หลังจากที่กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ไม่ได้อยู่ในสภา เธอก็กลับมาทำอาชีพเดิมที่เธอรักและคุ้นชิน
นั่นคือ การเป็นผู้กำกับ
ตั้งแต่ตายโหง (2553) จนถึงวันนี้ เธอมีงานกำกับทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และซีรีส์นับสิบเรื่อง ซึ่งหลายเรื่องถูกอกถูกใจผู้ชมและกลายเป็นงานที่ถูกพูดถึงทั้งในจอ ในโซเชียล และในโลกแห่งความเป็นจริง
รวมถึงแมลงรักในสวนหลังบ้านหรือ Insects in the Backyard (2551) ที่กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในประวัติศาสตร์ซึ่งถูก “ห้ามฉาย” ในราชอาณาจักร แต่เธอก็ต่อสู้เพื่อให้ผลงานที่เธอตั้งใจสร้างฉายได้อีกครั้ง ถึงแม้จะต้องใช้ความพยายามกว่า 9 ปีก็ตามที
และอย่างที่เราทราบ เธอคือ “สส.กะเทย” คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยภายใต้สังกัดพรรคอนาคตใหม่ที่ยืนหยัดอยู่ในสภาได้อย่างสง่างาม และเป็นหนึ่งในปากเสียงของการขับเคลื่อนพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ให้เข้าสู่สภาจนได้
แต่ก็ต้องฝันสลายเพราะการตัดสินยุบพรรค เธอจึงถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปในที่สุด
อย่างน้อยในวันนี้ที่เธอไม่ได้เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนด้วยการเป็นผู้แทน แต่ผลงานที่เธอกำกับก็ทำหน้าที่แทนแทบทั้งหมดแล้ว
และมาวันนี้ช่อง 8 ชวนเธอมานั่งแท่นผู้กำกับซีรีส์เรื่องใหม่อย่างเจนนี่ กลางวันครับ กลางคืนค่ะ ซึ่งเป็นการหยิบเอาภาพยนตร์วัยรุ่นของอาร์เอสฟิล์มที่ป๊อปมากๆ กลับมาโลดแล่นบนหน้าจอ AIS Play อีกครั้ง โดยมีสิงโต-ปราชญา เรืองโรจน์ รับบทนำ
เธอบอกว่าการตีความเจนนี่ฯ ในครั้งนี้ คือการคงความสนุกแบบที่ภาพยนตร์ซึ่งวัยรุ่นยุคนั้นชอบอกชอบใจ แต่ก็ต้องสะท้อนภาพความหลากหลายทางเพศให้ผู้ชมได้เห็นและเกิดความตระหนักรู้
เรามีโอกาสสัมภาษณ์เธอก่อนงานแถลงข่าวเปิดตัวซีรีส์ที่เราได้นั่งคุยกับเธอเป็นพิเศษ บทสนทนาทั้งหมดคือการสะท้อนฉากชีวิตที่เธอ “ต่อสู้” เพื่อตัวเอง เพื่อคอมมูน และเพื่อประชาชน
รวมถึงการสร้างความสุขและส่งสารที่เธอยังยืนยันที่จะส่งต่อผ่านวัฒนธรรมป๊อปที่คนไทยชื่นชอบ
เพื่อให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ในสังคม
อยากชวนคุยเรื่องสมรสเท่าเทียมก่อน จากช่วงที่คุณทำงานหนักเพื่อให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้ จนถึงวันนี้มันถูกผลักดันเข้าสู่สภาจริงๆ ความรู้สึกของคุณเป็นยังไง
