จากข้อมูลของวารสารการแพทย์ Lancet Child & Adolescent Health ช่วงอายุ 10-24 ปี คือช่วงเวลาวัยรุ่น ซึ่งถ้าอิงตามการผลิตซ้ำของสื่อ ภาพจำของวัยรุ่นที่เราคุ้นเคยคือ ซน ซ่า แซ่บ สนุกสนานกับการใช้ชีวิตในวัยที่สดใสที่สุดทั้งในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
แต่กับใบเตย-อิรวดี ถาวรบุตร เธอใช้เวลาช่วงวัยรุ่นไปกับการช่วยเหลือสังคม
ช่วงชีวิตในวัยทำบัตรประชาชน ใบเตยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทำสตาร์ทอัพชื่อ Sandee for Good ที่ว่าด้วยการช่วยเหลือองค์กรสาธารณกุศลและมูลนิธิต่างๆ ได้โดยตรง ซึ่งเป็นการเก็บสำรวจความต้องการที่แท้จริงจากองค์กรต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือตรงจุดและเข้าถึงมูลนิธิได้โดยมีแพลตฟอร์มซึ่งอำนวยความสะดวกและเป็นสื่อกลางที่ซื่อสัตย์เป็นธรรม
Sandee for Good ประสบความสำเร็จทั้งในเชิงจำนวนผู้ใช้งานและการมีตัวตน ในระดับที่เคยไปร่วมแข่งขันในรายการเรียลลิตี้ระดับประเทศ และตัวใบเตยเองก็เป็นที่รู้จักนับแต่นั้น หลังจากนั้นใบเตยและเพื่อนๆ จึงต่อยอดเป็น GooGift ที่มีสเกลที่ใหญ่กว่าเดิม และให้ความช่วยเหลือไปไกลกว่าเดิม
นั่นคือความพยายามในการช่วยเหลือสังคมผ่านการประกอบกิจการสตาร์ทอัพ ซึ่งในแง่มุมส่วนตัวแล้ว ใบเตยเคยลงมือช่วยเหลือผู้คนจริงๆ ผ่านการประดิษฐ์และผลิต Low-Cost Ventilatior หรือเครื่องช่วยหายใจต้นทุนต่ำ ที่ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลจริงๆ ผ่านการพัฒนาร่วมกับอาจารย์และวิศวกรด้วยเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น
ใบเตยให้เกียรติแวะมาคุยกับเราที่ออฟฟิศ Rhythm ก่อนที่เธอจะบินกลับไปเรียนต่อที่ Stanford University สหรัฐอเมริกา เธอบอกเราว่า ถึงแม้เธอจะได้เรียนวิศวกรรมศาสตร์สมใจ แต่ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจระหว่าง Computer Science และ Electrical Engineering ซึ่งทั้งหมดใบเตยอยากนำความรู้ที่เธอกำลังเรียนอยู่ และกำลังจะได้เรียนมาพัฒนาสังคมและประเทศให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น
จึงกลายเป็นการสรุป 15 เรื่องราวตั้งแต่วันแรกที่ลงมือช่วยเหลือสังคมผ่านแรงของตัวเอง สู่การศึกษาขวนขวายเพิ่มเติม เพื่อนำความรู้ทั้งหมดกลับมาทำให้สังคมดีขึ้น
ที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อสังคมจริงๆ
1
สิ่งประกอบสร้าง
จริงๆ แล้วหนูก็กิน เที่ยว เล่นเยอะนะ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญ ก็คือ คุณพ่อคุณแม่จะไม่บังคับให้ต้องไปเรียนหนังสือ ต้องไปเรียนพิเศษ คือหนูไม่เคยเรียนพิเศษจริงๆ จังๆ เลย จะเน้นตั้งแต่เล็กก็คือต้องเล่นกับดินน้ำมัน เล่นกับดินกับทราย แล้วก็เน้นให้ไปเที่ยวเยอะๆ ได้เจอคนเยอะๆ เพราะว่ามันเป็นทักษะชีวิตที่ต้องพัฒนาตั้งแต่เด็ก ได้เจอสิ่งใหม่ๆ ได้เจอสถานที่ใหม่ๆ มันทำให้เราได้เปิดโลก คุณพ่อคุณแม่ก็เน้นเรื่องการเที่ยว การกินให้มีประโยชน์ค่ะ
อีกอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนคือ การเข้าใจคนอื่น แล้วก็การดูแลคนอื่น หนูมีน้อง 2 คน คุณพ่อคุณแม่ก็จะชอบพาไปช่วยที่มูลนิธิ แล้วก็มันจะทำให้หนูได้เรียนรู้ถึงชีวิตคนอื่น แล้วก็เข้าใจคนอื่นมากขึ้น แต่ว่าหนูคิดว่าที่สำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่อยากให้หนูสนุกในการเรียนรู้ ไม่บังคับให้ไปโรงเรียนแล้วก็สิ่งนั้นมันก็เลยทำให้หนูเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองจะชอบเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่าที่จะไปต้องนั่งฟังอาจารย์เท่านั้นถึงจะเรียกว่าการเรียนรู้
2
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้?
หนูคิดว่ามันสำคัญมาก เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ในโลกเลย ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับคน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ การแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน เราต้องใช้จินตนาการในการหาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา สมมติว่า วันนี้แอร์เสีย แล้วเราไม่รู้จะซ่อมมันยังไง เราก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าเราต้องไปหาใคร เราไม่รู้จักใครเลยอย่างนี้ก็จะต้องใช้เหมือนความยืดหยุ่นในสมองในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ใช่ไหมคะ หนูก็คิดว่าจินตนาการมันสำคัญในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิต แล้วก็สำคัญมากๆ ในการแก้ปัญหาสังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับชุมชน สังคม ต้องใช้วิธีคิดใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาพี่อาจจะมีอยู่ดั้งเดิมอยู่แล้ว ถ้าเราใช้วิธีเดิมในการแก้ปัญหาเดิมๆ เราอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่เราต้องการก็ได้
3
แรงบันดาลใจจากการช่วยงานพี่ๆ ที่มูลนิธิ
ตอนที่หนูเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่พาหนูไปช่วยที่มูลนิธิใช่ไหมคะ ทำให้หนูได้คุยกับน้องๆ อย่างที่ใกล้บ้านหนูก็จะเป็นมูลนิธิพิทักษ์เด็กที่ภูเก็ต แล้วก็ได้คุยกับพี่ๆ ที่เขาดูแลมูลนิธิ มันทำให้หนูได้รู้ว่าชีวิตเขาเป็นยังไง เขามีปัญหาอะไรในการดูแลมูลนิธิ พอหนูได้ซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนโตก็เลยรู้สึกว่ามีความผูกพันกับชุมชน แล้วก็ได้ความสุขจากการเข้าไปคุย แล้วก็เข้าไปช่วย
พอโตขึ้นก็เหมือนได้เรียนรู้เรื่องการแบบทำ Web-App เว็บไซต์ แล้วก็เห็นว่ามันมี Marketplace ที่เราสามารถซื้อของออนไลน์แล้วก็เอาไปส่งถึงบ้านเราได้ใช่ไหมคะ หนูก็เลยคิดว่าถ้าเราเชื่อมเทคโนโลยีกับปัญหาที่มูลนิธิ มันก็อาจจะทำให้ชีวิตของพี่ๆ ที่หนูรู้จักดีขึ้น หนูก็ได้ไปคุยกับพี่ๆ ที่มูลนิธิ ก็เลยรู้สึกว่าได้ไอเดียขึ้นมาเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม ก็เคยสร้างแพลตฟอร์ม Sandee for Good ขึ้นมา ที่จะเป็นศูนย์รวม Wishlist ของมูลนิธิ แล้วก็เป็นศูนย์รวมที่ผู้บริจาคสามารถเข้ามาเพื่อมาดูว่าแต่ละมูลนิธิต้องการอะไร แล้วซื้อของจากแพลตฟอร์มของเราได้เลย
ก็คือสรุปแล้ว หนูเริ่มจากการที่ได้เห็นปัญหามากกว่า ไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องทำธุรกิจเพื่อสังคม แล้วก็พยายามหาไอเดียด้วยการเริ่มจากการคุยกับพี่ๆ ที่มูลนิธิที่เขาทำงานจริงๆ ว่าเขาเจออะไรบ้าง ประสบปัญหาอะไรในชีวิต แล้วก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมา เพราะว่าเหมือนได้เชื่อมกับเทคโนโลยีที่เรามีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน
4
The Real Wish List
ก่อนที่หนูจะสร้าง Sandee for Good ก็เจอ Pain Point ที่เจอในเกือบจะทุกมูลนิธิที่อยู่ในที่ห่างไกลคือ เขาไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับผู้บริจาคว่าเขาต้องการอะไร แล้วบางทีสิ่งที่ผู้บริจาคส่งมาไม่ตอบสนองกับความต้องการของเขา เพราะว่าไม่มีวิธีสื่อสารตรงนี้
อีก Pain Point นึงคือ มูลนิธิที่อยู่ที่ห่างไกล จะได้รับของน้อยกว่ามูลนิธิในเมือง เพราะว่าโดยปกติแล้วคนต้องเหมือนขับรถไปเองเพื่อที่จะไปบริจาค หนูก็เลยสร้าง Sandee for Good เพื่อจะแก้ไขสองปัญหานี้ โดยการใช้ Wish List ในแพลตฟอร์มให้มูลนิธิสามารถบอกได้เลยว่าเขาต้องการอะไร แล้วก็อันที่สองก็คือตัวแพลตฟอร์ม ก็มี Marketplace ให้คนสามารถซื้อของแล้วก็ส่งของตรงไปให้มูลนิธิได้เลยโดยที่ไม่ต้องไปบริจาคเอง อันนี้เกิดจากการได้พูดคุยกับหลายๆ มูลนิธิรวมกัน
ส่วนของจุดร่วมของตัวหนูกับพี่ที่ทำงานให้มูลนิธิเนี่ย หนูคิดว่าจุดร่วมคือสุดท้ายแล้ว พี่ๆ ทุกคนนอยากที่จะช่วยให้สังคมไม่ว่าจะชุมชนไหนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วเราก็พยายามที่จะหาทางแก้ให้กับพี่ๆ ที่ทำงานให้มูลนิธิให้เขาได้ช่วยสังคมที่เขาอยู่ได้รวดเร็วขึ้น แล้วก็ไร้อุปสรรคมากขึ้นฃ
5
เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (และออกทีวีด้วย)
ตอนนั้นหนูก็เพิ่งเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมอันแรก แล้วก็ไม่รู้ ไม่รู้วิธีการสร้างอะไรมากค่ะ ก็คือไปแบบไม่มีทฤษฎี แต่ว่าก็ได้เป็น หนูคิดว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรค แต่ว่ามันก็เหมือนเป็นเป็นการเรียนรู้ที่นี่เยอะมากสำหรับเด็ก 15 ปีคนนึง
หนูได้เข้าไปในการแข่งขันชื่อ Win-Win War สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน (2018-) เป็นการแข่งขันธุรกิจเพื่อสังคม ตอนนั้นก็ได้ที่ 2 มาค่ะ ซึ่งระหว่างการแข่งขันนี้ก็ได้เจอเมนเทอร์ ได้เจอกับพี่ๆ คนอื่นที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม อันนี้ก็เหมือนเป็นแบบการเรียนรู้ที่แบบค่อนข้างที่จะเห็น Learning Curve ค่อนข้างที่จะใหญ่ เพราะว่าตอนนั้นก็ไม่รู้อะไรเลยว่าเราต้องรันธุรกิจยังไง แล้วก็เราต้องไปคุยกับพาร์ทเนอร์ คุยกับมูลนิธิยังไง คือทุกอย่างใหม่หมดแล้วก็มีเรื่องของการดีไซน์แพลตฟอร์มด้วยว่าต้องดีไซน์ออกมาให้มันเป็นยังไง ต้องมีฟังก์ชันอะไรบ้าง ทุกอย่างมันเริ่มจาก 0 หมด
หนูว่าความยากคือต้องทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์ หรือว่าการออกไปคุยกับมูลนิธิ หรือออกไปคุยกับผู้ใหญ่ เมนเทอร์ที่หนูได้เจอในช่วงเวลานั้นน่ะค่ะ ก็เหมือนเป็นเหมือนประสบการณ์ใหม่ในทุกทุกด้านเลย ในส่วนตัวหนูก็รู้สึกว่ามันเข้ามาในทีเดียวแล้วก็ค่อนข้างที่จะเยอะแต่ว่าเป็นประสบการณ์ที่สำคัญมากๆ ในชีวิตของหนู
6
ความสำเร็จแบบไม่ได้ตั้งรับ
จริงๆ แล้วหนูเริ่มโดยที่อยากที่จะช่วยมูลนิธิที่หนูรู้จัก แล้วก็อยากให้ชีวิตของพี่ๆ ที่ทำงานในมูลนิธิ แล้วก็ชีวิตของเด็กๆ รวมถึงก็ชุมชนที่มูลนิธิช่วยดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยใช่ไหมคะ สำหรับสำหรับเป้าหมาย หนูก็คิดว่ามันบรรลุแล้วในส่วนหนึ่ง เพราะว่าก็เห็นว่ามีพี่ๆ และก็มีมูลนิธิที่ได้รับของจากที่ห่างไกล อันนั้นหนูก็แฮปปี้ที่สุดแล้วจริงๆ อย่างอื่นก็เป็นสิ่งที่ตามมาโดยที่หนูไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ว่าก็รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จในวัย 15 ที่เริ่มจากอยากช่วยมูลนิธิเดียว แต่ว่าก็รู้ว่ามันมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะแล้วก็ต้องพัฒนาแพลตฟอร์ม แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปอีกเยอะเหมือนกันค่ะ แต่หนูก็มีความสุขที่สามารถช่วยคนกลุ่มเล็กๆ ได้
หนูไม่ได้พยายามตั้งรับอะไร แต่พยายามบริหารเวลาให้ดี เพราะตอนนั้นก็เป็นช่วงสอบด้วย แล้วก็เป็นช่วงที่คือหนูก็ยังเรียนอยู่ เลยด้วยความที่หลายๆ อย่างเข้ามาพร้อมกัน หนูก็ได้เรียนรู้ทักษะในการบริหารเวลา อย่างหนูเรียนอยู่ที่ภูเก็ต แล้วต้องบินมากรุงเทพฯ เพื่อที่จะมาเจอผู้ใหญ่ มาเจอมูลนิธิอทุกอาทิตย์เลย เราก็ต้องกลับไปใหม่เพื่อที่จะไปสอบที่โรงเรียน มีการบ้าน มีสอบค่ะ สิ่งที่หนูได้เรียนรู้ก็คือทักษะการบริหารเวลา ตั้งรับด้วยการบริหารเวลา ก็ต้องแบบมีประสิทธิภาพในการใช้เวลา แต่ว่าไม่ใช่บอกว่าไม่ได้พักเลยนะคะ ต้องมีแบบเวลาในการพักบ้าง ไม่ให้ตัวเองเครียดเกินไปด้วยค่ะ
7
Goo ให้ Gift
GooGift เป็นเหมือนการต่อยอดจากความคิดที่ Sandee for Good มี ที่จะให้ให้ในสิ่งที่คนอื่นอยากได้ใช่ไหมคะ ก็เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างสังคมของการให้ที่ใหญ่กว่าแค่ในมุมมองของมูลนิธิ เป็นการให้ในสิ่งที่คนอื่นอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของเรา จะเป็นพ่อแม่พี่น้องของเรา เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวม Gifting Culture เข้าไปด้วยกัน มันจะเป็นการให้ แต่เป็นการให้ที่ใหญ่กว่าและก็ครอบคลุมมากกว่า อันนี้ก็เป็น Vision ที่ทางผู้ใหญ่ในรายการ Win-Win War ได้เห็นตัว Sandee for Good ก็รู้สึกว่าอยากนำสิ่งนี้ไปต่อยอดด้วย แล้วก็เอาไปสร้างตัว GooGift ขึ้นมาให้ใหญ่ขึ้น
GooGift มันต้องต่างกับเดิมเพราะว่าเป็นการคิดที่แบบใหญ่ขึ้น แล้วก็พยายามเข้าถึงคนที่กว้างขึ้นในสังคม ที่ไม่ใช่แค่ทำเพื่อบริจาคอย่างเดียว แต่ว่าทำเพื่อให้คนอื่นๆ ที่เรารู้จักด้วย มันก็เป็น แพลตฟอร์มที่ใหญ่ขึ้น ต้องมีคนเข้ามาทำมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เนี่ย GooGift สร้างขึ้นตอนที่หนูกำลังไปเรียนมหาลัย ก็จะมีทีม ก็เลยในช่วงรอยต่อระหว่างที่หนูทำ Sandee กับไปเรียน ก็มีทีมที่เข้ามาทำ GooGift แทนหนูด้วย ก็เลยทีมนี้ก็เป็นทีมที่ใหญ่กว่า
จริงๆ แล้วเนี่ย GooGift เนี่ย หนูไม่ใช่คนหลักในการรันแล้ว เพราะว่ามีผู้ใหญ่และคนที่สนใจจะนำตัวไอเดียนี้ไปต่อยอดเพิ่มเติม หนูก็แบบหนูก็เลยไม่ได้ปรับตัวอะไรขนาดนั้น เพราะว่าหนูเหมือนสร้างไอเดีย Sande ขึ้นมา แล้วก็เหมือนเผยแพร่แนวคิดให้กับทีมงานที่ GooGift หลังจากนั้นหนูก็เลยไปมหาลัยเพื่อที่จะไปเรียนวิศวะต่อค่ะ แล้วก็หวังว่าจะเอาความรู้กลับมาช่วย GooGift แล้วก็ช่วยประเทศไทยต่อ
8
ต่อลมหายใจ ด้วยเครื่องช่วยหายใจ
ช่วงโควิดที่ผ่านมา จากการที่หนูทำงาน Sandee for Good แล้วก็ได้คุยกับโรงพยาบาลในที่ห่างไกล แล้วเขาก็บอกว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องทางเดินหายใจเยอะมากเลย แต่เขาไม่มีเงินพอที่จะซื้อเครื่องช่วยหายใจ ตอนนั้นเครื่องช่วยหายใจหมดตลาดด้วยซ้ำ ถึงมันจะไม่หมดตลาด เขาก็ไม่มีเงินซื้ออยู่แล้ว สิ่งนี้มันก็ทำให้แบบหนูไปดูว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง ก็ลองไปดูว่าจะเริ่มการบริจาคเครื่องช่วยหายใจไหม แล้วก็เห็นว่าอุปกรณ์การทำเครื่องช่วยหายใจคือหมดตลาดหมด แล้วเราจะทำยังไง
หนูก็รู้สึกว่าถ้าอยู่นิ่งๆ มันก็มีคนเสียชีวิตขึ้นไปเรื่อยๆ ในโรงพยาบาล ก็เลยตัดสินใจว่า ไหนๆ เราก็อยู่บ้านแล้วมีเวลา ก็เลยเริ่มการสร้างเครื่องช่วยหายใจที่บ้านเลย เรียนรู้จากโมเดลของ MIT ของ NASA ที่เขาทำไว้อยู่แล้ว ก็เอามาปรับใช้กับกับวัตถุดิบที่เรามีในบ้าน คือมันจะมีร้านอิเล็กทรอนิกส์ ร้านเหล็กที่ภูเก็ต ก็ลอง Design ขึ้นมาดู แล้วก็คู่ติดต่ออาจารย์ที่กรุงเทพฯ ที่ฉะเชิงเทรา ที่เขาเคยทำเครื่องช่วยหายใจ ก็เลยได้เจอกับอาจารย์บรรพต จันทร์แดง ที่ประมาณ 10 ปีก่อนได้ทำเครื่องช่วยหายใจขึ้นมาแล้ว หนูก็เลยติดต่อไปว่า อาจารย์คะ หนูอยากทำต่อ อยากทำเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาล ก็เลยเรียนรู้จากสิ่งที่อาจารย์ทำแล้วก็เอามาสร้างเครื่องช่วยหายใจตัวนี้ค่ะ
9
เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (อีกครั้ง)
อันนี้ก็เหมือนทำไปด้วยศึกษาไปด้วย ประมาณ 3 เดือนถึงทำเสร็จ มันเริ่มจากอ่านทฤษฎีของการทำตัวเครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นของต่างประเทศหรือว่าของเมืองไทยที่ทำกันอยู่แล้ว แล้วก็พออ่านทฤษฎีเสร็จว่ามันทำยังไง ก็ไปถามหมอว่าอันนี้จริงไหม ใช้จริงต้องต้องกดปุ่มอย่างนี้จริงไหม ไปถามจริงคนที่ใช้จริงว่าทฤษฎีมันตรงกับสิ่งที่เขาทำหรือเปล่า พอคุยกับหมอเสร็จก็ไปคุยกับอาจารย์ คนที่ทำด้านวิศวะมาช่วยดูว่าสิ่งที่หนูดีไซน์มันถูกต้องไหม ทำได้จริงหรือเปล่า อันนั้นก็เป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ที่พยายามเร่งทำทุกอย่าง คุยกับทุกคนให้ได้ แล้วก็หลังจากนั้นก็ประกอบตัวเครื่องช่วยหายใจไปด้วย แล้วก็ติดตั้งพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใส่เซ็นเซอร์อะไรไปด้วย ต้นทุนจริงๆ เลยเนี่ยประมาณหมื่นกว่าบาท ก็เลยค่อนข้างดีใจที่เราสามารถทำอะไรได้ในราคาที่น้อยกว่า แล้วก็เป็นอะไรที่จะช่วยโรงพยาบาลที่เขามีเงินน้อยได้
ต้องขอบคุณทางมหาวิทยาลัยลาดกระบังที่ที่ช่วยอย่างเต็มที่ในการทดสอบให้แน่ใจว่าตัวเครื่องของเราใช้ได้จริงแล้วมันอยู่ได้นานจริงๆเลย เป็นช่วงเวลา Test ประมาณ 6-8 เดือน ให้มันแน่ใจว่าใช้ได้จริงแล้วก็หลังจากนั้นพอเทสเสร็จแล้วก็มีการบริจาคไปให้โรงพยาบาลสนาม ล่าสุดก็คือบริจาคไปให้โรงพยาบาลสนามเรียบร้อยแล้ว
มันเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ที่ไม่รู้ว่าอะไรจะมาแทนที่ได้แล้ว เพราะว่าหนูคิดว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดก็คือชีวิตคน ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือทรัพย์สินอะไรเราก็ไม่สามารถเอาไปได้ แล้วถ้าเราสามารถช่วยชีวิตคนได้ เขาอาจเป็นพ่อ เป็นลูก เป็นหลานของใครสักคน มันก็ทำให้หลายๆ ครอบครัวมีคนที่เขารักอยู่ต่อไปใช่ไหมคะ หนูก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเป็นผลตอบแทนที่ดีที่สุดแล้ว ไม่รู้ว่าจะพูดออกมาในคำพูดยังไง
10
หนูอยากเรียนวิศวะค่ะจารย์
หนูอยากเรียนวิศวะเพราะว่า เห็นว่าการเรียนวิศวะเนี่ยเป็นการเหมือนเรียนพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่มีอยู่แล้วในโลก ถ้าดูจากนวัตกรรมที่คนอื่นๆ สร้างขึ้น ก็เห็นว่าเขาเขาเริ่มหลายๆ อย่างที่มันใหม่จากความรู้ความรู้ทางวิศวะ ทางฟิสิกส์ ทางเลข ทางวิทยาศาสตร์ หนูรู้สึกว่าโลกของเราแบบมีปัญหาอะไรหลายๆ อย่างที่หนูอยากกลับมาแก้ แต่ว่าถ้าใช้เทคโนโลยีปัจจุบันมันก็อาจจะแก้ไม่ได้มันก็เลย หนูเลยอยากเรียนวิศวะเพื่อเผื่อว่าความรู้ที่เราได้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เราสร้างเทคโนโลยีอะไรใหม่ขึ้นมาแก้ปัญหาเดิมๆ ที่เราเจอ หนูคิดว่าการเรียนวิศวะเป็นเหมือนพื้นฐานที่สำคัญไม่ว่าจะทำอะไรต่อในชีวิต
แต่หนูไม่ได้ตั้งธงว่าต้องเป็นวิศวะ แต่ตั้งธงว่า อะไรที่จะทำให้หนูได้แบบต่อยอดความรู้ไปทำเทคโนโลยีที่มันไม่มีอยู่ในโลกนี้ ก็ถามดูว่าแล้วเทคโนโลยีมันสร้างขึ้นจากพื้นฐานทางด้านเลข ทางด้านวิทยาศาสตร์ แล้วก็มีจินตนาการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็เลยคิดว่าแล้วการเรียนด้านไหนล่ะที่มันจะทำให้หนูได้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ก็เลยกลายเป็นคณะวิศวะ
11
ฝันที่เป็นจริง
การไปเรียนต่อจริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น เพราะว่าหนูก็เคยไปไปเรียนที่เมืองนอกในในช่วงซัมเมอร์ค่ะ แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าชีวิตที่นั่นเป็นยังไง ก็เตรียมตัวไว้อยู่แล้วว่าไปต้องเจอสังคมยังไง ก็เลยคิดว่าถ้าเราต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็ไม่เป็นไร ก็พร้อมที่จะสู้ เพราะว่าคิดว่ามันไม่ใช่อุปสรรค สำคัญที่สุดคือเราไปเพื่อไปเอาความรู้ไปเอาทักษะต่างๆ ในการใช้ชีวิต ก็เลยไม่คิดว่าเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น เพราะว่าเรื่องที่ใหญ่กว่ามันมีอยู่ ก็คือไปเรียนแล้วก็เอาความรู้นั้นเอามาใช้
ตอนนี้เรื่องเลือกอยู่ระหว่าง Electrical Engineering กับ Computer Science ก็ลองวิชาเรียนของทั้งสองแล้วก็ดูว่าตัวเองจะชอบอะไรมากที่สุด ถ้าถามตอนนี้เอาจริงๆ ก็ยังตอบไม่ได้ รู้แค่ว่าตัวเองชอบทำสร้างอะไรใหม่ๆ ชอบประดิษฐ์ ชอบคิดนู่นนี่นั่น ทั้ง 2 อันมันก็สนองเป้าหมายด้านนั้น แต่หนูก็คิดว่า มันก็อยู่ที่หนูแล้วว่าชอบด้านฮาร์ดแวร์ การใช้มือลงไปทำ ซึ่งเป็นวิศวะอิเล็กทรอนิกส์ หรือว่าชอบซอฟต์แวร์มากกว่าซึ่งเป็นวิศวะคอม ก็เดี๋ยวต้องลองดูค่ะ
12
เพื่อนดี อาจารย์ดี ทุกอย่างดี
เรื่องหนึ่งที่ชอบมากๆ เลยคือเพื่อนๆ ดีมาก ต้องขอบคุณเพื่อนๆถ้าเราไม่มีเพื่อนๆที่ดี เวลาเราเรียนแล้วไม่มีใครที่อยู่กับเราไปด้วยกันในช่วงเวลาของความยากลำบาก ต้องขอบคุณเพื่อน แล้วก็ขอบคุณอาจารย์ซึ่งอาจารย์ท่านหนึ่งที่ใบเตยนับถือแล้วก็เคารพมากๆ คืออาจารย์ John L. Hennessy เขาเป็นอดีต President ของ Stanford และเป็นประธานของ Alphabet ซึ่งอาจารย์คนนี้เขาเป็นอาจารย์ของ Dr.Sergey Brin กับ Larry Page ที่เป็น Co-Founder ของ Google ด้วย เขาเป็นอาจารย์ตั้งแต่สองคนนั้นอยู่เรียนอยู่ตอน Ph.D ก็เป็นคนแรกเลยที่เห็นไอเดียของ Google แล้วก็คิดว่ามันน่าจะเปลี่ยนโลกได้
หนูได้มีโอกาสในการเรียนคลาสของอาจารย์คนนี้ก่อนที่เขาจะใกล้จะเลิกไม่สอนแล้ว ซึ่งหนูได้เรียนคลาสที่เล็กมากที่เขาต้องคัดเลือกเด็กเข้าไป ก็มีเด็กประมาณ 15 คนเรียนแล้วก็ได้คุยกับอาจารย์คนนี้ สิ่งที่สำคัญที่เขาได้สอนหนูแม้ว่ามันเป็นคลาสเกี่ยวกับประวัติศาสตร์-ทฤษฎีของคอมพิวเตอร์ใช่ไหมคะ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่หนูได้เรียนรู้จากเขาก็คือ การเป็นผู้นำในสังคมแล้วก็การอยู่กับสังคมสมัยนี้ ตอนที่เรียนเสร็จเนี่ยเขาก็จะให้เรามานั่งด้วยกันเป็นกลุ่ม ใครอยากมานั่งคุยเล่นก็ได้หนูก็ไปไปตลอดเพราะว่าอยากฟังเขาพูด แล้วเขาก็พูดถึงว่าทำไมการศึกษาถึงสำคัญมาก แล้วการศึกษาเนี่ยมันมีความหมายยังไงกับเขา แล้วก็คนที่เป็นผู้นำในอนาคตเนี่ยต้องเป็นคนยังไง
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขาบอกหนูคือ ผู้นำในอนาคตต้องเป็นต้องเป็นคนที่สามารถเข้ากับทุกคนได้ เป็นคนที่คิดถึงสังคมเป็นหลัก แล้วก็เป็นคนที่ดีกับทุกคน แล้วเขาก็บอกว่าสิ่งพวกนี้นี้เนี่ยไม่สามารถว่างขึ้นมาได้ตอนโตแต่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็ก เพราะฉะนั้นเขาเนี่ยก็เลยเป็นอาจารย์มาตลอดชีวิตเพราะเขาอยากสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา เขาอยากสร้างผู้นำที่ไม่ใช่แค่ผู้นำด้านเทคโนโลยี แต่เขาอยากสร้างผู้นำที่ดีให้โลกของเรา เขาก็เขาก็ได้พูดเรื่องนี้มาแล้วหนูก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ในโลกของเรา เพราะว่าคนเก่งคนเก่งเยอะ แต่เราต้องการคนเก่งที่คิดถึงสังคม แล้วก็คนเก่งที่ต้องการจะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมด้วย เพื่อให้โลกเราไปในทางที่ดี
13
สิ่งแวดล้อมในการศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญ
การที่เราอยู่ในสังคมอย่างนั้น หนูได้เรียนรู้หลายๆอย่างจากเพื่อนๆ และก็อาจารย์ สิ่งหนึ่งที่หนูสามารถสัมผัสได้คือ ทุกคนไปที่นั่นเขาอยากเขาอยากที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือว่าด้านการแพทย์ ด้าน Humanity เช่น เศรษฐศาสตร์ เขาก็ไปเพราะเขามีความฝันความฝันใหญ่ๆ ที่เขาอยากที่จะได้ถึงจุดนั้นใช่ไหมคะ หนูก็เลยคิดว่าการอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างนั้น มันทำให้หนูเห็นว่า มันไม่มีปัญหาอะไร หรือไม่มีมีเป้าหมายอะไรที่เกินเอื้อม เลยคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่หนูเรียนได้เรียนรู้จากที่นั่น ไม่ใช่แค่แบบความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แต่ว่าเป็นชุดความคิดว่า อะไรที่เราคิดเราก็สามารถทำให้มันสำเร็จได้ แล้วก็มันทำให้หนูแบบไม่มีเหมือนกรอบที่มากั้นความคิดตัวเองว่า มันคงทำไม่ได้หรอก หรือว่าอาจจะยากเกินไปนะ ทุกอย่างมันหายไปเลยเพราะมันเหมือนได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนบอกว่าทำได้สิ หนูคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้เรียน
แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ทุกคนอยากที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น มันไม่มีประโยชน์เลยที่จะมาแข่งกัน เพราะว่าสุดท้ายแล้วเนี่ยถ้าทุกคนทำงานร่วมกันจริงๆ มันจะทำให้ทุกอย่างมันไปได้เร็วกว่าถ้าทุกคนช่วยกัน เช่น เห็นเพื่อนทำด้านเทคโนโลยีการแพทย์นะ ลองคุยไหม หรือว่า ฉันรู้จักนักลงทุนคนนี้ ยูทำสตาร์ทอัพอันนี้อยู่ใช่ไหม ก็ไปคุย การที่เรามี Network ในการที่จะมาช่วยกันเนี่ยสำคัญมากๆ แล้วก็หนูคิดว่ามันเป็นผลดีมากกว่าผลเสียที่เราช่วยกันแทนที่จะพยายามแข่งกัน
14
มีเรื่องอีกเยอะที่ยังไม่ได้ทำ
หนูคิดว่าหนูยังทำไม่ครบ มันไม่น่าจะมีจุดที่แบบว่า โอเค หยุด พอ หนูคิดว่า ถ้าหนูมีความสุขกับการทำอย่างนี้ มันก็ยังไปได้เรื่อยๆ
แต่ถ้าถามว่าหนูได้คาดฝันไหมว่าเราจะได้ทำในสิ่งที่เราทำมาแล้วมาจนถึงตอนนี้ ก็ไม่เคยคาดหวังอะไรเลย หนูไม่รู้นะคะ แต่ว่าไม่เคยตั้งธงว่าภายในอายุ 20 จะทำอันนี้ๆๆๆ แต่ว่าพอเหตุการณ์แต่ละอย่างต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ หนูก็ได้รู้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อเราได้รับโอกาส เราต้องพร้อม แล้วก็ไม่กลัวที่จะเสี่ยงกับมัน มันก็จะพาเราไปในที่หรือจุดหมายที่เราที่ไม่คาดฝันมาก่อนว่าเราจะได้เจอ เช่น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคม ถ้าหนูคิดว่าคงทำไม่ได้หรอกตั้งแต่อายุ 15 มันก็ไม่ได้มีอิมแพค หนูก็ไม่ได้เป็นคนที่ได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจจนถึงตอนนี้ ถ้าหนูคิดว่ามันทำไม่ได้ตั้งแต่แรก
แล้วก็อีกอย่างนึงก็คือ การที่ได้มาเรียนในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อการเรียนรู้ขนาดนี้ค่ะ ไม่ได้แบบคิดว่าตัวเองจะต้องทำ ต้องเข้าอันนี้นะ ต้องทำให้ได้นะ แต่ว่าสิ่งที่หนูได้จากการทำ Sandee for Good หรือว่าทำธุรกิจเพื่อสังคมเนี่ยมันก็เหมือนเป็นประสบการณ์ที่ผสมกัน แล้วก็ทำให้หนูพร้อมที่จะเข้ามาเรียนในสถานที่สิ่งแวดล้อมแบบนี้ หนูเลยคิดว่าไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองถึงจุดไหนในตอนอายุเท่าไหร่ แต่ว่าคาดหวังว่าแล้วก็แล้วก็ภูมิใจในตัวเองที่ไม่ยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น
15
การช่วยเหลือคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ
การที่เราสามารถช่วยให้สังคมของเราดีขึ้น มันก็เหมือนช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นเหมือนกัน ไม่ว่าเราจะช่วยเหลือชุมชนเล็กหรือชุมชนใหญ่ในแบบภาพใหญ่ แล้วถ้าแต่ละชุมชนเล็กๆพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็จะส่งผลดีให้กับชุมชนใหญ่ แล้วก็ชุมชนของโลกเรา
หนูคิดว่าการช่วยเหลือของคนแต่ละคนในพื้นที่ที่เราสามารถทำได้ มันสำคัญมากๆ เพราะว่าความช่วยเหลือเล็กๆ มันจะรวมรวมกันเป็นก้าวใหญ่ๆ แล้วก็ช่วยให้เราทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็เหมือนสร้างพื้นที่ดีๆ สร้างสังคมที่ดีๆ ไว้ให้กับลูกหลานแล้วก็คนรุ่นต่อๆ ไป เพราะเราก็รู้ว่าเขาต้องมาอยู่ในโลกใบนี้ด้วยเหมือนกัน ถ้าเราทำให้สังคมดีขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็จะเหมือนปูพื้นฐานให้คนอื่นเนี่ยที่มาหลังเราได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
Contributors
นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด