บทความนี้มีความเห็นส่วนตัวของบุคคลผสมอยู่ด้วย ขอให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล เนื่องจากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมักมีอยู่หลายมิติเสมอ
“จอร์เจีย” ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 4 ล้านคนเศษบนรอยต่อระหว่างทวีปยุโรปและทวีปเอเชียภายใต้อ้อมกอดของเทือกเขาคอเคซัสได้กลายมาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เราได้เห็นนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปจอร์เจียกันอย่างครึกโครม ด้วยเหตุผลที่จอร์เจียมีทัศนียภาพที่สวยงามแปลกตา มีกลิ่นอายของความเป็นยุโรปเต็มที่ ทิวทัศน์ของเทือกเขาสลับซับซ้อนที่ทอดไกลสุดลูกหูลูกตาชวนให้นึกถึงประเทศใจกลางทวีปยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ แต่ที่นี่คนไทยไม่ต้องขอวีซ่า และค่าครองชีพที่แทบจะไม่ต่างจากประเทศ ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงทำให้จอร์เจียกลายเป็นประเทศในกระแสนิยมของชาวไทย รวมถึงตอนนี้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 กำลังจะสิ้นสุดลง จอร์เจียก็เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งสำหรับผู้ที่โหยหาการเดินทางไปต่างประเทศ
ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศจอร์เจียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในฐานะหัวหน้าทัวร์ จึงทำให้มีโอกาสได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจอร์เจียในหลากหลายมิติ รวมถึงได้มีโอกาสพูดคุยกับคนท้องถิ่นในประเทศจอร์เจียตลอดระยะเวลา 7 วันในประเทศนั้น จึงได้พบว่าภาพแห่งความงดงามที่ปรากฏเป็นฉากหลังสำหรับการท่องเที่ยวของพวกเรานั้นล้วนแล้วแต่มีภูมิหลังที่เจ็บปวดและลำบากยากเข็ญ เพราะจอร์เจียเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณกันชนระหว่างอาณาจักรขนาดใหญ่หลายแห่งในสมัยโบราณ ทั้งรัสเซีย เปอร์เซีย กรีก และโรมัน จึงทำให้แรงปะทะที่เกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจยุคโบราณเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อนครรัฐเล็ก ๆ ในหุบเขาคอเคซัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ชาติ ศาสนา และภาษา คือสามเสาหลักที่ทำให้จอร์เจียยังคงเป็นจอร์เจียอยู่ได้” ชาวจอร์เจียบอกกับผมอย่างนั้น “และแน่นอนว่าเราจะสู้กับรัสเซีย”
ผมไม่ได้แสดงความเห็นอะไร เพราะความเจ็บปวดที่คนจอร์เจียมีต่อรัสเซียนั้นเข้มข้น ทุก ๆ ฝีก้าวของเราในประเทศจอร์เจีย ทั้งเมืองเล็กและเมืองใหญ่ เราจะเห็นธงจอร์เจียแขวนคู่กับธงยูเครนตลอดแนว ไม่ว่าจะเป็นป้ายประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ หรือหน้าร้านรวงของเอกชน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัสเซียคือคู่ขัดแย้งสำคัญของจอร์เจีย และใครก็ตามที่ถูกรัสเซียรุกรานย่อมถือเป็นมิตรประเทศของจอร์เจีย เพราะต่างฝ่ายต่างก็เผชิญหน้ากับความเจ็บช้ำน้ำใจที่ทุกคนมองว่ามีสาเหตุมาจากตัวการเดียวกัน
ในวันนี้จอร์เจียจึงเลือกที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับยูเครน

ชาติ : พระมหากษัตริย์ ความหลากหลาย และการต่อสู้
ความเป็นมาของแผ่นดินจอร์เจียนั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับประเทศส่วนมากในโลกนี้ ประวัติความเป็นมาของจอร์เจียในยุคแรกนั้นผูกติดอยู่กับเรื่องราวของประวัติบุคคลผสมตำนานปรัมปรา ในที่นี้ผมขออนุญาตกล่าวสรุปเป็นว่าชาวจอร์เจียได้เปลี่ยนจากการนับถือวิญญาณตามธรรมชาติซึ่งเป็นลัทธิดั้งเดิมมานับถือศาสนาคริสต์เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 ในช่วงนั้นเมืองหลวงของชนชาติจอร์เจียอยู่ที่เมืองมิตสเคตา (Mtskheta) ก่อนที่ย้ายเมืองหลวงมายังทบิลิซี (Tbilisi) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจอร์เจียมาจนถึงทุกวันนี้เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 6
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาทบิลิซีให้เป็นศูนย์กลางอำนาจของชนชาติจอร์เจียคือกษัตริย์วาคตัง กอร์กาซาลี (Vakhtang Gorgasali) ซึ่งปีครองราชย์สมบัติของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ยังเป็นที่สับสนอยู่ แต่ข้อสรุปที่ว่าพระองค์เป็นผู้เลือกทบิลิซีซึ่งมีชัยภูมิอยู่ติดแม่น้ำ เป็นแหล่งน้ำพุร้อนและทรัพยากรธรรมชาติมากมายให้เป็นที่มั่นของชาวจอร์เจียจึงทำให้พระมหากษัตริย์พระองค์นี้เป็นพระมหากษัตริย์องค์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ และมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ประดิษฐานอยู่หน้าวิหารเมเตคี (Metekhi Church) กลางกรุงทบิลิซี
แต่หลังจากนั้นแผ่นดินจอร์เจียก็ต้องประสบกับความวุ่นวายแตกแยกเป็นหลายนครรัฐ ก่อนที่จะรวมเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งในราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 ภายใต้การปกครองของราชวงศ์บากราติโอนี (Bagrationi Dynasty) ซึ่งถือเป็นราชวงศ์แรกและราชวงศ์เดียวที่ปกครองราชอาณาจักรจอร์เจีย (Kingdom of Georgia) ให้ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางกระแสลมแรงของความผันผวนทางการเมืองในยุคกลางและยุคใหม่ของยุโรปได้อย่างน่าภาคภูมิใจ พระมหากษัตริย์พระองค์สำคัญในสมัยนี้มีอยู่หลายพระองค์ แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือพระเจ้าเดวิดผู้สร้าง (David the Builder) ซึ่งเป็นรัชกาลที่เปรียบเสมือนยุคทองในช่วงต้นของราชวงศ์ เนื่องจากทรงสถาปนาพระอารามสำคัญในศาสนาคริสต์หลายแห่ง ทรงสนับสนุนการศึกษาและสรรพวิทยาการหลายแขนงในราชอาณาจักรจอร์เจีย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรมของชนชาติจอร์เจียในสมัยต่อมา ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏพระบรมสาทิสลักษณ์ (ภาพวาด) ของพระองค์อยู่บนจิตรกรรมของพระวิหารหลายแห่ง ในพระหัตถ์มักทรงถือโบสถ์หรืออาคารสำคัญทางศาสนาอันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้สร้างอย่างแท้จริง

แต่เนื่องจากจอร์เจียตั้งอยู่บนชัยภูมิที่รายล้อมไปด้วยจักรวรรดิมหาอำนาจมากมาย จึงทำให้จอร์เจียถูกรุกรานหลายครั้ง และในภาวะสงบ จอร์เจียก็กลายเป็นจุดนัดพบของบรรดาพ่อค้าวาณิชที่เดินทางค้าขายไปมาบนเส้นทางสายไหมผ่านเทือกเขาคอเคซัส การเคลื่อนที่ของผู้คนในสมัยโบราณไม่ได้นำมาเพียงแค่มูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังได้นำพาเอาวัฒนธรรมอันหลากหลายมาหากันด้วย ด้วยเหตุนี้จอร์เจียจึงเป็นพื้นที่ผสมผสานทางวัฒนธรรม ทั้งแบบยุโรปคลาสสิก รัสเซีย เปอร์เซีย เติร์ก และอื่น ๆ อีกมากมาย ชาวจอร์เจียจึงกล่าวว่าวัฒนธรรมของตนนั้นเป็นวัฒนธรรมผสมผสาน และความผสมผสานนั้นเองก็คือความเป็นจอร์เจีย และเป็นความงามตามแบบฉบับของจอร์เจียเองที่ชาวจอร์เจียแสนจะภาคภูมิใจ
ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของประวัติศาสตร์นั้น คู่ขัดแย้งตลอดกาลของจอร์เจียก็คือรัสเซีย เมื่อจักรวรรดิรัสเซียยุคใหม่นำโดยราชวงศ์โรมานอฟขยายแสนยานุภาพกว้างขวางมากขึ้น ก็เหลือกำลังที่อาณาจักรเล็ก ๆ อย่างจอร์เจียจะต้านทานได้ไหว ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 จอร์เจียถูกกดดันจากทุกด้าน กษัตริย์เอเรเคิลที่ 2 (Erekle II) ทรงพยายามอย่างสุดความสามารถในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้กล้าที่จะปกป้องพระราชอาณาจักรและประชาชนชาวจอร์เจียแต่ก็ไม่เป็นผล ภายหลังการสวรรคตของกษัตริย์เอเรเคิลที่ 2 ในระยะเวลาไม่นาน จอร์เจียต้องตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมานอฟเมื่อ ค.ศ.1803 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา จากบ้านเมืองที่เคยมีอิสรภาพเป็นของตนเองก็กลับต้องตกอยู่ภายใต้ปกครองของชาวรัสเซียและถูกบีบบังคับจากรัสเซียทุกทาง
ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จอร์เจียได้เป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ แต่ก็เกิดการปะทะกันระหว่างจอร์เจียและรัสเซียอยู่เนือง ๆ จนกระทั่งชาวจอร์เจียหลายคนบอกกับผมว่าเหมือนเป็นเวรเป็นกรรมที่ประเทศของเขามีพรมแดนติดกับรัสเซีย