ต้องบอกเลยว่า อุดมการณ์แรกที่เราเข้าไปทำงานเป็นผู้สมัคร สส.พรรคอนาคตใหม่ มีสองอย่างที่คุณปิยบุตร (แสงกนกกุล) มาชวน แน่นอนว่าเป็นตัวแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วก็ต้องการผลักดันและเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้ในที่สุดก็คือ สมรสเท่าเทียม มันคือความฝันแรกของเราในการทำงานการเมือง อันที่สองก็คือประเด็นศิลปะวัฒนธรรม เรื่องหนัง ซีรีส์ ละคร Soft Power
แล้วคราวนี้สิ่งที่เราต่อสู้มาตลอด แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายคำว่าสมรสเท่าเทียมให้คนทั่วไปเข้าใจ แล้ววินาที่เราอยู่สภาฯ แล้วมีการลงมติรับร่างฯ มันดีใจ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเชื่อ เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของคนเท่ากัน ฉะนั้นพอสมรสเท่าเทียมมันผ่าน ถึงแม้จะวาระแรกก็เถอะ มันดีใจ มันบอกไม่ถูกที่เป็นสิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง แล้วสังคมข้างนอกตอบรับก่อนที่ในสภาจะตอบรับอีก ฉะนั้นต้องยอมรับว่าแรงผลักดันของคนข้างนอก ของนักกิจกรรม การที่มีม๊อบแล้วมีธงสีรุ้งอยู่ในทุกม๊อบ เราได้เห็นคนขึ้นเวทีแล้วพูดเรื่องสมรสเท่าเทียม การที่เราปล่อยคำว่าสมรสเท่าเทียมแล้วมันขึ้นแฮชแท็กอันดับหนึ่งทวิตเตอร์ คือสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงได้เว้ย เราได้ทำความเข้าใจกับสังคม แล้วพอได้เข้าสภาแต่ถึงจะเป็นวาระแรก แต่มันก็เป็นก้าวที่สำคัญของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตอนนั้นร้องไห้หนักมากจริงๆ ดีใจ
ชีวิตที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองแล้วกลับมาทำงานผู้กำกับ เปลี่ยนไปยังไงบ้าง
ความรู้สึกมันดีมากค่ะ เพราะว่าการที่เป็นผู้กำกับมันก็เป็นความฝันของเรา แล้วมันก็เป็นอาชีพที่เรารัก คือตอนที่เราเป็น สส. เราก็กลัวนะที่จะไม่ได้ทำละครแล้ว เพราะว่าเวลาการเป็น สส. สองปีกว่าที่เป็นก็คือเวลาชีวิตก็ทำงานเชิงประเด็นเอย ในสภาเอย กรรมมาธิการเอย ลงพื้นที่เอย มันก็ทำให้ชีวิตเราห่างหายจากการเป็นผู้กำกับไปพักนึง เพราะฉะนั้นการที่ได้ออกมาจากสภาแล้วมาทำอาชีพที่เรารักต่อก็ดีใจ
รู้สึกยังไงเมื่อมีผู้จัดหรือผู้ใหญ่โทรชวนคุณไปเป็นผู้กำกับ
ดีใจ ตอนแรกนึกว่าจะไม่มีใครเอาแล้ว (หัวเราะ) พอเราอยู่พรรคอนาคตใหม่ มันก็มีคนที่อคติกับเราใช่มั้ยคะ คือเราห้ามความคิดคนไม่ได้อยู่แล้ว ความตั้งในการทำงานเราก็เต็มที่เรื่องอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประชาชน ในการเป็น สส. ถามว่ามีผลมั้ย มีคนที่ไม่เอามั้ย มันก็มี แต่ก็ดีใจที่มีคนเอา ที่ยังมีคนเรียกมาทำงานกำกับ ที่เชื่อในฝีไม้ลายมือ เชื่อในการทำงานของเราอยู่ ก็ดีใจค่ะที่เขาก็ยังให้โอกาสเรากลับมาทำงานผู้กำกับ
ปรับตัวเยอะมั้ยหลังจากกลับมาทำงานกำกับอีกครั้ง หรือไม่มีอะไรต้องปรับเลย
ไม่เลย ไม่ต้องปรับเลย เพราะทีมงานเราก็ยังรอเรากลับมาทำงานอยู่ ฉะนั้นมันก็ไม่ได้มีอะไรที่ต้องปรับตัว แต่สองปีที่เราไปทำงานในสภามา พอเรากลับมาทำงานตรงนี้ก็ทำให้เราได้รู้สึกตระหนักอะไรได้มากขึ้น เช่น เรารู้สึกว่าถ้าซีรีส์เรามีเรื่องข่มขืน เราไม่ทำ การที่พระเอก นางเอก จะมีเพศสัมพันธ์กัน จะด้วยความรักหรือไม่รัก จะด้วยความแค้นหรือไม่แค้น ต้องมีความ Consent หรือยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าอยู่ในซีรีส์เรา เราจะต้องทำเรื่องแบบนี้ เพราะเรารู้สึกว่าสื่อมีความสำคัญในการ Shape ไอเดียของคนดูอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าคนดู-ดูซีรีส์เราแล้ว แล้วเขาได้เห็นว่าการข่มขืนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย คุณจะมาทำแบบข่มขืนไปเดี๋ยวก็รักกันเอง เหมือนที่เคยดูในสื่อ ในละครมาตลอดมันไม่ได้แล้ว โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แล้วก็อย่างที่บอกว่าสิ่งเหล่านี้มันผิดกฎหมาย ฉะนั้นคุณจะทำแบบนั้นให้มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาในละครไม่ได้
มีชุดความคิดหรือแว่นที่เปลี่ยนไปอีกมั้ยในการกำกับงานแต่ละเรื่อง
ก็มีค่ะ เพราะตอนนี้ถ้ามีงานละครติดต่อมาให้เป็นงานแย่งผัว แย่งเมีย เราขออนุญาตไม่รับงานแล้วกัน ฉะนั้นงานเราก็จะเป็นซีรีส์อย่างที่เราอยากเล่า อย่างเรื่องก่อนที่จะมีเจนนี่ฯ ก็จะมีคาธ (2565) ก็เป็นประเด็นทางการเมือง เป็นซีรีส์วายก็จริงแต่ก็ใส่เรื่องการเมือง อุดมการณ์ ชุดความคิด เรื่องโรงเรียน หรือ 609 Bedtime Stories (2565) มันก็จะมีสิ่งที่เราพูดถึงอยู่เรื่อยๆ ก็คือสมรสเท่าเทียม เราว่าซีรีส์หลังจากที่ออกมาจาก สส. แล้วเราก็ดูงานที่เราอยากทำ แล้วก็มีประเด็นที่อยากเล่า
แล้วเสน่ห์ของอาชีพผู้กำกับในความคิดของคุณคืออะไร
สำหรับพี่นะคะ พี่ไม่เคยรับงานซ้ำ ไม่รับงานแบบเดิม พี่จะรับงานที่มันมีความท้าทายแบบใหม่ไปเรื่อยๆ อย่างเจนนี่ฯ ซีรีส์ตลก ปลอมตัวเข้าหอหญิงก็ไม่เคยทำ ก่อนหน้านี้สั่งใจให้หยุดรักเธอ (2564) ก็เป็นดราม่าเกาหลี สงครามดอกไม้ (2565) ก็เป็นดราม่าเชือดเฉือน แย่งผัวแย่งเมีย ก็มี ก็เคยทำ คาธก็เป็นซีรีส์วาย การเมือง อุดมการณ์ 609 Bedtime Stories ก็เป็น Multiverse มิติคู่ขนาน
ฉะนั้นงานพี่ทั้งหนัง ละคร ซีรีส์ พี่จะเลือกไม่ซ้ำ มันคือเสน่ห์ของการทำงานของพี่คือ เราได้เริ่มต้นใหม่ในทุกๆ เรื่องที่เราทำได้ทำ แล้วเราก็จะไม่เบื่อ เราจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่งานรูทีน เราจะใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาในการทำงานแต่ละเรื่องมาแก้ปัญหาเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยทำมาก่อน ไม่เคยตีความเรื่องนี้ ก็มาตีความในแบบนี้ นำเสนอแบบนี้ ถ้าเราทำงานเหมือนเดิมซ้ำๆ จะเหมือนเราไม่พัฒนา แต่ถ้าเรารับงานที่แปลกไปจากทุกครั้ง เราจะพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ
คุณเคยคิดมั้ยว่าจะได้มีโอกาสได้รีเมคเจนนี่ฯ เวอร์ชั่นใหม่
ใครจะไปคิดล่ะว่าหนังที่มันดังมากตอนเด็กๆ เราจะได้รีเมคมัน ไม่เคยคิดเลย ไม่เคยฝันเลยว่าจะได้รีเมคเจนนี่ฯ พอช่อง 8 ชวนครั้งแรกก็ตอบรับทันที เพราะงานกำกับเรื่องใหม่ยังไม่เปิด งานเก่าก็เพิ่งปิด ก็เลยมีช่องที่สามารถรับงานได้ เรารู้สึกว่าเราอยากทำให้มันเป็นปัจจุบัน ทันสมัย แน่นอนว่าเจนนี่ฯ เวอร์ชั่นเก่า (2539) ก็ต้องยอมรับว่าการที่คนมอง LGBTQ+ ในสมัยนั้นมันก็แว่นหนึ่ง พอสมัยนนี้เราก็ไม่สามารถที่จะใช้แว่นนี้อยู่ในหนังเดิม ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนยังไง ท้าทายยังไงในปี 2565 ก็รู้สึกตื่นเต้นและอยากทำมาก
ซึ่งการสอดแทรกสัญญะหรือประเด็นที่คุณอยากเล่าลงไป มันสำคัญยังไง
การที่เราจะดูสื่อสักอย่าง วัตถุประสงค์หลักเราต้องไม่ลืมว่ามันคือความบันเทิง เราต้องดูว่าเราโฟกัสกับอะไรอยู่ อย่างเช่นเราทำซีรีส์วาย ธรรมชาติของซีรีส์วายเราก็ต้องยึดถือบางอย่างเอาไว้ หรือถ้าเราทำซีรีส์บันเทิง ก็ต้องตลก สนุกสนาน แต่อย่าลืมว่าเมื่อคนดูสนุกแล้วก็ควรจะต้องได้เนื้อหาสาระอะไรกลับไปบ้าง หรืออย่างเจนนี่ฯ เราไม่ได้ยัดเยียดเรื่องการเมืองหรืออุดมการณ์ เพราะจุดประสงค์แรกของมันคือความบันเทิงใช่มั้ยคะ แน่นอนว่าสิ่งที่เราสอดแทรกเข้าไปคือการ Normalize หรือการทำให้เพศหลากหลายอยู่ในซีรีส์ได้อย่างเป็นปกติ โดยที่เราไม่ได้ไปตัดสินใครว่าเป็นแบบนี้ถูกหรือผิด เหมือนกับซีรีส์หรือหนังอื่นๆ ที่เคยทำมาตลอด ที่ยังมีอคติทางเพศ แต่พอเราทำแล้วเรารู้สึกว่า การที่เราใส่ตัวละครผู้หญิงกับผู้หญิงให้มีความรักต่อกันก็เป็นเรื่องปกติ ผู้ชายตกหลุมรักเจนนี่ก็เป็นเรื่องปกติ เราไม่ได้อยากให้ใครตัดสินใคร เพราะสิ่งเหล่านี้เราก็ใส่ไปเนียนๆ และ Normalize สังคมไปเรื่อยๆ คงทำให้สังคมรับรู้ขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย
ผู้ใหญ่ให้บรีฟอะไรกับคุณบ้าง
(ตอบทันที) ไม่มีเลยค่ะ เพราะผู้ใหญ่ค่อนข้างจะเปิดรับว่าเราอยากจะทำยังไง เขาก็ถามว่า อยากทำเป็นย้อนยุคมั้ย เราก็บอก ไม่ค่ะ อยากทำให้มันเป็นปัจจุบัน ให้มันร่วมสมัย ผู้ใหญ่ก็เปิดให้เต็มที่ ให้เราสร้างสรรค์เรื่องราว เอาบทมาปรับ คนเขียนบทก็พร้อมจะตามความคิดเรา ซึ่งตรงนี้เราก็สบายใจ
แล้วเจนนี่ฯ ในแบบของคุณ คุณตีความมันยังไง
เจนขวัญคือคนที่อยากเอาชนะเพื่อนมัน ก็คือป๊อด มันคือเพื่อนผู้ชายสองคนที่แข่งกันมาทั้งชีวิต แข่งกันเอาชนะ พนันกันว่ากูจะต้องชนะ ฉะนั้นเรื่องความรักกูจะแพ้มึงไม่ได้ มันก็กลายเป็นว่าจับพลัดจับผลู มีความตกกระไดพลอยโจน ต้องใช้การปลอมตัวเป็นเจนนี่เพื่อเอาชนะเพื่อนเพื่อที่จะชนะใจผู้หญิงที่เราชอบ ซึ่งแน่นอน การโกหกตั้งแต่เริ่มมันไม่มีอะไรที่จบสวยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาที่สร้างขึ้นมาก็ต้องแก้ไขกันไป นี่คือมุมมองของเราในการทำเจนนี่ยุคใหม่
เจนนี่ฯ ในเวอร์ชั่นของคุณ อยากบอกอะไรกับผู้ชม
มันคือบทเรียนชีวิตน่ะ การที่เราจะมีบทเรียนชีวิตใน มันไม่จำเป็นต้องไปทดลองทุกสิ่งทุกอย่างหรอก แน่นอนว่าหนัง ละคร ก็เป็นตัวอย่างในการทดลองใช้ชีวิตตัวอย่าง ชุดความคิด ประสบการณ์ของเราโดยที่เราดูผ่านละครได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเจนนี่ฯ เวอร์ชั่นนี้ก็จะสื่อว่า การที่เราทำความผิด ปัญหาต่างๆ มันจะตามมา แล้วจะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ แน่นอนว่าเราอาจจะต้องเสียคนที่เรารัก เสียเพื่อน มิตรภาพ ความสัมพันธ์ดีๆ ไปก็ได้ถ้าเราปล่อยให้มันสายเกินไป
การทำงานกับนักแสดงรุ่นใหม่เป็นยังไงบ้าง
เขาไม่ได้สนใจว่าจะเหมือนเจนนี่ฯ ยุคที่เค้ายังไม่เกิดรึเปล่า ฉะนั้นมันก็เป็นอะไรที่ใหม่ แล้วน้องๆ เหล่านี้โชคดีที่เขาจะกระโจนใส่เวอร์ชั่นนี้ไปกับเราโดยไม่มีข้อแม้ คำถามใดๆ ทุกคนก็เปิดใจที่จะเล่าเรื่องนี้ไปกับเรา อย่างตัวอย่างออกไปอะค่ะ มันก็สุดในอย่างที่เราอยากได้ เพราะสิงโตกับภูมิ (ภูริพันธ์ ทรัพย์แสงสวัสดิ์) โห เค้าสุดตัว ให้เล่นอะไร กำกับอะไร ใส่อะไรไปก็พร้อมจะสุดไปกับมัน ก็เป็นสองคาแรคเตอร์ที่เป็นเพื่อนสนิทที่เอาชนะกันตลอดเวลาได้สนุกสนานมาก
ในฐานะผู้กำกับ คุณคาดหวังให้ผู้ชมได้อะไรจากเจนนี่ฯ
คาดหวังให้คนดูสนุกค่ะ นี่คือความคาดหวังว่าคนดูต้องสนุกไปกับเจนนี่ฯ และได้เห็นความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
Passion to Win ของคุณคืออะไร
ก็คือการทำงานนี่แหละค่ะ ในการทำซีรีส์หรือละครแต่ละเรื่อง การที่เรามีแพสชั่นในสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เรารัก เรามั่นใจได้แน่นอนว่ามันจะต้องทำให้ประสบความสำเร็จ การที่เราจะประสบความสำเร็จมันแปลว่าสิ่งที่เรากำกับตอบโจทย์ผู้สร้างหรือนายทุนต้องการ และมัน Win มันสำเร็จในวิธีการเล่าเรื่องที่เราอยากบอกกับสังคม คนดูจะรับได้มาก ได้น้อยขนาดไหน เราบังคับคนดูไม่ได้ เราเป็นคนทำสื่อ เราบังคับคนดูสื่อไม่ได้ และมันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวหรอก ถ้ามีสูตรสำเร็จแบบไหน ละครประสบความสำเร็จแล้วละครได้เรตติ้ง 20 ทุกคนได้หมดแล้ว ดังนั้นแพสชั่นของเราคือการทำงานให้ได้ดีที่สุด ซื่อสัตย์กับแพสชั่นให้ได้ดีที่สุด ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว