เมื่อพูดถึงดิสนีย์ (Disney) ภาพจำของค่ายนี้ มักหวนให้นึกถึงการ์ตูนเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากความทรงจำในวัยเด็ก อย่างผู้เขียนในตอนนี้เองก็กำลังนึกถึง เอลซ่า จาก Frozen, จัสมิน จาก Aladdin และหุ่นกระบอกไม้จมูกยาวอย่าง Pinocchio 

            เท้าความย้อนวัยไปไกล เพราะวันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับแขกสุดพิเศษมากความสามารถ เขาคนนี้เป็นอนิเมเตอร์คนไทยที่พัฒนาฝีมือไปได้ไกลถึงต่างประเทศ

            อาร์ตี้-จาตุรนต์ เจตน์วิริยานนท์ อนิเมเตอร์คนไทยหนึ่งเดียวท่ามกลางอนิเมเตอร์ระดับเทพในออฟฟิศ MPC Film (Moving Picture Company) สตูดิโอที่สร้างสรรค์ผลงานสุดอลังการ ให้กับค่ายบันเทิงระดับโลกอย่างดิสนีย์

            เรื่องราวการเดินทางของหนุ่มผู้ชื่นชอบการ์ตูนของดิสนีย์เป็นชีวิตจิตใจ และไม่เคยทิ้งความฝันในการเป็นอนิเมเตอร์ ปรอทความกล้าและความมุ่งมั่นที่พุ่งกระฉูด ทำให้อาร์ตี้กล้าเบนเข็มชีวิตของตัวเอง จากการเป็นนักเรียนฟิล์ม ไปสู่จุดการตั้งตัวในวงการอนิเมชันแบบนับหนึ่งด้วยการเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง

            Rhythm เลยอยากเปิดม่านเบื้องหลังความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจของไทยอนิเมเตอร์ ผู้เริ่มต้นทุกอย่างด้วยตัวเองจากต้นทุนความรู้อันน้อยนิด ว่าระหว่างเส้นทางที่เดินต้องพบเจออะไรบ้าง และเส้นทางเหล่านั้นได้ฝากอะไรไว้กับเขาจนถึงทุกวันนี้

Exposition – จุดเริ่มต้นชีวิต

ความฝันในวัยเด็ก 

            ตอนเด็กๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร ถ้าครูถามว่าอยากเป็นอะไร เราก็จะบอกว่าอยากเป็นนักธุรกิจ ทางบ้านผมทำงานเกี่ยวกับงานกราฟิกอนิเมชันอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยที่มีอนิเมชันได้เข้าไปฉายในช่อง ITU ซึ่งสมัยก่อนที่บ้านก็จะชอบเปิดอนิเมชันอย่าง Toy Story หรือ Tarzan ที่เป็นผลงานของ Disney ให้ดูอยู่ตลอด ผมเลยซึมซับจากตรงนี้มาตลอด พอผมดูผมก็อินกับเนื้องเรื่อง มันเลยเป็นความที่อยากทำพวกอนิเมชันมาตั้งแต่เด็กแล้ว แล้วผมก็เชื่อว่าหลายคนที่เข้ามาในวงการสายอนิเมชันมักเกิดจากการได้ดูอนิเมชันของ Disney ไม่ก็ Dreamwork มาเรื่อยๆ จนทำให้รู้สึกอยากทำบ้าง ทำให้รู้สึกอยากเข้าไปทำร่วมกันกับ Disney ด้วย 

            การ์ตูนเรื่องโปรดของผมจะเป็นแนวของ Dreamworks อย่าง How to Train Your Dragon ผมรู้สึกว่างานภาพมันสวยและดึงดูดมาก แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนังมันเป็นภาพ 3D มีภาพ Visual ที่สวยมากขึ้นด้วย ผมเลยชอบกระบวนการ Production ทั้งหมด ที่ได้ใช้จินตนาการในการออกแบบว่า เราจะต้องดีไซน์ท่าทางของตัวละครออกมายังไง เพราะคาแรกเตอร์ของตัวละครแต่ละตัวก็จะไม่เหมือนกัน สมมติมีเหตุการณ์ให้ดีใจ ตัวละครแต่ละตัวก็จะแสดงออกมาไม่เหมือนกัน ตรงนี้มันน่าสนใจสำหรับผม ผมเลยอยากและเลือกมาเป็นอนิเมเตอร์

