“ผลการทดลอง Final Process ของรายการ 19Lab ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ผู้ชนะก็คือ…หมายเลข 16 กอกี้ กวิสรา”
นี่คือเสียงประกาศผลผู้ชนะที่ให้ความรู้สึกเหมือนดูผลของการทดลองในห้องแล็บอะไรสักอย่าง
เรากำลังพูดถึง 19Lab รายการเซอร์ไววัลธีมวิทยาศาสตร์ ห้องทดลอง จากค่ายน้องใหม่อย่าง 19 ซึ่งอยู่ในเครือ GMM Grammy เป็นรายการที่เฟ้นหานักร้องทั่วประเทศมาเซ็นสัญญากับค่าย จากรอบออดิชันที่คัดเหลือ 91 คน แต่ละคนต้องผ่านด่านทดสอบต่างๆ และต้องสวมหน้ากาก ใส่เสื้อคลุม มีเพียงหมายเลขเท่านั้นที่จะระบุตัวตนของผู้เข้าร่วมการทดลอง จนเหลือ 5 คนสุดท้ายที่จะได้เซ็นสัญญากับค่าย 19 และผลลัพธ์ของการทดลองซึ่งได้ผู้ชนะก็คือ หมายเลข 16
จุดเด่นที่เราเห็นหมายเลข 16 ในรายการคือ สวมมงกุฎและห้อยสายสะพายนางงาม ใครจะไปรู้ว่าเมื่อเปิดหน้ากากออกมาแล้ว เธอคือ กอกี้-กวิสรา คงบุญศิริคุณ รองอันดับสอง Miss Grand มุกดาหาร 2024 และตำแหน่งล่าสุดของเธอคือ ผู้ชนะ และศิลปินหญิงเดี่ยวคนแรกของค่าย 19
เรารู้มาว่าพี่กอกี้เป็นเด็ก MCT คลองหก (คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) จาก พี่มิว (ช่างภาพ) พี่ในออฟฟิศซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพี่กอกี้ และในฐานะที่ผู้เขียนคือเด็ก MCT เหมือนกัน (แต่จบคนละปี) จึงไม่รีรอที่จะไหว้วานให้พี่มิว เป็นธุระติดต่อนัดหมายให้เราได้มาพูดคุยกัน
นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาของการรวมตัวศิษย์เก่าแต่อย่างใด แต่เป็นโอกาสที่จะได้ค้นหาคำตอบว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้พี่ก้อกี้พลิกบทบาทจากคนเบื้องหลัง สู่การเป็นคนเบื้องหน้าอย่างเต็มตัว เพราะดีเอ็นเอของเด็ก MCT ขึ้นชื่อว่า อึด-ถึก-ทน หลายคนที่เรียนจบคณะนี้ ก็จะมักไปเป็นคนเบื้องหลังที่โลดแล่นในอุตสาหกรรมสื่อแขนงต่างๆ แล้วพี่กอกี้ผ่านเส้นทางอะไรมาบ้าง? ตั้งแต่การเดินสายประกวดนางงาม สู่การเป็นนักร้อง จนมาขึ้นแท่นสู่ผู้ชนะในห้องทดลองของ 19 ในเวลาต่อมา
มาหาคำตอบและสรุปผลการทดลองไปพร้อมกัน

Pre Process
อีหล่า “กอกี้”
จุดเริ่มต้นของการเดินสายประกวด
เราเริ่มเดินสายประกวดตั้งแต่ช่วงประถมเลย เพราะว่าเป็นเด็กกิจกรรมมาตั้งแต่ตอนนั้น เป็นเด็กที่ชอบภาษาไทยมาก เราก็เลยอ่านได้คล่องเขียนได้คล่องตั้งแต่ช่วงประมาณป.1 แล้ว แล้วก็มีบทเรียนบทเรียนนึง เป็นกลอนแปด ชื่อตอนว่า แมวเอ๋ยแมวเหมียว แล้วทีนี้ครูก็ให้เราไปสอบท่องมันก็เป็นเหมือนทำนองเสนาะ เราก็ลองไปท่องให้ฟัง ที่นี้เหมือนครูชอบแล้วก็เลยรู้สึกว่าเด็กคนนี้มีแวว เขาก็เลยให้เป็นตัวแทนของห้อง ไปท่องกลอนนี้ให้เพื่อนทั้งโรงเรียนฟัง ก็คือไปยืนอยู่หน้าเสาธงท่องกลอนนี้ให้เพื่อนฟัง เราก็เลยมีความรู้สึกว่าตั้งแต่ตอนนั้นมามันเปิดโลกของการเป็นเด็กกิจกรรมของเรามาก การมายืนอยู่ข้างหน้ามันรู้สึกดีจังเลย เขาก็เลยเหมือนเห็นแววตั้งแต่ตอนนั้นมา
