การเลือกซื้อมือถือมาใช้สักหนึ่งเครื่อง หลายๆ คนมักเลือกจากสเปก ความเร็วแรง ความคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสีย หรือเลือกเพราะความ Loyalty ต่อแบรนด์นั้นๆ แต่เชื่อว่ามีไม่น้อยที่หลายคนเลือกซื้อมือถือเพราะ “ฟอนต์”
เหตุผลที่ว่านี้อาจฟังดูกระจ้อยร่อย มันมีคนคิดเล็กคิดน้อยเรื่องฟอนต์ด้วยเหรอ? แต่เชื่อเถอะว่า มีคนคิดอย่างนี้จริงๆ เพราะฟอนต์หรือว่าตัวอักษรมันเป็นสิ่งที่แสดงผลในมือถือ และเราต้องเห็นและใช้มันเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ซึ่งคงจะรู้สึกหงุดหงิดน่าดู หากซื้อมือถือมา แล้วฟอนต์ระบบที่ติดมากับเครื่องมันไม่ถูกจริตเรา หรือใช้งานไปแล้วเรารู้สึกไม่ชอบเอาเสียเลย
เชื่อว่าหลายคน เวลาที่เล่นอินสตาแกรมแล้วพิมพ์ข้อความเพื่ออัพโหลดลงในสตอรี่ไอจี ก็จะพบว่า ถ้าพิมพ์ข้อความจากมือถือที่ใช้คนละระบบปฏิบัติการ การแสดงผลก็ไม่เหมือนกันแล้ว และส่วนใหญ่ก็น่าจะมองออกในทันทีว่า คนๆ นั้น ใช้มือถือของระบบปฏิบัติการเจ้าไหน
เกริ่นมาเสียขนาด คงเดาออกกันแล้วว่าเรากำลังเปรียบเทียบถึงสองระบบปฏิบัติการไหน วันนี้ ArtDi-alogue จึงอยากจะพามาซาวเสียงจากผู้ใช้มือถือทั้ง Android และ IOS ว่าด้วยเรื่องของฟอนต์ที่ติดมากับเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นมุมเสียงของผู้ที่ไม่ชอบฟอนต์ของ Android รวมไปถึงผู้ที่ไม่ชอบฟอนต์ของ Apple และเหตุผลที่คนไม่ชอบกัน มันคืออะไรกันนะ? แต่ก่อนจะมาพูดถึงเรื่องนี้ เรามาดูประวัติและเรื่องราวสนุกๆ เกี่ยวกับฟอนต์ทั้ง 2 ระบบนี้ดีกว่า
System Font
ก่อนจะพามารู้จักฟอนต์ของแต่ละระบบ ผู้เขียนอยากจะมาอธิบายสั้นๆ เพื่อให้ทุกคนที่อ่านบทความนี้ เข้าใจได้ง่ายขึ้น
“System Font” คือ ฟอนต์หรือชุดตัวอักษรมาตรฐานที่ติดมากับเครื่องเลย ถ้าจะถามว่าฟอนต์ที่ติดมากับเครื่องของ Android คืออะไร อยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า Android คือระบบปฏิบัติการ (ซึ่งต่อจากนี้ ผู้เขียนจะเขียนเป็น OS) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2003 ก่อนที่ Google จะเทกโอเวอร์กิจการเมื่อปี 2005 และเปิดตัว Android รุ่นแรกเมื่อปี 2008 ซึ่งพื้นฐานของ Android คือระบบโอเพนซอร์ส พูดแบบภาษาชาวบ้าน คือ
ระบบที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถดาวน์โหลดและเอาไปใช้ได้อย่างเสรี เพื่อนำไปดัดแปลงและพัฒนาต่อได้
แบรนด์มือถือหลายๆ เจ้า จึงนำ OS ของ Android มาปรับแต่งและครอบทับด้วย OS ของตัวเองอีกทีนึง ยกตัวอย่างเช่น One UI ระบบปฏิบัติการของมือถือ Samsung หรือ MIUI ระบบปฏิบัติการของมือถือ Xiaomi ทำให้ System Font ของมือถือแต่ละแบรนด์ก็จะไม่เหมือนกัน
ขณะเดียวกันกับ OS ของแอปเปิลที่ได้สร้างระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมา และใช้สิทธิ์ขาดเจ้าเดียวให้อุปกรณ์ในจักรวาลของตัวเองได้ใช้ระบบปฏิบัติการนี้เท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้ใช้มักยก “AndriodOS” มาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกับ “IOS” อยู่เสมอ เพราะทั้งคู่อยู่คนละจักรวาลนั่นเอง
AndroidOs Universe
ในที่นี้เราจะตัดเรื่องประสิทธิภาพ วิธีการปฏิบัติงานหรือฐานระบบต่างๆ ที่ทำงานใน AndriodOS และจะเจาะเฉพาะเรื่อง “ฟอนต์” มาเล่าให้ทุกคนฟังกันแบบเต็มๆ ว่าอะไรคือต้นตอของฟอนต์ที่ทำให้ผู้ใช้งานหลายกลุ่มยังบูลลี่ฟอนต์ AndriodOS มาจนถึงทุกวันนี้
Droid Sans Thai
โดย System Font ของ Android แบบเพียวๆ สำหรับภาษาอังกฤษคือ “Roboto” และ ฟอนต์ตระกูล “Noto” ส่วนของภาษาไทยคือ “Droid Sans Thai”
ผู้เขียนขออนุญาตกระโดดข้ามไปพูดถึงฟอนต์ภาษาไทยเลย เพราะเสียงที่ผู้ใช้บ่นถึงฟอนต์มากที่สุดคือปัญหาของฟอนต์ภาษาไทยนั่นเอง
“Droid” เป็นฟอนต์ที่เปิดตัวพร้อมกับระบบปฏิบัติการรุ่นแรกของ Android เมื่อปี 2008 ออกแบบโดย Ascender Corp. (ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) ตอนเปิดตัวฟอนต์แรกๆ ฟอนต์ Droid Sans ออกแบบมาให้มีขนาด 2 น้ำหนัก คือ Regular กับ Bold แต่ภาษาอื่นๆ ที่รองรับ มีแค่น้ำหนักเดียว คือ Regular ก่อนที่จะทยอยเพิ่มน้ำหนัก Bold ให้กับภาษาอื่นๆ ตามหลัง แต่ก็เลิกใช้ไป เนื่องจากมีฟอนต์มาตฐานใหม่อย่าง Roboto และ ฟอนต์ตระกูล Noto ออกมาแทนที่เมื่อปี 2011 และ 2013 ตามลำดับ
IOS Universe
ย้อนรอยประวัติฟอนต์แอนดรอยด์กันไปแล้ว ก็พอเข้าใจถึงวิวัฒนาการของฟอนต์แอนดรอยด์ได้มากขึ้น แต่จะเข้าใจยิ่งกว่านี้ว่าทำไมเราถึงชอบฟอนต์แอปเปิลกันนักหนา ต้องมาย้อนรอยดูการเดินทางของฟอนต์ IOS กันต่อเลย
Sukhumvit & San Francisco
มาพูดถึงฝั่งของ Apple กันบ้าง โดยระบบปฏิบัติการมือถืออย่าง “IOS” เป็นระบบที่ต่างจาก Android ตรงที่ IOS เป็นระบบปฏิบัติการแบบจำกัดสิทธิ์ คือกรรมสิทธิ์ของระบบปฏิบัติการนี้เป็นของ Apple แต่เพียงผู้เดียว ไม่อนุญาตให้นักพัฒนาคนอื่นๆ เอามาดัดแปลง หรือทำซ้ำได้ ฉะนั้นแล้ว
ฟอนต์ที่ติดมากับเครื่องของ iPhone จึงเป็นมีแค่ฟอนต์มาตฐานที่ Apple กำหนดไว้เพียงอย่างเดียว โดยก่อนหน้านี้ Apple ใช้ฟอนต์ Helvetica Neue เป็นฟอนต์พื้นฐานของผลิตภัณฑ์ตัวเองทั้งหมด ก่อนที่ในปี 2015 Apple จะผลิตฟอนต์เป็นของตัวเองอย่าง “San Francisco”
“San Francisco” เป็นฟอนต์กลุ่ม Neo-grotesque ที่ได้แรงบันดาลใจจากฟอนต์ Helvetica และ DIN ซึ่งผู้เขียนขอเรียกฟอนต์นี้แบบย่อๆ ว่า “SF Pro” เป็นฟอนต์ที่รองรับหลายภาษารวมถึงภาษาไทยเช่นเดียวกันในชื่อ “SF Pro TH” แต่ก่อนจะมาเป็นชื่อนี้ ฟอนต์นี้ถูกออกแบบและมีชื่อเรียกเดิมว่า “Sukhumvit” มาก่อน
ฟอนต์ “Sukhumvit” เป็นฟอนต์ภาษาไทยแบบไม่มีหัว (Thai Loopless) ออกแบบโดยคุณอนุทิน วงศ์สรรคกร จาก คัดสรรดีมาก บริษัทออกแบบฟอนต์ระดับแนวหน้าของไทย ซึ่ง Apple ได้นำมาใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2014 พร้อมกับระบบปฏิบัติการ IOS 7 ถ้าคนที่เคยใช้ iPhone 5 ก็จะจำได้ดีว่า ฟอนต์ที่ติดมากับเครื่องคือฟอนต์นี้นี่เอง ปัจจุบันนี้ใช้สำหรับภาษาไทย ถูกใช้ชื่อว่า SF Pro TH แล้ว
จากนั้นมา Apple ก็เลิกใช้ฟอนต์ SF Pro TH ในระบบปฏิบัติการ IOS และ MacOS ทั้งหมด ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นฟอนต์ภาษาไทยแบบมีหัว (Thai Looped) อย่าง “Thonburi”
ปัจจุบันฟอนต์ SF Pro TH ไม่ได้ถูกใช้เป็นฟอนต์หลักในระบบปฏิบัติการ MacOS ปัจจุบัน แต่สำหรับการใช้งานอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เช่น ในเว็บไซต์แอปเปิล หรือสิ่งพิมพ์ของแอปเปิลเอง ซึ่งฟอนต์ที่แสดงผลบนหน้าจอมือถือหรือแมคบุ๊คที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันคือ Thonburi นั่นเอง
Thonburi
มาที่ฝั่งธนฯ กันต่อ เชื่อว่าหลายๆ คน คงไม่รู้ว่า ฟอนต์ Thonburi มีมาตั้งแต่ยุค 80 แล้ว! งอนต์ Thonburi เป็นฟอนต์ที่ติดมากับเครื่องของ Macintosh รุ่นแรก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและเป็นบรรพบุรุษของคอมพิวเตอร์ตระกูล “Mac” นั่นเอง โดยฟอนต์ที่ติดมากับเครื่องยังมาพร้อมกับฟอนต์อื่นๆ ที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูอย่าง Krungthep, Ayuthaya, Silom และ Sathu
แต่หน้าตาเดิมของฟอนต์ Thonburi ในยุคแรกก็มีหน้าตาและโครงสร้างคล้ายๆ กับ Tahoma หรือแม้กระทั่ง Droid Sans Thai ด้วย คือมีโครงสร้างที่กว้างกว่าปกติ เพื่อให้แสดงผลได้ดีในหน้าจอที่มีความคมชัดต่ำ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนดีเทลและพัฒนาโครงสร้างของฟอนต์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ฟอนต์แสดงผลได้ตรงตามความคมชัดของจอในปัจจุบัน
AndroidOs VS IOS
และนี่คือเรื่องราวสนุกๆ ของทั้งสองฟอนต์ ที่เราอยากกลับมาตอบคำถามที่ว่า…
ทำไมผู้ใช้มือถือ Android หลายๆ คน ถึงไม่ชอบฟอนต์ที่ติดมากับเครื่อง
แล้วทำไมผู้ใช้มือ IOS อีกหลายคน ก็ไม่ชอบฟอนต์ที่ติดมากับเครื่องเหมือนกันนะ ?
ในฝั่งของผู้ที่ไม่ชอบฟอนต์ Android จากการพินิจพิเคราะห์ของผู้เขียนแล้ว พบว่า เสียงส่วนใหญ่ที่มักจะบ่นกัน คงมีลักษณะเดียวกับฟอนต์เจ้าปัญหาอย่าง Tahoma นั่นก็คือ ฟอนต์มีลักษณะที่กว้าง และดูอ้วนตัน ต่างจากฟอนต์ภาษาไทยมีแบบหัวอื่นๆ ที่ดูมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า
แต่ต้องขอเฉลยให้เข้าใจกันถ้วนหน้าว่าทำไมฟอนต์ต้องอ้วนตันและมีขนาดกว้าง เป็นเพราะการกำเนิดของ Droid Sans Thai และ Tahoma นั้น มีลักษณะที่คล้ายๆ กันคือ คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนในช่วงยุคแรกๆ มีจอที่เล็กและความคมชัดไม่ได้สูงเท่ายุคปัจจุบัน การออกแบบฟอนต์ในยุคนั้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร เพราะต้องคำนึงถึงการแสดงผลเมื่ออยู่ในหน้าจอขนาดเล็กด้วย โครงสร้างทั้งสองฟอนต์นี้ จึงมีโครงสร้างที่คล้ายๆ ทำให้เวลาแสดงผลบนหน้าจอขนาดใหญ่ หรือบนสมาร์ตโฟนในยุคปัจจุบัน สัดส่วนของฟอนต์เลยดูกว้างและดูบวมตันกว่าปกติ จึงไม่แปลกที่ผู้ใช้มือถือ Android มักจะบ่นกัน
แม้ว่าฟอนต์ตระกูล Droid ในฝั่งภาษาอังกฤษที่ใช้ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะเลิกใช้ไปแล้ว แต่ในส่วนของภาษาไทยนั้น ก็ยังคงใช้ Droid Sans Thai อยู่ เพราะว่าฟอนต์ Roboto เป็นฟอนต์ที่รองรับภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว ส่วนฟอนต์ตระกูล Noto แม้จะมีการรองรับภาษาไทยทั้งแบบมีหัว (Thai Looped) และไม่มีหัว (Thai Loopless) แต่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะเปลี่ยนให้ Noto เป็น System Font เลย
แน่นอนว่ามีคนเกลียดก็ต้องมีคนรัก เพราะในมุมของผู้ใช้ Android ก็คงไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาใหญ่เสียทีเดียว เพราะระบบปฏิบัติการของ Android ออกแบบมาเพื่อให้ปรับแต่งหรือ Customize มือถือของตัวเองได้ง่ายกว่า IOS มาก แค่โหลดฟอนต์แล้วติดตั้งเข้าเครื่อง พร้อมตั้งค่าให้เป็น Default ก็เป็นอันใช้ได้ บางคนถึงกับโหลดฟอนต์ Thonburi และ Sukhumvit มาใช้ใน Android ก็ยังมี! แต่ผู้เขียนไม่แนะนำให้ทำตามสักเท่าไหร่ เพราะ ฟอนต์เหล่านี้มีลิขสิทธิ์ แม้ว่า Apple จะอนุญาตให้ใช้ฟอนต์ Thonburi และ Sukhumvit เพื่อเชิงพาณิชย์ได้ แต่ต้องใช้ภายในระบบปฏิบัติการของ Apple เท่านั้น
ในส่วนของฝั่ง IOS ก็มีไม่น้อยที่ไม่ชอบฟอนต์ Thonburi ซึ่งมีเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเพราะ IOS ไม่สามารถปรับแต่งฟอนต์ได้อิสระเท่า Android หรือฟอนต์ Thonburi ดูมีความทางการหรือมีความวิชาการจ๋าเกินไป
แต่ขณะเดียวกัน คนที่ชอบฟอนต์ของ IOS ก็เพราะความสบายตา อ่านง่าย ดูมินิมอลและทันสมัย ซึ่งความรู้สึกเหล่านั้นก็มีเหตุผลเหมือนกันว่าทำไมฟอนต์ Thonburi ถึงให้ความรู้สึกแบบนี้ (เพราะแอปเปิลเขาคิดมาแล้วยังไงล่ะ!)
ว่าด้วยเรื่อง Fact ฟอนต์ Thonburi เป็นฟอนต์ภาษาไทยที่อยู่ในกลุ่ม Humanist ซึ่งฟอนต์กลุ่มนี้จะเป็นฟอนต์ที่ถอดวิธีการออกแบบมาจากการเขียนของคน ทำให้ฟอนต์จะดูมีความเรียว สัดส่วนที่เป็นธรรมชาติเหมือนกับการเขียนของคนจริงๆ
สอดคล้องกับวิธีการคิดและการออกแบบของ Apple ที่ต้องการออกแบบทุกอย่างให้ด้วยความที่ฟอนต์มีความเป็น Humanist คนที่ไม่ชอบฟอนต์นี้อาจจะมองว่า Apple ควรออกแบบให้มีเอกลักษณ์มากกว่านี้ หรือมีตัวเลือกให้สามารถปรับแต่งฟอนต์ได้หลากหลายกว่านี้ เช่น สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ฟอนต์ Thonburi หรือ SF Pro TH เป็นต้น
เชื่อว่าหลังจากนี้ ทั้งฝั่ง Android และ IOS ก็ต้องเตรียมพัฒนาฟอนต์ในอนาคตเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีการแสดงผลในจอที่อาจใหญ่ หรือมีความคมชัดมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องของฟอนต์ก็เริ่มหมดไป เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ Xiaomi ก็ได้เปิดตัวฟอนต์ Mi Sans ฟอนต์ที่ออกแบบโดย Monotype พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับ MIUI ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการของ Xiaomi พร้อมกับการรองรับภาษาที่หลากหลายมากขึ้น และได้ คัดสรรดีมาก มาร่วมพัฒนาฟอนต์ชุดนี้ในส่วนของภาษาไทย และภาษาลาว แต่ความเจ๋งคือ ไม่ได้จำกัดใช้แค่ในมือถือของ Xiaomi เพียงอย่างเดียว เพราะพี่จีนเขาแจกให้ใช้ฟรีอีกด้วย
และฝั่งของ Samsung เองก็ไม่น้อยหน้า หลังจากที่ Xiaomi เปิดตัวฟอนต์ของตัวเองแล้ว ทาง Samsung ก็ได้เปิดตัวฟอนต์ Samsung One ที่รองรับภาษาไทยแล้วในชื่อ Thai Loopless หลังจากก่อนหน้าที่ Samsung One เปิดตัวไปเมื่อปี 2016 แต่ฟอนต์นี้เป็นเพียงฟอนต์ที่ใช้งานภายในเท่านั้น
แต่ทั้งสองฟอนต์ที่กล่าวมานี้ เป็นฟอนต์ภาษาไทยแบบไม่มีหัว ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ทางผู้ผลิตมือถือจะพัฒนาฟอนต์สำหรับภาษาไทยแบบมีหัวเพิ่มขึ้นมาหรือไม่ หรือทางฝั่ง Android เองที่จะนำ Noto Sans Thai Looped มาเป็น System Font ของ Android เสียที
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า “ฟอนต์” เป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าระบบปฏิบัติการ หรือสเปกของมือถือ เพราะในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราอาจจะใช้หน้าจอสมาร์ตโฟนที่ใหญ่ขึ้น หรือมีความคมชัดในระดับ 4K 8K การพัฒนาฟอนต์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอย่าลืมว่า
Everything is Design, Design is Everything
ที่มา
อาร์ตไดผู้รักงานออกแบบที่เขียนคอนเทนต์ได้นิดหน่อย ชอบเล่าตัวเลขและข้อมูลด้วยภาพ ชอบกินเส้นมากกว่าข้าว ชอบดูหนัง ชอบแมว และชอบเธอ