หายหน้าหายตาไปพักใหญ่สำหรับผู้กำกับ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ที่หลังจากประสบเสียงวิจารณ์ถล่มทลาย (ในแง่ลบ) กับซีรีส์เรื่องเคว้ง (2019) หรือจะย้อนไปไกลกว่านั้น ก็เป็นภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าอย่างเพื่อน..ที่ระลึก (2017) ที่คำวิจารณ์และเสียงตอบรับกลาง ๆ ไม่ได้ดีมากเท่าไหร่นัก
หลังความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ในภาพยนตร์เรื่องที่สองของตนเองอย่างลัดดาแลนด์ (2011) ว่ากันตามตรง ความยอดเยี่ยมของลัดดาแลนด์กลายเป็นสิ่งที่จิม โสภณ ยังไม่สามารถทำได้ดีกว่าในงานต่อ ๆ มา จะว่าไปก็คล้ายกับกรณี The Sixth Sense (1999) ของผู้กำกับ เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน ที่หลังจากนั้นไม่เคยสร้างผลงานที่ดีเท่าได้อีกเลยจนถึงตอนนี้
ปัญหาที่เรามักจะเห็นในหนังของเขา คือเรื่องบทภาพยนตร์ ที่มักจะมีไอเดียหรือ Concept ตั้งต้นที่ดีมาก แต่พอขยายให้เป็นเรื่องยาวกลับไม่น่าสนใจได้ตลอดรอดฝั่ง ตัวอย่างเช่น เพื่อน..ที่ระลึก ที่เล่าเรื่องในช่วง 20 นาทีแรกได้ดีมาก ๆ แต่หลังจากที่หนังผ่านพาร์ทดราม่าย้อนอดีตยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตกช่วงแรกของหนังไป และเข้าช่วงความเป็นหนังผีเต็มสูบที่เดินเรื่องด้วยฉากผีต่อ ๆ กัน เราก็พบว่าตัวเรื่องราวของมันน่าสนใจน้อยลงเรื่อย ๆ จนจบ และสิ่งที่คนจดจำหนังเรื่องนี้ กลายเป็นช่วงแรกของหนัง (ที่เล่าออกมาในโทนดราม่าได้ดีมาก)
นอกนั้นหนังทั้งเรื่องที่เหลือ เราลืมทันทีที่ออกจากโรง

ดังนั้นจุดแข็งมาก ๆ ของจิม โสภณ คือเขาเป็นคนที่เล่าหนังพาร์ทดราม่าได้ดี จากที่เคยเห็นทั้งจากลัดดาแลนด์ที่พาร์ทดราม่าแข็งแรงมาก หรือกรณีของช่วงแรกในเพื่อน..ที่ระลึก รวมถึงผลงานล่าสุดอย่างบ้านเช่าบูชายัญ ที่ต้องยอมรับว่า คราวนี้ทำการบ้านมาดีทีเดียว เพราะว่ากันในเชิงการเล่าเรื่อง เขาเอาอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ในการคุมสมาธิคนดูให้อยู่กับหนังได้ตั้งแต่วินาทีแรกจนจบ ซึ่งต้องชมในส่วนของบทภาพยนตร์ว่าคิดมาดี วางรายละเอียดปมปริศนาต่าง ๆ ได้ดี
หนังเลือกใช้ครึ่งเรื่องแรกของหนังในการปูปมปริศนาทั้งหมดในโทนลึกลับ สืบสวน ในโทนระทึกขวัญที่ไม่น่าไว้วางใจ หลังจากนั้นหนังใช้ครึ่งหลังในการบอกเรื่องราวทั้งหมด ที่มาที่ไป และบทสรุป ซึ่งสำหรับผู้เขียน ครึ่งเรื่องแรกของหนังทำงานกับความรู้สึกมากที่สุด บันเทิงที่สุด แม้ว่ามันจะไม่ใช่วิธีที่แปลกใหม่อะไร แต่มันก็น่าสนใจทีเดียวที่ผู้กำกับเลือกจะเล่ามันออกมาแบบนี้ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการแสดงของ มิว นิษฐา ที่แบกหนังครึ่งแรกของเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม

ความน่าเสียดายประการแรก คือองก์ 3 หรือช่วงไคล์แมกซ์ของหนัง มันกลายเป็นหนังผีทั่วไปที่หาทางลงค่อนข้างง่ายไปหน่อย บางเหตุการณ์อาจถึงขั้นว่าง่ายจนไร้สติที่สมประกอบ หลังจากปูให้ทุกอย่างมีเงื่อนไขอันยากยิ่งที่คนดูต้องเอาใจช่วยมาตลอด มันจึงเป็นความย้อนแย้งในตัวเองที่เหมือนจะหาที่ลงที่เหมาะสมไม่เจอหรือไม่ดีพอกับเรื่องราวทั้งหมดที่อุตส่าห์ปูพื้นฐานมา
นอกจากนั้น หนังยังประสบปัญหาเดิม ๆ ของหนังไทยคือ การให้บทสรุปแบบเคลียร์ชัดเจนมาก ๆ ปมทุกปมถูกคลายหมดทุกอย่าง ชัดเจนครบถ้วนทุกประเด็น
นำมาซึ่งความเสียดายที่สอง ประเด็นนี้เราอาจต้องมาคุยกันก่อนว่าจริง ๆ แล้วการจบเคลียร์ชัดเจนนั้นผิดมั้ย? ไม่ผิดเลย หากคุณเลือกจะทำแบบนั้น ด้วยความเหมาะสม ด้วยรสนิยม หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่การจบแบบไม่เคลียร์ หรือปลายเปิดให้คนดูคิดต่อ มันก็เป็นเสน่ห์และรสหวานปนขมที่คนดูต้องมีการบ้านไปคิดต่อ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว หากหนังเรื่องนี้ใช้ความคลุมเครือในการสรุป มันน่าจะสร้างความรู้สึกและความน่าขนลุกและให้มิติทางอารมณ์ได้มากกว่า

เพราะเอาจริง ๆ คนมักจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เห็นและไม่ชัดเจน มากกว่าเห็นทุกอย่างกระจ่างชัดเป็นไหน ๆ
ความน่าเสียดายประเด็นต่อมา ขอย้อนกลับไปที่งานก่อนหน้าของผู้กำกับอย่างลัดดาแลนด์สักเล็กน้อย สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนั้นมันดี ไม่ใช่เรื่องความสยองขวัญแนวบ้านผีสิงที่ทำออกมาได้น่ากลัวถึงใจเพียงอย่างเดียว หากแต่มันคือประเด็นดราม่าครอบครัว และประเด็นการเล่าเรื่องปัญหาหนี้สิ้นของครอบครัวชนชั้นกลางในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองที่ชักหน้าไม่ถึงหลังต่างหาก ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ชนะใจคนดู
ซึ่งเราได้เห็นประเด็นเหล่านี้อยู่ตั้งแต่แรกเริ่มของหนัง ภาวะที่ตัวละครต้องจำยอมปล่อยบ้านให้เช่า ภาวะหนี้สินท่วมหัวที่หาทางออกไม่ได้ ภาวะการแข่งขันแย่งชิงการหางานทำในวังวนของพนักงานเงินเดือน ซึ่งทำออกมาได้ดีเสียด้วย ดีจนอย่างรู้ต่อว่าในแง่ดราม่าของประเด็นนี้ หนังจะเล่าต่ออย่างไร แต่ทันทีเรื่องราวเดินถึงการที่บ้านถูกปล่อยเช่าเรียบร้อย หนังก็ทิ้งประเด็นนี้ทิ้งไปอย่างไม่ใยดีและไม่ได้นำกลับมาพูดถึงอีกเลย
เป็นไปได้ว่าผู้กำกับอาจมีเหตุผลว่าเขาได้เล่าประเด็นเหล่านี้ในหนังเรื่องก่อนของตนเองไปแล้ว เลยไม่ต้องการจะเล่าซ้ำในหนังเรื่องนี้ และเรื่องนี้มีประเด็นอื่นที่ต้องการจะเล่ามากกว่า แต่เป็นความเห็นส่วนตัวอีกนั่นแหละว่า ประเด็นนี้ถ้ามันแฝงตัวในเรื่องด้วย ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ มากกว่านี้ มันน่าจะทวีความเคร่งเครียดของตัวละครได้ดีกว่า


ความน่าเสียดายประเด็นสุดท้าย คือการที่หนังเรื่องนี้พยายามเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘ลัทธิ’ ในอีกแง่ เขาพยายามจะทำหนังสยองขวัญแนว ๆ ลัทธินั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าหากรสมือหรือวิธีการนำเสนอยังเป็นแนวหนังผีไทย ไม่ว่าจะพยายามแทรกอะไรเข้าไป รสชาติมันก็จะออกมาแบบหนังผีไทยอยู่วันยังค่ำ เพราะสิ่งเราเห็นในหนังเรื่องนี้ มันเหมือนแค่คำว่าลัทธิมันคือส่วนประกอบของเรื่องเท่านั้น มากกว่าเป็นส่วนสำคัญที่มากำหนดโทนหนังทั้งเรื่อง
อาจเป็นความเห็นส่วนตัวที่ไม่ยุติธรรมนักหากผู้เขียนจำเป็นต้องยกภาพยนตร์แนว ๆ ลัทธิเรื่องอื่น ๆ มาเปรียบเทียบกัน ในองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ บรรดาหนังจำพวกลัทธิแบบนี้มักใช้กัน คือความไม่โฉ่งฉางและความเงียบงันที่ไม่น่าไว้วางใจต่างหาก และส่วนใหญ่จะพยายามซ่อนตัวเองด้วยซ้ำว่าแท้จริงแล้ว นี่คือหนังลัทธิ เช่นงานสยองขวัญแห่งยุคอย่าง Hereditary (2018) ที่ต้องดูถึงฉากสุดท้ายเราถึงจะรู้ว่าแท้จริงแล้วมันคือหนังลัทธิ หรืองานสยองขวัญชั้นครูอย่าง Rosemary’s Baby (1968) ที่ใช้บรรยากาศความไม่น่าไว้วางใจของคนรอบตัวละครในการค่อย ๆ ปั่นประสาทคนดูทั้งเรื่อง โดยไม่โฉ่งฉางเลยแม้แต่นิดเดียว ขนาดฉากเปิดไคลแมกซ์ที่เปิดเผยรูปลักษณ์ปีศาจยังเลือกใช้เพียงช็อตภาพดวงตาซาตานไม่กี่วินาที และเช่นเดิม ต้องดูถึงช่วงท้ายเราถึงจะรู้ว่าคนพวกนี้คือพวกลัทธิบูชาซาตาน
แต่บ้านเช่า บูชายัญ เลือกใช้แบบหนังผีไทยแบบโครมคราม ที่อัดทั้งซาวน์ดนตรีประกอบสนั่นโรง งานด้านภาพที่มุมกล้องที่เน้นการจับความรู้สึกตัวละครแบบชัดเจนมาก ๆ จนไม่ใกล้เคียงกับความเป็นหนังลัทธิสักเท่าไหร่

ที่บอกมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นการมาบอกว่าบ้านเช่าบูชายัญ เป็นหนังที่ไม่ดี มันคือหนังที่เข้าท่าและถือเป็นการคืนฟอร์มของผู้กำกับจิม โสภณ นับตั้งแต่ลัดดาแลนด์เลยด้วยซ้ำ แต่ผู้เขียนแค่รู้สึกเสียดายองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างของหนังที่หากปรับนิด แก้เป็นอีกแบบ อาจจะดีกว่านี้
แต่ก็นั่นแหละ ถึงอย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่ชอบดูหนังสยองขวัญเป็นทุนเดิม หนังเรื่องนี้ก็ควรค่าแก่การมาดูในโรง แม้ว่าตัวหนังจะขาดตกบกพร่องส่วนต่าง ๆ ไปบ้าง มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีองค์ประกอบความเป็นหนังสยองขวัญเพื่อความบันเทิงเต็มที่ ครบถ้วนกระบวนความของการเข้าโรงไปรับความบันเทิงจากหนังผีสักเรื่อง
หากแต่ดูจบแล้วจะทิ้งทุกอย่างที่ดูมาไว้ในโรง หรือจะเดินออกมาโดยมีอะไรติดค้างหรือให้จดจำ
น่าเสียดายที่ผลลัพธ์มันอาจเป็นแบบแรกมากกว่า

ภาพ: GDH
Contributors
Contributors
ชายบ้าภาพยนตร์ บ้าแมนยู บ้าการเมือง ที่ชอบอ่าน ชอบเขียน และคิดเสมอว่าบทความดีๆ สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือจุดความคิดบางอย่างได้เสมอ แต่เป็นมนุษย์ติดกาแฟ คิดวนไปวนมา ตอนนี้กำลังฝึกตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สามารถมองเห็นความสุขง่ายๆ ของชีวิต