สามสิบปีภายหลังจากได้รับเอกราชของจอร์เจียนั้นไม่ราบรื่น นอกเหนือจากความท้าทายด้านความผันผวนภายในและวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว จอร์เจียยังต้องเผชิญกดับแรงกดดันจากรัสเซียมาโดยตลอด ในปีค.ศ.2001 เกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพจอร์เจียและรัสเซียในแคว้นอับคาเซีย (Abkhazia) เนื่องจากรัฐบาลรัสเซียกล่าวหาว่าจอร์เจียอยู่เบื้องหลังการก่อกบฏในเชชเนีย ตามด้วยสงครามเต็มรูปแบบที่สร้างความสูญเสียมหาศาลใน ค.ศ.2008 เมื่อจอร์เจียอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน South Ossetia แต่รัสเซียไม่ยอม ความสัมพันธ์แทบทุกด้านระหว่าวรัสเซียและจอร์เจียหยุดชะงัก ไม่มีเที่ยวบินระหว่างกัน สถานการณ์ของทั้งสองประเทศตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียด
ค.ศ.2010 ความขัดแย้งระหว่างจอร์เจียและรัสเซียเริ่มคลี่คลายลง และค.ศ.2014 จอร์เจียก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ทว่าจอร์เจียและรัสเซียก็ยังคงคุมเชิงระหว่างกัน จากความขัดแย้งทั้งหมดตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงทำให้จอร์เจียไม่ลังเลที่จะยืนอยู่ข้างยูเครนอย่างเปิดเผยในสถานการณ์ปัจจุบัน
“สิ่งเหล่านี้ทำให้เราหวงแหนชาติบ้านเมืองเรามาก จอร์เจียต้องเป็นจอร์เจีย เรามีชาติบ้านเมืองของเราเอง เราจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติอื่นได้อย่างไร”
ชาวจอร์เจียบอกกับผมด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น

ศาสนาและภาษา : จอร์เจียจึงไม่เหมือนใคร
ศาสนาถือเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของจอร์เจียที่สร้างความโดดเด่นให้กับจอร์เจียท่ามกลางวัฒนธรรมอันหลากหลายที่รายล้อมจอร์เจียอยู่ หากเราพิจารณาประเทศจอร์เจียจากแผนที่ในปัจจุบัน จะเห็นว่าจอร์เจียถูกแวดล้อมไปด้วยประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างตุรกีและอาเซอร์ไบจาน มีอาร์เมเนียที่นับถือศาสนาคริสต์แบบเกรกอเรียน และรัสเซีย ซึ่งในยุคหนึ่งคือสหภาพโซเวียตที่เป็นผู้นำของระบอบคอมมิวนิสต์อันเข้มข้นที่ปฏิเสธความเชื่อในทุกศาสนา และให้รวมศูนย์กลางแห่งความศรัทธาอยู่ที่ผู้นำและพรรคคอมมิวนิสต์เพียงแห่งเดียว ในขณะที่จอร์เจียนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์และมีศาสนาคริสต์นิกายนี้เป็นรากฐานของวัฒนธรรม ศิลปะ ปรัชญา และวิถีในการดำเนินชีวิตมิติต่าง ๆ สิ่งนี้จึงทำให้วัฒนธรรมจอร์เจียกลายเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง และเป็นจุดบ่งชี้ความเป็นจอร์เจียที่สำคัญ
ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์มีความสำคัญต่อจอร์เจียในระดับเข้มข้น ตัวอย่างง่าย ๆ มีให้เห็นบนภาพสลักของอนุสรณ์สถาน The Chronicle of Georgia จุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1985 ในยุคของสหภาพโซเวียตซึ่งบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพื้นที่จอร์เจีย เดิมทีรัฐบาลโซเวียตจะให้อนุสรณ์สถานแห่งนี้มีอนุสาวรีย์ของโจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำของสหภาพโซเวียตอยู่ตรงกลาง แต่สหภาพโซเวียตล่มสลายไปก่อนเมื่อ ค.ศ.1991 จึงทำให้การสร้างอนุสาวรีย์ของสตาลินเป็นอันล้มเลิกไป ข้อสังเกตอันสำคัญอยู่ที่ว่าแม้อนุสรณ์สถานแห่งนี้จะสร้างขึ้นโดยรัฐบาลโซเวียตที่ไม่สนับสนุนการนับถือศาสนา แต่ก็ไม่สามารถต้านทานศรัทธาของชาวจอร์เจียที่มีต่อศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ด้วย ภาพสลักที่ฐานเสาของ The Chronicle of Georgia จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวจากพระคัมภีร์ไบเบิลทั้งหมด
สำหรับภาษาจอร์เจียนั้นถือเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดภาษาหนึ่งของโลก และเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่เฉพาะในหมู่ประชากร 4 ล้านคนเศษของประเทศนี้ เป็นภาษาที่ไม่ได้ใกล้เคียงกับภาษาตุรกีหรือภาษาเอเชียกลาง เป็นภาษาตระกูลคอเคเซียนใต้ มีอักขรวิธีเฉพาะของตนเอง โดยอักษรจอร์เจียนั้นมีพัฒนาการมาสามยุคสมัย ซึ่งอักษรแบบปัจจุบันนั้นเป็นอักษรแบบที่สาม เริ่มใช้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา โดยปรับรูปแบบอักษรให้โค้งมนมากขึ้นเพื่อให้สะดวกต่อการเขียน
ชาวจอร์เจียภูมิใจในภาษาของตนเองมาก ครั้งหนึ่งรัฐบาลของสหภาพโซเวียตเคยพยายามที่จะยกเลิกการใช้ภาษาจอร์เจียเป็นภาษาราชการ และบังคับให้ชาวจอร์เจียทั้งหมดต้องใช้ภาษารัสเซีย ซึ่งในมุมมองของชาวจอร์เจียนี่คือความพยายามที่จะกลืนชาติของโซเวียต จึงเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน ค.ศ.1978 (Georgian Demonstration 1978) เกิดความสูญเสียมากมาย แต่ด้วยความเข้มแข็งของชาวจอร์เจียจึงทำให้ชาวจอร์เจียยังคงดำรงรักษาภาษาของตนเองมาได้จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลจอร์เจียได้ประกาศให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปีซึ่งตรงกับวันที่เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในปี ค.ศ.1978 เป็นวันภาษาจอร์เจีย สะท้อนให้เห็นถึงความภูมิใจของชาวจอร์เจียที่มีต่อภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ และแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อให้ได้ใช้ภาษาของตนเองมาจนถึงทุกวันนี้

จอร์เจียวันนี้
แม้ว่าความเจ็บปวดทั้งหลายทั้งปวงจะยังไม่จางหายไป และยังคงทิ้งแผลเป็นไว้เป็นตะกอนในหัวใจของชาวจอร์เจีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพร้อมกับประเทศของตน แต่วันนี้จอร์เจียก็พร้อมจะเปิดรับการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพื่อผลักดันจอร์เจียซึ่งยังต้องการการพัฒนาอีกมากให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ชาติ ศาสนา และภาษา คือความภูมิใจของชาวจอร์เจียที่นักท่องเที่ยวจะสัมผัสได้ทุกจังหวะของการเดินทาง และด้วยแรงบีบคั้นต่าง ๆ จากชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซียที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็น่าจะพอให้ผู้มาเยือนอย่างเราเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดจอร์เจียจึงเลือกที่จะยืนอยู่ข้างยูเครนอย่างเปิดเผย แน่นอนว่าในฐานะคนนอก คงเป็นเรื่องยากที่เราจะตัดสินได้อย่างเด็ดขาดว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ผิด แต่ข้อสำคัญก่อนจะนำไปสู่การตัดสินใจนั้นก็คือการที่เราพยายามทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความขัดแย้งและพื้นฐานความคิด เพื่อให้เราพร้อมที่จะทำความรู้จักวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้มากขึ้นตลอดการเดินทางของเรา

ผมถามมัคคุเทศก์ของผมว่า ในความเห็นของเขา เขาพอจะเป็นเพื่อนกับคนรัสเซียได้หรือไม่ คู่สนทนาของผมหยุดคิดนิดหนึ่งก่อนจะที่ตอบว่า
“ไม่ได้หรอก ฉันสูญเสียพ่อของฉันในสงครามกับรัสเซีย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราทำใจยอมรับไม่ได้จริง ๆ”
เธอยิ้มเล็กน้อยก่อนจะพูดต่อไปว่า
“แต่ทุกคนต้องการความสงบสุข ชาวจอร์เจียทุกคนต้องการความร่มเย็นเป็นสุข เราไม่ต้องการอะไรมากกว่านั้น และฉันเชื่อว่าคนรัสเซียทั่ว ๆ ไป ก็คงต้องการความสงบสุขเหมือนกัน”

ภาพ: Foriegnpolicy
Contributors
Contributors
ครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาที่รักการเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกกว้างเป็นชีวิตจิตใจ เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มนุษยสัมพันธ์ และการเดินทางจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเติบโตไปพร้อมกันเสมอ