แสดงว่าช่วงที่เดินสายประกวดก็เริ่มรู้ตัวเองแล้วว่าชอบร้องเพลง
เราไปประกวดทั้งร้องเพลง ประกวดแต่งกลอน จนถึงตอนมัธยมก็เริ่มเห็นตัวเองชัดเจนว่าชอบร้องเพลง เราก็เลยให้อาจารย์ศิลปะช่วยผลักดันเรา ให้พาไปประกวดงานศิลปหัตถกรรม แล้วก็ได้รางวัลกลับมาบ้าง มีแพ้บ้างสลับกันไป เป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกสนุกกับมันมากๆ เลย มีทั้งไปอยู่วงโยธวาทิต เล่นดนตรี ฟอร์มวงกับเพื่อนแบบนี้ก็มี
แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็กสายวิทย์-คณิต เราเรียนหนักมากจนเราไม่ได้มีเวลาไปโฟกัสกิจกรรมขนาดนั้น สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกไป จุดเปลี่ยนสำคัญคือช่วงมหาวิทยาลัย เราเริ่มแน่ใจแล้วว่ายังไงเราก็จะมาทางนิเทศ เราก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนคณะสื่อสารมวลชน
ทำไมถึงไม่เลือกเรียนดนตรี
จริงๆ ที่มหา’ลัยของกอกี้ก็มีเอกดนตรีด้วย แต่ที่ไม่เลือกเรียนเพราะว่าอ่านโน้ตไม่เป็น (หัวเราะ) เพราะถ้าอ่านโน้ตคงเรียนเอกดนตรีไปแล้ว ก็เลยมาเรียนทางสายสื่อสารมวลชนแทน แต่ช่วงที่ฝ่ายสโมสรฯ มาชวนให้ร้องเพลงในงานกิจกรรมของคณะ ก็มีพี่ๆ จากคณะดนตรีมาช่วยเล่นให้เราด้วย แล้วก็เป็นเวทีที่ทำให้คนในมหาลัยรู้จักเรามากขึ้น มันก็เลยเป็นคอนแทคในการส่งต่อเป็นการบอกต่อว่ามีนักร้องคนนี้อยู่ในคณะสื่อสารมวลชนนะ
จากเบื้องหลัง สู่เบื้องหน้า
ในช่วงที่เรียน มีโอกาสไปทำงานทั้งพาร์ตเบื้องหน้าและเบื้องหลัง แต่สิ่งที่เรียนจะเน้นเบื้องหลังมากกว่า ซึ่งใจลึกๆแล้ว เราอยากทำงานเบื้องหน้า อยากเป็นพิธีกร เป็นดีเจ เราอยากไปยืนอยู่บนเวที ก็เริ่มหาเวทีในมหา’ลัยประกวด ก็มีเวทีนึงชื่อว่า MCT Got Talent เป็นเวทีที่ให้ทุกคนไปแสดงความสามารถพิเศษอะไรก็ได้ และในตอนนั้นสิ่งที่เราคิดว่ามีดีมากที่สุดคือการร้องเพลง เราก็ตัดสินใจเข้าไปประกวด วันนั้นพี่หนึ่งจักรวาลมาเป็นกรรมการด้วย เรารู้สึกว่าเวทีนี้มันยิ่งใหญ่มาก เราก็เลยตัดสินใจเข้าประกวดแต่ผลออกมาว่าไม่ผ่านเข้ารอบลึก ตกรอบตั้งแต่แรกๆ แต่ว่ามันทำให้ ฝ่ายสโมสรของคณะมาเห็นเรา ว่าคนคนนี้เป็นใคร แล้วเขาก็มีการติดต่อเข้ามาหลังไมค์ว่า เดี๋ยวปีต่อไปจะมีงานกิจกรรมของคณะ อยากจะให้มาร้องเพลงหน่อย เราก็ตอบตกลงไปเลย เพราะเรารู้สึกอยากทำ

