมันน่าจะพาเราต่อยอดไปเป็น บ.ก. ได้ เลยพาตัวเองไปในที่แบบนั้น เลยเลือกไปฝึกงานในวงการสิ่งพิมพ์ เราเริ่มฝึกงานที่ Music Express จากนั้นก็มีไปทำที่ National Geographic เข้าค่ายนักเขียนของนิตยสารสารคดี และเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ให้กับ The Nation แล้วก็เริ่มไปเข้ากิจกรรมที่เขามีเกี่ยวกับการเขียน ก็ไปเรียนรู้ผ่านกาทำงานให้มากๆ เพราะว่าเราไม่ได้เรียนการเขียนมาโดยตรง”
พี่กุ๊บขยายต่อถึงเส้นทางอาชีพให้เราฟังว่า หลังจากทำงานในกรุงเทพฯ สักพัก เขารู้สึกไม่สนุกกับการใช้ชีวิตในเมืองหลวงอีกแล้ว ก่อนจะพบว่าที่เชียงใหม่ในยุคนั้น- คือเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว – อุตสาหกรรมนิตยสารแจกฟรีกำลังเบ่งบาน เขาจึงตัดสินใจย้ายขึ้นไปเชียงใหม่ ทำนิตยสารท้องถิ่นไปอีกพักใหญ่ กระทั่งอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เริ่มหดตัว
“เราทำงานนิตยสารตั้งแต่ตอนที่มันยังรุ่งเรืองจนมันซบเซา หนังสือที่เราทำอยู่ที่เชียงใหม่ก็มียอดโฆษณาลดลงเรื่อยๆ ส่วนนิตยสารในกรุงเทพฯ ที่เราเคยเขียนคอลัมน์ให้ก็ทยอยกันปิดตัว ตอนนั้น สื่อถ้าไม่ปิดตัวก็จะทรานส์ฟอร์มไปอยู่ออนไลน์แล้ว เราก็ยังได้เขียนคอลัมน์ในสื่อออนไลน์บ้าง แต่พอดีได้งานใหม่เป็น copywriter ให้กับบริษัทที่เขาทำพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ ก่อนหน้านี้เราเคยรับงานเขียนบทนิทรรศการอยู่บ้าง ไม่เหมือนกับการเขียนบทความเสียทีเดียว แต่ก็น่าจะปรับตัวได้ เลยแวะไปทำงานบริษัทนั้น (Right Man Co. Ltd.) อยู่พักหนึ่ง ซึ่งประสบการณ์ที่นั่นก็ส่งผลต่องานในเชิงพาณิชย์ที่ใช้หาเลี้ยงชีพของเราต่อๆ ไปในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญด้วย”
ควบคู่ไปกับการเขียนเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ ระหว่างนั้นพี่กุ๊บก็เริ่มเข้าสู่โลกของการเขียนอีกใบหนึ่ง นั่นคือโลกของวรรณกรรม
“หลังจากเป็นกองบรรณาธิการประจำนิตยสารมาสักพัก น่าจะ 4-5 ปีได้มั้ง มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกอิ่มตัวกับสิ่งที่ทำ เลยขอเจ้านายออกมาเป็นฟรีแลนซ์ และไปลองหาประสบการณ์ใหม่ที่ต่างประเทศดู นั่นทำให้เราได้ไปฮาวาย ไปหางานทำที่นั่นประมาณ 2-3 เดือน ชีวิตที่ฮาวายเปลี่ยนโลกทัศน์ของเรามากทีเดียว”
ฮาวายที่พี่กุ๊บไป ไม่ใช่ที่ Honolulu แต่พี่กุ๊บไปอยู่เกาะ Maui เกาะเล็กๆ ที่มีชื่อเสียงด้านสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ควบคู่กันนั้นที่นั่นก็ยังมีสังคมที่พหุวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับความเชื่อและตำนานท้องถิ่นอย่างน่าสนใจ