เมื่อต้องเลือกเส้นทางชีวิต

            สมัยเรียน ผมเรียนลาดกระบังในสายภาพยนตร์ซึ่งไม่เกี่ยวกับสายอนิเมชันเลย แต่ผมชอบอนิเมชันเลยมาศึกษาเอง อย่างตอนที่เราไปเรียนภาพยนตร์ เราได้รู้เกี่ยวกับ Production ของการถ่ายหนัง มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แนวทางของผมขนาดนั้น เพราะตอนนั้นผมเป็นตากล้องแล้วก็ตัดต่อด้วย และได้ทำเป็นทีม Post Production แต่ผมรู้สึกว่ามันเหนื่อย การออกกองไม่ตอบโจทย์สักเท่าไร ลึกๆ มันรู้สึกอยากทำอนิเมชันมากกว่า

            พอถึงช่วงปี 3 ผมเลยเลือกไปฝึกงานกับบริษัทอนิเมชัน จนผมเริ่มรู้สึกมั่นใจว่านี่มันเป็นทางของเราแล้ว ย้อนกลับไปตอนที่เลือกคณะเรียน ผมเลือก 2 อย่างอยู่ในใจว่าจะไปทางภาพยนตร์หรือทางอนิเมชันดี ซึ่งช่วงนั้นไม่ได้มีเปิดสอนเกี่ยวกับการทำอนิเมชันเยอะขนาดนั้น ถ้าเปิดสอนก็จะมี ม.กรุงเทพ อย่าง ม.รังสิต ซึ่งเป็นมหาวทิยาลัยที่ค่าเทอมสูงขึ้นมาหน่อย ผมเลยมองว่า จริงๆ ภาพยนตร์ผมก็รู้สึกสนใจอยู่เลยลองมาทางนี้ดู ซึ่งมันก็ดี เพราะผมได้เรียนรู้ Production ทั้งหมดเลย การสร้างหนังขึ้นมาเรื่อง เราต้องเริ่มทำอะไรบ้าง ข้อดีของมันคือผมเอาความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้ในตอนที่ผมได้เป็นอนิเมเตอร์ด้วย อย่างตอนที่ผมมีโอกาสได้ทำงาน Cinematic ของ Home Sweet Home ร่วมกับ YGGDRAZIL ผมใช้ความรู้สมัยเรียนตรงนั้นมากำกับในเรื่องของการตัดต่อและลำดับภาพด้วย

            แต่ทุกข์ของคนเรียนฟิล์มมันก็มี คือการที่พวกเราทำงาน Overload มากๆ สมมติเราต้องไปออกกอง กองนัดตี 5 ซึ่งเสร็จกองในวันนี้อาจจะเลยไปถึงเที่ยงคืนตี 1 แล้วถ้าต้องมีออกกองต่อวันพรุ่งนี้อีก เราก็ต้องทำงานต่อเนื่องกันเลยภายในตี 5 ซึ่งผมรู้สึกว่าชีวิตมันหนักเกินไป เราไปแก้ตรงนั้นไม่ได้ เพราะมันเป็นปัญหาของระบบที่เขาทำกันจนเรื่องปกติไปแล้ว งานสายอนิเมชันก็จะสบายหน่อย เวลาทำงานไม่ต้องสื่อสารกับคนเยอะเราได้โฟกัสแค่งานและหน้าจอของเรา 

Turning Point – จุดเปลี่ยนชีวิต

ความพยายามของคนช่างฝัน

            ผมเริ่มงานครั้งแรกในฐานะอนิเมเตอร์เข้ามาปีที่ 7 แล้ว ผมเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2015 ตอนนี้ผมอายุ 29 ปี มันก็ไม่เด็กแล้ว ซึ่งตอนที่ผมตัดสินใจหันมาเอาดีในด้านอนิเมชัน ธงในใจคือการได้มาทำงานในระดับ Disney เลยครับ ณ ตอนนั้นมันเป็นเป้าหมายที่ทำได้ค่อนข้างยากมาก ด้วยฝีมือของผมที่ต้องเรียนรู้เอง เราไม่ได้มาทางสายนี้โดยตรง ไหนจะเรื่องภาษาอีก ในตอนแรกผมเลยไม่ค่อยเก่งเลยถ้าเทียบกับเพื่อนในรุ่นเดียวกัน เพราะพวกเขาได้เรียนรู้มาก่อนแล้ว ผมเริ่มช้ากว่าเพื่อนเลยต้องพยายามให้มากขึ้น

            ช่วงแรกของการทำงาน เลิกงานเมื่อไรผมก็จะเอาเวลาไปฝึกฝน ไปเรียนรู้พวกอนิเมชันจากงานของ Dreamwork ไม่ก็ Disney แล้วเอามาปรับมาลองใช้ดู ทำเป็น Personal Work แล้ว Create Shot ขึ้นมา เพราะงั้นการเริ่มช้าก็จะเหนื่อยหน่อย ต้องพยายามมากขึ้นหลายเท่าตัวเลย คนอื่นที่เริ่มไปก่อนแล้วอาจจะไม่ต้องรีบร้อนอะไรมาก แต่ผมต้องมีความเยอะนิดหนึ่งครับ 

            นอกจากความเหนื่อยแล้ว ในช่วงแรกๆ ผมถูกเปรียบเทียบและถูกประเมินเยอะมาก อย่างช่วงแรกๆ ทำได้ไม่ดีเลย การประเมินมีการจัดแรงก์ด้วยครับ ผมโดนจัดอยู่ที่ประมาณแรงก์ C และโดนถอดออกจากโปรเจกต์เพราะทำงานไม่ไหวด้วย ตอนนั้นผมก็เฟลครับ แต่ผมมองว่ากว่าจะเก่งขึ้นได้เราต้องรู้ว่าตัวเองไม่เก่งก่อน ต้องรับรู้ว่าตัวเองมีข้อบกพร่องตรงไหน พอรู้ว่าเราไม่เก่งตรงนี้เราก็ต้องแก้ไขปรับปรุง เราจะได้พัฒนามากขึ้นไปอีก 

การทำงานในฐานะอนิเมเตอร์ 

            เราเริ่มงานที่แรกคือ The Monk Studio ของประเทศไทย ผมเคยฝึกงานที่นี่มาก่อนตอนเรียนอยู่ปี 3 ผมมองว่าสังคมที่นี่ดีและการทำงานที่ค่อนข้างน่าสนใจ พอเรียนจบผมก็มาสมัครงานที่นี่เลย ผมทำอยู่ที่นี่ 5 ปี ได้เริ่มทำตั้งแต่อนิเมชันที่เป็นการ์ตูนซีรีส์ก่อน มันง่ายหน่อยจนสุดท้ายได้มาทำ Wish Dragon เป็นอนิเมชันที่ฉายใน Netflix ด้วย ซึ่งงานนี้คุณภาพสูงมาก มันทำให้ผมได้พัฒนาฝีมือ แล้วได้เอาผลงานตรงนี้มันใส่ใน Portfolio ส่งผลงานไปต่างประเทศได้

            การทำงานใน  5  ปีที่ผ่านมามีทั้งเรื่องที่ชอบและไม่ชอบ สิ่งที่ชอบที่สุดก่อนเลยคือการทำ Wish Dragon อนิเมชันที่มีมังกรตัวสีชมพู สิ่งที่ชอบคือคุณภาพของงานมันสูงมาก เพราะเราอยู่ในทีมที่หัวหน้าเคยผ่านงานของ Dreamwork มาด้วย งานชิ้นนี้เป็นงานอนิเมชันยาวครั้งแรกของผมที่คุณภาพสูงขนาดนี้ ตอนที่ได้เข้าร่วมทีมนี้ ผมรู้สึกว่ามันท้าทายมากๆ เพราะเราได้ลองงานระดับโลกเลย ผมเคยทำอนิเมชันแบบ Feature Film ก่อนหน้านี้เป็นอนิเมชันของจีน ซึ่งคุณภาพก็ไม่ได้สูงขนาดนี้

            สิ่งที่ไม่ชอบก็เป็นงาน Wish Dragon เหมือนกัน คือนี้มันมีทั้งชอบและไม่ชอบเพราะงานนี้มันโหดมาก ทีมงานพวกเราใส่สุดกันเต็มที่แล้วนะ แต่มันยังไม่เข้าเกณฑ์ที่เขาจะโอเคกับงานเลย ช่วงแรกที่เริ่มทำกันทีมงานเครียดกันมาก เราทำงานเกินเวลากันค่อนข้างเยอะ  บางทีเลิก 5 ทุ่มเที่ยงคืนเป็นเวลาต่อเนื่องสัก 2-3 เดือน มันเหนื่อยมากๆ จนถึงตอนจบ Project นี้เลย 

แวะฟื้นฟูเพื่อเติมไฟให้ความฝัน

            หลังจากโปรเจกต์ Wish Dragon ผมกลัวว่ามันจะหมดไฟหรือเปล่าเพราะตอนนั้นเราไม่อยากทำแล้ว ผมจบปีที่ 5 ด้วยตัวนี้แล้วผมก็ลาออก เปลี่ยนสายไปทำงานกับ  YGGDRAZIL ที่เขาทำอนิเมชันเกม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี มันเหมือนได้ฟื้นฟูความรู้สึกของผมด้วย เพราะการทำงานกับ The Monkey Studio ในช่วงท้ายของปี 5 ผมเริ่มรู้สึกเหมือนตัวเองทำไปวันๆ เพราะงั้นมันเริ่มไม่ดีต่อตัวผมแล้ว มันอาจจะไม่ดีต่อการพัฒนาตัวเองของผมด้วย ผมเลยตัดสินใจออกมาที่บริษัทใหม่ สังคมใหม่ และทำงานประเภทใหม่อยู่หนึ่งปี แล้วจึงค่อยไปอยู่ต่างประเทศ

            งานที่ YGGDRAZIL ค่อนข้างจะลงตัว เพราะพี่ๆ เขาก็ให้โอกาสผมได้เป็น Supervisor Project ในงานบางตัว อย่างงานที่ได้ไปทำกับ Home Sweet Home ซึ่งค่อนข้างสนุกเลย เพราะปกติอนิเมเตอร์ไม่ได้ทำงานลักษณะนี้หรอก แต่พอมาลองในจุดนี้เราได้ไฟกลับคืนมาเยอะเลย 

            ที่บอกว่าปกติอนิเตอร์ไม่ได้ทำงานในลักษณะนี้ เพราะการเป็นระบบเกมมันต่างจากระบบอนิเมชันค่อนข้างเยอะ ถึงผมจะทำแค่ตัว Cinematic ไม่ได้เข้าไปทำตัวเกมโดยตรง แต่ผมก็รู้ว่ามันต่างกันตั้งแต่โปรแกรมที่ใช้ รายละเอียดยิบย่อยมันก็ต่างกันไป ซึ่งผมต้องเรียนรู้ใหม่จากฐานความรู้เดิมที่เคยมีอยู่

            ทำที่ไปได้หนึ่งปี จังหวะนั้นก็มีงานติดต่อมาจากต่างประเทศพอดี งานแรกที่ติดต่อเข้ามาคือของจีนก่อน เรามองว่ามันโอกาสดีนะ เราเลยทำสัญญากับที่จีน แต่บังเอิญว่า MPC (Moving Picture Company) เขาประกาศรับหาคนพอดีเราเลยลองส่งผลงานไปให้เขาด้วย ปรากฎว่า MPC เขาก็ตอบรับให้ไปทำงานด้วยกัน ผมเลยขอทางจีนเป็นการทำงานแบบฟรีแลนซ์ แล้วก็ทำที่ MPC เป็นหลัก สรุปคือทำสองที่เลย 

Rising Action – เส้นทางสายยาวของชีวิต 

ประตูบานใหม่ที่ MPC สู่โลก Disney

            ย้อนกลับไปตอนที่ยื่นเรซูเม่ ตอนนั้นรู้มาว่าในแต่ละรอบจะมีคนส่งเรซูเม่เข้าไปประมาณ 400-500 คนต่อรอบ ซึ่งในแต่ละรอบของเขาก็จะมีประมาณ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ช่วงรอบที่ผมสมัคร มีคนส่งผลงานเข้าไปเยอะมาก เพราะในปีก่อนๆ ติดปัญหาเรื่อง COVID – 19 บริษัทลดพนักงานเยอะ ซึ่งจังหวะที่ผมสมัครเป็นช่วงที่เขาขาดพนักงานอยู่แล้วพอดี รอบนี้เขาเลยรับพนักงานเยอะ แต่ก็รับคนอยู่ที่หลักสิบครับ มีการคัดเลือกหลายรอบด้วย

            หลายรอบที่ว่าคือเขาจะกรองจากเรซูเม่ก่อน คัดจากผลงานที่ส่งไปให้เขาดู แล้วเขาก็กรองจากตรงนั้นให้เข้าไปสัมภาษณ์ในรอบที่สองกับ  Director และ Supervisor และคัดครั้งสุดท้ายอีกทีคือในเรื่องของเงินเดือนและเอกสารของเราว่าพร้อมไหม เขาจะดูว่าเราต้องพร้อมที่จะย้ายไปทำที่อังกฤษหรือเปล่า บางคนที่ไม่พร้อมย้ายไปทำที่นั่นก็ต้องถูกตัดชื่อออกเหมือนกัน

            สิ่งที่เขาต้องการจากผลงานเราคือความเป็น Personal Work มากกว่างานที่มีคุณภาพสูงๆ เพราะการทำ Personal Work ต้องมีการคิดและวางแผนงานในตัวเองดีโดยไม่ต้องผ่านใคร  เขาเลยอยากรู้และอยากหาคนที่มี Workflow (การวางแผนในการทำงาน) มากกว่า

            ตอนสัมภาษณ์เขาก็มองหาคนที่รู้จักการวางแผนงานเหมือนกัน เขาเปิดผลงานของผมและนั่งดูไปด้วยกัน เขาก็ถามประมาณว่า ‘ตอนที่คุณทำใน Shot นี้ คุณคิดอะไรอยู่ถึงทำแบบนี้ออกมา’ บางอย่างเราก็มีแอบแถไปบ้าง แต่โดยรวมเราต้องเล่าให้เขาถึงการวางแผนของเราว่า ทุกอย่างมันเป็นยังไงมายังไง ให้เขารู้ว่าเรามีกระบวนการคิด ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ

            ซึ่งเมื่อผลสัมภาษณ์ออกมาแล้วรู้ตัวว่าผมผ่านสัมภาษณ์มันก็ดีใจครับ ดีใจมากกว่าตอนได้งานที่จีนอีก เพราะผมว่าที่นี่เป็นงานสเกลใหญ่ ซึ่งตอนนั้นเขาโปรโมทชวนคนมาทำโปรเจกต์ Transformers ด้วย ผมอยากทำ Transformers มาก แต่ ณ ตอนนั้นไม่ได้ทำนะ เพราะเข้าไปครั้งแรกผมได้ทำโปรเจคต์ Sonic The Hedgehog ภาค 2 ที่เพิ่งฉายไป เป็นโปรเจกต์ที่ค่อนข้างง่ายที่สุดในตอนนั้น เราต้องโชว์ความสามารถของเราว่าเราทำอะไรได้ก่อน ถึงจะได้ไปทำงานที่มันยากขึ้น 

            หลังจากจบโปรเจกต์ Sonic The Hedgehog แล้ว ผมค่อนข้างใส่เต็มมากเพราะเพิ่งทำไปได้ 2-3 เดือน เขาก็เห็นว่าเรามีฝีมือดีแล้วก็พอใจในผลงานของเรา เราเลยได้ลองทำโปรเจกต์ Pinocchio ต่อเลย เป็นงานที่ระดับสูงขึ้นไปอีก หลังจากนั้นในเวลาต่อมาผมก็ได้เข้าไปทำ Transformers ด้วยนะครับ โปรเจกต์ของ MPC มีค่อนข้างเยอะและหลายระดับเลยครับ บางโปรเจกต์เขาก็เอาแค่อนิเมเตอร์ที่เป็นระดับ Senior ทั้งทีมเลยเพราะงานมันคุณภาพสูง 

ความท้าทายที่เติมเต็มเป้าหมายชีวิต

            เมื่อเข้ามาอยู่ในสตูดิโอระดับโลก สิ่งที่ต้องเจอคือการที่ต้องแข่งขันกับคนเก่งเยอะๆ เพราะทุกคนในทีมคือคนเก่งทั้งหมดเลย เก่งชนิดที่ว่าโคตรเก่ง ผมเลยต้องพยายามผลักดันตัวเองให้โดดเด่นขึ้นมา เพื่อที่ผมจะได้มีโอกาสได้ทำ Shot ที่เป็นจุดขายในแต่ละเส้นเรื่อง เราต้องโชว์ว่าเรามีความเก่งเพื่อแย่งงาน สมมติว่าใน 1 Sequence มันจะมีฉากเท่ๆ อยู่ประมาณ 2 ช็อต ทุกคนไม่อยากทำช็อตที่มันง่ายๆ  หรอก เพราะเวลาทำมันน่าเบื่อ และเวลานำผลงานเข้าไปใส่ไว้ในสมุดผลงานมันไม่เท่  

            ตลอดระยะเวลาที่ทำงานในฐานะอนิเมเตอร์มา 5-6 ปี แล้วได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ ผมว่าผมทำเต็มที่ที่สุดแล้ว แต่ผมก็รู้สึกว่าตัวเองต้องไม่หยุดนิ่ง ผมว่าช่วงเวลามันเหมาะสมแล้วที่ผมได้เก็บสะสมประสบการณ์ที่ไทยก่อน 5 ปี แล้วค่อยย้ายไปทำที่ต่างประเทศ เพราะว่าตอนที่ผมได้งานครั้งแรกผมก็ 28 พอดี มันยังพอมีแรง มีไฟอยู่ ผมว่าอายุประมาณนี้ก็กำลังเหมาะสม

            ผมว่าถ้าเราวางเป้าหมายไว้ว่าอยากไปอยู่บนเวทีระดับโลก เราต้องทุ่มใส่สุดตัวหน่อย แล้วก็ต้องพัฒนาตัวเองให้เต็มที่ การได้ทำในสิ่งที่อยากทำสักครั้งมันเติมเต็มเป้าหมายของเรามาก แล้วเราจะค้นพบว่า ถ้าเรามองย้อนกลับไปเราจะไม่เสียดายอะไรในช่วงนั้นเลย

Climax – จุดสูงสุดของชีวิต

ครั้งแรกกับ Sonic The Hedgehog ภาค 2 

            ผมทำ Sonic ภาค 2 ที่เป็นโมเดลใหม่นะครับ ผมได้ทำช็อตของตัวละคร Sonic, Tails และ Knuckle  ผมจะทำใน Sequence ที่ Knuckle ไปแย่ง Chaos Emerald ส่วนใหญ่เป็นพวกช็อต Action โปรเจกต์นี้มีดีตรงที่หัวหน้าเขาค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องของการเสนอไอเดีย มันทำให้เราเป็นอิสระมากในการที่จะเพิ่มนู่นเพิ่มนี่ได้ อย่างผมเคยเสนอบางช็อตให้มีแก๊กเล็กๆ เพิ่มความน่ารักให้โซนิกมากขึ้น ซึ่งเขาก็เปิดกว้าง เวลาคุยงานมันเลยสนุกเพราะเราได้เสนอไอเดียกัน

            มีความสนุกก็ต้องมีความเครียดครับ เวลาประชุมกันสัก 10 กว่าคน ถ้าใครทำงานออกมาแล้วไม่สวย เขาจะเอา shot นั้นไปให้ทุกคนดูแล้ววิจารณ์กันว่ามันมีส่วนไหนที่ไม่ดีบ้าง แล้วเตือนกันว่าไม่ให้ทำตาม ซึ่งตอนนั้นผมกลัวมากว่ามันจะเป็นผมหรือเปล่าที่โดน

            ตอนที่ทำ Sonic ผมยังไม่โดนครับ มาเจอตอน Transformers เพราะมันยากจริงๆ คุณภาพมันสูงมาก ปัญหาเยอะด้วย แต่ผมก็แอบหน้าชานิดหน่อย ประมาณว่าเราโดนแล้ว แต่จริงๆ ช่วงนั้นผมเริ่มหมดแรงแล้วด้วยครับ เพราะผมใส่เต็มไปกับ Pinocchio พอเสร็จงานนั้นแล้วมาต่อที่ Transformer ผมเลยไม่ค่อยมีแรงทำ รู้สึกได้เลยว่าคุณภาพงานของเรามันตกลง ผมเลยพยายามขุดตัวเองขึ้นมาอีกหน่อย

การเผชิญหน้ากับคำว่าฝีมือตก

            ผมว่าการที่คุณภาพงานลดลงมันอยู่ที่ใจของเรามากกว่า เพราะใจเรามันเริ่มไม่อยากทำเมื่อถึงจุดที่มันเหนื่อยมาก แล้ว มีช่วงหนึ่งผมเลยลาพักไป มันดีขึ้นนะ ร่ายกายต้องการพักผ่อนแหละเพราะการโถมงานหนักๆ มันไม่ดีเลย ไม่ได้ช่วยให้งานเราดีมากขึ้นด้วย ผมเลยต้องไปรีเซ็ตตัวเองแล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ หลังจากกลับมา มุมมองที่เราดูงานก็จะเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น 

            อีกเรื่องที่ทำให้ผมกดดันในช่วงแรกๆ คือ เรื่องภาษา ผมไม่ได้เรียนอินเตอร์ ผมเป็นแค่เด็กที่ตั้งใจเรียน สำหรับการศึกษาไทยแล้ว เด็กที่ไม่เรียนอินเตอร์มักจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เด็กไทยส่วนใหญ่มักอ่านออกและเขียนอังกฤษได้มากกว่าฟังและพูด 

            ด้วยความที่ผมไม่ถนัดภาษาอังกฤษ เวลาประชุมครั้งหนึ่งผมเหงื่อแตกเลย เพราะกลัวว่าจะฟังที่เขาพูดไม่รู้เรื่องแล้วไม่สามารถแก้ตามสิ่งที่เขาติชมมาได้ ที่นั่นไม่มีคนมาจดให้เหมือนตอนอยู่ไทยด้วย Supervisor อยากให้แก้แบบไหนเราก็ต้องแก้ให้ถูก เพราะถ้าเราแก้ผิด เขาจะมองว่าเราแปลกเลย มันจะเกิดคำถามว่า นี่เราฟังที่เขาพูดไม่ออกเหรอ ? ช่วงแรกๆ ผมไม่อยากให้เขาโทรมาคุยเลยว่าต้องแก้อะไรบ้าง เพราะกลัวจะฟังไม่รู้เรือง ผมอยากให้เขาแชทพิมพ์คอมเมนต์งานส่งมาให้มากกว่า ความกลัวตรงนั้นมันต้องใช้เวลามากเลยครับ

Pinocchio ความสนุกที่ไม่โกหก

            อันนี้ท้าทายมากขึ้นเยอะเลยถ้าเทียบกับโซนิก เพราะ Supervisor เขาให้เรารับผิดชอบในส่วนที่มันค่อนข้างยาก รู้รู้สึกดีใจมากที่เขาเห็นแววว่าเราทำได้

            ช่วงที่ได้ทำเป็นช็อตที่พินอกคิโอจะได้มีชีวิตขึ้นมา กับอีกอันคือตอนที่จิ้งจอก (Honest John) จะมาลักพาตัวพินอกคิโอ ความท้าทายมันอยู่ที่แอคติ้งของตัวละครอย่าง Honest John มันเยอะ มันเล่นใหญ่มาก ขั้นตอนคือเราต้องถ่าย Video Reference ต้องตัวเองตอนแสดง ส่งไปให้  Supervisor ดู จุดนี้เป็นส่วนที่ยากในการทำงานมาก เพราะบางอย่างที่ผมถ่ายไป เขาก็ไม่เอา

            ผมก็ยังรู้สึกว่าโปรเจกต์นี้ดีมากตรงที่เราและ Supervisor ช่วยกันดันและเสนอไอเดียให้ในแต่ละ Shot มันดีและน่าสนใจได้ขึ้นไปอีก ซึ่งผมชื่นชม  Supervisor กับ Lead ของทีมนี้มากเลย เพราะเขาเก่งและทัศนคตดีทำให้สบายใจเวลาได้ร่วมงานกัน

            อีกเรื่องที่หนักของโปรเจกต์นี้ก็คือ งานมันเร่งมาก เพราะตอนนั้นเป็นช่วงท้ายของโปรเจกต์ ที่อีก 3-4 เดือนข้างหน้าหนังจะต้องฉายแล้ว แต่เรายังเหลืองานที่ต้องทำกันอีกตั้งเกือบครึ่ง ทุกคนเลยต้องทำโอทีทุกสัปดาห์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 4-5 เดือน

            ต้องเล่าว่าตอนแรกที่ผมเข้ามาทำโปรเจกต์โซนิก ผมชื่นชมความเป็น Work Culture ของที่นี่ เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็นแล้วจบที่ตรงนั้น ช่วงแรกผมไม่ชิน เพราะอยู่ที่ไทยผมชอบทำดึก แล้วผมเลิกงานสัก 3 – 4 ทุ่ม ซึ่งโปรดิวเซอร์เขาก็โทรมาถามว่า คุณมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำไมถึงอยู่ดึก เป็นไปได้ก็ไปพักนะ เพราะเขากลัวผมเหนื่อยเกิน ผมประทับใจนะ เพราะถ้าเป็นที่ไทยไม่มีแบบนี้หรอก แต่พินอกคิโอมันมีเหตุให้เราต้องเร่ง โปรเจกต์นี้เราเลยต้องทำโอทีกันหน่อย

Resolution – ผลลัพธ์ของชีวิต

คนเบื้องหลังกับ End Credit

            ตอนที่เห็นชื่อผมใน End Credit ที่วิ่งอยู่บนจอ ผมคิดว่าตัวเองอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่พอได้เห็นเข้าจริงๆ แล้วขนลุกเลย พอผมเห็นภาพโลโก้ Disney เป็นรูปปราสาทเปิดขึ้นมา ผมก็มารู้สึกว่า เราได้ทำเรื่องใน Disney ไปแล้ว ในที่สุดก็ได้ทำ มันยิ่งขนลุกครับ

            แล้วผมเองดีใจมากว่า ในที่สุดผมก็ได้มาทำตรงนี้จนได้ ตอนนี้ประทับใจตัวเองมากที่สุดแล้ว ตั้งแต่ตอนทำ Wish  Dragon ก็จะได้อารมณ์ทำหนังฉายลงใน Netflix ความดีใจมีมากประมาณหนึ่ง แต่ว่าตอนนี้เราได้ลงกับ Disney เป็นสิ่งที่สูงสุดแล้วสำหรับผมในตอนนี้

            มองย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนที่เบนสายมาเป็นอนิเมเตอร์ จนตอนนี้ทำตามความฝันได้ ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อยแล้ว แต่ผมกลับคิดว่าตรงนี้ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของผม แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมมีไฟในการทำงานมากขึ้นด้วยซ้ำ 

            ตอนนี้ผมอยากตั้งเป้าหมายใหม่ไว้ว่า ปีหน้าผมจะไปลองทำงานที่ Sony ครับ ผมว่ามันดีกว่าการที่เราจะทำงานอยู่ที่ไทยอย่างเดียว เพราะตอนที่ผมอยู่ไทย ผมรู้สึกว่าตัวเองไปถึงจุดที่ตันแล้ว เริ่มสงสัยในตัวเองว่าเราจะหมดการพัฒนาแล้วหรือเปล่า แต่พอเราได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ มันเหมือนได้เปิดโลกใหม่ เปิดเวทีใหม่ มีอะไรท้าทายอีกเยอะ ซึ่งผมยังอยากทำงานที่มันน่าจะมีชื่อเสียงได้และเนื้อเรื่องมันดีด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคืออยากทำอนิเมชันที่มันได้รางวัลบนเวทีต่างๆ บ้างครับ

รางวัลของนักพยายามผู้ช่างฝัน

            หลังจากที่เราโพสต์ผลงานที่ทำลงบนโซเชียลมีเดีย อาจารย์และศิษย์เก่าก็มีแวะเวียนเข้ามาทักทาย ชื่นชมและรอติดตามผลงานต่อไปของผม อาจารย์บางท่านอยากให้ผมกลับไปสอนหรือไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยบ้างก็มี บางคนที่เราไม่รู้จักเขา เขาก็มาแสดงความยินดีด้วยเพราะเขาเองก็มีความฝันแบบผมเหมือนกัน

            ถ้าไม่นับเรื่องเงินทอง สิ่งที่ผมได้รับในฐานะอนิเมเตอร์เลยคือ ความภูมิใจในตัวเอง เพราะมันถือว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ การที่จะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผลงานระดับโลกได้มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย 

อนิเมเตอร์ในวันนี้ ฝากถึง อนิเมเตอร์ในอนาคต

            ถ้าให้ย้อนกลับไปปี 3 ตอนเบนสาย สิ่งที่อยากบอกตัวเองคือ ทำแบบนี้แหละดีแล้ว แต่คงต้องดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้นกว่านี้หน่อย เพราะตอนเด็กเราไม่รู้หรอกว่า แรงมันเยอะไง เราก็จะใช้ร่างกายเปลืองเกินไป แต่ไม่ถึงกับห้ามตัวเองนะ เพราะถ้าเราไม่ใส่สุดแบบนั้น ไม่ทุ่มเทขั้นนั้น เราอาจจะไม่ได้ขึ้นมาถึงตรงจุดนี้ก็ได้ อีกอย่างที่อยากจะบอกตัวเองคือ ขอบคุณตัวเองนะ ดีแล้วที่ทำแบบนี้ ขอให้สู้ต่อไป 

            แต่ผมว่าผมอยากจะฝากถึงเด็กรุ่นใหม่มากกว่า เพราะเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างจะสนใจงานต่างประเทศเยอะมาก แล้วเขาอยากจะไปไว จนบางทีมันไวเกินไป ประมาณคือเรียนจบปุ๊บจะไปต่างประเทศเลย ผมอยากจะบอกให้เขาใจเย็นหน่อย ใช้เวลาให้เก็บประสบการณ์ประมาณหนึ่งที่ไทยก่อน แล้วค่อยมาต่างประเทศ มันเป็นหนทางที่เซฟกว่าเพราะต่างประเทศเขาไม่ประนีประนอมเลย ใครที่ทำงานไม่ได้ จะต้องโดนวิจารณ์เยอะหรือโดนตัดออกจากทีม ผมรู้สึกว่ามันเสี่ยงไป เพราะงั้นคุณต้องพร้อมและมีความสามารถประมาณหนึ่งแล้ว พร้อมทั้งในเรื่องฝีมือการทำงาน และอย่าลืมเรื่องของภาษาด้วย การรู้ภาษาจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น 

            ส่วนคนที่พยายามแล้วแต่ยังมาไม่ถึงตรงนี้ ผมอยากให้กำลังใจ เพราะอย่างน้อยคุณได้ทำแล้ว ผมอยากจะชื่นชมทุกคนที่กล้าและได้ลองลงมือทำแล้ว ผมเชื่อว่าอย่างน้อย ๆ มันต้องคงมีโอกาสที่คุณจะได้อยู่ในจุดที่คุณต้องการ ขอให้ทุกคนพยายามต่อไปครับ

ภาพ: จาตุรนต์ เจตน์วิริยานนท์

Contributors

Contributors

เด็กมนุษย์ฯ ผู้ชื่นชอบการออกไปเดินเที่ยวคนเดียว เอนจอยกับการเต้นและการกิน ปัจจุบันกำลังพยายามใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่