จากสายประกวดสู่การเป็นนักร้องกลางคืน
พอมีคนรู้จักเยอะขึ้น เริ่มมีคอนเน็กชันกับคนในร้านอาหารแถวมหา’ลัย ก็เลยมีโอกาสได้รองเพลงครั้งแรก ด้วยเรตราคา 2 ชั่วโมง 400 บาท ในตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันเยอะมากๆ เพราะก่อนหน้าที่จะมาเล่นดนตรี กอกี้ทำหลายอย่างมาก เพราะช่วงนั้นครอบครัวลำบาก ระหว่างที่เรียนไปด้วยก็ทำของไปขาย หางาน Part-time เป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหาร แต่ก็ยังรู้สึกว่าเงินที่ได้ไม่สามารถ cover ค่าใช้จ่ายของตัวเองได้ดีขนาดนั้น จนเรามาเล่นดนตรีเราก็รู้สึกว่า เราเริ่มมีรายได้จากตรงนี้มากขึ้น ดูแลตัวเองได้ดีมากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งครอบครัวแล้ว มันก็เลยเป็นเส้นทางที่ทำให้เราได้ฝึกฝนสกิลการร้องเพลงมาเรื่อยๆ ทำให้เราได้เจอคนเยอะมาก ทำให้เราได้ค้นหาตัวเองว่าที่จริงแล้วเราชอบอะไรชอบแนวไหน
ชอบร้องเพลงแนวไหน
โดยส่วนตัวแล้วก็ยังชอบร้องลูกทุ่ง ตอนเดินสายประกวดก็โฟกัสแต่เพลงแนวลูกทุ่ง แต่ด้วยที่ว่ากอกี้เป็นคนที่ร้องเพลงได้หลายแนว เพราะช่วงที่ทำงานร้องเพลง เราต้องแต่สิ่งที่เราชอบอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ก็เลยต้องฝึกหลายแนวมาก เราเลยสถาปนาตัวเองเลยว่าเป็นนักร้องไฮบริด สามารถร้อง สากล R&B ได้ ร้องลูกทุ่งได้ เราเลยคิดว่านี่แหละมันคือสำเนียงพิเศษที่เราอยากจะใส่ลงไปในทุก ๆ เพลงของเรา ทำให้มีคนจำได้ว่าเพลงนี้กอกี้แน่เลย
หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มกลับเข้าสู่สายประกวดเหมือนเดิม เวทีแรก คือ ร้องแลกแจกเงิน แต่เวทีที่เปลี่ยนชีวิตที่สุดเลยคือเวที ไมค์ทองคำ ที่เราตัดสินใจแบบครั้งยิ่งใหญ่มาก เพราะว่าตอนนั้นเป็นช่วงระบาดของโควิด-19 ด้วย ทำให้ชีวิตเราหยุดไปสักพักนึงแต่ว่าเราก็ตัดสินใจที่จะสู้ต่อ ไม่อยากทิ้งความฝันของเราไป


จากสายประกวดร้อง สู่สายประกวดนางงาม
รู้สึกว่างานทางดนตรีมันเริ่มซาลง แล้วก็ไม่ได้โด่งดังขนาดนั้น แต่ก็พอเป็นที่รู้จักบ้าง มีคนพูดถึงบ้างเราก็ใจชื้นแล้ว คิดว่าน่าจะมาถูกทางแล้วแหละ แต่มันก็ไปไม่สุดสักทีเราก็ยังเดินต่อเดินหน้าต่อ
ด้วยความที่เป็นเด็กรักสวยรักงาม แม่พาดู Miss Universe ตั้งแต่เด็ก ก็รู้สึกว่าเค้าสวย ดูดีจังเลย แต่เราก็รู้สึกว่า “อุ๊ย เราไม่ได้สวย” เราตัวเล็กนิดเดียวไม่เหมาะที่จะเป็นนางงามหรอก
จนมาถึงเวที Miss Grand ที่ปีพี่อิงฟ้าได้ เป็นเหมือนเปลี่ยนมุมมองเราเรื่องการเป็นนางงามไปเลย เรารู้สึกว่าพี่อิงฟ้าเก่ง มีความสามารถหลากหลายมาก ก็มานั่งคิดว่า เราก็มีความสามารถเหมือนกันนะ ถึงเราจะสวยเหมือนคนอื่นไม่ได้ แต่เราใช้ความสามารถของเราสู้ได้ไหม เราก็เลย โอเค ณ ตอนนั้นกอกี้ทำงานประจำอยู่ ก็ตัดสินใจว่าเราจะไม่ทำงานนี้ต่อแล้วเพราะเรา รู้สึกว่าเราน่าจะเติบโต ในเส้นทางของการเป็นพนักงานออฟฟิศไม่ได้ ตัดสินใจเอาเงินเดือนก้อนสุดท้ายลงทุนกับตัวเองเพื่อที่จะไปประกวดเวที Miss Grand คือ
Miss Grand สุพรรณบุรี
เล่าเบื้องหลังการประกวดเวทีนี้ให้หน่อย
เวที Miss Grand เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มเป็นที่รู้จักทางด้านวงการนางงามตั้งแต่นั้นมา ตอนประกวดเวทีแรกกอกี้ไม่มีพี่เลี้ยงเลย ต้องจัดการตัวเองทุกอย่าง หาชุดราตรี หาชุดว่ายน้ำ ฝึกเดินก็ต้องฝึกเดินเอง เราก็ยังมีความคิดในใจแบบนี้เสมอเราเลยคือ
“ถึงเราจะสวยสู้คนอื่นไม่ได้ แต่สิ่งที่เรามีและสู้ได้คือ ความสามารถ”
เราทำเต็มที่สุดท้ายก็ติด Tops 10 มา แล้วก็มีรางวัลขวัญใจอีกหนึ่งรางวัล จุดเริ่มต้นที่ดีของการเลือกประกวดครั้งแรก หลังจากประกวดเสร็จ PD (Provincal Director) เจ้าของรายการ โทรมาชวนว่าอยากประกวดต่อไหม ถ้าสนใจเขาจะรับเข้ามาในบ้านนางงามของเขา โทรมาหลังไมค์ว่าอยากจะประกวดต่อไหมถ้าอยากจะประกวดต่อเขาจะรับเข้ามาในบ้านนางงามของเขาซึ่งทำให้เราแบบเราก็ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะเราก็ยังไปต่อในเส้นทางนี้ได้ เราก็เลยบอกว่าโอเคค่ะ ในเมื่อมันมีโอกาสมาให้ เราขนาดนี้แล้วแล้วเราจะไม่รับไว้ก็ไม่ได้เราก็ประกวดต่อไปอีก 3 เวที
ปีเดียวกันประกวดต่ออีกหนึ่งเวทีคือ Miss Grand นครนายก ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็ได้หนึ่งรางวัลที่สำคัญคือรางวัล Rising Star รางวัลนี้ทำให้เราได้ไปเจอผู้คน ได้ออกไปร้องเพลงเยอะขึ้นแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ การต่อสู้ครั้งต่อมาคือครั้งที่สาม Miss Grand อำนาจเจริญ ก็ยังไม่สำเร็จอีก แต่เราก็ยังไม่ท้อยังสู้ต่อเรารู้สึกว่าอีกซักหนึ่งเวทีแล้วกัน มันน่าจะมีที่ของเราบ้าง และเวทีสุดท้ายคือ
Miss Grand มุกดาหาร

จบที่รองสอง
ตัดสินใจแล้วว่าเวทีนี้น่าจะเป็นเวทีสุดท้าย เราก็มองหาเลยว่ามีเวทีไหนบ้างที่จะเหมาะกับเราที่สุด ซึ่งเวทีนี้พี่เก่ง ธชย เป็น PD เรามีความรู้สึกว่า “เฮ้ย ถ้าพี่เก่งมาเป็น PD เขาน่าจะดึงศักยภาพของเราตรงนี้ได้” ก็เลยตัดสินใจลงเวทีนี้ สรุปสุดท้ายเราจบที่รางวัลรองอันดับสอง เป็นการปิดท้ายที่ไม่ได้รู้สึกว่าน่าเกลียด แต่ก็มีความคิดลึกๆ ว่า ในพาร์ตของความสวยความงาม เราอาจจะไม่ได้ชนะใจเขา แต่ถ้าเรื่องความสามารถหรือความเป็นนักสู้ เราชนะใจเขาไปเต็มๆ แล้ว
ก็เลยรู้สึกว่า “เราน่าจะสิ้นสุดเส้นทางนางงามไว้เพียงเท่านี้” เพราะเราทำเต็มที่แล้ว และไม่เสียใจเลยสักครั้ง บวกกับอยากพัก อยากค้นหาตัวเองอีกสักรอบนึง เลยมีช่วงที่กลับไปทำงานประจำอีกรอบ แม้จะรู้ว่างานประจำก็ยังไม่ใช่ที่ของเรา จนกระทั่งได้เห็นการเปิดรับสมัครออดิชันของ 19Lab


On Process
อีหล่า “หมายเลข 16”
ทำไมถึงเลือกไปออดิชันที่ 19Lab
การตัดสินใจคือเราคิดไว้ว่าเราอยากจะประกวดอีกสักรอบหนึ่ง ก่อนที่เราจะตัดสินตัวเองและว่าเราควรจะอยู่จุดไหนดี ตอนที่กอกี้เห็นโพสต์รายละเอียดของรายการมันค่อนข้างลึกลับมากจนแบบ มันคือรายการร้องเพลงจริงหรือเปล่า คือคุณสมบัติของการแข่งขันมันค่อนข้างเยอะมากๆ ต้องแต่งเพลงเองได้ต้องสามารถ โปรดิวซ์ แต่งเพลง จบเพลงเองได้ ต้องมีผลงานเพลงมาก่อนเพื่อที่จะให้เขาเห็นว่าเราทำได้จริงๆ
มันแปลกกว่าทุกเวทีที่ผ่านมาเพราะว่าเวลาเราไปร้องก็ขึ้นไปอยู่บนเวที แล้วเราก็ร้องให้ผ่าน แต่เวทีนี้มันไม่ใช่ แล้วยิ่งพอวันที่ได้เข้าไปในรายการวันแรกเราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามันจะต้องปิดหน้าปิดตาทั้งหมด ตอนแรกคิดว่าเหมือนรายการ The Voice หรือเปล่า ที่ให้กรรมการหันหลังแล้วกดปุ่มหันมาให้เจอหน้าเรา สรุปว่ามันซับซ้อนกว่านั้นมาก แต่ว่าเราก็ตัดสินใจที่จะลงสมัคร เพราะ 19 คือค่ายในเครือของ GMM Grammy มันดูยิ่งใหญ่มาก เราก็เลยโอเค “นี่แหละคือเวทีสุดท้ายแล้ว” ที่เราจะทำในสิ่งที่ตัวเองรักและตัวเองชอบให้เต็มที่ครั้งนึง
เล่าเบื้องหลังการเตรียมตัวให้ฟังหน่อย
จริงๆ เรามีความสามารถอยู่อีกหนึ่งอย่างที่น้อยคนจะรู้คือ “การแต่งเพลง” เพราะเวลาเราประกวดแต่ละเวที เราไม่ได้ใช้ความสามารถตรงนี้เลย ทำให้ คนไม่รู้ว่าเราแต่งเพลงได้ด้วย จนมาถึงเวทีนี้แหละ ที่เรารู้สึกว่าเราจะใช้มันออกมาเยอะมากที่สุด
วันที่ส่งใบสมัครไปเค้าขอดูผลงานต่างๆ ที่ผ่านมาเราก็เขียนทุกอย่างไปเลย ตั้งใจทำพรีเซนต์เทชัน ทำทุกอย่าง เคยทำอะไรมาบ้าง เคยผ่านอะไรมาบ้าง เคยมีผลงานอะไรมาบ้าง เขามีให้เขียนเช็กลิสต์คำถามมุมมองของเราทัศนคติของเราในการเป็นศิลปินมีอะไรบ้างแล้วก็เขียนแบบตั้งใจจนเหมือนกับเขาเห็นความตั้งใจของเราใน first impression ก็ได้ผ่านเข้าไปในรอบออดิชันมีทีมงานโทรมาบอกว่า “โทรมาจากรายการ 19Lab นะคะ ผ่านเข้ารอบออดิชันแล้ว” เราก็ดีใจ แล้วก็รู้สึกขอบคุณตัวเองมากที่ตั้งใจเขียนใบสมัครลงไป
โมเมนต์ที่ประทับใจในช่วงที่ออดิชัน
คือตอนช่วงที่แข่งรายการเขาจะมีแบ่งเป็นกลุ่ม ซึ่งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราจะได้จับกลุ่มกัน เราอาจจะต้องแข่งกันเองก็ได้ เพราะรายการไม่บอกอะไรเลยในช่วงถ่ายทำ คือแค่จับฉลากขึ้นมาเป็นเลขของผู้เข้าแข่งขัน แล้วทุกคนก็ต้องรีบวิ่งเข้าไปภายในเวลานับจาก 19 ถึง 91 นับถอยหลังเร็วมาก เราไม่รู้ว่าจะทำยังไง เห็นมีพี่คนหนึ่งเค้าเป็นหมายเลข 91 แล้วตอนที่ออดิชันรอบแรก จะเรียงจากหมายเลขจากหลังสุดไปหน้าสุด ผู้เข้าประกวดคนแรกจะเป็นคนที่ 91 จะได้ร้องก่อนคนแรก แล้วเป็นความรู้สึกว่าทำไมคนนี้ยังอยู่ตั้งแต่แรกจนถึงตอนสุดท้ายต้องมีอะไรแน่ๆ เลย ถ้าไม่แน่จริงน่าจะอยู่ไม่ถึงตอนนี้
เราก็เลยตัดสินใจเดินเข้าไปแถวนั้นแล้วพอเราเลือกแถวนั้นมันก็รู้สึกว่าเราเลือกถูกเราเจอ น้องนัทตี้ น้องเพลงเอก แล้วก็มีพี่เอ็มดาวใส มีทั้งหมด ห้าคนในกลุ่ม C ทำเพลง นัดพบหน้าอำเภอ เป็นโมเมนต์ของการทำงานที่สนุกมาก แล้วเราก็รู้สึกเหมือนได้ทำความรู้จักกับน้องๆ แล้วก็พี่ของเรา มันทำให้เรารู้สึกว่ารายการนี้มันไม่ได้มีแค่เรื่องของการแข่งขันมัน เป็นเรื่องของการทำงานในชีวิตจริง การเป็นทีมเวิร์ก การกล้าตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ซึ่งมันเอามาใช้ในชีวิตจริงในการทำงานตอนนี้ได้หมดเลย
เคยมีช่วงที่คิดว่า “คนอื่นเก่งกว่าเราจัง” ไหม แล้วจัดการความรู้สึกนี้อย่างไร
มี และแอบกดดันด้วยค่ะ คือเรารู้อยู่แล้วว่าต้องมีแต่คนเก่งๆ เค้าคัดแล้วคัดอีกเนอะ ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่า มันมีคนสมัครออดิชันรายการนี้ เป็นพันกว่าคนเลย แล้วก็คัดมาเหลือ 91 คนเนี่ยมันก็ต้องแบบ โอ้โห แข็งแกร่งประมาณนึงแล้วละ ด้วยความที่แนวเพลงเราต้องการพรีเซนต์เป็นตัวเอง รูปแบบแนวเพลงเลยมาในแนวกึ่งร็อก กึ่งลูกทุ่ง เราก็มีความมั่นใจเล็กๆ ว่า “แม่งไม่มีใครร้องแบบเราหรอกวันนั้นอะ” (หัวเราะ) เราก็เลยคิดว่าเราน่าจะแตกต่าง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เก่ง ไม่ได้มีเครื่องดนตรีมาเล่นประกอบ แต่เราก็มีความรู้สึกว่า “เราก็มีดีในตัวของเรา ในแบบของเรา” เอาความเป็นตัวเองนี่แหละสู้เข้า คิดแค่นี้เอง

Final Process
สรุปผลการทดลอง
วินาทีที่ประกาศผลว่าเป็นผู้ชนะ รู้สึกอย่างไรบ้าง
ต้องเล่าในช่วงก่อนวันแข่ง Final Process ก่อน วันที่เป็นรอบซ้อมก่อนอัดรายการจริงเรารู้สึกกดดันตัวเองมากเกิน ร้องไม่ถึง ร้องเพี้ยน ตอนที่ซ้อม Blocking จะมีฉากที่แม่เดินมาขึ้นในช่วงสุดท้ายของเพลงอะค่ะ ตอนนั้นซ้อมกับทีมงานก็มีร้องไห้ เสียงสั่นจนร้องต่อไม่ได้ จนเรารู้สึกว่า “เอ๊ หรือเราจะทำไม่ได้ หรือว่าเวทีนี้อาจจะไม่ใช่ของเราอีกครั้งวะ” จนวินาทีสุดท้าย ณ วันนั้นแม่นั่งอยู่ข้างๆ เราตลอดเลย ตอนช่วงที่เก็บตัว แต่งหน้าทำผม ก็มีความรู้สึกแบบว่า “เราอยากทำเพื่อผู้หญิงคนนี้มากๆ เลย” การที่ผู้หญิงคนนึงเลี้ยงเด็กคนนึงมาให้แบบเติบโตอย่างสง่างามขนาดนี้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แล้วโอกาสที่จะได้มายืนตรงนี้อีกครั้ง มันไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมายืนอยู่ตรงนี้ ดังนั้นก็ทำให้มันเต็มที่เถอะต่อให้จะแพ้ หรือชนะก็ช่างมันเถอะ ก็ปล่อยมันออกมาเถอะ ทำให้มันเต็มที่ พอถึงรอบอัดรายการจริง มันเป็นโชว์ที่ดีที่สุดเลยอะ เป็นโชว์ที่ดีที่สุดในทุกๆ process ที่ผ่านมา
ผลก็ประกาศออกมาว่า เราชนะ จนตอนแรกเราไม่คิดด้วยซ้ำว่าเราจะชนะ เพราะว่าคนอื่นๆ ที่เข้ามาอีก 4 คนก็เก่ง เก่งในแบบของตัวเองทั้งนั้นเลย แต่ ณ ตอนนั้นพี่ xxx (ขออนุญาตเซ็นเซอร์ – ผู้เขียน) เอ้ยไม่ใช่ “คณะกรรมการท่านหนึ่ง” เขาก็พูดว่า ถ้าจะให้เลือกก็จะต้องเป็นคนที่พอดีในเวลานั้นอะค่ะ ณ ตอนนั้นเราก็คงจะพอดีกับเขา เขาก็เลยตัดสินใจเลือกให้เราเป็นผู้ชนะค่ะ
บรรยากาศการทำงานหลังเซ็นสัญญากับค่าย 19
ค่อนข้างทุลักทุเลนิดนึงนะคะ กับเพลง Life of อิหล่า เพราะว่าด้วยความที่มันเป็นเพลงที่ใช้ใน process ในการแข่งขัน และงบประมาณมีค่อนข้างจำกัด ทุกคนที่แข่งในรายการจะได้งบเท่ากันหมด อยู่ที่ว่าเราจะจัดการและบริหารยังไง ซึ่งกอกี้เล่นดนตรีไม่เป็นเลย ทำได้แค่เดโม ก๊อกแก๊กๆ ในคอมพิวเตอร์แล้วส่งไปให้พี่โปรดิวเซอร์จัดการให้ทั้งหมด เคยคิดเหมือนกันว่าถ้ามันเป็นแบบนี้ จะมีอุปสรรคในการทำงานต่อจากนี้มั้ย สรุปว่าก็ไม่ได้มีปัญหาขนาดนั้นค่ะ แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาตอนนี้คือ เหมือนกอกี้ยังไม่ได้ค้นพบความเป็นตัวเองมากขนาดนั้น สิ่งที่เราเขียนลงไปในเพลงมันคือประสบการณ์ในตัวเราใช่มั้ยคะ แต่ว่าเรายังไม่รู้แนวทางของเองชัดเจนว่าจริงๆ แล้ว เราควรเป็นยังไง ทำยังไงกันแน่
จนถึงทุกวันนี้ก็ยังกังวลอยู่ในใจนิดนึงนะคะ ว่าเฮ้ยการที่เราเป็นแบบนี้ ร้องแบบนี้ มันถูกรึยัง โดนใจคนฟังรึยัง แต่ก็ยังพยายามค้นหามันเรื่อยๆ อยู่ เพราะมันพึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางนี้ เราก็เหมือนกับต้องหาตัวตน หาตัวเองไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะแบบเจอสิ่งที่มันใช่จริงๆ ใช่ทั้งเรา ใช่ทั้งกับคนที่เปิดใจฟังเราด้วยค่ะ

ตอนนี้ปล่อยผลงานเพลงออกมากี่ซิงเกิลแล้ว
ตอนนี้มี 2 ซิงเกิลแล้วค่ะ ซิงเกิลแรกก็คือ Life of อิหล่า ซึ่งเป็นเพลงใน process การแข่งขัน แต่ที่เป็นซิงเกิลจริงๆ เลย ก็คือเพลง โอ้เจ้าดอกไม้ ค่ะ เพลงแรกก็จะเป็นเพลงร็อก มีความผสมความเป็นอีสาน ความเป็นไทย ส่วนเพลงล่าสุดมีความเป็นไทยเดิม ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการเขียนจากเพลง ดาวเรืองดาวโรย ของแม่ผึ้ง พุ่มพวง และเพลง บุษบา ของเมนทอล แต่ว่าเป็นการถ่ายทอดในมุมมองของเราที่เขียนถึงผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนรอบตัว เป็นคนใกล้ๆ ตัวของกอกี้นี่แหละค่ะ เราเอาชีวิตของเขามาเขียน เพราะว่าเพลงแรกเขียนชีวิตตัวเอง เราอยากลองเขียนชีวิตของคนอื่นบ้าง ว่าเราจะเขียนออกมาแล้วเป็นยังไง มันก็เลยออกมาในรูปแบบของเพลงที่ค่อนข้างเศร้า แต่มันมีความหมายที่กินใจ แล้วมันก็ยังเป็นกำลังใจของคนที่เคยเจอกับสิ่งที่เลวร้ายในชีวิตมา แต่สุดท้ายแล้วชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป มันก็ยังมีความสวยงามมีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นกำลังใจให้เขาสู้ชีวิตต่อไปได้
นิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินแนวไหน
เป็นศิลปินแนว Thai-pop ละกัน เพราะว่าเพลง pop มันก็ยังแตกแขนงออกไปได้อีกหลาย ๆ เส้นทาง
มองภาพตัวเองในอนาคตไว้ว่าอย่างไร
ภาพที่วาดไว้สูงที่สุดที่อยากให้เกิดขึ้นจริง คือมีคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองค่ะ อยากจะทำให้ได้ใน 5 ปีนี้ ในระยะเวลาที่เราได้อยู่ในบ้าน 19 เราอยากจะลองดูซักตั้งนึงว่าเราจะทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ไหม แต่ตอนนี้เราต้องโฟกัสอีกจุดค่ะ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราแข็งแกร่งคือเรื่องเพลง เพลงที่ทำออกมามันต้องดี ถ้ามันไม่ดีเราก็ไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปอยู่บนจุดที่ใหญ่แบบนั้น เราเลยต้องพยายามโฟกัสจุดนี้ให้ดี

ดนตรีมีอิทธิพลอย่างไรกับ กอกี้ กวิสรา
ดนตรีมันส่งผลต่อความรู้สึกของเรามากๆ ประมาณ 80% เลยค่ะ ยิ่งเราเป็นคนที่ถ่ายทอดเองด้วย เป็นคนแต่งเป็นคนสร้างสรรค์ขึ้นมา เลยมีอิทธิพลกับเราเยอะมากๆ แล้าเราก็หวังว่าเพลงของเรามีอิทธิพลในการทำให้ความรู้สึกของคนอื่นที่เขากำลังหมดหวัง หมดกำลังใจ กำลังเศร้า ทำให้เขาได้มีแรงมีพลัง มีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไป อยากให้เพลงของกอกี้เป็นเพื่อนของทุกๆ คน ที่กำลังทำ กำลังตัดสินใจเปลี่ยน หรือทำอะไรสักอย่าง อยากให้เพลงนี้อยู่ข้างๆ เขา อยู่เป็นเพื่อนเขา
“
ตอนนี้ซิงเกิลที่ปล่อยออกไปล่าสุด ชื่อเพลงว่า โอ้เจ้าดอกไม้ เป็นเพลงที่ค่อนข้างลึกซึ้งกินใจ อยากให้ทุกลองเปิดใจกับศิลปินหน้าใหม่คนนี้ดูนะคะ แล้วเร็วๆ นี้จะมีอัลบั้มแล้วนะคะ ภายในปีนี้ได้ฟังครบเต็มอัลบั้มแน่นอนค่ะ ยังไงก็ฝากด้วยนะคะ กอกี้ กวิสรา ค่ะ
“

