สิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ในโลก K-POP ตอนนี้คือ การที่วง BTS ได้สร้างปรากฏการณ์ในแง่การเป็นวง K-POP ที่สามารถมีแฟนคลับหลากหลายเชื้อชาติ ผ่านบทเพลงที่เข้าถึง เข้าใจ และสร้างพลังงานดีแก่คนฟัง ความเข้าถึงง่ายของศิลปิน สตอรี่ของวงที่ผ่านความยากลำบากทั้งในแง่การแข่งขัน การยอมรับ และการก้าวสู่ระดับโลก
สิ่งที่กล่าวมารวมทำให้ตัววงและแฟนคลับที่มีชื่อเรียกอย่างอาร์มี่ (Army) มีความรักและการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จนสร้างปรากฏการณ์วงการเพลงทั่วโลกทั้งติดชาร์ตใหญ่ๆ อย่าง Billboard Chart, Spotify Chart, ยอดขายอัลบั้ม แต่สิ่งที่น่าใจหายไม่น้อยระหว่างที่พวกเขาทั้งหมดกำลังพีคสุดๆ ในทุกด้านคือ การที่สมาชิกวงต้องทยอยเข้ารับราชการทหารภายในปี 2022-2023 ซึ่งทำให้กิจกรรมของวงต้องยุติไปก่อน

แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นผลงานเดี่ยวของสมาชิกวง ซึ่งยอมรับว่าตัวผู้เขียนชื่นชอบอัลบั้ม Jack In The Box ของ J-Hope เป็นอย่างมาก แต่ผู้เขียนก็รอคอยผลงานของสมาชิกท่านหนึ่งที่มีสไตล์การแรปที่ดุดัน และการสร้างสรรค์ดนตรีที่สร้างความสนใจอย่างมินยุนกิ ที่ด้านหนึ่งเขาคือ Suga BTS แต่อีกด้านเขาคือ Agust D ที่ผู้เขียนได้ฟังอัลบั้มที่แล้วอย่าง D-2 ซึ่งมี Single ที่ปล่อยออกมาอย่าง Daechwita ที่นำเสนอได้อย่างร่วมสมัย ทั้งการใช้ดนตรีพื้นบ้านของเกาหลีผสมแนวทาง Hip-Hop สมัยใหม่ จนเป็นผลงานรสชาติใหม่และมีเอกลักษณ์ชนิดที่ผู้เขียนที่ไม่ได้รู้จักวง BTS ครั้งนั้นถึงกับย้อนมาทำความรู้จักเลย
เกริ่นมาซะเยอะขนาดนี้ ผลงานที่อยากแนะนำ ณ เวลานี้คงไม่พ้นอัลบั้ม D-Day ที่เปรียบเสมือนภาค 3 ของบทบาทในงาน Side Project ของ Suga BTS อย่าง Agust D โดยทั้ง 3 อัลบั้มเปรียบได้เหมือนกับหนังไตรภาคของอีกด้านหนึ่งของศิลปินคนนี้
โดยอัลบั้มแรกอย่าง Agust D ที่เปรียบเสมือนการระบายอารมณ์ แสดงความไม่มั่นใจ ความยากลำบากของการเป็นไอดอล ณ ตอนนั้น รวมไปถึงภาวะซึมเศร้า ณ เวลานั้น ส่วน D-2 เป็นการเล่าเรื่องราวช่วงที่วงกำลังประสบความสำเร็จ เป็นการพูดถึงอดีตและปัจจุบัน ส่วน D-Day เอง ในมุมมองของผู้เขียนเปรียบเสมือนการปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ ก้าวข้ามความรู้สึกเก่าๆ ของตัวเอง

ภาพรวมของ D-Day เลยเป็นการเล่าเรื่องของคนที่เข้าใจโลก เข้าใจความรู้สึกผู้คน และวิพากษ์สังคมอย่างมีชั้นเชิงผ่าน 10 เพลงที่พูดถึงเรื่องราวความรู้สึกตัวเองที่เคยเจ็บปวดมานานแล้ว รวมถึงความรัก ความว่างเปล่า การมองโลกปัจจุบันรวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์สังคม เสรีภาพ โดยมีศิลปินที่ตบเท้ามาร่วม Featuring อย่าง J-Hope, IU, WOOSONG จาง The Rose รวมไปถึง Ryuchi Sakamoto นักดนตรีชาวญี่ปุ่นชื่อดังที่เพิ่งล่วงลับก่อนปล่อยอัลบั้มนี้
มันเลยกลายเป็นผลงานที่ทุกต่างให้ความสนใจอย่างมาก และเป็นอัลบั้มที่กล้าพูดได้เต็มปากต่อให้คุณรู้จักวง BTS หรือไม่ แต่ควรค่าอย่างยิ่งที่จะได้รับฟัง ซึ่งครั้งนี้ผู้เขียนขอพูดถึงเรื่องราวแต่ละเพลงแบบเป็นภาพรวม มากกว่าที่จะเล่าแบบ Track by Track เหมือนทุกครั้ง เพราะบางเพลงมีการตีความแและเป็นเรื่องที่มีความเป็นส่วนตัวกับตัวศิลปินประมาณหนึ่ง ถ้าคนที่เป็นอาร์มี่จะตีความได้ลึกซึ้งมากกว่า ซึ่งถ้าอยากได้อรรถรสของคำแปลแต่ละเพลงแนะนำเว็บไซต์ Candyclover.com ได้เลยครับ เป็นบ้านอาร์มี่ที่แปลแต่ละเพลงได้ดีเยี่ยมเลยครับ และผู้เขียนขอขอบคุณคำแปลของเพลงนี้ทั้งอัลบั้มมา ณ ที่นี่ด้วย และถ้ามีเนื้อหาที่ตกหล่นหรือผิดพลาดประการใดต้องขออภัยล่วงหน้าด้วยนะครับ
พูดซะเยอะขนาดนี้เรามาอ่านรีวิวกันครับ

เปิดมาเพลงแรกคือ D-Day ที่เปรียบเสมือนเพลงที่ให้กำลังใจผู้ฟังว่า วันข้างหน้าต้องดีแน่นอน ขณะเดียวกันก็สอดแทรกปรัชญาประมาณหนึ่งคือ อดีตก็เป็นอดีต ปัจจุบันก็ปัจจุบัน อนาคตก็อนาคต
บางครั้งเราให้ความหมายหรือยึดติดกับอดีตหรืออนาคตมากไป มันก็ย้อนมาทำร้ายตัวเอง สิ่งที่ควรทำคือ อยู่ปัจจุบันและพิสูจน์ตัวเองซะ ประกอบกับบีตที่มีจังหวะจะโคนและอารมณ์พุ่งพล่านเหมาะสมกับการเปิดต่อมรับรสให้คุ้นเคย
ก่อนจะเข้าสู่ Track ที่ 2 อย่าง Haegeum ที่มีความหมายโดยตรงคื อเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของเกาหลี แต่ความหมายโดยนัยคือ การปลดล็อคสิ่งต้องห้ามหรือยกเลิกการแบน มันกลายเป็นเพลง Hip-Hop สมัยใหม่ แต่ยังคงดนตรีพื้นบ้านของเกาหลีไม่ต่างกับเพลงในอัลบั้มที่แล้วอย่าง Daechita มาพร้อมกับเนื้อหาที่พูดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเป็นทาสและการเป็นอิสระต่อระบบที่อยู่ในสังคม การกลั่นกรองข้อมูลที่โลกเรามานี้มันเยอะและไปไวมาไว แต่ก็ยังเตือนสติว่าอิสระภาพกับการทำตามใจตัวเองมันมีเส้นบางๆ อยู่
ที่สำคัญเลย Music Video เพลงนี้ถ่ายทำที่ประเทศไทยด้วย แถมยังมีทีมงานไทยร่วมงานอีก เรียกว่าดูเอ็มวีแล้ว คุณๆ ทั้งหลายต้องอยากกินก๋วยเตี๋ยวน้ำตกแน่นอน
ในเมื่อ 2 เพลงมาเดือดขนาดนี้ เพลงที่ 3 อย่าง Huh?! ก็เดือดไม่แพ้กัน มันได้ศิลปินร่วมวงอย่าง J-Hope มาแจมกับ Diss Track พวกชอบทำตัวว่ารู้เรื่องราวของเขาไปซะหมด (ที่อาจจะไปอ่านจากในอินเทอร์เน็ตซึ่งจริงเท็จหรือไม่ก็ไม่รู้) และพวกและวอนนาบีให้เจ็บลึกถึงทรวงชนิดที่ว่า ขอให้คนไม่ได้เรื่องอย่างคุณไปได้ดีละกัน

ก่อนจะปรับมาอารมณ์เพลงแบบจังหวะกลางๆ อย่าง Amydala ที่นัยหนึ่งมันเป็นส่วนของสมองที่จดจำและให้ความหมายของแต่ละอารมณ์รวมไปถึงการตอบสนองทางที่เฉพาะเจาะจง รวมไปถึงมีบทบาทให้การตอบสนองแบบสู้หรือหนี (Fight or Flight Response) ในสถานการณ์เลวร้ายเพื่อเป็นกลไกในการเอาชีวิตรอด อีกนัยหนึ่งมันก็สามารถจดจำเหตุการณ์นี้เพื่อการป้องกันตัวได้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในเขียนเพลงนี้ในแง่การขุดไปถึงอดีตที่เจ็บปวดตัว Suga ที่ต้องเจอผ่านการผ่าตัดหัวใจของคุณแม่ อุบัติเหตุรถชนที่ตนเองเจอในช่วงก่อนเดบิวต์ รวมไปถึงการที่คุณพ่อเป็นมะเร็ง มันเหมือนการตั้งคำถามตอนนั้นตัวเองตัดสินถูกหรือไม่ อีกแง่มันคือการวิงวอนให้สมองส่วน Amydala ช่วยเอาเรื่องราวนี้ออกจากหัวเสียที เป็นเพลงที่ผู้เขียนชื่นชอบทั้งภาคดนตรีที่มีทั้งความเร่งเร้าและเคว้งคว้างรวมไปถึงการผลัดเปลี่ยนที่คาดเดาไม่ได้ เชื่อว่าคนที่ฟังต้องชอบเพลงนี้พอสมควร
หลังจากเจอแต่เพลงดาร์กๆ มา ก็มาเพลงที่เป็นเหมือนเพลงตัดเลี่ยนอย่าง SDL ที่ผู้เขียนคิดว่าต้องแยกมาเจอคำว่า Somebody Does Love เป็นเพลงที่ปนไปความรัก มันมีการพูดถึงว่าการที่จดจำ นึกถึง อยู่เพื่อใครมันก็เป็นเพราะความรักหรือไม่ แต่ขณะรักก็เหมือนแสงแดดในฤดูใบไม้ผลิแต่จู่ ๆ ก็ถูกซัดโถมด้วยคลื่นลมแรงในทะเลฤดูหนาวโดยไม่รู้ตัว เลยเป็นเพลงรักที่ปนรสขมปลายลิ้นไปกับดนตรี Pop ฟังง่ายแทรกท่อนแรปที่ฟังได้เรื่อยๆ
ก่อนจะส่งต่อไปที่ People Pt.2 ที่ได้นักร้องเสียงดีอย่าง IU มาร่วม Featuring ในเนื้อหาของความรักกับความว่างเปล่า การสูญเสียคนที่รัก การต่อสู้กับความอ้างว้าง รวมไปถึงการตั้งคำถามว่าตัวเองควรที่จะได้รับความรักหรือเปล่า ซึ่งก็มีข้อความเชิงปลอบใจในท้ายที่สุดว่าคุณเองก็มีค่าพอที่จะได้รับความรักอยู่แล้ว มาพร้อมกับดนตรีที่ฟังสบายเหมือนเป็นการตัดเลี่ยนให้ไม่ขมเกินไป
และเข้าสู่แทร็กที่มีความหนักแน่นในด้านอารมณ์และเนื้อหาอย่าง Polar Night ที่เหมือนการตั้งคำถามต่อมุมมองทางการเมืองทั้งฝั่งซ้ายและขวา ขาวและดำ การเสียดสีและการมองโลกและตัดสินในด้านทัศนคติต่อสังคมอย่างเป็นธรรมหรือไม่ เป็นอีกเพลงที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมดุเดือดพอกับเพลงอย่าง Haugeum

และมาถึงเพลงที่หลาย ๆ คนจับตามองอย่าง Snooze ที่มี Interlude ก่อนเข้าเพลงอย่าง Dawn ความน่าสนใจคือการได้น้กร้องที่มา Featuring อย่าง WOOSUNG จากวง The Rose และด้านดนตรีก็ได้อาจารย์ริวอิจิ ซากาโมโตะ มาช่วยด้านดนตรี ซึ่ง Agust D ก็นับถือเขาเป็นไอดอลในการทำเพลงอีกคน
ด้วยการสอดแทรกเนื้อหาปลอบประโลมผู้คนที่มีความฝันและทะเยอทะยานกับเป้าหมาย ที่ไม่ว่าฝันจะยากลำบากแค่ไหน แต่อย่างน้อยขอให้ฉันเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญ เรียกได้ว่าเป็นเพลงที่สามารถปลอบประโลมจิตใจหลายๆ คนได้อย่างดี
และแทร็กสุดท้ายก็มาถึงอย่าง Life Goes On เป็นเพลงฟังสบายที่เนื้อหาของมันคือ ต่อให้เราจะอุปสรรคลำบากเพียงใด วันข้างหน้าเราอาจจะลาหรือกลายเป็นคนแปลกหน้ากันไป แม้รสชาติชีวิตจะขมแค่ไหน แต่สุดท้ายชีวิตมันต้องเดินต่อไป เป็นเพลงที่เหมือนการสรุปเรื่องราวอัลบั้มและไตรภาคของ Agust D ได้อย่างลึกซึ้ง
ผู้เขียนกล้าการันตีได้ว่าอัลบั้มนี้เป็นงานที่อยากให้ฟังเป็นอย่างมาก และองค์ประกอบสำคัญไม่อยากให้ทุกคนมองข้ามเลยคือ ความเนี๊ยบของชิ้นงานและการไล่เรียงทั้ง 10 เพลงที่ไดนามิกไหลลื่น แต่ละเพลงมันพื้นฐานของเพลงป๊อปแต่แฝงรายละเอียดที่สร้างสรรค์ มีเนื้อหาที่เป็นเพื่อชีวิตอย่างมาก หลายๆ เพลงมันสอนเราในแง่การปลดปล่อยจากความเจ็บช้ำ การมองโลกที่โตขึ้น
และสิ่งที่สรุปได้ดียิ่งเลยคือคำว่า ชีวิตมันเป็นก็อย่างนี้

มันเลยเป็นงานที่เป็นเหมือนการวิจารณ์สังคม แต่ก็ให้ความรู้สึกที่อยู่ข้างกายคนฟังได้ ยิ่งไปกว่านั้นเว็บไซต์ดนตรีชั้นอย่าง NME เพิ่งรีวิวให้คะแนนถึง 5 ดาว โดยกล่าวไว้ว่า
“ตั้งแต่เขาปล่อยมิกซ์เทปเดบิวต์ภายใต้นามแฝงในปี 2559 งานของชูก้านอกวง BTS มักเชื่อมโยงกับความโกรธ แม้ว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัลบั้ม ‘D-2’ ในปี 2020 จะมีอะไรมากกว่านั้นเสมอ แต่แกนหลักของ ‘D-DAY’ คือแนวคิดเรื่องการปลดปล่อย และอัลบั้มนี้พบว่าส่วนใหญ่เขาก้าวข้ามจากอารมณ์เก่า ๆ ที่มีหนามกั้นเหล่านั้น ปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระและก้าวเข้าสู่บทบาทของนักวิจารณ์สังคมที่ชาญฉลาดและ – ในบางครั้ง – ก็เป็นผู้ปกป้อง”
NME
อีกส่วนสำคัญที่เป็นการขยายความให้กับอัลบั้มนี้ก็คือ สารคดี Suga: Road to D-Day ที่มีให้รับชมผ่านทาง Disney+ ก็ยิ่งสร้างอรรถรสในการฟังอัลบั้มได้อย่างดีมากๆ มันคือสารคดีที่ตามติดช่วงการทำเพลงที่ทำให้เห็นถึงเบื้องหลังการทำงานอัลบั้ม การได้ท่องเที่ยว ใช้ชีวิตที่ส่วนต้วรวมไปถึงการได้เจอคนเบื้องหลังที่มีชื่อเสียงอย่าง Steve Aoki, Halsey และอาจารย์ริวอิจิ ประกอบกับ Live Performance เพื่อบ่งบอกความรู้สึกเป็นระยะๆ
นอกจากอาร์มี่ที่ต้องดูแล้วนั้น คนที่สนใจทำเพลงก็ควรค่าแก่การรับชมอย่างมากชนิดที่ว่าดูจบแล้วคุณอาจมีแรงบันดาลใจการทำงานแน่นอน
ท้ายที่สุดการที่ผู้เขียนได้สำรวจอัลบั้มนี้ และเรื่องราวของ Suga และวง BTS นั้น ผู้เขียนไม่แปลกใจว่าทำไมวงถึงได้มีกระแสเป็นระดับโลก เพราะด้วยปูมหลังของสมาชิกแต่ละคนและวงเจอนั้นมีทั้งการไต่เต้าความฝันที่ไม่ได้สวยหรู การโดยเรื่องแย่ๆ ที่หนักหนามากในระดับชนิดที่วงไอดอลไม่สมควรที่ได้เจออะไรแบบนั้น
แต่สิ่งที่เขาหยิบยื่นให้แฟนเพลงมาตลอดคือ เนื้อหาเพลงที่เหมือนเป็นเพื่อนข้างกายของคนฟัง มีเนื้อหาที่ประโลมจิตใจ ให้ความหวังและวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่วัยรุ่นในยุคนี้เจอ ซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างมากที่ทำให้วงสามารถเป็นที่รักของแฟนเพลงอย่างล้นหลาม แม้กระทั่งการมีช่องทางที่สามารถคุยกับแฟนคลับได้อย่างเป็นกันเอง รวมไปถึงการวางตัวที่เป็นมิตรราวกับเพื่อนพี่น้องที่รู้จักกันมานาน ก็ย่อมทำให้วงประสบความสำเร็จทุกวันนี้

อีกสิ่งที่พูดได้อย่างเต็มเลยคือตัวผู้เขียนก็เป็นแฟนคลับหลายๆ วงของฝั่งเกาหลี บางครั้งเราก็รู้สึกไม่โอเคเหมือนกันในการที่ศิลปินเจอ Fake News การแซะ การเสียดสีไปมาภายใต้สิ่งที่เรียกว่าความชอบและความดีงาม ที่วงนั้นมีดีกว่าวงนี้หรือวงนี้เก่งกว่าวงนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วในงานศิลปะทั้งหลายมันเป็นเรื่องรสนิยมล้วนๆ วงที่คุณชอบอาจไม่ใช่วงที่อีกคนชอบ
เราเชื่อว่าศิลปินทุกวงย่อมต้องการที่จะผลิตผลงานออกมาเพื่อตอบสนองแฟนคลับและเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรม K-POP ให้ได้ดีที่สุด และมันจะดีกว่าหรือไม่ถ้าสิ่งที่ศิลปินควรได้รับคือ ความรักจากแฟนคลับมากกว่าคำเสียดสีหรือสิ่งรบกวนจิตใจ
ก็ได้แต่หวังว่างานรีวิวชิ้นนี้จะสามารถทลายกำแพงในใจลง และสามารถทำให้ใครสักคนเปิดใจรับฟังอัลบั้มนี้ ต่อให้คุณจะไม่ได้รู้จักวงหรือตัวศิลปิน แต่ผู้เขียนกล้าการันตีได้ว่านี่คืออีกอัลบั้มที่ปราณีตและควรค่าแก่พูดถึงเป็นอย่างยิ่งครับ
Contributors
Contributors
พนักงานออฟฟิศที่ชอบเข้างานเลทแต่เลิกงานตรงเวลา หลงรักเสียงดนตรีแสงสี งานภาพยนตร์มากกว่าบัญชีรายรับรายจ่าย เป็นคนสู้งานแต่งานสู้กลับจนบ่นปวดหลังในทุกๆ วัน