ทุกคนที่อ่านบทความนี้อย่างน้อยก็ต้องมีสักคนที่ถ่ายภาพเป็น หรืออาจเป็นใครสักคนที่ชอบเสพผลงานอย่างเดียว หรือเป็นใครสักคนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวในโลกของการถ่ายภาพมาก่อน 

เราเริ่มต้นบทสนทนาในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ณ​ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง พี่ปิ่น-กาญจนาภรณ์ มีขำ หรือว่า ปิ่น มีขำ เดินเข้ามาในร้านด้วยชุดสีเขียว พร้อมกับพี่เตย-ภาสินี ประมูลวงศ์ ที่สวมชุดสีชมพูแมทช์กันกับพี่ปิ่นอย่างลงตัว เปลี่ยนฟ้าครึ้มในวันนี้ให้สดใสขึ้นมาได้ทันตา เขาทั้ง 2 คือ Project Manager ของ Fotogarten 

Fotogarten เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งต่อประสบการณ์ด้านการถ่ายภาพสู่ช่างภาพ คนดู รวมถึงคนที่เดินผ่านไปมา เพื่อทดลองและขยายขอบเขตสู่ความเป็นไปได้ที่กว้างขึ้น

บอกไว้ก่อนว่าเราเองก็เป็นช่างภาพและชอบสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่าย (ดองไอเดียไว้ในโหลก็เยอะ) เรารู้จักกับพี่ปิ่นและพี่เตยมาก่อนจากการติดตามคอนเทนต์ของเพจ D1839 Magazine (นิตยสารภาพถ่ายออนไลน์) และติดตามโปรเจกต์ที่ทั้งคู่ทำมาตลอด จนมาถึงการทำงานภายใต้ชื่อ Fotogarten ในวันนี้

คอลัมน์คบค้าสมาคม จึงอยากพาผู้ชอบเสพและชอบถ่ายภาพไปรู้จัก Fotogarten ให้มากขึ้น ตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา ความคาดหวังหรือแพสชันที่พวกเธอมีในวงการภาพถ่าย อุปสรรคในการจัดการแพลตฟอร์มนี้ ความสุขระหว่างทางจนไปถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับจากการมอบสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่นภายใต้ชื่อ Fotogarten

Fotogarten 101

หลังจากเรียนจบ พี่ปิ่นได้เป็นครูสอนถ่ายภาพ จนเธอรู้สึกชอบภาพถ่ายมากขึ้นและอยากที่จะเรียนรู้เรื่องภาพถ่ายให้มากกว่าเดิม การคลุกอยู่กับเด็กตลอดหนึ่งปีทำให้พี่ปิ่นเข้าใจว่า เด็กๆ ต้องการพัฒนาการแบบไหนหรือเวิร์กช็อปอะไรบ้าง ในเวลาต่อมาเธอจึงผันตัวจากเป็นคุณครู แล้วไปทำงานที่ D1839 Magazine ที่ทำทั้งงานเขียน พอดแคสต์ และการจัดนิทรรศการ สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอเข้าใจกระบวนการทำงานมากขึ้นผ่านการทำคอนเทนต์ นั่นจึงเป็นงานที่เดบิวต์ให้เธอได้เข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้เกี่ยวกับภาพถ่ายอย่างจริงจัง และได้พบกับพี่เตยที่ทำงานอยู่ที่แม็กกาซีนในเวลานั้นด้วย แม้ทั้งคู่ได้มาเจอกันที่ทำงาน แต่ทั้งคู่เคยเรียนโรงเรียนมัธยมเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่คนละห้อง และสุดท้ายพวกเธอก็ต้องห่างกันไปหลังเข้ามหาวิทยาลัย 

“เราเรียนจบหลังปิ่นเพราะเรียนเภสัชฯ 6 ปี เราเริ่มทำงานเขียนเกี่ยวกับภาพถ่าย ศิลปะ ตั้งแต่ตอนเรียนปี 3 และได้ทำพอดแคสต์กับ The Cloud ตั้งแต่สมัยเรียนปี 5 หรือ ปี 6 นี่แหละ เราทำงานกับวงการนี้มาประมาณ 3 ปี จนเรียนจบ เราก็มานั่งคิดว่า ฉันควรจะทำงานเภสัชฯ หรือฉันควรจะทำงานศิลปะที่ฉันเองก็พอชิมลางมาแล้วประมาณหนึ่งดีนะ แต่ก็ได้ไปอยู่ที่ D1839 ซึ่งเป็นงานที่ต่อยอดกับสิ่งที่เราสร้างเอาไว้ประมาณหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้เราทำเป็นเพจที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เราเลยอยากรู้ว่า งานสเกลที่ใหญ่ขึ้นเป็นยังไงบ้างนะ ก็เลยได้มาทำงานกับปิ่นและทุก ๆ คนในบริษัท D1839” พี่เตยเล่าต่อ

ทั้งคู่ทำงานกับ D1839 Magazine อยู่ปีนิด ๆ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ออกมาเริ่มต้นทำ Fotogarten และได้ลองทำอะไรใหม่ๆ จากชอบของทั้งคู่ 

“เรารู้สึกสนใจงานที่ based on project มากกว่าที่จะเป็นงานเขียนคอนเทนต์บนโซเชียลอย่างเดียว อีกอย่างคือเราอยากโตไปเรื่อย ๆ จากการสอนให้คนมาสนุกหรือมามีปฏิสัมพันธ์จากการเรียนรู้ผ่านภาพถ่าย เราก็เลยตัดสินใจ ไปต่อด้วยการทำ Fotogarten” พี่ปิ่นอธิบาย

สิ่งที่จุดประกายให้ทั้งคู่มีเป้าหมายร่วมกัน จนมี Fotogarten เพราะเกิดจากการได้ค้นพบมุมมองใหม่ ๆ จาก D1839 Magazine พี่เตยเล่าว่าจากประสบการณ์การการทำงานสัมภาษณ์ เธอเห็นว่าประเทศไทยมีช่างภาพรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ เยอะมาก คนเหล่านี้มีไอเดียแต่ขาดพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้เขาเติบโตไปข้างหน้าได้ พวกเธอจึงอยากสร้างโปรเจกต์ที่ช่วยซัพพอร์ตช่างภาพได้มากขึ้นและสนุกยิ่งขึ้น

ระหว่างคุยกันเราแอบเห็นโลโก้กุ๊กกิ๊กแสนน่ารักที่เขียนว่า Fotogarten บนกระเป๋าที่พี่ปิ่นนำติดตัวมาด้วย ซึ่งพี่เตยเล่าว่าโลโก้กับชื่อ Fotogarten เป็นไอเดียจากคนรอบตัวที่ช่วยกันคิดขึ้นมาหมดเลย

กระเป๋าที่ว่า มาจากงาน Foto in the Garten เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ของ Fotogarten ซึ่งในงานก็ผ่านการดีไซน์มาว่าป้ายทุกอย่างต้องเป็นผ้า พอจบงานก็ทำเป็นกระเป๋าแจกคนที่มาทำงานด้วยกัน เพื่อเป็นการลดขยะอีกทางหนึ่ง โดยแพรวา-มนสิชา ศรีสวนแตง กราฟฟิกดีไซเนอร์เป็นคนออกแบบโลโก้นี้ โลโก้ที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมของภาพถ่าย ที่นำมาประกอบกันจนกลายเป็นดอกไม้ ส่วนไอเดียการตั้งชื่อนี้มาจาก พี่ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพไทยในนิวยอร์กและภรรยาของพี่เตยนั่นเองที่เป็นคนต้นคิด

“ตอนเราเริ่มทำและพี่ปูเป้ก็ได้ฟังไอเดียของพวกเรา พี่ปูเป้เลยรู้สึกว่า จริง ๆ มันเหมือนสวนเลย ซึ่งสามารถตีความได้ว่า ช่างภาพทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นดอกไม้เดียวกัน ทุกคนมาอยู่ที่นี่เป็นดอกไม้ภาพถ่ายที่โตและสวยในแบบของตัวเองได้ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ Fotogarten” 

พี่เตยอธิบายต่ออีกว่าที่ไม่ใช้เป็น ‘garden’ ไปเลย เพราะอยากให้ชื่อคล้องจองกับคำว่า ‘kindergarten’ ที่แปลว่า โรงเรียนอนุบาล จึงเปรียบได้ว่าช่างภาพที่มาเข้าร่วมกับเราที่นี่ ก็เปรียบเสมือนการมาเริ่มเป็นเด็กอนุบาลอีกครั้ง ซึ่งในวัยนี้เป็นช่วงเวลาที่เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการมองได้เยอะมาก 

“แล้วอย่างคำว่า ‘foto’ ที่เป็นตัว ‘f’ แทนที่จะเป็นตัว ‘ph’ คือการเล่นเสียงที่สนุกสนาน เพราะเราไม่ได้ต้องการให้ที่นี่จริงจังจนเกินไป เพราะเรามองว่าทุกอย่างผิดได้ เราอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนสวนที่ให้ทุกคนมาสนุกและได้เรียนรู้ไปด้วยกัน”

ภาพถ่ายและผู้คน

เรารู้แล้วว่า Fotogarten มีจุดตรงกลางที่ชัดเจน คือ “ภาพถ่าย” 

“แต่ละโปรเจกต์เราคิดมาแล้วว่าภาพถ่ายมันเวิร์กกับใครในเวิร์กช็อปแบบไหน สิ่งแรกที่เราโฟกัสคือ ‘ช่างภาพ’ ครั้งต่อมาเราโฟกัส ‘ช่างภาพกับคนดู’ อย่างงานที่เราไปจัดในสวน Foto in the Garten เป็นการเปิดรับสมัครช่างภาพ ในขณะเดียวกันเราก็สร้างกิจกรรม สร้างอีเวนต์ให้กับคนที่มาดูด้วย” 

“อย่าง Library on Tour ที่เป็นโปรเจกต์ใหญ่ ๆ เราก็มองว่าภาพถ่าย มีรูปแบบไหนบ้าง กิจกรรมนี้เลยมี Photobook เพราะเราต้องการคนจำนวนใหม่ ๆ เข้ามาบ้าง ไม่ใช่แค่คนที่รู้ว่าภาพถ่ายพูดเรื่องอะไร เราอยากหาคนที่ไม่เคยเข้าใจภาพถ่าย หรือผ่านไปผ่านมาแล้วมาเห็นว่ามีหนังสือเล่มนี้ด้วย ไหนขอลองเปิดดูหน่อย แล้วให้เขา เริ่มสงสัยและอยากรู้ว่านอกจาก Photobook แล้ว ภาพถ่ายมันมีแบบไหนได้อีกนะ” 

ฟังจากที่พี่ปิ่นเล่ามา ภาพถ่ายทำหน้าที่เชื่อมโยงทั้งคนถ่ายและคนดูไว้ด้วยกัน แต่ทำไมคนดูจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับ Fotogarten

“ภาพถ่าย อยู่เฉย ๆ ไม่มีคนดูไม่ได้ มันเรียบง่ายมาก ๆ แล้วเรารู้สึกว่าต้องพาสองสิ่งนี้มาอยู่ด้วยกันให้ได้ เราเป็น project manager ที่มีจุดเชื่อมโยงคือ ภาพถ่าย เราเลยต้องให้ค่าทั้งสองฝั่ง” เธอเล่าว่างานไปต่อได้กว้างมากขึ้น เพราะเกิดจากการที่คนดูส่งต่อบทสนทนาเหล่านั้นออกไป 