“เกาะเมาอิมันอยู่ในอเมริกา แต่มันก็ไม่ใช่สังคมอเมริกันอย่างที่เราคุ้นเคยจากในหนังฮอลีวูด ขณะเดียวกัน เราก็มีโอกาสได้พูดคุยกับคนทำงานที่มาจากหลากพื้นเพมากๆ ของที่นั่นด้วย มันก็เริ่มจากคุยเรื่องดินฟ้าอากาศธรรมดา ไปจนถึงเรื่องชีวิตและทัศนคติด้านสังคมและการเมือง และพอไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ก็ได้ยินเรื่องตำนานท้องถิ่นนั่นนี่มา ตอนแรกเราคิดว่าการมาที่นี่ เราอาจได้หนังสือสารคดีท่องเที่ยวกลับไปสักเล่ม ไปๆ มาๆ เรากลับนั่งเขียนเรื่องสั้นได้เป็นกอง จนกลายมาเป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรกออกมา”
นั่นคือรวมเรื่องสั้น ฮาวายประเทศ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์หนึ่ง (ชื่อสำนักพิมพ์ ‘หนึ่ง’ ) ช่วงปี พ.ศ. 2552 ก่อนจะได้ตีพิมพ์อีกครั้งกับสำนักพิมพ์ Salmon Books อีกราว 2 ปีถัดมา และนับแต่นั่น เส้นทางในฐานะนักเขียนวรรณกรรมของพี่กุ๊บก็เริ่มต้น
ว่าแต่โลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปขณะอยู่ที่ฮาวายคืออะไร? เราสงสัย
“ต้องเล่าพื้นฐานก่อนว่าเราเกิดนครสวรรค์ ใช้ชีวิตและเรียนมหาวิทยาลัยที่ต่างจังหวัดมาตลอด ขณะเดียวกัน เมื่อสักเกือบยี่สิบปีที่แล้ว โซเชียลมีเดียมันยังเป็นแค่ msn, pirch หรือ Hi5 แตกต่างจากทุกวันนี้สุดๆ และสังคมก็ยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากๆ ไอ้ความคิดเรื่องความหลากหลาย การกระจายอำนาจ หรือกระทั่งสำนึกด้านความเท่าเทียม ยังถือเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ เราโตมากับสังคมที่ถ้าวัยรุ่นทวิตเตอร์ยุคนี้มาเห็น ก็คงจะเอาไปทวิตด่าว่าแม่งไม่ pc เลย พูดแบบภาษาสมัยนี้ก็คือสังคมที่คนรุ่นใหม่ในตอนนั้นยังไม่ woke น่ะ หรือพอเราทำนิตยสารเป็นอาชีพ คุณนึกออกไหมว่าทุกเดือนสิงหาคมและธันวาคม มันเป็นวัฒนธรรมไปแล้วว่านิตยสารทุกเล่มต้องมีคอนเทนต์เชิดชูราชินีและในหลวง เพราะเป็นวันเกิดของพวกเขา
แต่พอไปอเมริกา อาจจะเป็นสังคมของผู้ใหญ่ที่ใช้แรงงานและมาจากประเทศที่หลากหลาย มีทั้งคนดำ LGBT ฟิลิปปินส์ ลาว เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ การมีโอกาสได้ปะทะสังสรรค์กับคนเหล่านี้ แล้วก็ได้คุยกันว่าบ้านเมืองเป็นยังไง มันเปิดโลกของเราพอสมควรนะ มันทำให้เรารู้ว่าประเทศไทยมันเป็นเพียงเสี้ยวส่วนเล็กๆ ไม่ใช่ศูนย์กลางของโลกอย่างที่หลายคนในยุคเราหลงเข้าใจ”
เราแอบสะดุดกับประโยคล่าสุดของพี่กุ๊บเล็กน้อย อะไรทำให้พี่กุ๊บในเวอร์ชันเก่าถึงมองว่าประเทศไทยคือโลกทั้งใบของเขา
