บริเวณชายฝั่งทางทิศตะวันตกของประเทศอินเดียในปัจจุบันเป็นพื้นที่ติดต่อกับทะเลอาหรับเป็นที่ตั้งของรัฐที่มีขนาดเล็กที่สุดของประเทศ ชื่อว่ารัฐกัว (Goa) บริเวณนี้เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาก่อนเมื่อครั้งที่โปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานีการค้าในบริเวณนี้ นำศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาเผยแผ่ และลงเอยด้วยการยึดครองเมืองกัวเป็นอาณานิคมต่อเนื่องยาวนานหลายร้อยปี
รัฐกัวถูกแยกออกจากแผ่นดินส่วนใหญ่ของอินเดียด้วยพรมแดนทางภูมิศาสตร์นั่นคือเทือกเขาฆาฏตะวันตก (Western Ghats) และแม้ว่ากัวจะเป็นรัฐที่เล็กที่สุด แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐเล็กพริกขี้หนู เนื่องจากกัวเป็นรัฐที่มี GDP per capita (ค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในรัฐต่อรายบุคคล) สูงที่สุดในอินเดีย และติดอันดับรัฐที่มีการพัฒนาประชากร (Human Development Index) เป็นอันดับที่สามของประเทศด้วย ค่าทางสถิติเหล่านี้แม้ว่ามองด้วยสายตาคนนอกก็คะเนได้ไม่ยากว่าส่วนหนึ่งคงจะเป็นผลมาจากการที่กัวเป็นรัฐที่มีรายได้มาจากการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเมืองตากอากาศที่สำคัญของคนอินเดีย

ภาพ: Wikipedia
ถ้าจะกล่าวถึงหาดทราย สายลม และแสงแดด คนอินเดียย่อมนึกถึงเมืองกัวเป็นลำดับแรก และสิ่งที่น่าสนใจก็คือท่ามกลางภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในเมืองกัวหลายรายบอกกับผมว่าพวกเขาได้รับผลกระทบน้อย เพราะปกติแล้วเศรษฐกิจของเมืองกัวก็ดำรงอยู่ได้ด้วยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นหลัก แม้ว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวบ้าง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก
ผมเดินทางไปยังเมืองกัวในช่วงสัปดาห์แรกของปี ผ่านพ้นวันขึ้นปีใหม่มาเพียง 2 วัน ผมจึงยังเห็นเค้าของการเฉลิมฉลองอย่างสุดเหวี่ยงก่อนหน้านี้ของชาวอินเดีย และเริ่มเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่เมืองกัวบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามผมเห็นนักท่องเที่ยวชาวเอเชียเช่นผมเพียง 2 – 3 คนเท่านั้น การเดินไปเดินมาตามท้องถนนในเมืองกัวจึงทำให้ผมรู้สึกว่าผมเป็นจุดสนใจมากเป็นพิเศษ (มากขึ้นกว่าปกติที่คนตาตี่ ๆ ก็มักจะเป็นที่สนใจของคนท้องถิ่นอยู่แล้ว)

ถ้าพูดกันตามเนื้อผ้าก็ต้องบอกว่า ชายหาดของเมืองกัวไม่ได้มีความโดดเด่นพิเศษอะไรนักเมื่อเทียบกับชายหาดในเมืองตากอากาศชื่อดังของโลก (รวมถึงประเทศไทยด้วย) และร้านรวงทั้งหลายที่ตั้งเรียงรายกันอยู่ริมชายหาดก็ดูเหมือนกับว่าจะเปิดขึ้นมาเพื่อคนท้องถิ่นมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ สังเกตได้จากการที่มีร้านที่ขายอาหารมังสวิรัติแท้เป็นสัดส่วนที่มากเพราะชาวอินเดียมากกว่า 40% เป็นมังสวิรัติ ผับบาร์ต่าง ๆ ที่มีจำนวนน้อยผิดกับเมืองชายหาดทั่วไปของโลก เพราะฉะนั้นจึงนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่าแล้วสิ่งใดในเมืองกัวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกให้มาเยือน คำตอบก็คือเนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เคยถูกยึดครองโดยชาวโปรตุเกสเป็นเวลาหลายร้อยปี
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวโปรตุเกสทิ้งเอาไว้ให้ก็คือโบสถ์ในศาสนาคริสต์ที่มีอยู่มากมายทั่วเมืองเก่า โบสถ์บางแห่งก็ยังใช้สอยอยู่จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่โบสถ์บางแห่งก็ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นโบราณสถานไปแล้วแต่ก็ยังคงได้รับการรักษาอย่างดี และเป็นเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวจากต่างแดนใฝ่ฝันว่าอยากจะไปเยี่ยมเยือน

เมื่อโปรตุเกสมาถึงกัว
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองกัวนั่นก็คือศาสนสถานส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป หรือแม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์โบราณคดีของเมืองกัว (Archaeological Museum of Goa) ก็ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเช่นเดียวกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ปัญหาเมื่อเราเคารพกฎเกณฑ์ของสถานที่ได้ และบันทึกความสวยงามภายในสถานที่หลาย ๆ แห่งไว้ในความทรงจำของเรา
จากข้อมูลในพิพิธภัณฑ์โบราณคดี พื้นที่ของเมืองกัวมีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีพัฒนาการที่เจริญรุ่งเรืองมาพร้อม ๆ กับอาณาจักรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอินเดียภาคใต้ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่กัวก็จะได้รับอิทธิพลจากทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้ที่ยังปรากฏเทวาลัยแบบโบราณหลายแห่งในบริเวณพื้นที่รัฐกัว
ชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาในกัวเมื่อ ค.ศ.1510 จากการสำรวจทางทะเลซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ในโลกตะวันตก โปรตุเกสและสเปนเป็นสองชาติแรกที่เริ่มออกเดินเรืออย่างจริงจัง โดยเส้นทางการเดินเรือของสเปนจะเดินทางออกไปทางทิศตะวันตกของทวีปยุโรป ในขณะที่โปรตุเกสเน้นเดินเรือมาทางทิศตะวันออก เมื่อชาวโปรตุเกสค้นพบเส้นทางการเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา รัฐกัวจึงได้รู้จักกับชาวโปรตุเกสเป็นครั้งแรก

แรงผลักดันในการสำรวจทางทะเลของชาติมหาอำนาจในยุโรปเวลานั้นคือการแสวงหาดินแดนแห่งทรัพยากรโดยเฉพาะเครื่องเทศ ควบคู่ไปกับการเผยแผ่ศาสนา ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชนชาติที่สมาทานความเชื่อของต้นเข้ากับคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกอย่างเหนี่ยวแน่นต้องเผยแผ่ศาสนาของตนเองไปยังดินแดนใหม่ ๆ นั่นก็เป็นเพราะในยุโรปเวลานั้นศาสนจักรต้องเผชิญกับการแยกตัวของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เมื่อชาวโปรตุเกสมาถึงก็ได้ทำสงครามกับเจ้าผู้ครองนครท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจเหนือรัฐกัวด้วยพระนามว่า ยูซูฟ อาดิล ชาห์ (Yusuf Adil Shah) ก่อนที่จะตั้งเขตปกครองตนเองซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า State of Portuguese India ในช่วงเวลาที่โปรตุเกสยึดครองกัวอยู่นั้นได้มีการสร้างป้อมปราการขึ้นหลายแห่งเพื่อป้องกันภัยจากข้าศึก เช่น ป้อมอะกัวดา (Aguada Fort) ซึ่งเป็นป้อมปราการที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปมากที่สุด เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางของรัฐคือเขตปานาจี (Panaji) และมีเขตติดต่อกับหาดแคนโดลิม (Candolim Beach) ซึ่งเป็นหาดที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวมากที่สุด
ป้อมอะกัวดาเป็นป้อมที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือประมาณร้อยกว่าปีเศษหลังจากที่โปรตุเกสยึดครองกัวเป็นอาณานิคมได้ ตัวป้อมมีหอสังเกตการณ์ที่สามารถมองเห็นน่านน้ำได้โดยรอบ (หอสังเกตการณ์หรือที่บางคนเรียกว่าประภาคารนั้นสร้างขึ้นเพิ่มเติมภายหลังใน ค.ศ.1864) จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์พบว่าชนชาติที่โปรตุเกสในเมืองกัวขณะนั้นออกจะหวาดระแวงอยู่พอสมควรคือพวกดัตช์ เนื่องในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดัตช์กลายเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จในการสำรวจทางทะเลและสามารถยึดครองดินแดนต่าง ๆ เป็นอาณานิคมได้มากมาย ซึ่งเส้นทางที่ดัตช์สำรวจนั้นก็ออกจะ “ทับทาง” ของโปรตุเกสอยู่ไม่น้อย จึงเป็นสาเหตุที่โปรตุเกสต้องสร้างป้อมปราการหลายแห่งในเมืองกัวดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

เดินเล่นในกัว
เขตเมืองเก่าของกัว (Old Goa) มีชื่อเรียกเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Velhas Conquistas เป็นหมุดหมายแรกที่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองกัวต้องเข้ามาเช็กอิน
ผู้นำของโปรตุเกสที่ปรากฏนามเกรียงไกรที่สุดในประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมของโปรตุเกสในทวีปเอเชียคืออัลฟองโซ เดอ อัลบูเคิร์ก (Alfonso de Albuquerque) เมื่ออัลบูเคิร์กสามารถมายึดเมืองกัวได้ก็ได้สั่งให้สร้างโบสถ์ขึ้นหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือChapel of St. Catherine ที่ปัจจุบันได้รับการสร้างขึ้นใหม่เมื่อ ค.ศ.1952 ตามเค้าโครงเดิมบนพื้นที่แห่งเดิมที่เคยสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1510

ภาพ: https://www.johnthemap.co.uk/pages/goa/old_goa.html
บริเวณใกล้กับวิหารนักบุญแคทเธอรีนคือพื้นที่ศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวเมืองเก่าของกัวอย่างแท้จริง เพราะเป็นหมู่อาคาร 4 แห่งที่ตั้งอยู่ในเขตรั้วเดียวกัน (Complex) ถัดจากวิหารนักบุญแคทเธอรีนไปเป็นที่ตั้งของ Convent and Church of St. Francis of Assisi ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของ Archbishop แห่งเมืองกัว ลำดับถัดไปเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งเมืองกัวซึ่งเป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุที่มีการค้นพบตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงก่อนการเข้ามาถึงของชาวโปรตุเกสที่ชั้นล่าง และจัดแสดงนิทรรศการภาพเขียนบุคคลจริง (Portrait Painting) ที่ชั้นบน ภายในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงในรูปแบบเก่าไม่ได้น่าสนใจนัก แต่หากใครที่ต้องการศึกษาประวัติความเป็นมาของเมืองกัวให้ลึกซึ้งมากขึ้น พิพิธภัณฑ์โบราณคดีก็เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

ถัดจากอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งของโบสถ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองกัวเก่านั่นคือ Se Cathedral ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1610 โบสถ์แห่งนี้มีสีขาวสะอาดตา สูง 35.36 เมตร กว้าง 55.16 เมตร และยาว 76.20 เมตร ภายในประดิษฐานแท่นบูชาเอาไว้อย่างสวยงาม ตรงข้ามกับหมู่อาคารในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของมหาวิหารสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองกัวนั่นคือ Professed House and Basilica of Bom Jesus ซึ่งสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1585 แต่เคยได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยเมื่อ ค.ศ.1663 และชาวเมืองได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อ ค.ศ.1783
หากเดินเยื้องไปทางด้านหลังของ Se Cathedral จะเป็นที่ตั้งของโบสถ์อันงดงามอีกแห่งหนึ่งชื่อว่า Church of St. Cajetan สร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 โบสถ์แห่งนี้มีความพิเศษนั่นคือมีทรงอาคารภายนอกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่นครรัฐวาติกัน และภายในเขตรั้วของโบสถ์ยังมีโบราณวัตถุที่น่าชมอยู่ชิ้นหนึ่งนั่นคือซุ้มประตูพระราชวังของกษัตริย์ยูซุฟ อะดิล ชาห์ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครรัฐชาวมุสลิมองค์สุดท้ายที่โปรตุเกสสามารถพิชิตได้ก่อนการยึดครองดินแดนแถบนี้เป็นอาณานิคม อันที่จริงแล้วโปรตุเกสเคยใช้พระราชวังของสุลต่านพระองค์นี้เป็นที่ทำการของส่วนราชการ แต่ต่อมาก็มีการรื้ออาคารหลังนี้ทิ้งเพื่อนำวัสดุไปใช้ก่อสร้างเมืองแห่งใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

หากเดินลงไปทางทิศตะวันตกของเขต Old Goa นักท่องเที่ยวจะพบโบราณสถานสามแห่งตั้งอยู่ใกล้กัน แห่งหนึ่งคือ Church of Our Lady of the Rosary ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้ไม่ได้ใช้งานแล้วแต่ยังคงมีโครงสร้างอาคารที่ดีอยู่ อีกแห่งหนึ่งเป็นโบราณสถานซึ่งปรากฏหอคอยสูงเด่นและเป็นโบสถ์ที่มีแผนผังและประโยชน์ใช้สอยที่ซับซ้อนคือChurch of St. Augustine สาเหตุที่โบสถ์แห่งนี้กลายสภาพเป็นโบราณสถานเนื่องจากถูกทิ้งร้างไปและตัวอาคารพังถล่มลงมา โดยมีการพังถล่มอย่างต่อเนื่องหลายครั้งด้วยกัน ปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยความสวยงามในอดีตได้อยู่ในบางจุด เช่น กระเบื้องสีต่าง ๆ ซึ่งเคยประดับอยู่บนฝาผนังของตัวโบสถ์
ใกล้ ๆ กันนั้นคือโบราณสถานแห่งที่สามซึ่งยังคงเป็นวิหารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมได้ในปัจจุบัน คือ Chapel of St. Francis Savier แรกสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1545 ก่อนจะถูกทิ้งร้างไปและได้รับการสร้างขึ้นใหม่เมื่อ ค.ศ.1884 ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของวิหารแห่งนี้จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะและศาสนา รวมถึงมีซุ้มสำหรับจำหน่ายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย
ภายหลังจากที่โปรตุเกสใช้สอยพื้นที่บริเวณ Old Goa มาเป็นเวลากว่าสองร้อยปี ในช่วงท้าย ๆ ที่โปรตุเกสมีอำนาจ โปรตุเกสได้ย้ายศูนย์กลางของการปกครองไปอยู่ที่บริเวณ Panaji (Panjim) หรือ Cidade da Nova Goa (City of New Goa) ซึ่งบริเวณนี้ปรากฏแลนด์มาร์กสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาถ่ายรูปด้วยนั่นก็คือ Church Sqaure ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Our Lady of the Immaculate Conception Church อันที่จริงแล้วโบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1541 และได้รับการขยายใหญ่มีขนาดใหญ่โตขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นโบสถ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเมืองรองจาก Se Cathedral


กัวในวันนี้
ปัจจุบันเขต Panaji เป็นที่ตั้งของร้านรวงสำหรับนักท่องเที่ยวมากมาย และมีคาสิโนถูกกฎหมายภายในเรือขนาดใหญ่ที่จอดเรียงรายกันอยู่ตามชายฝั่งของอ่าว ชาวอินเดียเดินกันไปมากขวักไขว่ สวนทางกับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างผมบ้างประปราย ทุกวันนี้คนอินเดียในรัฐกัวนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกประมาณ 40% ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก และนับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูอันเป็นศาสนาหลักของประเทศอีกราว 40% ส่วนที่เหลือนั้นนับถือศาสนาอื่น ๆ เช่น อิสลามและซิกข์
กัวอาจถือได้ว่าเป็นเมืองตากอากาศอันดับต้น ๆ ของอินเดีย แต่การเดินทางมาอยู่ในเมืองกัวถึงสามวันเต็มของผมนี้ก็ทำให้ผมได้หวนคิดถึงอะไรบางอย่าง เราทราบกันโดยสถิติว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศมากเป็นอันดับสองของปี พ.ศ.2565 คือนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย และสถานที่ยอดนิยมที่ชาวอินเดียชอบเดินทางไปมากที่สุดก็คือเมืองตากอากาศริมทะเล เช่น ภูเก็ต กระบี่ หัวหิน และพัทยา


หลายท่านอาจจะมีคำถามว่าแล้วเพราะเหตุใดคนอินเดียจึงต้องเดินทางมาถึงประเทศไทยทั้ง ๆ ที่มีเมืองกัวอยู่ในประเทศของตนเองอยู่แล้ว คำตอบก็อาจจะเป็นเพราะทะเลของเมืองไทยนั้นมีกิจกรรมที่หลากหลายกว่า เป็นระเบียบเรียบร้อยกว่า และที่สำคัญที่ราคาถูกกว่าหลายเท่า โรงแรมห้าดาวในเมืองกัวนั้นมีราคาเกือบหมื่นบาทจนถึงหลักหลายหมื่นบาท ในขณะที่โรงแรมที่มีราคาย่อมเยาลงมาก็สนนราคาคืนหนึ่งหลายพันบาท แถมตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนและไม่ติดทะเลเลย นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม้ว่าจะมีเมืองกัว แต่นักท่องเที่ยวก็ยังนิยมเดินทางไปเที่ยวทะเลไทยกันอยู่ดี
มาเห็นเมืองกัวครั้งนี้แล้วผมก็อดจะรู้สึกไม่ได้จริง ๆ ว่าประเทศของเรามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมากเมื่อเทียบกับเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งของโลกนี้ด้วยกัน แต่การจะรักษาศักยภาพที่มีอยู่เอาไว้ให้ได้นั้นเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรทอดทิ้งศักยภาพทางการท่องเที่ยวทั้งหมดทั้งมวลที่เรามีอยู่ให้เปล่าประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย



Contributors
Contributors
ครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาที่รักการเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกกว้างเป็นชีวิตจิตใจ เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มนุษยสัมพันธ์ และการเดินทางจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเติบโตไปพร้อมกันเสมอ