ในส่วนของพี่เตย “เรามอง 2 มุมเลย มุมแรกของภาพถ่ายคือ การสื่อสาร visual narrative (การเล่าเรื่องด้วยภาพหรือผ่านการมอง) ออกไปว่า เราจะเล่าเรื่องนี้ผ่านการวางกรอบสีแบบนี้ วิธีการแบบนี้ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีอีกฝั่งหนึ่งที่มารับฟังเรื่องราวเหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้น การสื่อสารของเรา ถ้าคนเขาไม่รู้สึกสนุกกับการดูหรือทำความเข้าใจสิ่งนี้ วงการภาพถ่ายมันจะเล็กลงเรื่อย ๆ เพราะจะไม่มีกลุ่มคนที่มาคุยกับเรา และทำให้วงการนี้มันอยู่ต่อไปได้” 

Let’s see fun in foto!

ถ้าเราเข้าไปดูในแพลตฟอร์มออนไลน์ จะเห็นเลยว่ามีโปรเจกต์ที่หลากหลายในระยะเวลา 1 ปีกว่าของ Fotogarten และเราเองก็เดาไม่ออกเหมือนกันว่าโปรเจกต์ต่อไปจะเป็นอะไร 

“โปรเจกต์แรกที่เราทำคือ การทำคอร์สออนไลน์ 2 ชิ้น เพราะเรารู้สึกว่า จริง ๆ แล้ว ช่างภาพรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ จะต้องมีพื้นฐานของการต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งพื้นฐานที่ว่าคือ การพูดถึง Creative Universe เป็นพื้นฐานที่เราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่า สไตล์ของเรา วิธีที่เราทำงานเป็นยังไง แล้วตัวเราเชื่อในอะไรสำหรับการสร้างงานออกมา” 

ในคอร์สแรกนี้ได้ ​​แพร์-พิชญา คูวัฒนาถาวร เข้ามาบรรยายและดึงเอาช่างภาพต่างประเทศ อย่าง Landon Nordeman, Elizabeth Renstrom และ Maya Akashika เข้ามาร่วมด้วย ส่วนคอร์สที่สอง Portfolio Platform เป็นเวิร์กช็อปทำแฟ้มสะสมผลงานในออนไลน์ ในคอร์สนี้มีผู้บรรยายนำโดยพี่ปูเป้ ตามมาด้วย Marvin Orellana เป็น Photo Editor และ Umi Syam เป็น Graphic Editor ของ The New York Times  

พี่เตยขยับมาเล่าถึงโปรเจกต์ถัดจากคอร์สออนไลน์ ซึ่งนับเป็นโปรเจกต์ที่สอง คือ Foto in the Garten เป็นนิทรรศการภาพถ่ายในสวน โดยการเปิดรับสมัครช่างภาพให้ส่งแฟ้มสะสมผลงานเข้ามา ตรงนี้เองฝั่งของช่างภาพก็ได้ Portfolio Review กับ Sinna Nasseri ช่างภาพต่างประเทศที่มาแรงมาก และทางฝั่งคนดูก็ได้ ฟังทอล์ก ทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับ zine (หนังสือทำมือ) ด้วย

“โปรเจกต์ที่สาม เราทำ Festival in the Box ร่วมมือกับฝั่งอังกฤษ ชื่อ Photoworks เขาส่งมาให้เรา เป็นเหมือนกล่องที่ข้างในมีงานของช่างภาพ 10 คน จากทั่วโลก” ซึ่งพี่เตยเล่าอีกว่า ทำงานกับเขามาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ได้คุยกันเรื่อย ๆ ว่าจะส่งใครไปอยู่ในกล่องด้วย โดยทาง Photoworks เขาให้กรอบแนวคิดมาคร่าว ๆ แล้วก็มาคุยกันว่าใครเข้ากับแนวคิดที่วางไว้ หลังจากนั้นก็มีการนัดคุยกันกับช่างภาพที่สนใจ ผลสรุปก็ได้ เพิร์ธ-หฤษฎ์ ศรีขาว ช่างภาพไทยไปอยู่ในกล่อง

โปรเจคต์ Festival in the Box (ภาพจาก Fotogarten)

“นอกจากโปรเจกต์เหล่านี้ เรามีสอนในมหา’ลัยด้วย คือจริง ๆ เป็นการสอนแบบ guest lecturer สั้น ๆ เป็นเวิร์กช็อปเล็ก ๆ อย่างเช่น การทำ zine จากหนังสือพิมพ์, การทำนิทรรศการ, การทำคิวเรต (การคัดเลือกและตีความผลงาน)” 

“และโปรเจกต์ล่าสุด คือ Library on Tour ทำไปแล้ว 2 ที่ คือ ร้าน Gimbocha ใกล้กับ BACC และร้าน Open House Cafe ที่หัวหิน ซึ่งเป็นห้องสมุดหนังสือภาพถ่าย เพราะหนังสือภาพถ่ายแพง เลยทำเป็นธีมแล้วเอาชั้นหนังสือย้ายไปที่ต่าง ๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าถึงได้ฟรี นอกจากนี้ ในโปรเจกต์ก็มีกิจกรรม Photo Club คือ การนำภาพถ่ายอะไรก็ได้มานั่งคุยกัน ช่วยกันร้อยเรียงเป็นเรื่องราวกันสนุก ๆ”

บรรยากาศโปรเจ็ค Library on Tour และกิจกรรม Photo Club (ภาพจาก Fotogarten)

นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมพิเศษที่ Fotogarten ไปร่วมกับ Ubaan Agency เป็นโปรเจกต์วันวาเลนไทน์ที่ทำการ์ดจากรูปภาพของช่างภาพที่ถ่ายทอดเรื่องการทำงานของผู้คน เป็นการ์ดที่อยากส่งต่อให้คนได้เห็นถึงความรักที่มีต่องาน

ตัวอย่าง Valentine’s Day Card (ภาพจาก Fotogarten)

ในมุมมองของเรา แต่ละโปรเจกต์จะเห็นเลยว่าช่างภาพเป็นส่วนสำคัญมาก ส่วนในมุมของพี่ปิ่น เธอบอกว่าภาพถ่ายเลยที่ Fotogarten โฟกัส แต่จะปล่อยให้ภาพถ่ายนั้นนำพาเราไปเจอกับใครมากกว่า 

พี่เตยเสริม “อีกอย่างที่เรามอง เราคุยกันว่า agenda ของเรา คือ ‘Let’s see fun in foto!’ คือ สนุกทั้งฝั่งคนดูและฝั่งคนทำที่เราเห็นงาน เราเห็นกระบวนการทำงานแล้วอะ เรารู้สึกว่างานของเราเข้าถึงง่าย”

เราได้ฟังรายละเอียดแต่ละโปรเจกต์คร่าว ๆ แล้วเห็นว่า Fotogarten เปิดให้เข้าไปเรียนรู้และทำเวิร์กช็อปแบบฟรี ๆ เลย แล้วอะไรทำให้ทั้งคู่เชื่อในแนวคิดนี้

เวิร์กช็อปที่ฟรีมีอยู่จริง

ก่อนที่เราจะถามทั้งคู่ว่า ที่ทำมาทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากไหน เราอยากรู้ว่า การเรียนรู้ในระบบอย่างในมหาวิทยาลัย และการออกมาเวิร์กช็อปข้างนอกต่างกันยังไงบ้าง 

“มหาวิทยาลัยมมีโครงสร้างที่ไม่ได้ up-to-date ไม่ใช่เพราะว่ามันไม่อยาก up นะ แต่ว่ามันต้องรื้อ ต้องแก้ ต้องส่งไปข้างบน ต้องมีการเซ็นรับรอง ซึ่งพอไม่ปรับเปลี่ยนตามความก้าวหน้า เลยกลายเป็นว่า มีแต่เรื่องพื้นฐานที่มอบให้แก่ผู้เรียน ดังนั้นถ้าเราอยากรู้เพิ่มก็ต้องออกไปข้างนอก เราไม่ได้เชื่อว่า 100% มันต้องมาจากมหา’ลัย หรือ 100% คือมหา’ลัยไม่ได้ให้อะไรเราเลย คือเราก็ต้องวิเคราะห์ว่ามันพอไหม ถ้าไม่พอเราก็ต้องไปหาอะไรเพิ่มอีก” 

พี่ปิ่นรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่ดี ในการรวมคนที่มีความสนใจแบบเดียวกันมาไว้ด้วยกัน เราก็สามารถมานั่งถกกันในสิ่งที่เรียนรู้จากนอกห้องเรียนได้เลยในห้องเรียน เพราะมันถูกบังคับให้อยู่ด้วยกัน เธอเลยรู้สึกว่าการเรียนรู้นอกห้องและในห้องมันควรจะทำควบคู่กันไป เมื่อมหาวิทยาลัยทำไม่เพียงพอจึงต้องมีเวิร์กช็อป เธอรู้สึกว่าประเทศไทย มีคนทำคอนเทนต์ภาพถ่ายเยอะ เราเรียนรู้จากตรงนี้ได้เหมือนกัน

พี่เตยเสริมว่า เธอเป็นคนที่เชื่อในเวิร์กช็อปที่ “ฟรี” เพราะในต่างประเทศมีสิ่งนี้กัน “เวิร์กช็อปที่ฟรี หรือว่า portfolio review คือการเอางานมาช่วยกันดู หรือว่าค่ายในไทยก็มีเหมือนกัน อย่างค่ายสารคดี (นิตยสารสารคดี) อย่าง Realframe (กลุ่มช่างภาพข่าวและสารคดีไทย) ก็ทำ เงื่อนไขหนึ่งที่เราคิดไว้เสมอคือ เราไม่เก็บเงินเพราะทุกคนควรมีสิทธิ์ได้เข้าถึงความรู้ชุดนี้” เธอเชื่อว่าเวิร์กช็อปที่ฟรี มันสำคัญมากในการพัฒนาวงการภาพถ่ายในวงกว้าง เพราะว่าไม่อย่างนั้น คนที่จะเข้าถึงภาพถ่ายได้ก็จะเป็นแค่คนที่มีเงิน เพราะว่ามันเป็นข้อจำกัดนึงอยู่ในวงการศึกษาไทยอยู่แล้ว 

ทีนี้เวิร์กช็อปที่ฟรีมันมีอยู่จริง แล้วเรื่องของทุนที่ Fotogarten นำมาทำโปรเจกต์มาจากไหน? 

ทั้งคู่บอกกับเราว่ามีสปอนเซอร์อยู่ แต่พอมันเป็นงานที่ต้องร่วมมือกัน ก็แทบจะไม่ได้ใช้เงินเลย อย่างทาง Photoworks ส่ง box มาแล้ว Fotogarten ก็นำไปสอนต่อที่มหาวิทยาลัย เขาก็ไม่เก็บเงิน เพราะมหาวิทยาลัยเองก็อยากให้มีคนไปให้ความรู้อยู่แล้ว ส่วน Library on Tour ที่ไปจัดในคาเฟ่ เขาก็อยากให้มีกิจกรรมเกิดขึ้นอยู่แล้ว จึงไม่เสียเงิน มีช่างภาพไทยฝาก zine ให้ ทาง Fotogarten ก็รับมา รวมถึงได้ ปิ่น-วิทิต จันทามฤต เจ้าของร้านหนังสือ Vacilando มาสนับสนุนด้วยเช่นกัน และทั้งคู่มีหนังสือเยอะอยู่แล้ว ส่วนตัวเลยอยากที่จะเอาออกไปให้คนอื่นดูด้วย

“เราเชื่อว่าทุกอย่างย่อมมีเงื่อนไขอยู่แล้ว เราเลยทำอะไรที่เป็น win-win situation มากกว่า เราไม่ต้องเสีย เขาไม่ต้องเสีย เรามาเจอกันตรงกลาง” พี่ปิ่นอธิบาย

ว่าแต่มันยากไหมนะกับการเชิญคนเก่ง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น มาร่วมมือทำโปรเจกต์ด้วยกัน ทำไมเขาถึงยอมมา

“โอ้! ง่ายมาก เพราะเราชัดเจนว่าเราต้องการอะไร และเขาให้อะไรเราได้บ้าง แล้วเราให้อะไรเขาได้บ้าง มันเลยเกิดการตกลงที่เป็นไปได้อย่างราบรื่น เพราะว่าเรา clear-cut กับเขาตั้งแต่แรกว่าเรามีเท่าไหน ถ้าเขาโอเคเราก็ทำด้วยกัน แต่ถ้าไม่โอเค เราไม่ติดอะไรเลย เราก็แค่จัดการกับเงื่อนไขต่อไปว่า ถ้าคนนี้ปฏิเสธแล้วเรามีใครบ้างที่เราลิสต์ไว้ มันราบรื่นนะ ตอนนั้นเราทำงาน” พี่ปิ่นตอบ “มีปฏิเสธก็อย่างเช่น เขามีปัญหากับทางบ้าน มากกว่าที่จะเป็นเรื่องทางการเงินหรือเรื่องอื่น ๆ ฉะนั้นมันคุยง่าย เพราะว่าเขารู้อยู่แล้วว่าเราทำงานแบบไหนอยู่ อย่างเช่นคุยกับ Photoworks ที่อังกฤษอย่าง ผู้ช่วยคิวเรเตอร์เขามาเที่ยวไทย เราก็ไปเจอกันที่ร้านข้าวต้มแล้วก็คุยกัน เขาพูดเลยว่าเขาหาพาร์ทเนอร์อยู่นะ สุดท้ายก็ได้ร่วมงานกันเลย” พี่เตยก็ตอบเหมือนกันว่าชิลมาก

เราเห็นว่าตั้งแต่ทำมากระบวนการทุกอย่างมันดูราบรื่นไปหมด แล้วเคยมีไหมที่ทั้งคู่มีความเห็นไม่ตรงกัน

ทั้งคู่บอกกับ ความเห็นของพวกเธอไม่เคยตรงกันอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็มานั่งถกเถียงกันเพราะเรามี agenda ร่วมกันที่ชัดว่าในแต่ละโปรเจกต์ต้องการอะไร

“เวลาที่เราเห็นไม่ตรงกัน เรามักย้อนกลับไปที่ agenda มันก็จะคิดได้เองว่า อ๋อ เรื่องนี้ฉันเชื่อเธอ พาร์ตนี้ฉันเชื่อเธอ เพราะว่าที่เธอพูดมามันทำให้สิ่งที่เราคิดไปถึงตรงนั้นได้ดีที่สุด เราเป็นคนยอมรับสภาพเก่ง จริง ๆ ทุกอย่างขลุกขลิกมากแต่มันก็ไปต่อได้” พี่ปิ่นเสริม

อีกอย่างที่สำคัญคือ ทั้งคู่มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าใครทำหน้าที่อะไร ใครจะเป็นคนคิดโปรเจกต์ จะประชาสัมพันธ์อย่างไร การติดต่อกับพาร์ตเนอร์ รวมถึงการเตรียมวัตถุดิบต่าง ๆ ของงานที่จัดขึ้นให้มันสมดุล 

พี่ปิ่นอธิบายต่อ “เพราะฉะนั้น พอเราถกกันปุ๊บมันมักจะมีคำตอบที่ดีที่สุดของปัญหาอยู่แล้ว เพราะว่าเรารู้ว่า เราต้องการจะไปถึงจุดหมายตรงไหน” พี่เตยพูดปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ “แน่นอน ว่า ก็ไม่ตรงกันหรอกค่ะ”

คู่หูที่คิดการใหญ่

“นั่นน่ะ สิ มันยากอยู่แล้วเนาะ” พี่เตยบอกกับเรา

“ใช่ มันยากอยู่แล้ว” พี่ปิ่นพูดย้ำ ด้วยความที่ Fotogarten มีกัน 2 คน การเริ่มต้นสองคนด้วยการทำงานด้วย based on project จึงเป็นสิ่งที่ใหม่มาก ประกอบกับการทำงานอยู่บนเงื่อนไข จุดเชื่อมโยงแรกจึงเป็นการส่งต่อความเชื่อมั่นในชุดความคิดของพวกเธอ ด้วยการเปิดคอร์สออนไลน์ เชื้อเชิญคนที่มองเห็นภาพถ่ายในด้านต่าง ๆ มาเชื่อมกับตัวผู้สอนเป็นอันดับแรก

จากนั้นก็มีการต่อยอดให้ทั้งคนสอนและคนเรียน นำข้อมูลที่ได้รับไปทำอะไรต่อได้ โปรเจกต์มันเลยออกมาในรูปแบบของการจัดนิทรรศการ Foto in the Garten ที่มีการเปิดให้ส่งแฟ้มสะสมผลงานเข้ามา ถ้าใครไม่เข้าใจวิธีตรงนี้ เขาก็สามารถย้อนกลับไปดูคอร์สออนไลน์บนเว็บไซต์ของ Fotogarten ได้

“แล้วพอเราได้จัดแสดงงาน คนเข้ามามากขึ้นปุ๊บ มันก็ประจวบเหมาะกับที่เมืองนอกเขาก็เห็นเราละว่าเราทำอะไรมาบ้าง เขาก็ส่งโจทย์มาให้เราเอาไปขยี้ต่อ อย่าง Festival in the Box ที่เป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ เราต้องมาคิดว่า เราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง เราก็เลยเลือกที่จะเอาเวิร์กช็อปนี้ไปตั้งอยู่ในมหา’ลัย เพื่อเป็นสื่อการสอนให้กับนักเรียนภาพถ่าย ซึ่งเราก็เริ่มในกรุงเทพฯ ก่อน” พี่ปิ่นฝากกระซิบว่าสำหรับใครที่อ่านอยู่ก็สามารถติดต่อ Fotogarten ได้ พอยังมีสื่อนี้อยู่ 

“อีกอย่างหนึ่งของเรา คือการเวิร์กช็อป box อันนี้ มันช่วยในเรื่องการคิวเรตด้วย เพราะฉะนั้นนี่คือการได้เรียนรู้ การได้ทำ การได้ลองคิวเรต การได้ลองจัดการงานเรื่องภาพถ่ายด้วย” พี่เตยเสริม 

“ใช่ เพราะว่าเราเชื่อว่าแบบ เฮ้ย คำว่าภาพถ่ายมันเป็นสื่อกลางก็จริง แต่ว่ามันไม่ได้มีแค่คนดูกับช่างภาพ ยังมีคนจัดงานภาพถ่ายด้วย ซึ่งเป็นคนที่จะมานั่งคอยคิดคอนเทนต์อย่างเรา ๆ นี่เอง” มาถึงตรงนี้ พี่ปิ่นรู้สึกว่ามันตอบโจทย์แล้วกับบริบททั้งหมด เพราะได้ทั้งสอนคน ได้จัดงาน ได้คนดู คนก็เข้าใจภาพถ่ายเชิงลึกมากขึ้นจาก box นี้ มันเลยเกิดการต่อยอดไปเป็น Library on Tour ที่มองหาเป้าหมายใหม่ ๆ มาต่อบทสนทนาเกี่ยวกับภาพถ่ายที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน เป็นการรับรู้ แก้ไขจาก feedback ก้อนเก่า เพื่อให้เกิดก้อนใหม่ขึ้นมา

The Best Step is The Next Step

เจอทั้งความสนุก ความยาก-ความท้าทาย แน่นอนว่าต้องมีโปรเจกต์ในดวงใจแน่ ๆ 

“อุ๊ย! โปรเจกต์ในดวงใจ ถ้าจะให้ตอบก็คงเป็นโปรเจกต์หน้า (หัวเราะ) เราก็ต้องชอบงานหน้ามากกว่าอยู่แล้ว” พี่เตยบอกกับเรา 

“ที่ชอบที่สุดที่เคยทำไปแล้วตอนนี้ คือ Library on Tour แล้วเราชอบ Photo Club ในโปรเจกต์นี้มาก เรารู้สึกว่า Photobook เป็นสิ่งที่แพง และห้องสมุดในไทยไม่ได้กันงบมาซื้อสิ่งนี้เยอะ เพราะว่ามันยากที่จะเห็นความสำคัญของสิ่งนี้ การที่เป็นภาคเอกชนแล้วได้เริ่มทำสิ่งนี้มันสนุก และอ่านได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางด้านความรู้ทางภาพถ่ายก็ได้ ซึ่ง Photo Club เป็นกิจกรรมที่มานั่งโต๊ะ หยิบเอาภาพและหนังสือในชั้นมาดู แล้วมาคุยกัน เราได้เห็นแนวคิดที่เยอะมาก ๆ ว่าของแต่ละสิ่ง เรามองมันในมุมไหนได้บ้าง และภาพถ่ายของแต่ละคนที่เห็นว่ามันสำคัญ ไม่ได้จำเป็นแค่ต้องเป็นหนังสือก็ได้ เป็นฟิล์มก็ได้ เป็นอะไรก็ได้” นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชอบโปรเจกต์นี้ของพี่เตย

ภาพบรรยากาศ Library on Tour และกิจกรรม Photo Club (ภาพจาก Fotogarten)

ส่วนพี่ปิ่นชอบตอนที่ไปเวิร์กช็อปที่มหาวิทยาลัย ชื่อเวิร์กช็อปว่า New Paper แม้จะไม่ใช่โปรเจกต์ใหญ่ แต่สำหรับเธอ มันสร้างความประทับใจและได้แลกเปลี่ยนกับทุกคน 

“ต้องขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่เชิญเราเข้าไปในมหา’ลัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ครูโต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ เป็นหัวหน้าเก่า D1839 ก็เชิญเราไป แล้วก็ครูป๊อกแป๊กจากนิเทศศาสตร์จุฬา ครูก้องจากม.กรุงเทพฯ” พี่ปิ่นกล่าวขอบคุณก่อนจะเล่าถึงเวิร์กช็อปนี้ 

“เราเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาโปรยเต็มห้องเลย วาง ๆ ไว้แล้วให้นักศึกษาทุกคน เลือกภาพจากหนังสือพิมพ์มาจัดเรียง แล้วเล่าเรื่องใหม่ของตัวเอง” เธอรู้สึกว่า ภาพถ่ายไม่ได้เกิดขึ้นเรื่องแค่ภาพที่เกิดขึ้นจากการมอง แต่มันต้องมีการเล่าเรื่องด้วย เธอเห็นสิ่งเหล่านี้ภายใต้กระดาษหนังสือพิมพ์ปึกเล็ก ๆ ใกล้ตัว ทุกคนมองหนังสือพิมพ์แบบเดียวกัน แต่เล่าเรื่องไม่เหมือนกัน วิจารณ์งานไม่เหมือนกัน สำหรับเธอมันคือการได้เห็นความคิดของคน และมองว่าเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการทำงานเกี่ยวกับ visual

“แต่ชอบสุดก็งานหน้าจริง ๆ ทำอยู่ ๆ สนุก ๆ” ส่วนเราเองก็อยากรู้แล้วว่าโปรเจกต์หน้าจะออกมาเป็นรูปแบบไหน 

New Paper Workshop (ภาพจาก Fotogarten)

จะว่าไปแล้ว ทั้งคู่จะต่อยอดกับ Fotogarten ไปได้อีกไหม เพราะเรามองว่า ทั้งคู่ได้สะท้อนตัวตนผ่านโปรเจกต์เหล่านี้เยอะมาก หลังครบ 1 ปี ทั้งคู่จึงคุยกันเพื่อทบทวน

“คำถามนี้เป็นคำถามที่ดี ครบรอบฉลอง 1 ปี ของ Fotogarten” พี่ปิ่นพูดด้วยรอยยิ้ม “ซึ่งประจวบเหมาะกับที่เราพูดไปตอนแรกว่าเราอยากลองทำสักปีก่อน พอได้ 1 ปี แล้วยังไงต่อ เนื่องจากเรา 2 คนกำลังจะแยกตัวกับแยกใจ เตยก็จะไปนิวยอร์ก เราก็ยังอยู่ไทย เราเลยอยากโฟกัสการใช้ภาพถ่ายในออนไลน์ หรือหลาย ๆ อย่างที่ไม่ใช่ออนกราวนด์ เราสนใจไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมาย หรือการส่งอีเมล หรือเกมให้เล่นบนออนไลน์ เหตุผลคือ ในออนไลน์ ภาพถ่ายมันเชื่อมต่อถึงกันได้ เราเองก็ยังอยากไปอีกก้าวหนึ่ง เพื่อที่ว่าเราอยากให้คนสนุกกับภาพถ่าย แม้เราจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ว่าภาพถ่ายมันอยู่ทุกที่ อันนี้ก็เป็นอีกวิสัยทัศน์หนึ่งนะ” 

อะไรทำให้ทั้งคู่อยากปั้นให้ Fotogarten ไปไกลกว่านี้ และเป้าหมายนั้นเรียกได้ว่าเป็นความฝันสูงสุดของ Fotogarten ไหม?

“เราอยากเห็นมันอยู่จนถึงวันเราตายมั้ง เราเชื่อว่ายังมีช่างภาพอีกหลายคนที่ยังไม่ถูกพูดถึง ตัวเราเองก็อยากจะหาทางเติบโตเพื่อมาซัพพอ์ต Fotogarten ได้มากขึ้น เตยก็ไปนิวยอร์กเพื่อไปหางาน ไปทำงานเพื่อมาซัพพอร์ตตรงนี้ ตัวเราเองก็ไปหางาน หรือว่ามีแผนจะเรียนเพื่อทำให้มันแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพราะตอนนี้มันคือการที่เราทำจากประสบการณ์ แต่ต่อไปนี้เราก็อยากทำให้งานทุกอย่างมันกว้างขึ้น ชัดขึ้น มีโครงสร้างที่แข็งแรงขึ้น เพื่อจะได้ซัพพอร์ตช่างภาพได้จริง ๆ มากขึ้นด้วย” พี่ปิ่นสรุปให้เราฟัง

เราเห็นว่าพี่ทั้ง 2 คน ทำงานและใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่ชอบ มันเปี่ยมไปด้วย passion จริง ๆ เรารู้สึกขอบคุณที่เป็นแรงผลักดันเล็ก ๆ ให้กับวงการนี้

“เราเชื่อ เพราะว่าวงการจะสนุก หรือว่าช่างภาพมจะไปต่อได้ก็เพราะเรามีบทสนทนากัน มีคนตัวเล็ก ๆ ที่อยากจะทำงาน เขาจะได้มีพื้นที่ให้คนดูได้เข้ามาคุยกับเขา ถึงแม้ว่างานเขายังทำไม่เสร็จ แต่เขาอยากไปต่อก็มาคุยกับเราแบบนี้ เราก็พร้อมที่จะคุยกับเขา เพราะเราคิดว่าเขาต้องได้โอกาสโต ทุกคนที่ตั้งใจทำงาน แต่ว่าเราก็ต้องทำให้มันยิ่งใหญ่ เพื่อที่เราจะไปช่วยให้เขาโตได้ยิ่งขึ้น” 

Fotogarten gives everything

“everything ทุก ๆ อย่างเธอ” พี่ปิ่นพูดด้วยน้ำเสียงภูมิใจ สำหรับเธอมันช่วงเวลาชีวิตที่ดีมาก ได้เรียนรู้ทุกอย่าง ได้เจอคน ได้เห็นงานดี ๆ ได้อยู่กับสิ่งที่ชื่นชอบจริง ๆ ตลอดเวลา “แค่เราได้เห็นงานของช่างภาพจำนวนมากที่เราร่วมงานด้วย เราก็รู้สึก ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน แล้วเขาส่งมาให้เราดู หรือการที่เราเวิร์กช็อปกับเขาคนนี้ไป 1 คน แล้วเขายังส่งงานมาให้เราดูอยู่ ได้มามีบทสนทนากัน เราเลยรู้สึกว่านี่มันดีมากๆ ที่เราได้ทำสิ่งนี้ ละมันตอบโจทย์สิ่งที่เราตั้งไว้ในตอนแรก ที่เราจะมาอธิบายไปด้วยกันอย่างนี้”

พี่เตยเองก็เรียนรู้เยอะมากๆ ทั้งเรื่องของการจัดการว่าจะดีลกับคนยังไง จะดีลกับปัญหายังไง จะจัดการเวลายังไง ถ้าเจอปัญหาแล้วมันต้องเปลี่ยน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะ move on “เราว่าอีกสิ่งหนึ่งคือ มันทำให้เราเห็นว่า สุดท้ายที่เรามองไว้ตอนต้นที่เต็มไปด้วยอุดมคติมากๆ เราจะทำแพลตฟอร์มซัพพอร์ตช่างภาพ ให้ความรู้ฟรี สุดท้ายแล้วมันทำได้หรือไม่ได้หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง หรือสเกลของมัน โตได้ไหม ถ้าโตไม่ได้ จะทำยังไงได้บ้าง เรารู้สึกว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่เราได้เรียนรู้ข้อจำกัดในสังคมของเราในประเทศเรา เรื่องการเงินต่าง ๆ” 

แล้ว feedback ไหนที่ได้ยินแล้วมันตราตรึงใจจัง หรือรู้สึก fulfill ที่ได้ยินสิ่งนี้ ทางเราถามกลับไป

พี่ปิ่นคิดอยู่สักพัก “ตอนทำโปรเจกต์ Foto in the Garten แล้วมีเด็ก 2 คนเป็นพี่น้องกัน กำลังจะไป Donki แล้วเจอสวนครูองุ่นของเราก่อน เรามีเวิร์กช็อปวันนั้นพอดี เด็กก็เข้ามาดู อุ๊ย! เขาสนใจ แล้วเด็กก็อยากลองทำเวิร์กช็อป แล้วแม่ก็เข้ามาด้วย เด็กเลยบอกแม่ว่า อันนี้ดี สนุก ลูกขอทำก่อน มันคือแค่นั้นเลย” เธอรู้สึกว่าสิ่งที่ Fotogarten คิดไว้มันสำเร็จสักนิดหนึ่ง อย่างน้อยมีคนหนึ่งสนใจก็คือได้แล้ว 

“เพราะเราตั้งไว้ว่า Foto in the Garten เป็นพื้นที่เปิด เราไม่ได้บอกว่ามีอะไร แค่เปิด-ปิดตามเวลาสวนเลย ใครเข้ามาก็ได้” เธอรู้สึกว่าการที่เด็กเดินเข้ามา รู้สึกเตะตากับสิ่งต่าง ๆ พร้อมเรียกคนอื่นเข้ามาด้วย แล้วปฏิเสธแม่เพื่อขอทำสิ่งนี้ก่อน เธอรู้สึกว่าแค่ 5-10 นาที เขามาสนใจงานภาพถ่ายสเกลเล็กๆ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจ ความพยายามของช่างภาพทุกคนที่แพ็ครวมมาอยู่ในนั้น แค่นั้นก็ตราตรึงใจแล้ว “แค่เขาพูดว่า ขอทำอันนี้ก่อนแล้วเดี๋ยวจะไป เราเลยรู้สึกว่า เขาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราทำ เราก็เลยรู้สึกว่ามันพอแล้ว” 

ถ้าให้สรุปบทเรียน Fotogarten เป็นหนึ่งบทเรียน Fotogarten สอนให้รู้ว่า…

“สำหรับเตย Fotogarten สอนให้รู้ว่าเราสามารถทำงานโดยที่มีข้อจำกัดมากมายและยังเป็นงานที่ดีได้ งานที่ดีมันไม่ควรเป็นงานที่เล่นใหญ่ แต่เป็นงานที่เราพูดเรื่องที่เราแคร์จริงๆ แล้วเราพยายามสื่อสารมันในแบบของเรา เพราะฉะนั้นไม่ว่ามันจะมีข้อจำกัดยังไงก็แก้ไขได้ เช่น เราไม่มีเงิน เราใช้ไอโฟนถ่ายก็ได้ มันมีคนน้องคนหนึ่ง THAI PEOPLE SO F. TIRED ใช้มือถือถ่ายแล้วถ่ายดีมาก ใช่เราเลยรู้สึกว่าบางครั้งตัวเอง เรามีเงิน บางครั้งเราไม่มีเงินเลยเธอ แต่ว่าเราจะทำยังไงให้เรายังได้ทำสิ่งนี้ต่อไปอะ มันคือการทำงานบนข้อจำกัดตรงนี้ แล้วยังพยายามที่จะทำงานที่ดีออกมา” 

แล้วในมุมของพี่ปิ่นล่ะ 

“อย่างเพิธ (ผู้เขียน) เองเนี่ย เพิธก็มีแสง ทุกคนมีแสง เพิธก็มีแสงแบบของเพิธ เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้มันน่าสนใจ Fotogarten จึงสอนว่า เราทำงานกับสิ่งที่เรารักได้ แค่นั้นเลย” 

“เราเจอช่างภาพทุกคนที่ผ่านมาคือเขาทำในสิ่งที่เขารัก แต่บางครั้งที่เราพูดถึงงาน มักมีเรื่องคุณภาพงานเข้ามาเกี่ยวด้วย เราเห็นว่าบางทีคุณภาพ ไม่ถึงแต่นี่คือสิ่งที่เขารัก เขากำลังจะต้องการการพัฒนาตัวเขาอยู่ ส่วนเราก็กลับมาที่ตัวเองอีกว่า เราสัญญาว่าจะกลับไปหาทางของเราเพื่อจะผลักดันเขาไปให้ได้ไกลกว่านี้เหมือนกัน ก็เลยรู้สึกว่าเราทำงานกับสิ่งที่เรารักได้ ถึงแม้มันจะกระท่อนกระแท่นก็ตาม ทุกคนเป็นแบบนั้น มันก็เลยกลับไปที่เตยว่า ทุกคนมีข้อจำกัด แต่เราทำสิ่งที่เรารักได้เสมอค่ะ” 

Contributors

ช่างภาพฝึกหัด ชอบแมว ชอบสีเขียว ชอบเฝ้าดูและเก็บบันทึกความเป็นไปของโลกผ่านภาพถ่าย