“เรื่องนี้โคตรงี่เง่าเลย ตลกด้วย ตอนเรียนจบมาใหม่ๆ น่าจะอายุสัก 20 ได้มั้ง เราได้ทำนิตยสารท่องเที่ยวฉบับหนึ่ง ช่วงนั้น บ.ก. ส่งเราไปเขียนบทความท่องเที่ยวที่หลวงพระบาง และมันมีกำหนดตีพิมพ์ช่วงเดือนธันวาคมพอดี ตอนนั้นในกอง บ.ก. ก็ยังไม่ได้สรุปกันว่าจะมีคอนเทนต์อวยเจ้ายังไง เราก็เสนอไปว่าเราอาจหารูปในหลวงจากร้านค้าต่างๆ ที่นั่นถ่ายมาลงบทความไหม คือแม่งตอนนั้นเราเด็กมาก และก็โตมากับ propaganda ประมาณรูปถ่ายที่มีทุกบ้าน ซึ่งสมัยนั้นรูปถ่ายในหลวงมีทุกบ้านจริงๆ และก็คิดว่าลาวก็บ้านพี่เมืองน้อง ก็ต้องมีสิน่า…
“บก. ฟัง ก็บอกว่ามึงบ้าหรือเปล่า คนลาวเขาจะแขวนรูปในหลวงไปทำไม… นั่นล่ะ เราเคยโตมาแบบนั้น ไม่เคยเดินทางไปประเทศไหน กระทั่งทำนิตยสารท่องเที่ยวและมีโอกาสไปประเทศต่างๆ มากขึ้น เหมือนกะลามันก็ค่อยๆ แตกออก จนสุดท้ายได้ไปฮาวายนี่แหละ นอกจากได้วัตถุดิบมาเขียนหนังสือ โลกทัศน์เราก็เปลี่ยนไปมาก
“พอมาย้อนคิด เราก็นึกอิจฉาเด็กสมัยนี้นะ เขาเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างได้อย่างสะดวกหมดแล้ว หรือจะเดินทางไปไหนก็ง่าย ยากเหลือเกินที่รัฐจะล้างสมองพวกเขา”
นักเขียนหนังสือ
ในฐานะที่เราเองก็เป็นนัก (ชอบ) เขียน เราเชื่อว่ากว่าจะเขียนหนังสือออกมาได้แต่ละเล่มย่อมไม่ง่ายเลย นอกจากพลังแรงกายแล้ว คงต้องอาศัยแรงใจรักที่มีต่องานเขียนอยู่มากโข
“เราเขียนหนังสือเพราะมันมีอะไรมากระทบเรา แรงมันมากพอที่ทำให้เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ซึ่งเราจัดการมันด้วยการเขียน
“จำได้ว่าเราเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกเมื่อ 14-15 ปีก่อน ชื่อว่า Me In The Dark เกี่ยวกับตัวละครคนหนึ่งเดินกลับบ้านมา แล้วก็เจอตัวเองอีกคนนึง หรือที่เรียกว่า dopplegangger เขามาทำร้ายแล้วก็พยายามจะกินร่างของเราให้ตายไป คือฆ่าเราแล้วก็กินตัวเราเอง”
“ถ้าจำไม่ผิดเหมือนตอนนั้นเรารู้สึกผิดกับความสัมพันธ์บางอย่าง… เออ แฟนเก่านั้นแหละ แล้วพอเรารู้สึกผิด เราไม่รู้จะทำยังไง เพราะเขาก็ไม่ให้อภัยเราด้วย เลยหาวิธีระบายความรู้สึกนี้มันออกมาผ่านการเขียนเรื่องสั้น งานเขียนของเรามันเลยเริ่มจากการเป็นแค่ก้อนอารมณ์ หรือก้อนความคิดบางอย่าง จนเราอยากระบายก้อนตรงนั้นออกมาผ่านการเขียนเสมอ”
ตั้งแต่นั้นมา เหตุการณ์รอบตัวของพี่กุ๊บตั้งแต่เรื่องสังคม การเมือง หรือแม้กระทั่งเรื่องชีวิตประจำวันของผู้คน ก็กลายเป็นแรงขับเคลื่อนในการเขียนหนังสือของเขามาเสมอ จนทำให้พี่กุ๊บเริ่มสร้างเรื่องสั้นหลายชุดเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ตามสถานการณ์รอบตัวในชีวิตที่พบเจอ
ซึ่งนั่นแหละ ส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องสังคมการเมือง
“พอปี 2553 มีเหตุการณ์สำคัญมากมายทางการเมือง เราก็เลยเริ่มเขียนเรื่องสั้นชุดใหม่ ชื่อว่า การเมืองเรื่องเซอร์เรียล เซอร์เรียลมาจากคำว่า surreal เราเริ่มเห็นภาพของความเหนือจริงของมุมมองชนชั้นกลางที่มองความรุนแรงทางการเมืองด้วยสายตาอันชินชา หรืออย่าง พิพิธภัณฑ์เสียง ที่เป็นนิยายเล่มแรก ก็มาจากช่วงรอยต่อของความขัดแย้งทางการเมือง ที่ปัญญาชนและคนรุ่นใหม่ยุคนั้นคล้ายทำเป็นอิกนอร์กับความไม่ปกติในสังคม มีทั้งที่จงใจเงียบเอง หรือถูกอำนาจรัฐปิดปาก เราเลยสนใจประเด็นด้าน ‘เสียง’ ในสังคม เช่นเดียวกับนิยาย สนไซเปรส หรือรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า ที่อยากสะท้อนความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของชนชั้นกลางในห้วงเวลาของการเปลี่ยนรัชกาล เป็นต้น”
เราถามพี่กุ๊บต่อว่า หลังจากเริ่มทำงานวรรณกรรม ซึ่งมันงอกเงยจากการเขียนเพื่อหาเลี้ยงชีพแบบแต่ก่อน เขาวางเป้าหมายของการเขียนของตัวเองไว้ตรงไหน?
“เอาจริงๆ ตอนแรกเราคิดแค่ว่าการเป็นนักเขียนแม่งเท่ดี แล้วถ้าได้รางวัลขึ้นมา หรือหาเงินเลี้ยงตัวเองได้จากลิขสิทธิ์เรื่องที่เราเขียนก็คงดีมากๆ แบบ passive income อะไรแบบนี้ แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว เราอาจจะไม่เก่งพอ หรือ popular มากพอด้วยมั้ง ซึ่งเราก็มองว่าสิ่งที่เราทำมันคืออาชีพอาชีพหนึ่งที่เราถนัด เป็นคนทำงานศิลปะรูปแบบหนึ่ง ที่ถึงแม้จะไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยอะไร แต่ทำแล้วรู้สึกสนุก รู้สึกอยู่มือ และเป็นทักษะในชีวิตไม่กี่อย่างที่เราภูมิใจกับมัน”
หลังจากนั้นพี่กุ๊บก็ตีพิมพ์ผลงานมาเรื่อยๆ ไม่ได้ถี่นัก แต่ก็ไม่ถึงกับหายหน้าไปไหนนาน โดยนานที่สุดคือ 6 ปี นับแต่รวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า ตีพิมพ์ในปี 2560 ล่าสุดเขาก็ได้ฤกษ์ออกรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ รักในลวง (2566) ดังที่กล่าว
เช่นเดียวกับรวมเรื่องสั้นหลายเรื่องของเขา รักในลวง เป็นรวมเรื่องสั้นเสียดสีการเมือง แต่ที่ต่างจากเล่มอื่นๆ คือนี่เป็นครั้งแรกที่เขาเขียนเรื่องสั้นที่มีกลิ่นอายแบบหนังสยองขวัญเกรดบี อัดแน่นไปด้วยฉากเลือดสาด การฆาตกรรม สัตว์ประหลาด ผี การโกหกหลอกลวง และเซ็กซ์ เราจึงสงสัยว่าอะไรดลใจให้เขาเขียนเรื่องราวเหล่านี้
“ข้อแรกเลยคือเราชอบดูหนังสยองขวัญเกรดบีอยู่แล้ว พวกสัตว์ประหลาด ผีสาง หรือการฆาตกรรม หรือเรื่องเหนือจริงต่างๆ เหล่านี้ มันเป็นแฟนตาซีในแบบที่เราคงไม่มีวันเจอในชีวิตจริงได้แน่ๆ น่ะ ส่วนข้อที่สองคือ เราคิดว่าหลายคนถ้าไม่ทำเป็นปิดหูปิดตาจนเกินไป ก็จะเห็นเหมือนเราว่าสังคมและการเมืองในบ้านเราภายใต้การปกครองของเผด็จการรอยัลลิสต์ มันสร้างความรุนแรงกับผู้เห็นต่าง สร้างความอยุติธรรม และสถานการณ์บิดๆ เบี้ยวๆ ที่เราไม่สามารถใช้กรอบเหตุผลสากลไปทำความเข้าใจได้เลย ซึ่งนั่นแหละ บางเหตุการณ์มันเหนือจริงกว่าเรื่องแต่งของนักเขียนเสียอีก
“เราเลยเอาความสนใจสองประเด็นนี้มาเป็นวัตถุดิบเขียนหนังสือ ความสยองขวัญหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เราไม่สามารถบอกเล่ามันได้ด้วยข้อเท็จจริง แต่การที่เรารับรู้ ทำใจยอมรับ และดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติไป เราทำไม่ได้ว่ะ วรรณกรรมและสัญลักษณ์จึงเป็นวิธีการระบายความรู้สึกวิธีหนึ่งของเรา จึงออกมาเป็นชุดเรื่องสั้นชุดนี้ ซึ่งเอาเข้าจริง เราตั้งใจให้มันมีอารมณ์ขันแทรกอยู่ทุกเรื่องด้วยนะ เหมือนชีวิตจริงแม่งเชี่ยเกินไป เลยเอาเรื่องตลกมาเล่าแม่งเลย”
นักเขียน (ที่ทำ) งานศิลปะ
ระหว่างที่พูดคุยกัน เรามักได้ยินคำว่า ศิลปะ ออกมาจากนักเขียนคนนี้เป็นระยะ เราเลยอนุมานว่า สำหรับพี่กุ๊บแล้ว งานเขียนที่เขาสร้างขึ้นในแต่ละเรื่อง คงนับเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งได้เลยหรือเปล่า ขณะเดียวกันช่วงเวลา 6 ปีที่พี่กุ๊บไม่ได้ออกหนังสือ เขายังหันไปทำนิทรรศการศิลปะของตัวเองที่มีนัยทางการเมืองถึงสองนิทรรศการ และงานทั้งสองก็ยังปรากฏในรูปแบบเรื่องสั้นใน รักในลวง ด้วย เราจึงสนใจแนวคิดเรื่องการทำศิลปะของเขา
“จริงๆ ไม่มีอะไรมากเลย เราแค่อยากทำเรื่องที่เราเขียนออกมาเป็นงานสามมิติดูบ้าง อยากให้เรื่องสั้นมันสร้างประสบการณ์แบบอื่นกับคนดูนอกจากการอ่านน่ะครับ และความที่ในอีกพาร์ทหนึ่งของการทำงานเรา เราเขียนบทความเกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัยบ่อยๆ เลยมีความคุ้นเคยกับแวดวงนี้ระดับหนึ่ง จนวันหนึ่งเลยเกิดไอเดียว่า งั้นเราเอาเรื่องสั้นเรามาทำงานศิลปะจัดวางสักครั้งดีไหม ก็เลยเกิดเป็น คิดถึงคนบนฝ้า ขึ้น”
นิทรรศการ คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us, 2020-2021) จัดแสดงที่ Cartel Artspace เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของพี่กุ๊บ ซึ่งต่อยอดมาจากเรื่องสั้น การรอคอยเป็นสมบัติของผู้ดี ซึ่งเล่าถึงร่างทรงอาวุโสท่านหนึ่งที่ปีนบันไดหายตัวไปในฝ้าเพดานในแกลเลอรี่ศิลปะแห่งหนึ่ง โดยลูกศิษย์ของร่างทรงท่านนั้นก็ได้แต่รอคอยการกลับมาของอาจารย์อยู่ที่แกลเลอรี่แห่งนั้น พี่กุ๊บนำตัวบทมาพัฒนาเป็นงานศิลปะจัดวาง บันไดช่าง ฝ้าเพดาน และงานประติมากรรมและจิตรกรรมบนเพดานเหนือแผ่นฝ้า
“เราอยากทำให้งานศิลปะมันง่าย ดูสนุก แล้วก็ไม่เป็นนามธรรมไป ขณะเดียวกันก็อยากล้อเลียนความคิดที่คนส่วนใหญ่ชอบมองว่าศิลปะร่วมสมัยมันดูยากหรือสูงส่งจนถึงขั้น ปีนบันไดขึ้นไปดู ก็เลยเอาบันไดช่างให้คนปีนบันไดขึ้นมาดูงานบนฝ้าเสียเลย” พี่กุ๊บเล่า
นิทรรศการแรกของพี่กุ๊บ ได้รับเสียงตอบรับที่ต่างกันสุดขั้ว ขั้วหนึ่งคือชื่นชอบในอารมณ์ขันและความยียวน ขณะที่อีกขั้วเข้าขั้นสาปส่ง ก่นด่า ไปจนถึงมีดราม่าล่าแม่มด เนื่องจากบางองค์ประกอบของนิทรรศการมันดันไปสั่นคลอนกับความเชื่อความศรัทธาของพวกเขา
“พองานมันถูกแชร์ไปทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็มีคนคอมเมนต์ด่าเยอะเลย ขู่จะใช้ความรุนแรงกับเราก็มี บางเพจก็เอาชื่อเราไปแขวน และก็มีถึงขั้นหาเฟซบุ๊คส่วนตัวเราเจอ และแชทมาคุกคาม เราก็ไล่อ่านหมดนะ ตอนแรกแม่งก็กังวลแหละ แต่นั่นล่ะ เราไม่ได้คิดว่าทำอะไรผิด จะกังวลทำไม”
เราไม่ได้ถามเขาต่อว่ารู้สึกเข็ดขยาดไหม เพราะหนึ่งปีให้หลังจากนั้น เขาก็ทำนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สอง ที่ยังคงมีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับความยียวนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย นั่นคือนิทรรศการ ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust, 2022) จัดแสดงที่ VS Gallery โดยคราวนี้ พี่กุ๊บนำเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ หรือ Robot ไปดูดฝุ่นตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับความพยายามลบประวัติศาสตร์ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และบันทึกวิดีโอการทำงานของพวกมันไว้มาจัดแสดง
โดยพื้นที่ที่เขาไปถ่ายทำมีตั้งแต่ แยกราชประสงค์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญ พระบรมรูปทรงม้า รวมถึงพื้นที่ในแขวงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งนั่นล่ะ มันไม่ใช่เรื่องปกติเลยที่จู่ๆ ก็มีใครไม่รู้ถือกล้องวิดีโอมาบันทึกการทำงานของเครื่องดูดฝุ่นละแวกนั้น
“ตอนที่ไปถ่ายงาน ก็มีตำรวจแถววังมาถาม ประมาณว่า ‘มาทำอะไรครับ’ แล้วเขาก็จะขอถ่ายบัตรประชาชนให้ได้ด้วย ซึ่งใครจะให้กันวะ เราก็เลยตอบไปว่า ‘มาทำรีวิวเครื่องดูดฝุ่นครับ’ ถ่ายวีดีโอเพื่อรีวิวว่ามันดูดฝุ่นนอกสถานที่ก็ได้นะครับ แต่เครื่องดูดของเรามันก็สีทองอร่ามเลยนะ (หัวเราะ) เขาก็ไม่เชื่อ แล้วพอเขามากดดันเรามากๆ เราก็ย้ายสถานที่อื่นต่อ”
ผลตอบรับด้านลบของนิทรรศการชุดนี้ หาได้รุนแรงเท่ากับนิทรรศการแรก อาจเพราะปัจจัยทางความเชื่อหลายๆ อย่างในสังคมที่เริ่มเปลี่ยนไป หรือสื่อที่เขาทำอาจไม่โจ่งแจ้งเท่ากับงานชุดแรก อย่างไรก็ดี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานชุดนี้ ก็เฉกเช่นงานเขียนหลายชิ้นของเขา มันได้ทิ้งอาการแสบๆ คันๆ ไว้ในสังคมมากพอสมควร
“เราไม่ได้คาดหวังว่างานของเราจะต้องสร้างอิมแพคอะไรให้กับสังคมเลย สิ่งที่เราทำเป็นแค่ความเคลื่อนไหวห้วงสั้นๆ ห้วงหนึ่งเท่านั้น อย่างที่บอก เราเชื่อว่างานศิลปะมันคือภาพสะท้อนของสังคมน่ะ และสังคมไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันวายปวงเสียจน… ถ้าคุณเป็นคนทำงานศิลปะ คุณไม่มีทางจะรู้สึกเฉยๆ กับความวายปวงนี้ได้แน่ๆ
“ซึ่งเรามองว่าสิ่งที่เราพยายามทำอยู่เนี่ย มันคือการสั่งสมความเคลื่อนไหว คุณไปม็อบ คุณบริจาคเงินให้กลุ่มการเมือง คุณก่นด่าเผด็จการในสังคมออนไลน์ เขียนหนังสือ ทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ ทำเพลง ทำงานศิลปะ ลงชื่อในประชามติ หรือการไปเลือกตั้ง อะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดทั้งมวลคือการสะท้อนความไม่พอใจของคนยุคนี้ และสิ่งที่เราทำมันคือการสั่งสม เราเชื่อว่ายิ่งเราสั่งสมไปมากๆ มันจะจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสักวัน”
นักเคลื่อนไหวด้วยศิลปะงานเขียน
คุยกันมาถึงตรงนี้ เลยอยากลองให้พี่กุ๊บนิยามตัวเองหน่อยว่า จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เป็นนักเขียนแบบไหน
“อธิบายตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ต้องให้คนอื่นบอกมั้ง ถ้าถามว่าตัวเราเองเป็นแบบไหน เราแค่เป็นคนที่สนุกกับการเขียน ไม่ได้มีความทะเยอทะยานอะไร แต่แค่รู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรได้ เราก็ทำ” พี่กุ๊บตอบ
เรียกได้ว่าพี่กุ๊บเป็นนักเขียนที่จับตามองสังคมเปลี่ยนผ่านทางความคิดมาหลายสมัย และสะท้อนสภาวะสังคมในแต่ละช่วงได้อย่างมีชั้นเชิง พลวัตเหล่านี้ ทำให้พี่กุ๊บมองภาพประเทศไทยเปลี่ยนไปในเส้นทางได้บ้าง
“ถ้าหมายถึงสถานการณ์บ้านเมืองในหลายปีหลังมานี้ ความคิดความเชื่อของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าประหลาดใจ แต่ก็น่ายินดีมากๆ เช่นกันนะครับ อย่างเมื่อก่อนเราเขียนหนังสือและทำงานศิลปะ เพื่อที่จะเล่าเรื่องที่เราไม่สามารถพูดได้ตรงๆ แต่พอมีม็อบคนรุ่นใหม่ขึ้นมา แล้วเขาก็มีข้อเสนอที่ชัดเจน หรือกระทั่งมีกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็น สส. ในสภา โอเค ถึงสุดท้ายพวกเขาจะถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้าน แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงระดับหนึ่งแล้ว”
พอพี่กุ๊บตอบแบบนี้ เราจึงสงสัยว่า ในเมื่อมีคนออกมา ‘สื่อสารตรงๆ’ ได้แล้ว สิ่งที่เขาทำทั้งงานวรรณกรรมและศิลปะจะยังมีความหมายอยู่ไหม?
หากพี่กุ๊บก็ตอบเราทันทีว่าเขายังเชื่อมั่นว่าสังคมยังต้องการการสื่อสารด้วยศิลปะอยู่ดี
“โอเค วรรณกรรมในแบบที่เราเขียนมันอาจไม่ป๊อบอีกต่อไป มันอาจไม่มีพลังเท่ากับยุคของ เสนีย์ เสาวพงศ์, รงค์ วงษ์สวรรค์, อาจินต์ ปัญจพรรค์, วัฒน์ วรรลยางกูร หรือกระทั่ง ปราบดา หยุ่น อีกแล้ว แต่นั่นล่ะ มันก็ไม่ใช่ว่าทุกวันนี้วรรณกรรมจะไร้พลัง หรือไม่มีคนอ่านแต่อย่างใด อย่างที่บอกว่าเราเชื่อเรื่องการสั่งสมความเคลื่อนไหว มันอาจไม่ทำงานกับคนหมู่มาก แต่อย่างน้อยๆ ถ้ามันเข้าถึงคนสักหลักร้อยหรือหลักสิบ และสร้างความหมายให้กับพวกเขา ทั้งในเชิงสุนทรียะหรือเนื้อหา สิ่งที่เราเขียนมันก็ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว
“ไอ้ความเชื่อนี้แหละที่ทำให้เราคิดจะทำงานแบบนี้ต่อไป เขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ ขณะเดียวกันก็ใช้ทักษะการเขียนเชิงพาณิชย์ หาเงินเลี้ยงชีพไปยาวๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่ออยู่ให้ทันเห็นการเปลี่ยนแปลง”
คำถามสุดท้าย เราสงสัยว่าท่ามกลางพฤติกรรมการเสพสื่อของคนส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนไป รวมถึงปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ AI เข้ามามีบทบาทแทนมนุษย์ ถึงจุดจุดหนึ่ง การเป็นคนเขียนหนังสืออาจไม่มีความจำเป็นในสังคมอีกแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้น พี่กุ๊บมีแผนการจะทำอะไรต่อไป?
“เออแม่ง ไม่รู้เลยว่ะ เคยมีคนถามเหมือนกันว่าถ้าไม่ได้เป็นนักเขียน จะทำอาชีพอะไร เราก็ดันตอบไม่ได้ เราโง่เรื่องธุรกิจ และไม่มีแพสชั่นอยากทำอาชีพอื่นเลย ขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักดีว่าอาชีพเราเหมือนสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่ปรับตัว เพราะที่ผ่านมาเราปรับตัวมาตลอด จนสามารถมีสมดุลในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่โอเคในระดับหนึ่งจนทุกวันนี้ แต่คำถามนี้ยากสำหรับชะมัด”
แม้ว่าการเป็นนักเขียนเป็นเส้นทางที่เขาเลือก และมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปจนต่อจะหมดยุคสมัย แต่บทเรียนที่พี่กุ๊บได้จากการเป็นนักเขียนมาครึ่งชีวิตทำให้เราต้องพยักหน้าเห็นด้วย
“พอตัดสินใจจะเป็นนักเขียน เราก็ยอมรับประมาณหนึ่งว่า ยิ่งอยู่ในประเทศนี้ สิ่งที่เราทำเนี่ย มันเป็นอาชีพที่โคตรไม่มั่นคงเลย ขณะเดียวกัน ไอ้ความคิดสมัยเป็นวัยรุ่นว่าอาชีพนี้เท่ชะมัด เราก็พบว่ามันไม่เคยจะเป็นแบบนั้นแม้แต่น้อย แต่นั่นล่ะ ที่เราตอบได้ว่าอย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราเลือกทำนี้แม่งทำให้เรามีความสุข ทำให้เรารู้สึกมีความหมายกับใครสักคน ซึ่งนั่นก็เพียงพอให้เราอยากทำมันต่อ แต่ถ้าถามว่าแล้วไงต่อ ก็บอกว่าแม่งไม่รู้จริงๆ ก็เชื่อลึกๆ แบบคนวัยสามสิบกว่าๆ เกือบสี่สิบที่ริจะเป็นศิลปินนั่นแหละ ว่าเออ แม่งเดี๋ยวชีวิตก็มีทางของมันเอง
“ดีไม่ดีเราอาจถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง หรือไม่ก็เพิ่งมาค้นพบว่าจริงๆ แล้ว ครอบครัวเราเป็นมหาเศรษฐีที่พ่อแม่ปิดบังเรื่องนี้ไว้ตลอด และอากงทิ้งมรดกไว้ให้สัก 40-50 ล้านก็เป็นได้… นั่นแหละ ขออนุญาตไปนอนกลางวันต่อก่อนครับ” พี่กุ๊บทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม
ภาพประกอบบทความ : กรินทร์ มงคลพันธ์
Contributors
นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด